Nuffnang Ads

วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "อุเบกขา - สมเด็จพระสังฆราช"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "อุเบกขา - สมเด็จพระสังฆราช" คติธรรมคำสอนในเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เกี่ยวกับ "อุเบกขา" อยากขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนคนไทยทุกท่านได้ลองฟังจาก YouTube ต่อไปนี้ 


อุเบกขานี่แหละ คือมีใจที่เป็นกลาง เป็นกลางได้ก็เพราะว่าปลงลงไปในกรรมได้ ไม่รักเสียจนไม่รู้ผิดไม่รู้ถูก ซึ่งความรักเช่นนั้นไม่ใช่เป็นความรักที่เ­ป็นเมตตา

คติธรรมคำสอนข้างต้นนั้นนับได้ว่าทรงคุณค่าอย่างยิ่งที่เราทุกคนทุกท่านจะได้น้อมเข้าหาตัวของเราเองให้มากที่สุด ทั้งนี้ โดยความจริง แล้วนั้น ตัวของเรามี "อุเบกขา" หรือยัง หากว่ายังไม่มีคงจะต้องเริ่มต้นสนใจในการฝึกตัวของเราให้มี "อุเบกขา" ในทันที

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เมตตากรุณาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาต่อไป ดังนี้ 

ฝึกจิตอุเบกขา  สิ่งมีค่าพาสุขใจ
อุเบกขาหรือไม่  ต้องถามใจให้รู้ดี

มีใจที่เป็นกลาง  เป็นหนทางวางสิ่งดี
อุเบกขามากมี  ส่งผลดีมีต่อตน

กลางนั้นต้องเที่ยงตรง  จิตมั่นคงจงอดทน
ธรรมะสู่กมล  มีมากล้นสนแท้จริง

ปลงลงในกรรมได้  จะยิ่งใหญ่ในทุกสิ่ง
อุเบกขาจิตนิ่ง  ธรรมตรงดิ่งอิงเมตตา

"รัก"รู้ให้ถูกผิด  สติคิดอุเบกขา
ความรักที่เมตตา ทรงคุณค่าพาเบิกบาน

อุเบกขาหนึ่งในสี่  เป็นสิ่งดีพรหมวิหาร
มีมากสุขสำราญ  ตลอดกาลนิรันดร์เอย

ปภาวีร์ 
๑ กันยายน ๒๕๕๘

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ : เพราะทุกคนมีบาป"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ : เพราะทุกคนมีบาป"  คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำสั้นๆ เกี่ยวกับ "บาป" เพราะทุกคนมีบาป?  จึงอยากจะขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนคนไทยทุกท่านได้ลองฟังท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำจาก YouTube ต่อไปนี้ (ต้องฟังให้จบ เพียง ๑ นาที เท่านั้นเอง)


"... เพราะทุกคนมีบาป คนที่นั่งอยู่นี่ ใครไม่มีบาปมีไหมจะให้แสนล้านอย่างงี้ ยกมือซิ ไม่มีเลย ต้องมีบาป ฉะนั้น ในเมื่อเราทำบุญ บุญพาไปสวรรค์ บุญพาไปพรหมโลก บุญพาไปนิพพาน ถ้าพาไปนิพพานไม่เป็นไร..." 

คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำข้างต้นเกี่ยวกับ "เพราะทุกคนมีบาป" จะเชื่อหรือไม่เชื่อท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำนั้น คงจะเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่จะสนใจพิจารณากันเอาเอง หากท่านใดเชื่อว่าทุกคนมีบาป ย่อมจะสามารถไปในที่ที่ท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำได้เมตตาไว้คือ "บุญพาไปนิพพาน ถ้าพาไปนิพพานไม่เป็นไร"

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เมตตาเช่นกันในการพิจารณาชี้แนะเพื่อการปรับปรุงพัฒนาต่อไป ดังนี้

เพราะทุกคนมีบาป  ย่อมสามารถไปตามกรรม
ทำบาปเป็นประจำ  ผลของกรรมเป็นอย่างไร

๒ บ. บาปคู่บุญ  หมั่นทำบุญหนุนเข้าไว้
ตายไปอาจเลือกได้  ที่แห่งใดในผลบุญ

สวรรค์พรหมโลก  ถูกฉโลกคนทำบุญ
วนเวียนเปลี่ยนกรรมหนุน  พร้อมเกื้อกูลเกิดดับลง

บุญพาไปนิพพาน  สุขเบิกบานอย่างมั่นคง
ธรรมะยังดำรง  สุขยืนยงคงนิรันดร์

ต้องเริ่มไม่ทำบาป  หากทำมากยากสุขสันต์
ทำบาปมากทุกวัน  ตายลงพลันโศกศัลย์ยิ่ง

ชีวิตทำอย่างไร  บาปละได้ให้แท้จริง
มีธรรมในทุกสิ่ง  จิตต้องนิ่งอิงพระธรรม

ทำบาปเพราะจิตสั่ง  ต้องหยุดยั้งไม่ให้ทำ
ฝึกจิตเป็นประจำ  จิตน้อมนำทำความดี

นิพพานคือเป้าหมาย หลังจากตายในทันที
ฝึกจิตธรรมให้มี  สิ้นชีวีมีสุขเอย

ปภาวีร์ 
๓๑​ สิงหาคม ๒๕๕๘

วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่ชา สอน คนไม่รู้จักวัด"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่ชา สอน คนไม่รู้จักวัด" คติธรรมคำสอนของท่านหลวงปู่ชา (วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี) เกี่ยวกับเรื่องของ "วัด" คนไม่รู้จักวัด  ซึ่งเชื่อว่าพุทธศาสนิกชนคนไทยทุกท่านจะต้องรู้จักวัดอย่างแน่นอน แต่ "คนที่ไม่รู้จักวัด" ที่ท่านหลวงปู่ชาได้เมตตานั้้นเป็นอย่างไร จึงอยากจะขอเชิญชวนทุกท่านได้รับฟังจาก YouTube ตาม Link ต่อไปนี้ 



"...มีวัดอยู่ใกล้บ้านก็จริงหรอก
แต่ว่าคนไม่รู้จักวัด
เข้ามาวัดเห็นแต่พระกับศาลา
ศาสนาไม่เห็น..."

ข้างต้นนั้นเป็นสิ่งที่ท่านหลวงปู่ชาได้กล่าวไว้ ซึ่งหากว่าทุกท่านได้ฟังจนจบ (45 วินาที) เชื่อว่าทุกท่านจะได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านหลวงปู่ชาได้เมตตากล่าวไว้เกี่ยวกับ "คนไม่รู้จักวัด"

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะได้ขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดเมตตากรุณาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาต่อไปดังนี้ 

==================
มีวัดอยู่ใกล้บ้าน  เดินไม่นานก็ต้องถึง
มีวัดเป็นที่พึง  จิตตราตรึงดึงเข้าหา

คนไม่รู้จักวัด  เห็นแต่วัดและศาลา
ไม่เห็นศาสนา  เสียเวลามาวัดจริง

โชคดีวัดอยู่ใกล้  อยู่ในใจธรรมแท้จริง
เข้าวัดจิตสุขยิ่ง  จิตใจนิ่งได้ฟังธรรม

ถึงแม้อยู่ไกลวัด  แต่ซื่อสัตย์ศีลประจำ
เข้าวัดมองเห็นธรรม จิตน้อมนำทำความดี

อยู่ใกล้เหมือนอยู่ไกล  อยู่ที่ใจคิดให้ดี
ธรรมะนำชีวี  เข้าวัดทีดีที่ใจ

เข้าวัดด้วยดวงจิต  จะต้องคิดธรรมเข้าไว้
มีวัดอยู่ใกล้ไกล ธรรมนำใจให้ดีเอย

ปภาวีร์
๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ความสุข...​ที่พุทธทาสสอน"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ความสุข...​ที่พุทธทาสสอน"  เป็นหนังสืออีกเล่มที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้มีเมตตามอบไว้ให้พุทธศาสนิกชนคนไทยได้อ่าน จึงอยากจะเชิญชวนทุกท่านหาอ่านกัน ตามรูปภาพหน้าปกหนังสือต่อไปนี้

"เมื่อตัวเราเล็กลง
ความสุขก็เกิดง่ายขึ้น...
เพราะเราจะมีความสุขที่สุด
ในจุดที่เป็น"

และบางส่วนในหนังสือดังกล่าว ที่น่าสนใจเป็นดังนี้ 


"มองแต่ดี...
เขามีส่วนเลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอาส่วนที่ดีพอมีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู
ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะหาคนมีดีโดยส่วนเดียว
อย่าเที่ยวค้นหาสหายเอ่ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเปล่าเอย
ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีแต่คุณ"

นั่นเป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือ "ความสุข...​ที่พุทธทาสสอน" หากว่าทุกท่านอยากจะพบความสุขตามที่ท่านพุทธทาสได้เมตตา คงต้องหาอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวข้างต้นนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งคติธรรมคำสอนข้างต้นเกี่ยวกับ "มองแต่ดี..."​ นับว่าจะเกิดความสุขต่อทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เมตตากรุณาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาต่อไปในอนาคตดังนี้

เมื่อเราตัวเล็กลง  จิตตั้งตรงดำรงธรรม
ตัวเล็กลงประจำ  พร้อมจะทำนำสิ่งดี

ความสุขก็เกิดง่าย  สุขสบายในฤดี

เล็กลงปลงมากมี  นำชีวีมีสุขใจ

มองแต่ในส่วนดี  ส่วนไม่ดีไม่ใส่ใจ

ความเลวเขาคนใด  ทิ้งจากใจไม่ไปสน

จงเลือกส่วนที่ดี  ประโยชน์มีดีมากล้น

ดีชั่วกันทุกคน  หนีไม่พ้นสนเรื่องธรรม

ส่วนชั่วอย่าไปรู้  ตาเฝ้าดูดีให้ทำ

ธรรมะจิตน้อมนำ  เป็นประจำทำที่ใจ

ความสุขยามตัวเล็ก  ตอนยังเด็กนึกเข้าไว้

ยิ้มแย้มสุขฤทัย  ไม่ทุกข์ใจใฝ่เรื่องดี

ชั่วดีเราเลือกได้  ท่องเอาไว้ให้มากมี

ธรรมะคู่คนดี  จิตคิดดีมีรางวัล

ตัวเล็กลงมีสุข  ไร้ความทุกข์สุขนิรันดร์

เล็กลงคงสร้างสรรค์  ได้ทุกวันพลันสุขเอย

ปภาวีร์ 
๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่ชา ให้น้อมเข้ามา"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่ชา ให้น้อมเข้ามา" คติธรรมคำสอนของท่านหลวงปู่ชา (วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี) จึงขอเชิญชวนทุกท่านลองฟัง (ภาษาอีสาน ฟังแล้วจะมีความสุข) จาก YouTube ต่อไปนี้ 


... ถ้าหากว่าเราไปเกี่ยวข้องด้วยความโง่ความเง่าเต่าตุ่น มันก็ทุกข์
... ถ้าหากว่าเราไปเกี่ยวข้องกับมันด้วยสติปัญญา เป็นต้น มันก็สบาย...
... ฉะนั้น ให้น้อม โอปนยิโก ให้น้อมเข้ามา อย่าน้อมออกไป...

คติธรรมคำสอนของท่านหลวงปู่ชาข้างต้น หากว่าพุทธศาสนิกชนคนไทยได้ฟังแล้ว คงจะต้องพิจารณาว่าน้อมเข้ามา คือ อะไร ดีอย่างไร แล้วจะทำอย่างไร เพื่อให้เห็นตัวตนของเราเองให้มากที่สุด

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้เมตตากรุณาพิจารณาแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาต่อไปดังนี้ 

ทุกอย่างน้อมเข้ามา พร้อมค้นหาค่าในตัว
เรื่องอื่นรู้ไปทั่ว  เรื่องของตัวมัวไม่สน

น้อมจิตคิดตัวเรา  เรื่องก่อนเก่าเศร้ากมล
หนักเบาต้องอดทน  เมื่อเป็นคนสนในธรรม

เกี่ยวข้องด้วยความโง่  เรื่องใหญ่โตโง่ประจำ
ธรรมะไม่จดจำ ไม่เคยทำนำสู่ใจ

โอปนยิโก  อย่าโมโหทุกข์ฤทัย
น้อมธรรมเข้ามาไว้  อยู่ในใจทุกเวลา

ความโง่มันก็ทุกข์   ไม่เป็นสุขกันหรอกหนา
ให้น้อมเข้ามาหา  ธรรมมีค่าหาสู่ตน

อย่าพูดให้ไปไกล  ธรรมชิดใกล้ให้มากล้น
น้อมธรรมเข้าหาตน  อย่าไปสนคนอื่นไกล

สติและปัญญา  มีทุกคราในทันใด
รวดเร็วให้ว่องไว  น้อมยิ่งใกล้ใจนิ่งดี

ทุกสิ่งน้อมเข้ามา  เกิดคุณค่าสู่ชีวี
น้อมเข้าให้มากมี  สุขฤดีมีชัยเอย

ปภาวีร์
๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๘

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ เฉยที่ไหน เฉยที่ใจ ใจเฉย"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ เฉยที่ไหน เฉยที่ใจ ใจเฉย" คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำนั้นสั้นๆ ได้ใจความอย่างยิ่งเกี่ยวกับคำว่า "เฉย" จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนคนไทยทุกท่านได้กรุณารับฟังได้ที่ YouTube ต่อไปนี้ 



"เฉยที่ไหน เฉยที่ใจ ใจเฉย
ร่างกายมันแก่ก็เชิญแก่ เรารู้แล้วว่ามันจะแก่
ร่างกายมันจะป่วยก็เชิญป่วย เพราะรู้แล้วว่ามันจะป่วย
ร่างกายของเราจะตายก็เชิญตาย เพราะรู้แล้วว่าเกิดมาแล้วมันก็ต้องตาย
มีเกิดก็ต้องมีตายเป็นของธรรมดา ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงไปได้..."

ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อทุกท่านได้กรุณารับฟังตามข้างต้นแล้ว ย่อมจะเกิดความ "เฉย" ขึ้นมาได้บ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลว่าจะเฉยหรือไม่เฉย  ทั้งนี้คงไม่สามารถที่จะไปบังคับให้เฉยได้  อย่างไรก็ตาม หากว่าเราสามารถที่จะ "เฉย" ได้ดั่งท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำได้เมตตาไว้ก็คงจะดีมิใช่น้อย "เฉยที่ไหน เฉยที่ใจ ใจเฉย"

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดพิจารณามีเมตตาชี้แนะแนะนำเพื่อปรับปรุงพัฒนาต่อไปนี้ ดังนี้ 

เฉยที่ไหนใครรู้  ต้องเฝ้าดูรู้ให้ดี
เฉยแล้วย่อมจะดี  เฉยเดี๋ยวนี้ดีต่อตน

ใจเฉยในความแก่  ไม่เที่ยงแท้แน่ไม่ทน
ความแก่มีทุกคน  แล้วแต่คนสนใจกัน

ใจเฉยเรื่องความป่วย  จนหรือรวยป่วยเหมือนกัน
เจ็บป่วยได้ทุกวัน  รักษากันตลอดไป

ป่วยกายเพียงภายนอก  อย่าซ้ำซอกในจิตใจ
ใจเฉยในทันใด  ป่วยหายได้ในทันที

ความตายมีทุกคน  หนีไม่พ้นทุกชีวี
ใจเฉยได้ยิ่งดี  เกิดดับมีที่ทุกคน

เกิดตายธรรมดา  ธรรมนำพาหากมล
ใจเฉยตายไม่สน  ทุกข์ผ่านพ้นนิรันดร์กาล

เฉยได้ในทุกสิ่ง  สุขอย่างยิ่งมหาศาล
เป็นผู้จิตเบิกบาน  แสนสำราญสุขนิรันดร์

เฉยที่ไหนใจเฉย  ทำให้เคยทุกคืนวัน
ใจเฉยได้เร็วพลัน  นิพพานกันทันทีเอย

ปภาวีร์
๒๗​ สิงหาคม ๒๕๕๘

วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หน้าที่ของมนุษย์ โดย ท่านหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หน้าที่ของมนุษย์ โดย ท่านหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ"  หน้าที่ของมนุษย์โดยท่านหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ จากหนังสือ "สร้างบุญไว้เป็นทุนชีวิต" (ISBN : 978-616-268-154-7) หน้า ๘-๙  เมื่ออ่านแล้วจะทำให้ทราบว่า "หน้าที่ของมนุษย์" เป็นอย่างไร (ลองหาอ่านกันทุกท่านเพื่อจะได้ทราบว่าหน้าที่ของมนุษย์เป็นอย่างไร) 


ซึ่งบางส่วนของหน้า ๘ ของหนังสือ "สร้างบุญไว้เป็นทุนชีวิต" เป็นดังนี้ 

"...เมื่อเราต้องการความสุข เราก็ต้องช่วยให้คนอื่นเป็นสุข การช่วยให้คนอื่นเป็นสุขคือการช่วยตัวเอง  นั้นก็คือ ช่วยให้เรา เป็นสุขด้วย ในขณะใดที่เราทำอะไรที่เป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่ผู้อื่น เราก็จะรู้สึกปลื้มใจ เบาใจ โปร่งใจ มีความสบายเหลือเกิน บางทีก็ สบายไปหลายวัน นึกถึงทีไรแล้วก็ปลื้มอก ปลื้มใจว่า เราได้ทำอะไรที่เป็น ประโยชน์ เป็นความสุขแก่ผู้อื่น
       การทำอะไรให้ผู้อื่นเป็นสุขนั้นเรียกว่าเป็นหน้าที่ หน้าที่ของมนุษย์นี่ก็คือการทำให้คนอื่นเป็นสุขนั่นเอง การทำให้คนอื่นมีความทุกข์แม้สักนิดหนึ่ง  นอกเหนือหน้าที่ ปฏิบัตินอกลู่นอกทาง ไม่ใช่สิ่งที่สังคมต้องการ หน้าที่ของเรานั้น มีอย่างเดียวว่า ทำอย่างไรที่จะให้เพื่อนมนุษย์ได้รับความสุขความสบายปราศจากทุกข์โศกโรคภัย ให้อยู่กันฉันท์พี่น้อง นั่นคือหน้าที่..."

นั่นเป็นบางส่วนที่ท่านหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุได้เมตตาไว้ให้ สำหรับคำว่า "หน้าที่ของมนุษย์" และคงจะเป็นหน้าที่ที่เราทุกคนพุทธศาสนิกชนคนไทยที่จะต้องทำหน้าที่ของตนตามข้างต้นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดเมตตากรุณาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นดังต่อไปนี้

หน้าที่ของมนุษย์  ทำให้สุดหยุดไม่ได้
หน้าที่ทำอะไร  ลองถามใจให้รู้ดี

ทำให้คนอื่นสุข  ไม่มีทุกข์คือหน้าที่
ทำแล้วย่อมจะดี  ส่งผลดีมีทุกคน

เริ่มด้วยมโนกรรม  จิตคิดธรรมนำสู่ตน
เมตตาต้องเริ่มต้น  ยิ้มมากล้นจนสุขใจ

พูดเขียนวจีกรรม  เมตตานำทำเข้าไว้
คนอื่นสุขฤทัย   เราดีใจในทันที

จิตคิดแล้วพูดเขียน  ต้องปรับเปลี่ยนเตือนฤดี
กายกรรมทำความดี  นำชีวีดีต่อคน

หน้าที่ต้องดีแน่  ธรรมเที่ยงแท้ในกมล
ธรรมะให้มากล้น  หน้าที่ตนคนดีเอย

ปภาวีร์ 
๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "พบพระ พบธรรม : หลวงพ่อจรัญ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "พบพระ พบธรรม : หลวงพ่อจรัญ"  ซึ่ง "ธรรมสภา" เป็นผู้จัดทำ DVD "พบพระ พระธรรม" โดยท่านหลวงพ่อจรัญเมตตาได้เล่าถึงที่มาของคาถาพาหุงฯ  จึงอยากจะเชิญชวนพุทธศาสนิกชนคนไทยทุกท่านได้ลองรับชมรับฟังจาก YouTube ต่อไปนี้ 



และ พบพระ พบธรรม : หลวงพ่อจรัญ (2)  แลัวทุกท่านจะเข้าใจว่า "ชัยมงคลคาถา" คือ อะไร  (ฟังหลายๆ รอบ ยิ่งจะดีมากๆๆๆ )

จากข้อมูลจากข้างต้นเมื่อทุกท่านได้รับชมรับฟัง "พบพระ พระธรรม หลวงพ่อจรัญ" ทั้ง ๒ ตอน จาก YouTube ดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าทุกท่านจะได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับคำว่า "พบพระ พบธรรม" ทำไมการสวดพาหุงถึงมีความสำคัญ และทำไมถึงเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ซึ่งท่านหลวงพ่อจรัญได้เมตตาให้ทุกท่านได้พบกับธรรมเป็นที่เรียบร้อย

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดเมตตากรุณาพิจารณาเพื่อชี้แนะแนะนำสำหรับการปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งมากขึ้นต่อไปในอนาคตดังนี้

พบพระและพบธรรม  เป็นประจำทำเข้าไว้
พบแล้วจะเข้าใจ  ว่ายิ่งใหญ่ในใจตน

พบแล้วต้องไตร่ตรอง  อย่าเศร้าหมองในกมล
ความทุกข์มีทุกคน  ธรรมต้องสนอดทนใจ

พบธรรมนำความสุข  สิ้นความทุกข์ทุกเรื่องไป
ทุกคนย่อมทำได้  ต้องใส่ใจในทุกวัน

พาหุงมหากา  สิ่งล้ำค่าพาสร้างสรรค์
พบพระได้ครบครัน  ธรรมเสกสรรค์พลันสุขใจ

พบแล้วต้องสวดมนต์  ธรรมมากล้นพ้นปลอดภัย
ธรรมะอยู่ในใจ  สุขฤทัยตลอดกาล

พบแล้วลงมือทำ  จิตน้อมธรรมทำประสาน
ชีวิตอีกไม่นาน   จิตเบิกบานสำราญใจ

พบแล้วจิตปรับเปลี่ยน  จิตพากเพียรเปลี่ยนทันใด
ชีวิตไม่ยาวไกล  ไม่วันใดไปทันที

พบพระแลัวพระธรรม  จิตดื่มด่ำทำเรื่องดี
"พาหุง" เป็นของดี  สวดทันทีดีแน่เอย

ปภาวีร์ 
๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๘
FB : ธรรมะเพื่อชีวิต โดย ปภาวีร์
เกี่ยวกับบทสวดคาถาพาหุง ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "พาหุง ชัยชนะแห่งพุทธะ" (http://msrivirat.blogspot.com/2015/04/blog-post_14.html)

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "เปิดบันทึกตำนาน ตอน หลวงปู่บุญมี วัดสระประสานสุข"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "เปิดบันทึกตำนาน ตอน หลวงปู่บุญมี วัดสระประสานสุข"  หลวงปู่บุญมี ที่เปิดตำนาน คือ "หลวงปู่บุญมี โชติปาโล"  (เกี่ยวกับหลวงปู่บุญมี ที่ https://www.facebook.com/LuangPuBoonmee)  และที่สำคัญอยากจะขอเชิญพุทธศาสนิกชนได้ชมYouTube ตาม Link ต่อไปนี้ (ซึ่งเป็นรายการเปิดตำนาน ททบ.5 เมื่อหลายปีก่อน)



ซึ่งหลวงปู่บุญมี โชติปาโล มักจะมีคติธรรมคำสอนที่เป็นภาษาอีสานสั้นๆ  ที่หากได้รับฟังแล้วจะทำให้เราทุกคนได้ข้อคิดที่ดีๆ ในการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ดั่งเช่น ช่วงนาทีที่ 7.25 ตาม YouTube ข้างต้น  หลวงปู่บุญมี ได้เมตตาไว้ดังนี้ 

"... ภัยอันตรายเสียหายมีประจำทุกคน ความรอบรู้รักษาตัวไม่มี ที่ไม่มีเพราะความมืดมันบังตา ไม่มีปัญญามองเห็นตัว ไม่กลัวความเสียหาย..."

ผู้เขียนก็ขอเชิญชวนทุกท่านได้ฟังและชม "เปิดบันทึกตำนาน ตอน หลวงปู่บุญมี วัดสระประสานสุข" ให้จบ (หากชมหลายๆ รอบ ก็น่าจะดี เพราะจะได้มีบุญ บุญมีให้มากๆ)

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดเมตตากรุณาพิจารณาชี้แนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไขดังต่อไปนี้

เรื่องภัยอันตราย  ความเสียหายมีทุกคน
บางคนอาจมากล้น  อย่าอับจนทนสู้ไป

รอบรู้รักษาตัว  เรื่องที่ชั่วตัวห่างไกล
ธรรมะมากเข้าไว้  รักษาใจให้ถูกทาง

ความมืดมันบังตา  ธรรมเข้าหากันเสียบ้าง
หลวงปู่เป็นแบบอย่าง  ความดีสร้างวางที่ใจ

ไร้ปัญญามองตน  โดยไม่สนคนว่าไง
เสียหายช่างปะไร  ธรรมห่างไกลไร้ความดี

อันตรายประมาท  ยิ่งมีมากย่อมไม่ดี
รักษาตัวไม่มี  ธรรมไม่มีดีสิ้นสูญ

ธรรมะสร้างปัญญา  สิ่งมีค่าคอยเกื้อกูล
ทำดีมีเป็นทุน  สำหรับหนุนภพต่อไป

ฟังหลวงปู่บุญมี  สุขชีวีดีทุกวัย
พบสุขเมื่อตายไป  ธรรมยิ่งใหญ่ใจสุขเอย

ปภาวีร์ 
๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘
FB : ธรรมะเพื่อชีวิต โดย ปภาวีร์
เปิดตำนาน : หลวงปู่บุญมี โชติปาโล
============================
ตำนานบารมี  หลวงปู่บุญมีที่มากบุญ
หลวงปู่มีพระคุณ  ธรรมคอยหนุนจุนเจือใจ

พระดีศรีอุบล  ที่ทุกคนก้มกราบไหว้
หลวงปู่พระผู้ให้  ธรรมยิ่งใหญ่ให้ทำดี

ตำนานพระมีบุญ  ผู้มีคุณหลวงปู่บุญมี
หลวงปู่สอนทำดี  ทุกนาทีดีทุกตอน

ตำนานที่สำคัญ  ธรรมเสกสรรค์อำนวยพร
หลวงปู่คอยพร่ำสอน  ดีมาก่อนสอนใจตน

หลวงปู่คือตำนาน  ถูกเล่าขานคู่อุบล
ธรรมะในกมล  ช่วยทุกคนพ้นทุกข์ภัย

ตำนานในเรื่องดี  หลวงปู่บุญมีดียิ่งใหญ่
นั่งลงก้มกราบไหว้   สุขฤทัยในธรรมเอย

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "คำว่า รัตน โดยท่านพุทธทาสภิกขุ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "คำว่า รัตน โดยท่านพุทธทาสภิกขุ" เชื่อว่าพุทธศาสนิกชนคนไทยทุกท่านจะต้องได้ยินได้ฟังและรู้จักคำว่า "รัตน" กันเป็นอย่างดี คติธรรมคำสอนของท่านพุทธทาสนั้นสั้นๆ  เกี่ยวกับคำว่า "รัตน" เชิญรับฟังได้ที่ YouTube จาก Link ต่อไปนี้ 



“       ... รัตน...
แปลว่าเรื่องให้เกิดความยินดี...
ในทางวัตถุก็แก้วแหวนเงินทอง
ทางจิตใจก็คือ สิ่งที่ให้เกิดความยินดีทางจิตใจ
ทางนามธรรมก็ได้แก่พระรัตนตรัย ที่น่ายินดี ยิ่งกว่าแก้วแหวนเงินทอง...”

จะเห็นว่าคติธรรมคำสอนของท่านพุทธทาสข้างต้นเกี่ยวกับคำว่า "รัตน" นั้น ทุกท่านต้องยินดีมีรัตนกันทุกคน และหากยิ่งมี "รัตน" กันมากๆ  ก็น่าจะดียินดีมีความสุขกันมากยิ่งขึ้นตามไปด้วยในที่สุด 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดมีเมตตากรุณาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นดังต่อไปนี้ 

"รัตน" คำนี้  ความยินดีมียิ่งมาก
มีได้ไม่ได้ยาก  จิตต้องอยากมากเร็วพลัน

"รัตน" วัตถุ  อาจผังผุในสักวัน
เงินทองก็แค่นั้น  ตายจากกันพลันสิ้นไป

"รัตน" ทางธรรม  จิตน้อมนำพระรัตนตรัย
สุขล้ำเมื่อตายไป  สุขยิ่งใหญ่ในโลกา

"รัตน" ทางใจ  สุขฤทัยทรงคุณค่า
ตายไปตามเวลา  ย่อมเข้าหาพานิพพาน

"รัตน" คำนี้  ทำวันนี้จิตประสาน
มีธรรมตลอดกาล  จิตเบิกบานนิรันดร

"รัตน" ยิ่งมาก  จะสามารถกรรมตัดรอน
ธรรมะอำนวยพร  นั่งหรือนอนทุกตอนเอย

ปภาวีร์ 
๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ แสงสว่างของชีวิต"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ แสงสว่างของชีวิต" หนังสือแสงสว่างของชีวิตโดยท่านหลวงพ่อจรัญนั้นเป็นหนังสือที่ดีอย่างยิ่ง จึงอยากจะเชิญชวนทุกท่านได้ลองหาอ่านกัน ซึ่งต่อไปนี้เป็นเพียงบางส่วนของหนังสือดังกล่าว 



"... ปรับไม่ได้ก็เปลี่ยน เปลี่ยนนิสัย พัฒนาให้เจริญ เรามาพัฒนาจิตให้เจริญก้าวหน้า ก้าวเร็ว ต้องก้าวให้ทันด้วย ทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน อดีตอย่ารื้อฟื้น เรื่องอื่นอย่าคิด..."

คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อจรัญข้างต้นนับว่านับว่าเป็นแสงสว่างของชีวิตอย่างแท้จริง เป็นแสงนำทางให้ไปพบกับความสุขที่ยั่งยืนนิรันดร์ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อชีวิตเรามีแสงสว่างนำทางย่อมไปสู่เป้าหมายได้อย่างราบรื่นในที่สุด

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะได้ขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดเมตตาพิจารณาแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาต่อไป ดังนี้

ปรับไม่ได้ก็เปลี่ยน นิสัยเปลี่ยนให้จงได้
ปรับเปลี่ยนในจิตใจ  เป็นคนใหม่ดีกว่าเดิม

พัฒนาจิตก้าวหน้า  มีคุณค่าธรรมต้องเสริม
ธรรมะจิตต้องเติม  โดยก้าวเริ่มที่ใจตน

ก้าวเร็วทันเหตุการณ์ ธรรมประสานในกมล
จิตใจต้องอดทน  เมื่อเป็นคนต้องกล้าเปลี่ยน

อดีตอย่ารื้อฟื้น  จิตใจตื่นเป็นบทเรียน
ปัจจุบันพากเพียร คอยย้ำเตือนในทางดี

เรื่องอื่นอย่าไปคิด  ผูกดวงจิตธรรมมากมี
แสงสว่างสู่ชีวี  บุญมากมีดีแน่นอน

ปัจจุบันความจริง จิตใจนิ่งย่อมได้พร
ธรรมะอย่าตัดรอน ไม่กลับย้อนอดีตเอย

ปภาวีร์ 
๒๒ สิงหาคม  ๒๕๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ความดีเดี๋ยวนี้"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ความดีเดี๋ยวนี้" คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำสั้นๆ ได้ใจความ หากว่าพุทธศาสนิกชนคนไทยทุกท่านได้น้อมนำทำตามแล้ว เชื่อวาจะ "ดี" อย่างแน่นอนในที่สุด ขอเชิญทุกท่านลองฟังจาก YouTube ต่อไปนี้ 



"... ถ้าเรารักษาความดีเดี๋ยวนี้ไว้เป็นปกติ เดี๋ยวหน้ามันจะเป็นอย่างไรช่างมัน เพราะมันไม่มี... 
เราก็รักษาความดีเดี๋ยวนี้ไว้ตลอดเวลา..."

เมื่อทุกท่านได้ฟังคติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำตามข้างต้นแล้ว น่าจะสามารถเลือกทำ "ความดี" เดี๋ยวนี้ได้ทันที่ สำหรับ "ความดี" เป็นอย่างไรนั้น คงจะเป็นสิ่งที่ทุกท่านทราบและรู้จักกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ดังนั้น เดี๋ยวนี้ขณะนี้ลงมือทำ "ความดี" กันทันทีก็แล้วกัน 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดเมตตากรุณาพิจารณาชี้แนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นดังต่อไปนี้

เรารักษาความดี  ต้องทันทีเดี๋ยวนี้พลัน
ความดีทำทุกวัน  ดีสร้างสรรค์กันให้มาก

ทำดีให้ปกติ  ด้วยสติมีความอยาก
ความดีอาจจะยาก  แต่สามารถหากจะทำ

เดี๋ยวนี้ปัจจุบัน  ต้องขยันกันประจำ
มีธรรมจิตน้อมนำ  ความดีทำย้ำที่ใจ

เดี๋ยวหน้าช่างหัวมัน  ทำดีพลันกันให้ไว
ทันทีดีทันใจ  ความดีไซร้ไร้ทุกข์ตรม

ความดีเกิดความสุข  ไม่มีทุกข์ให้ระทม
ทำดีคนชื่นชม  อภิรมย์สมอุรา

ทำดีมีไม่สิ้น  ทั่วฟ้าดินยินทั่วล้า
ทำดีตลอดเวลา  ทรงคุณค่าพาสุขเอย

ปภาวีร์
๒๑​ สิงหาคม ๒๕๕๘

วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่ชา ให้พากันรีบทำ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่ชา ให้พากันรีบทำ" คติธรรมคำสอนของท่านหลวงปู่ชา เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง จึงอยากจะเชิญชวนพุทธศาสนาคนไทยทุกท่านได้ลองฟังจาก YouTube ต่อไปนี้ 



หลวงปู่ชา ให้พากันรีบทำ

"ให้พากันรีบทำ
สร้างคุณงามความดีจะเป็นประโยชน์ต่อชาติ ศาสนา
พระมหากษัตริย์ นั่นรีบพากันทำ...
ต้องพยายามสร้างความดีตั้งแต่ตอนอายุยังน้อย
=====================

จะเห็นว่าคติธรรมคำสอนของท่านหลวงปู่ชาข้างต้น เมื่อเราทุกคนได้ฟังแล้วเชื่อว่าจะต้อง "รีบ" กันในทันทีไม่ต้อง "รอ"  เพราะเวลาไม่เคยคอยใครในโลกนี้ นับวันยิ่งแต่จะเดินหน้าต่อไปแก่ตัวกันไปทุกคน และตายไปในที่สุด  ดังนั้น ท่านใดที่กำลัง "รอ" อยู่ในขณะนี้ คงจะต้องปรับเปลี่ยน "รอ" เป็น ดังนี้ ร.รีบเร่ง  อ.อำนวยอวยชัย (ให้ตนเองได้ทำความดี) ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมจะดีมีชัยในที่สุด

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาดังต่อไปนี้ 

ให้พากันรีบทำ  จิตน้อมธรรมทำความดี
สร้างคุณงามความดี  ทำชีวีเป็นประโยชน์

ตอนอายุยังน้อย  จิตหมั่นคอยแต่เรื่องโชค
หลีกหนีสิ่งเป็นโทษ  ทำประโยชน์ต่อบ้านเมือง

อายุเมื่อไม่มาก  จะสามารถทำทุกเรื่อง
ทำดีอย่างต่อเนื่อง  อย่าโกรธเคืองในเรื่องดี

สั่งจิตให้รีบทำ  เป็นประจำนำชีวี
อาจตายทุกนาที  สร้างความดีมีสุขใจ

ความดีย่อมไม่เสื่อม ธรรมพาเชื่อมสู่ภพใหม่
ทำดีสุขที่ใจ  ต้องรู้ไว้ปัจจัตตัง

รีบทำเดี๋ยวจะสาย  อาจจะตายไม่จีรัง
ทำดีเป็นพลัง  จิตต้องสั่งทำดีเอย

ปภาวีร์
๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ฆราวาส (ศิษย์เก่าวิศวะ ม.ขอนแก่น) เขียนเรื่อง ทางพ้นทุกข์"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ฆราวาส (ศิษย์เก่าวิศวะ ม.ขอนแก่น) เขียนเรื่อง ทางพ้นทุกข์" แน่นอนว่า ทางพ้นทุกข์ ต่างเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนคนไทยล้วนต่างต้องการ ซึ่งมีหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าสนใจ คือ "ทางพ้นทุกข์" เขียนโดยอาจารย์สุภีร์ ทุมทอง (ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น รุ่นที่ ๓๐)

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวสามารถ Download ได้ที่ Link ต่อไปนี้

และบางส่วนจากหนังสือดังกล่าว หน้า ๖๙ ดังนี้

(เกี่ยวกับ อาจารย์สุภีร์ ทุมทอง http://www.ajsupee.com/

เมื่อฆราวาสเขียนเรื่องทางพ้นทุกข์สำหรับฆราวาสนับว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนทุกท่านได้เข้าไปเยี่ยมชม Website ของท่านอาจารย์สุภีร์ตามข้างต้นและลอง Download หนังสือ "ทางพ้นทุกข์" อ่านกัน (อ่านหลายๆ รอบก็น่าจะดี)

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดเมตตาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาดังต่อไปนี้

เวียนว่ายพร้อมตายเกิด  อาจประเสริฐเลิศภพดี
ภพนี้ทำไงดี  ธรรมไม่มีดีหรือไม่

ค้นหาทางพ้นทุกข์  จะพบสุขที่ยิ่งใหญ่
วางเฉยอยู่ทำไม  ลองถามใจของเราดู

หนทางมีหลายอย่าง  ศึกษาบ้างอาจจะรู้
ธรรมะอย่าอดสู  จิตหดหู่อยู่เดียวดาย

ชีวิตที่สั้นนัก  ต้องรู้จักเกิดแล้วตาย
ธรรมะอย่าเอียงอาย  หญิงหรือชายตายเหมือนกัน

ทางพ้นทุกข์อยู่ไหน  ต้องถามใครที่ไหนกัน
สุขทุกข์มีทุกวัน  พ้นไปพลันทันท่วงที

หลายภพที่เกิดมา  น่าค้นหาให้ดีดี
จะรู้ว่าเรานี้  มีชีวีเป็นอย่างไร

เกี่ยวพันกันทุกอย่าง  ทุกก้าวย่างที่เดินไป
ตัดสิ้นในทันใด   อยู่ที่ใจในตัวเรา

ความทุกข์ไม่ต้องการ  สุขสำราญจิตไม่เศร้า
ผ่านมาลืมเรื่องเก่า  คนอื่นเขาช่างหัวมัน

หนทางมีอย่างเดียว  จิตเด็ดเดี่ยวทำได้พลัน
นิพพานหมดสิ้นกัน  จิตสุขสันต์นิรันดร์เอย

ปภาวีร์ 
๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๘

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ร.๔ : พุทธศาสนา กับ วิทยาศาสตร์"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ร.๔ : พุทธศาสนา กับ วิทยาศาสตร์"  ซึ่งวันที่ ๑๘ สิงหาคม ของทุกปีเชื่อว่าคนไทยทราบกันดีว่า คือ "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ"  ซึ่งเป็นวันที่ ร.๔ ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำในวันที่ ๑๘  สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑  (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)  และพระองค์ คือ "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เขียนจะขออนุญาตนำเสนอในวันนี้ คือ หนังสือ "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าสยาม" ที่นาย เอ.บี.กริสโวลด์ เป็นผู้แต่ง และ ม.จ.สุภัทรดิส ดิศกุล แปล  เป็นหนังสือที่น่าหาอ่านอย่างยิ่ง ISBN 974-399-383-5 (ตามรูปภาพต่อไปนี้) 


และสิ่งที่ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปนี้ คือ เนื้อหาบางส่วนจากหนังสือข้างต้นที่ว่าด้วย ร.๔ : พุทธศาสนา กับ วิทยาศาสตร์  (ซึ่งเป็นทราบกันดีว่า ร.๔ ทรงผนวชเป็นระยะเวลากว่า ๒๗ พรรษา) ดังนี้ 

หน้า ๓๔ -๓๕ 
"... ทางด้านพระศาสนา ความเลื่อมใสและความขยันหมั่นเพียร ก็ทำให้พระองค์ทรงศึกษาต่อไป แต่พระองค์ได้ทรงใช้สามัญสำนึก และมีพระทัยที่ค้นหาเหตุผลอย่างแท้จริงอยู่เสมอ วัดสมอรายที่พระองค์ประทับอยู่ มีชื่อในปัจจุบันว่า วัดราชาธิวาส วัดนี้ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา... วัดสมอรายก็ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางของเมืองหลวง คืออยู่ในป่าอันเงียบสงบ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ  (ร.๔ ในขณะนั้น) มาประทับอยู่กับคณะสงฆ์อรัญวาสีตามราชประเพณี พระภิกษุที่บวชเพียงไม่กี่เดือน ย่อมไม่สามารถศึกษาได้มาจากพระสงฆ์คามวาสีผู้ชำนาญในการสอนภาษาบาลีและเชี่ยวชาญพระไตรปิฎก แต่พระสงฆ์อรัญวาสีซึ่งชำนาญในทางบำเพ็ญสมาธิ ถ้ามีศิษย์ที่ฉลาดก็อาจสามารถเรียนได้อย่างรวดเร็ว และนำเอาวิธีการนี้ไปใช้เพื่อความสำเร็จในกิจการด้านอื่นๆ ได้
      การบำเพ็ญสมาธินี้ เป็นระบบการควบคุมลมหายใจเข้าออกตลอดจนวิธีการอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การควบคุมจิตใจ ทำตนให้ว่างสูญเปล่าและเข้าฌาณ วิธีนี้ทำให้พระพุทธองค์ทรงสามารถตรัสรู้พระโพธิญาณและทรงวางฐานแห่งพุทธศาสนา..."

หน้า ๖๖ - ๖๗
"... สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎและสาวกของพระองค์ ทรงทำให้จริยธรรมเฟื่องฟูขึ้นใหม โดยการอธิบายหลักอันยุ่งยากซับซ้อนแก่ประชาชนส่วนใหญ่ด้วยถ้อยคำที่เขาเหล่านั้นอาจเข้าใจได้โดยง่าย สั่งสอนว่าพระพุทธศาสนานี้เป็นมรดกแก่ประชาชนทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะแก่พระสงฆ์เท่านั้น พิธีสงฆ์แต่ก่อนก็มีแต่เพียงสวดมนต์ภาษาบาลี ซึ่งคฤหัสถ์เพียงบาคนเท่านั้นที่อาจเข้าใจได้ คณะสงฆ์ธรรมยุตได้เพิ่มการสวดมนต์ภาษาไทยลงไปและมีผู้นิยมฟังเป็นจำนวนมาก พระสงฆ์คณะนี้ได้ย้ำแล้วย้ำอีกถึงศีลห้าคือ ไม่พูดเท็จ ไม่ลักขโมย ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดื่มเครื่องดองของเมา และผิดลูกผิดเมีย ได้แนะนำทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ให้แลเห็นถึงความสำคัญของการควบคุมตนเองความเมตตากรุณา และความอดทนในชีวิตประจำวัน..."

หน้า ๗๑ 
"... เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ จะสวรรคต พระองค์ทรงมีพระราชปรารถนาแสดงความไม่พอพระทัยที่คณะสงฆ์ธรรมยุตครองจีวรตามแบบมอญ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏก็ทรงยอมตาม และสาวกของพระองค์ก็หันไปครองผ้าตามแบบพระสงฆ์ไทย การยอมครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการแสดงความกรุณาต่อผู้ที่กำลังจะตายเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความเมตตากรุณานั้น สำคัญยิ่งกว่ากฏเล็กน้อย..." 

หน้า ๑๖๓- ๑๖๔
"... ด้วยความพยายามที่จะเลียนแบบพระพุทธองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะสวรรคตในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระองค์เอง คือ วันเพ็ญเดือน ๑๑ ได้แก่วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๔๗ พระองค์เริ่มประชวรในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๑ และก็ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทรงพระชนม์อยู่จนถึงวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ อย่างไรก็ดีด้วยกำลังแห่งพระหทัย ซึ่งพระองค์ได้เคยทรงศึกษามาแล้วในเรื่องระเบียบวินัยที่อาจบังคับให้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอยู่ใต้อำนาจแห่งจิตได้ สามารถทำให้พระองค์ทรงกระทำการนี้สำเร็จ เพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ จนถึงวาระสุดท้าย ขณะประชวรพระองค์ยังได้รับสั่งเป็นภาษาอังกฤษและทรงท่องบนคาถาบาลีเกี่ยวกับความตายที่พระองค์ได้เคยทรงพระราชนิพนธ์ไว้แต่ก่อน  พระองค์ได้พระราชทานคำปรึกษาแก่คณะเสนาบดีเป็นครั้งสุดท้ายให้เลือกผู้ที่จะขึ้นครองราชสมบัติต่อสืบไปว่า ขอให้ท่านผู้นั้นสามารถรวมความสามัคคีไว้ได้และกระทำการปฏิรูปบ้านเมืองให้ดีขึ้นดังที่พระองค์ได้เคยทรงกระทำมา แล้วพระองค์รับสั่งบอกสาส์นอำลาเป็นภาษาบาลีแด่พระภิกษุที่เคยอยู่ร่วมสำนักมากับพระองค์ ณ วัดราชประดิษฐ์ พระองค์ทรงขอร้องต่อสหายที่สนิท  "ไม่ให้โศกเศร้าหรือแปลกประหลาดใจ ทั้งนี้เพราะสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายที่อุบัติขึ้นมาในโลกย่อมต้องตาย ไม่อาจหลีกเลี่ยงไปได้" "

หน้า ๔
"... การเปลี่ยนแปลงของพระองค์ในทางด้านศาสนายิ่งมีความลึกซึ้งมากขึ้นไปอีก พระองค์ได้ทรงตัดความเชื่อถือในโชคลางต่างๆ ซึ่งเข้ามาผูกพันอยู่กับพุทธศาสนาเป็นเวลาหลายร้อยปี ทรงสั่งสอนพุทธศาสนาอย่างบริสุทธิ์ ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงตระหนักดีว่า ในไม่ช้าประชาชนผู้ได้รับการศึกษาดีขึ้นก็จะเลือกเชื่อถือสิ่งเหลวไหลต่างๆ เหล่านี้ และสิ่งนี้ก็อาจทำให้ประชาชนเหล่านั้น เลิกเลื่อมใสในพุทธศาสนาตามไปด้วย พระองค์จึงได้ทรงชี้แจงให้เห็นว่า คำสั่งสอนในพุทธศาสนานั้น ถ้าเข้าใจให้ถูกต้องแล้วก็จะไม่มีอะไรที่ขัดข้องต่อสามัญสำนึก หรือ ขัดกับวิทยาศาสตร์เลย พุทธศาสนาเป็นแต่เพียงระบบทางจรรยา ซึ่งเหมาะกับความต้องการในปัจจุบันอย่างยิ่ง..." 

จะเห็นว่าจากข้อมูลในหนังสือ "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าสยาม"  ข้างต้นนั้น ได้แสดงให้เห็นว่า ร.๔ ทรงมีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงเปี่ยมไปด้วย พรหมวิหาร ทรงลึกซื้งเข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎไตรลักษณ์ "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ที่ไม่มีใครหลีกหนีความตายได้ในที่สุด 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาต่อไปดังนี้ 

รัชกาลที่สี่  ทรงความดีมีทุกด้าน
ธรรมะจิตประสาน  มหาศาลในพระธรรม

พระองค์ทรงศึกษา  เรื่องก้าวหน้าวิทย์สูงล้ำ
ธรรมะทรงจดจำ  พร้อมทรงทำเพื่อประชา

พระองค์ทรงบำเพ็ญ  จิตมองเห็นธรรมล้ำค่า
พระพุทธศาสนา  ทรงเมตตาและอดทน

ยี่สิบเจ็ดพรรษา  ธรรมคุณค่าเป็นล้นพ้น
ธรรมะสู่กมล  สอนทุกคนสนความดี

เรื่องวิทยาศาสตร์  ทรงสามารถรู้มากมี
ประเทศไทยมีวันนี้  น้อมฤดีเพื่อพระองค์

ธรรมะวิทย์เกี่ยวกัน  ต่างสัมพันธ์อย่างมั่นคง
เรื่องธรรมจิตต้องปลง  พร้องวางตรงลงทันที

พระองค์ทรงชี้แจง  อย่างแจ่มแจ้งเรื่องชีวี
ธรรมะเป็นสิ่งดี  น้อมชีวีให้เข้าใจ

เรื่องของกฎไตรลักษณ์  ต้องรู้จักมากเข้าไว้
ทุกคนล้วนต้องไป  ไม่วันใดใยต้องมา

พระองค์ปรีชาญาณ  ในทุกด้านที่ผ่านมา
ยิ่งใหญ่พระราชา  พวกเรามาวันทาเอย

ปภาวีร์ 
๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๘