Nuffnang Ads

วันเสาร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ข้อคิดดีๆ จาก เจ้าคณะภาค ๑๐ ธ."

"ธรรมะเพื่อชีวิต"ในวันนี้ ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอการบันทึก "การประชุมพระสังฆาธิการคณะสงฆ์ธรรมยุต" (ระหว่างวันที่ ๑๕- ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ วัดหนองบัว อุบลราชธานี) ซึ่งสามารถรับชมในส่วนของท่านเจ้าคณะภาค ๑๐ ธ. (พระธรรมฐิติญาณ(ศรีจันทร์) เจ้าอาวาสวัดบึงพระลานชัย จ.ร้อยเอ็ด) ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=t9tNnOtvNSY



       ซึ่งท่านเจ้าคณะภาค ๑๐ ธ. ได้มีเมตตาอย่างยิ่งในการประชุมดังกล่าว โดยข้อคิดที่สำคัญที่ท่านคณะภาค ๑๐ ธ. ได้ฝากไว้คือ "เกี่ยวกับการเป็นผู้บริหาร" จะต้องคำนึงถึงคือ ต้องเสียสละ พร้อมทั้ง 
     ๑. ไวต่อปัญหา 
     ๒. กล้าหาญเด็ดเดี่ยว
     ๓. เชี่ยวคล่องการงาน
     ๔ .วิชาการก้าวหน้า
     ๕. เข้าหามวลชน

ครับ คำว่า "เสียสละ" เป็นคำสั้นๆ แต่บางครั้งทำยากเหลือเกิน เนื่องจากว่าตัวเราอาจจะมีความห่วง มีความหวง มีความเป็นเจ้าของในสิ่งนั้นๆ (ทั้งรูปธรรม และหรือ นามธรรม ก็เป็นได้)  หรืออาจจะกล่าวง่ายๆ คือ "มีความยึดติด" อยู่นั่นเอง ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังยอมรับเลยครับว่าเป็นเรื่องที่ยากจริงๆ แต่หากว่าเราลองเริ่มต้นที่จะสละ ไม่ยึดติดจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ใกล้ตัวของเรา (คิดเสียว่ามันไม่มีประโยชน์ต่อตัวเรา) ผู้เขียนเองไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคำว่า "เสียสละ" และ คำว่า "บริจาค" เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร แต่คิดว่าทั้งสองคำน่าจะเป็นเรื่องที่ดี (ทั้งนี้ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราว บริจาค ได้เลย) ด้วยเหตุนี้ หากว่าตัวเราเริ่มต้นด้วยการ "เสียสละ" หรือ "บริจาค" ได้ยิ่งมาก น่าจะเป็นผลดีต่อตัวเราและผู้อื่น เพราะทำให้จิตของเราเริ่มได้ฝึกการไม่ยึดติด ได้ลดความอยาก ได้ลดความเป็นห่วง ได้ลดความหวงเป็นเจ้าของลงไปได้ เมื่อจิตไม่ยึดติด ความทุกข์ก็ย่อมน้อยลงไปตามลำดับ ไม่วุ่นวายในเรื่องดังกล่าวอีกต่อไป 

กล่าวสำหรับ "ธรรมะ" ของท่านเจ้าคณะภาค ๑๐ ธ. ที่ได้กล่าวถึง "ผู้บริหาร" ข้างต้นนั้น ผู้เขียนคงไม่ขอก้าวล่วงเนื่องจากเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่งต่อผู้บริหารทุกระดับ โดยฝ่ายฆราวาสเองสามารถที่จะนำประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กรหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  อย่างไรก็ดี หากว่าตัวเรานำมาประยุกต์ใช้กับตัวของเรา (ถึงแม้จะไม่ได้เป็นผู้บริหาร) ผู้เขียนคิดว่าน่าจะสามารถประยุกต์ได้เช่นกันครับ โดยที่หากตัวเราประสบปัญหาเรื่องใดๆ ก็ให้ใช้สติจิตคิดไตร่ตรองให้รู้ถึงสาเหตุปัญหาอย่างแท้จริง แล้วใช้ความกล้าของเราในการตัดสินใจแก้ปัญหาดังกล่าวให้จบสิ้นโดยพลันทันที  ส่วนความเชี่ยวชาญการงานของเราก็ต้องอาศัยความเพียรขยันหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ต่างๆ (ซึ่งปัจจุบันสามารถที่ค้นคว้าหาความรู้ได้จาก Internet เป็นอย่างดี) ส่วนการเข้าหามวลชน อันนี้ เป็นเรื่องสำคัญมากหากว่าเรารู้อะไรดีแล้ว ในปัจจุบันเราสามารถใช้เครื่องมือของ Social Media ในการเผยแพร่ความรู้หรือสิ่งดีๆ ของเราให้เพื่อนๆ เราก็จะสามารถได้มวลชนกัลยาณมิตรที่ร่วมกุศลกันมากยิ่งๆ ขึ้น 

จงไวต่อปัญหา  พร้อมต้องกล้าหาญเด็ดเดี่ยว
การงานต้องคล่องเชี่ยว พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์

ชีวิตต้องเรียนรู้  จะได้รู้วิชาการ
ก้าวหน้าประสานงาน  พร้อมสืบสานหามวลชน

บริหารเป็นงานใหญ่ ต้องเข้าใจและอดทน
เสียสละเพื่อผู้คน อุทิศตนสนเรื่องดี

ชีวิตเสียสละ พร้อมลดละลงทุกที
รับรองเกิดผลดี ส่งชีวีมีสุขเอย

ปภาวีร์
๓ มกราคม ๒๕๕๘ 










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น