ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน คำว่า ‘ภาวนา’ “คติธรรม หลวงปู่ชา สุภัทโท" ผู้เขียนได้อ่านหนังสือ “เหนือสิ่งอื่นใด : พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) (มีทั้งหมด ๕๒ หน้า)
โดยที่หน้า ๓๙ ย่อหน้าที่ ๒ ในหนังสือดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนที่หลวงปู่ชาได้แสดงธรรม ไว้เป็นดังนี้
“พระพุทธองค์ท่านจึงสอนว่า การให้ทานร้อยครั้ง ไม่เท่ารักษาศีลครั้งหนึ่ง รักษาศีลร้อยครั้งไม่เท่าภาวนาครั้งหนึ่ง ภาวนานี้มันละเอียด เพราะ ภาวนานี้มันถึงจิต”
ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงจะเข้าใจกันดีว่า “ภาวนา” หมายถึงอะไร
สำหรับความหมาย “ภาวนา” ตาม พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) หมายถึง การเจริญ, การทำให้เกิดให้มีขึ้น, การฝึกอบรมจิตใจ (mental development) โดย มี ๒ ประเภท คือ
(๑) สมถภาวนา การฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ, การฝึกสมาธิ (tranquility development)
(๒) วิปัสสนาภาวนา การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามเป็นจริง, การเจริญปัญญา (insight development)
สองอย่างนี้ ในบาลีที่มาท่านเรียกว่า ภาเวตัพพธรรม และ วิชชาภาคิยธรรม ในคัมภีร์สมัยหลัง บางที่เรียกว่า กรรมฐาน (อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งงานเจริญภาวนา, ที่ตั้งแห่งงานทำความเพียรฝีกอบรมจิต, วิธีฝึกอบรมจิต - stations of mental exercises; mental exercises)
ครับ นั้นเป็นความหมายของคำว่า "ภาวนา" ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังไม่เคยฝึกปฏิบัติ แต่คิดว่าในชาตินี้จะต้องลองทำดู ดังนั้น จะเห็นว่าคติธรรมของหลวงปู่ชาที่ท่านได้เมตตาตามข้างต้น นับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับพวกเราพุทธศาสนิกชน ที่จะลองน้อมนำปฏิบัติ "ภาวนา" กันให้มากๆ และก่อนจากกันวันนี้ เป็นธรรมเนียมเช่นเคยคือ ขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้เพื่อพิจารณา ครับ
ภาวนาให้มาก ปราศจากข้อสงสัย
ภาวนาจิตใจ ย่อมสุขใจอย่างมากล้น
ภาวนาทุกวัน ย่อมสุขสันต์กันทุกคน
ภาวนาหลุดพ้น อย่างอดทนยิ่งจะดี
ภาวนาละเอียด อย่ารังเกียจทำให้ดี
ภาวนามากมี จิตนิ่งดีสงบเย็น
ภาวนาทุกที่ ได้มากมีไม่ยากเข็ญ
ภาวนาไม่เว้น ทุกเช้าเย็นดีแน่นอน
ภาวนาตั้งมั่น ต้องขยันอย่าตัดรอน
ภาวนาทุกตอน จะได้พรดียิ่งเอย
ปภาวีร์
๑๕ มกราคม ๒๕๕๘
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ คำสอน “หลวงปู่ชา”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น