Nuffnang Ads

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โขน กับ หัวโขน

หลายวันก่อนนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีท่านหนึ่งได้แนะนำและอยากจะให้เขียนเกี่ยวกับเรื่องของหัวโขน ผู้เขียนได้รับปากท่านไป แล้วและคิดว่าจะต้องสวมหัวโขนในการเขียนเรื่องดังกล่าวให้ได้

โขน เป็นการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงอันเก่าแก่ของเมืองไทยมาเป็นเวลาช้านาน อย่างที่เราๆ ท่านๆ ทราบกันดี (รายละเอียดไม่ขออนุญาตกล่าวถึงนะครับ) แต่โดยข้อเท็จจริงผู้เขียนก็ไม่เคยได้มีโอกาสได้สัมผัสและดูการแสดงของโขนสักกะที ซึ่งโดยส่วนมากแล้วเรามักจะทราบกันดีว่าโขนที่แสดงนั้น เป็นเรื่อง “รามเกียรติ์”

แต่ประเด็นสำคัญคือ “โขน” มักจะเกี่ยวกับ “หัวโขน” เพราะบทบาทการแสดงต่างๆ นั้น ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และตัวลิง จะต้องแต่งกายให้เป็นไปตามบทบาทที่กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวยักษ์ ตัวลิง จะต้องสวมหัวโขนเพื่อทำให้ทราบว่าหน้าตาลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งผู้แสดงเมื่อสวมหัวเข้าไปแล้วก็จะต้องเล่นไปตามหน้าตาหรือหัวที่กำหนดไว้ เช่น ตัวยักษ์ (ซึ่งก็มีหลายประเภท) ก็ย่อมจะแสดงให้สมจริงสมจังในอิทธิฤทธิ์ที่มีผู้กำหนดผู้เขียนบทได้วางไว้ ตัวลิงก็เช่นกัน (ก็มีหลายประเภท) ก็ย่อมจะต้องแสดงให้สมบทบาทที่ได้กำหนดตัวลิงบางตัวก็มีพลังอำนาจอิทธิฤทธิ์มากเช่นกัน

เมื่อหมดเวลาการแสดงหรือเรื่องราวของเรื่องนั้นได้จบลง หัวโขนของผู้แสดงในบทต่างๆ ทั้งตัวยักษ์ตัวลิงก็จำเป็นจะต้องถอดออกจากหัวของผู้แสดง เพราะหากไม่ถอดออกก็อาจจะชีวิตหาไม่ เนื่องจากไม่สามารถที่จะรับประทานสิ่งใดๆ ได้ และอาจจะได้รับอากาศไม่เพียงพอก็เป็นได้

จะเห็นว่าในเรื่องของโขนข้างต้นนั้น ตัวพระ ตัวนาง (นางเอก) มักจะไม่สวมใส่หัวโขน (อันนี้ผู้เขียนก็ไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด) แต่ผู้เขียนจะให้ข้อสังเกตว่า หัวโขนมักจะถูกสวมใส่เฉพาะในบทบาทของตัวยักษ์ตัวลิงเท่านั้น ดังนั้น อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าเมื่อสวมหัวแล้วจะต้องเล่นให้สมจริงตามบทที่กำหนด หากเปรียบเทียบกับมนุษย์เรานั้นจะเห็นว่าการที่เราทำหน้าที่ต่างๆ ล้วนต่างถูกกำหนดให้สวมในบทบาทต่างๆ เช่น เป็นพ่อแม่ก็จะต้องทำหน้าที่ที่ถูกวางกำหนดไว้ตามตำแหน่งหน้าที่ของพ่อแม่ ลูกก็จะต้องทำหน้าที่ของที่กำหนดเรียกว่าลูกให้ดีที่สุด เป็นต้น จะเห็นว่าสิ่งที่กำหนดตั้งแต่เราแรกเกิดมาบนโลกนี้ เราจะต้องทำหน้าที่ตามที่สังคมได้กำหนดไว้แล้วอย่างเช่น พ่อ แม่ ลูก และกล่าวสำหรับที่เราได้ถูกสมมติเพิ่มเติมต่อจากนั้นอีก คือ บทบาทของการเป็นนักเรียน นักศึกษา เราก็จะต้องทำหน้าที่ในหัวโขนดังกล่าวให้สมบูรณ์ครบถ้วน

และเมื่อเราสำเร็จการศึกษาเราก็ถูกสมมติให้ทำหน้าที่ในตำแหน่งการงานต่างๆ ตามที่ได้เล่าเรียนมา แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะต้องย้ำเน้นเกี่ยวกับหัวโขนโดยตรง คือ หากเมื่อไรก็ตามที่เราได้มอบบทบาทหน้าที่ในระยะเวลาที่เขากำหนด เราก็จะต้องทำให้สมบทบาทในหน้าที่ในเวลาที่เขากำหนดให้แสดง ตัวอย่างเช่น เราอาจจะถูกกำหนดให้รับหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญๆ หรือยิ่งใหญ่ แน่นอนครับเราจะต้องทำหน้าที่สวนหัวโขนดังกล่าวให้ดีและเหมาะสมกับหัวโขนนั้นๆ แต่ประการสำคัญที่จะกล่าวคือ หลายๆ ท่านอาจจะลืมไปว่านั้นเป็นเรื่องสมมติที่เขากำหนดให้เราสวมหัวโขน สักวันเขาจะต้องถอดออก สักเวลาเราก็ย่อมจะถอดออก เราไม่สามารถสวมหัวโขนดังกล่าวไว้ได้ตลอดเวลา และจะยิ่งเลวร้ายเป็นอย่างมากหากเราได้สวมหัวโขนในบทบาทหน้าที่ที่มีพลังอำนาจ ปรากฏว่าเราใช้อำนาจพลังไม่ถูกไม่ควรไม่สมบทบาทตามที่กำหนดไว้แล้ว ก็จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล

โลกของการแสดงโขนย่อมจะมีวันเวลาจบสิ้น หัวโขนย่อมจะถูกถอดออก ตัวผู้แสดงก็ย่อมกลับคืนสู่ชีวิตปกติสุขที่เป็นอยู่ ตำแหน่งหน้าที่ที่กำหนดหากเป็นเสมือนกับหัวโขนที่เขากำหนดให้แสดง หากเราลุ่มหลงใส่แต่หัวโขนแสดงอำนาจพลังตามที่หัวโขนกำหนดไว้ไม่ยอมถอดออก (แม้แต่เวลาอยู่หลังฉากการแสดงก็ไม่ยอมถอด) และไม่ยอมถอดแม้ว่าการแสดงจะจบสิ้นสมบรูณ์ลงไป เราอาจจะเป็นทุกข์ที่จะต้องบทสวมหัวโขนในบทของตัวยักษ์หรือตัวลิงอยู่ตลอดเวลา (หัวโขนมักจะกำหนดให้สวมกับเฉพาะบทบาทของตัวยักษ์กับตัวลิงเท่านั้น ตัวพระ ตัวนาง มักจะไม่ต้องสวมหัวโขน)

ดังนั้น ที่ผู้เขียนได้ลองเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง “โขน” หรือ “หัวโขน” ตามข้างต้นไปแล้วนั้น ผู้เขียนคิดอยู่เหมือนกันว่าตกลงผู้เขียนสวมหัวโขนในบทบาทอะไรกันอยู่ในขณะนี้ เป็น “ตัวพระ” “ตัวนาง” (ตัวนางคงเป็นไปไม่ได้) “ตัวยักษ์ “ หรือ “ตัวลิง” กันแน่ แต่ที่แน่ๆ ผู้เขียนสวมบทบาท เป็นตัวของตัวเอง จะเป็นดีแน่แท้ ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนขอให้ทุกท่านพยายามเป็นตัวของตัวเอง โดยการค้นหาตัวเองให้พบ แล้วท่านจะได้พบกับ “ตัวพระ” อย่างแท้จริง



วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ชอบ ทำ

มนุษย์เราทุกคนที่เกิดมาล้วนต่างเกี่ยวกับคำว่า "ชอบ" และ "ทำ" ก่อนที่จะขยายความและนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผู้เขียนขอนำเสนอคำว่า "ชอบ" ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษ คือ "Like" ที่ฮิตกันมากในการใช้ Social Network โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่ใช้บริการของ Facebook

ชอบ หรือ Like นั้นประกอบด้วย

L= Look ดู

I = Identify กำหนด

K = Know รู้

E = Everyone ทุกๆ คน

ดังนั้น Like ดังกล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่เราจะต้องดูกำหนดรู้ให้ดีเพื่อบอกกับทุกๆ คนว่าเรานั้นพอใจกับสิ่งนั้นๆ ซึ่งเราก็จะเรียกว่า "ชอบ" ดังนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราชอบสิ่งใดเราจะต้องดูกำหนดรู้ให้ดีด้วยความบริสุทธิ์ใจและมีความสุขในสิ่งที่เราได้ดูกำหนดรู้ลงไป จะเห็นว่าชอบถึงแม้ว่าจะเป็นคำสั้นแต่มีความหมายเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อไรก็ตามที่ชอบสิ่งใดนั้น เราจะมีความสุขในสิ่งที่เราชอบ

ที่นี้เมื่อชอบแล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนก็ต้องขอนำเสนอคำว่า "ทำ" ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษน่าจะเป็นคำว่า "Do"

D = Develop พัฒนา

O = Organise จัดองค์กรหน่วยงาน

ดังนั้น "ทำ" หรือ " Do" จะเป็นการพัฒนาองค์กรหน่วยงานของเรา ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าการ "ทำ" คือ การพัฒนางานของเราที่เราได้รับมอบหมายหรือรับผิดชอบให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อเรามีคำสองคำ "ชอบ" และ "ทำ" อาจจะสามารถนำจับมาคู่กันได้หลายกรณีดังนี้

กรณีที่ ๑ ชอบ ทำ

กรณีที่ ๒ ชอบ ไม่ทำ

กรณี ๓ ไม่ชอบ ทำ

กรณี ๔ ไม่ชอบ ไม่ทำ

หากเราพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าในชีวิตประจำวันของเรา เมื่อไรก็ตามที่เราเกิดความชอบในงานของเราและได้มีโอกาสได้ "ทำ" งานดังกล่าวแล้ว เราจะมีความสุขเป็นอย่างมาก ส่วนกรณีที่ ๒ เรามีความชอบแต่เราไม่มีโอกาสได้ทำซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยใดๆ ก็ตามแต่ ในทางตรงกันข้ามกรณีที่ ๓ เราไม่ชอบเลย แต่ได้มอบหมายให้ "ทำ" งานนั้น แล้วท่านคิดว่าวจะมีความสุขหรือไม่ครับ ส่วนกรณีสุดท้ายนั้น เราไม่ชอบ ก็ไม่ต้องทำเลย กรณีนี้เป็นกรณีที่หากท่านใดประสบกับตัวเองก็อาจจะมีความสุข เพราะไม่ต้องรับผิดชอบสิ่งใดๆ ทั้งนั้น

กรณีที่ ๑ และ ๔ เป็นกรณีพิเศษที่อาจจะเกิดความสุขสำหรับท่านใดที่ได้ประสบพบกับเหตุการณ์นั้นๆ แต่โดยส่วนมากในชีวิตของคนเรานั้น มักจะเจอกันกรณีที่ ๓ คือ ไม่ชอบ แต่ได้ "ทำ" ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วย่อมจะเกิดความทุกข์ตามมาอย่างแน่นอน ที่นี้เราจะทำอย่าไรดี ส่วนกรณีที่ ๒ "ชอบ" ไม่ได้ทำ ก็ยังดีความสุขในการที่ได้ชอบถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีโอกาสทำ

ขอวกกลับมากรณีที่ ๓ ที่อาจจะเกิดความทุกข์มากที่สุด ผู้อ่านหลายๆ ท่านคงอาจะประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าวที่ไม่ชอบแต่ได้รับมอบหมายให้ทำ ผู้เขียนก็เคยประสบเช่นกัน หนทางหนึ่งที่จะทำได้คือ จะต้องทำเช่นกัน คือ "ทำใจ" ให้ยอมรับให้ชอบเพื่อจะได้ "ทำ" ต่อไปให้สำเร็จบรรลุตามเป้าหมายที่ได้รับมอบหมายไว้ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวผู้ที่เป็นหัวหน้าผู้ที่เป็นผู้บังคับบัญชาก็ควรจะต้องพิจารณาเช่นกันว่าได้มอบหมายด้วยความเป็นธรรมหรือด้วยความตามข้อเท็จจริงความสามารถของผู้ที่จะมอบงานให้เขาทำหรือไม่

ดังนั้น สิ่งที่ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอคือ เรื่องของ "ชอบ" และ "ทำ" นั้น ทั้งผู้มีอำนาจผู้บังคับบัญชาควรจะพิจารณามอบในสิ่งที่เรียกว่า "ชอบธรรม" แทนคำว่า "ชอบให้ทำ" ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแต่หากเราทุกคนทุกระดับไม่ว่าชนชั้นใดทำงานหน้าที่ใด หากทำด้วยความ "ชอบธรรม" แล้วสังคมทุกสังคมจะมีแต่ความสุขด้วยความชอบธรรมจริงๆ

สังคมไทยของเราจะอยู่ร่วมกันได้ก็เพราะความเราคนไทยทุกคนจะต้องมีความ "ชอบธรรม" ในทุกๆ เรื่อง

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เรื่องของ ๒ ดวง และเกี่ยวกับ พระ

เมื่อคืนที่ผ่านมาผู้เขียนได้เฝ้าดูปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งคิดว่าหลายๆ ท่านคงจะทราบกันดีว่าเกี่ยวกับเรื่องของ ๒ ดวง คือ ดวงอาทิตย์ และ ดวงจันทร์ ผู้เขียนคงจะไม่ลงรายละเอียดของปรากฏการณ์ธรรมชาติดังกล่าว แต่สิ่งที่ต้องการจะสื่อให้ทุกท่านได้ร่วมกันคิดและร่วมกันเพิ่มเติม นั่นคือ การที่ ๒ ดวง สำคัญกับชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมาก "ดวง" เราอาจจะกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดเป็นสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าหากเป็นไปในทางที่ดีก็มักจะถูกเรียกว่า "ดวงดี" หากตรงกันข้ามก็จะถูกเรียกว่า "ดวงไม่ดี หรือ ดวงซวย" (ซึ่งเราทุกคนล้วนไม่ต้องการ)

ดวงเมื่อนำหน้าอาทิตย์ ก็จะหมายถึง ดวงอาทิตย์ ที่ให้แสงสว่างให้พลังงานในเวลากลางวัน

ดวงเมื่อนำหน้าจันทร์ ก็จะหมายถึง ดวงจันทร์ ที่ให้แสงสว่างในเวลาค่ำคืน (ทั้งที่ความจริงแล้วดวงจันทร์ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง แต่จะสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ในเวลาค่ำคืนเท่านั้นเอง)

เมื่อเรานำคำว่า "ดวง" มานำหน้าอาทิตย์และจันทร์ ก็จะเป็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนไม่สามารถคาดคิดได้ว่า ในแต่วันนั้นดวงอาทิตย์จะให้แสดงสว่างมากหรือน้อย บางครั้งก็แสงแดดร้อนแรงเป็นอย่างมาก บางครั้งก็ไม่ร้อนแรง (เพราะมีเมฆมาบดบัง) ก็เช่นเดียวกันในเวลากลางคืน แสงจากดวงจันทร์ก็ไม่แน่นอนเช่นกัน ดังนั้น จะเห็นว่าทั้ง ๒ ดวงยังไม่มีความแน่นอนเลย แล้วชีวิตของมนุษย์เราจะแน่นอนได้อย่างไร ย่อมจะมีดีหรือไม่ดีควบคู่กันเสมอไป

อย่างไรก็ดี บางครั้งเราก็เอาคำว่า "พระ" มาแทนคำว่า "ดวง" เพื่อนำหน้า "อาทิตย์" และ "จันทร์" จึงกลายเป็น "พระอาทิตย์" และ "พระจันทร์" ตามลำดับ

แล้วเมื่อนำ "พระ" มานำหน้าคำดังกล่าวแล้วจะเป็นอย่างไร ครับอย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวนำไปข้างต้นแล้วว่า เมื่อดวงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนไม่คาดคิด เมื่อนำคำว่า "พระ" มานำหน้าแล้ว ผู้เขียนก็คิดว่า น่าจะหมายถึงทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เป็นสิ่งที่สำคัญนำแสงสว่างมาให้มนุษย์เราทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนในการเดินทางไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ พระเป็นสิ่งที่ดีเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้นำไปสู่การรักษาศีลชี้นำเราไปสู่หนทางที่ดีได้พบกับแสงสว่างในชีวิต นั้นหมายความว่าสิ่งใดก็ตามแต่ที่มีพระนำหน้า จะทำให้เราได้มีสติในการรักษาศีลเพื่อทำความดีนำแสงสว่างมาสู่ชีวิตของเรา ทั้งกลางวันเรามีพระอาทิตย์ในการนำแสงสว่างมาสู่การดำรงชีวิตให้เรา พร้อมกับกลางคืนเรามีพระจันทร์นำแสงสว่างมาสู่ตัวเราให้มีความสุขเช่นกัน

ดังนั้น ชีวิตของมนุษย์หากเรามีพระนำหน้าในทุกเรื่องแทนที่จะเป็นคำว่า "ดวง" ก็ย่อมหมายความว่า หากเรารักษาศีลมีสติในการนำสำหรับการทำงานการปฏิบัติแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า ชีวิตของเราจะมีแต่แสงสว่างไม่มืดมน สามารถที่จะเดินทางไปสู่เป้าหมายของชีวิตเราได้ชัดเจนและมีความสุขอย่างแน่นอน จึงเป็นที่มาของชื่อเรื่องข้างต้นที่ว่า "๒ ดวง แล้วเกี่ยวกับ พระ"

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนก็ขออนุญาตเพิ่มเติมว่า หากเมื่อไรก็ตามที่ชีวิตของเราอาศัยแต่ดวงแล้วอาจจะทำให้เราไม่มีความสุข แต่หากเมื่อไรก็ตามที่การดำรงชีวิตของเรานำเอา "พระ" มานำหน้าอย่างที่กล่าวไปแล้ว เหมือนกับที่เราเปลี่ยนจาก ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ มาเป็น พระอาทิตย์ พระจันทร์ ก็คิดว่าน่าจะทำให้เราสามารถมีแสงสว่างในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงและมีความสุขอย่างยั่งยืน

ดวงไม่ดี ก็โทษนั่นโทษนี้
ดวงดี ก็บอกว่าเกิดจากบุญกุศล
มีดวงเกิดเป็นคน ก็ต้องมั่นทำความดี
หากให้ดี ก็ต้องคิดแต่เรื่องดีๆ และลงมือทำ

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554

Way back into love

วันนี้ผู้เขียนกำหนดชื่อเรื่องเป็นภาษาอังกฤษว่า “Way back into love” ซึ่งเป็นชื่อเพลงๆ หนึ่ง เรื่องของเพลงผู้เขียนเดี๋ยวเราค่อยมาฟังกันภายหลังว่าจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อในวันนี้ คือ การหาหนทางกลับมารักกันใหม่ อาจจะเหมือนบรรยากาศของประเทศไทยของเราให้ขณะนี้ที่กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งกันไม่อีกสัปดาห์ สิ่งที่หนึ่งเราคนไทยทุกคนจะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาในระยะเวลาสามสี่ปีที่ผ่านมานั้น สังคมไทยคนไทยเราต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน (อาจจะเป็นเพราะอะไรผู้เขียนคิดว่าทุกท่านทราบกันดี) และสิ่งหนึ่งที่เหล่านักการเมืองผู้เสียสละจะเข้ามารับใช้พ่อแม่พี่น้องประชาชนต่างก็นำเสนอคือเรื่องของ “ความปรองดอง” หลายๆ พรรคการเมืองต่างก็มีนโยบายความเห็นที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ดี หากเราคนไทยทุกคนทุกฝ่ายทุกพรรคต่างก็พยายามที่หาหนทางการกลับมารักกันให้เหมือนเดิมแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าประเทศไทยของเราจะน่าอยู่เป็นอย่างมาก แน่นอนครับหนทางที่ว่าสิ่งหนึ่งที่จะเป็นไปได้นั้น จะต้องมีคำว่า “ให้” โดยให้ในที่นี้ คือ ให้อภัยซึ่งกันและกัน ให้ความรักซึ่งกันและกัน ให้การยอมรับกันและกัน และการให้นี้แหละครับที่เป็นเรื่องที่ยาก เพราะหากว่าทุกคนไม่ได้ให้ด้วยความจริงใจอย่างแท้จริงบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริงแล้วละก็ การให้ดังกล่าวก็สูญเปล่า สำหรับ “ให้” ตรงกับภาษาอังกฤษ คือ “GIVE”

G = Good สิ่งที่ดีๆ

I = I ตัวเรา

V = Victory ชัยชนะ

E = Everything ทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่าง


ดังนั้น “ให้” ดังกล่าวก็จะเป็นการที่ตัวเรานำสิ่งที่ดีๆ ทุกๆ อย่างทุกๆ ด้านให้กับคนอื่นๆ คนรอบข้างเพื่อชัยชนะร่วมกัน โดยชัยชนะร่วมกัน คือ ความสุขของแผ่นดินและในหลวงของเรา

เราทุกคนเมื่อครั้งในอดีตอาจจะเคยโกรธให้เพื่อนร่วมห้อง (ตั้งแต่สมัยมัธยมหรือระดับไหนก็ตามแต่ ซึ่งผู้เขียนก็เคยเหมือนกัน) แต่สิ่งหนึ่งเราได้พยายามให้ความโกรธนั้นหายไปและหาหนทางกลับมารักกันเหมือนเดิม ก็คือการที่เราได้มีโอกาสได้คุยกันด้วยความเป็นเพื่อนและที่สำคัญ คือ การกล่าวคำว่า “ขอโทษ” และ “การให้อภัยกัน” แน่นอนครับเมื่อเราทั้งสองต่างก็ขอโทษซึ่งกันและกันและให้อภัยกันแล้ว ความรักก็กลับมาเหมือนเดิมและยิ่งรักกันมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ประเทศไทยของเราหากว่าเราโกรธกันแล้ว ถ้าต่างฝ่ายต่างขอโทษกันและให้อภัยกัน ผู้เขียนคิดว่า Way back into love จะสามารถทำให้เราคนไทยยิ่งรักกันมากยิ่งๆ ขึ้นไปอีกครับ

ด้วยเหตุข้างต้น หากว่าคนไทยทุกคนหาหนทางเพื่อกลับมารักกันเหมือนเดิมโดยเริ่มจากการให้แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าเราทุกคนคงจะมีความสุขอย่างแน่นอน ดังนั้น เราทุกคนลองมาทำให้เหมือนกับประโยคหนึ่งในเพลงที่ว่า “All I want to do is find a way back into love” (และลองฟังเพลงเต็มๆ ว่าดูว่าจะทำให้มีหนทางหรือไม่)

สุดท้ายนี้ หากว่าผู้เขียนเคยกระทำสิ่งใดๆ ให้ท่านใดโกรธ ก็ขอโทษและขอให้ท่านให้อภัยด้วยก็แล้วกัน เพื่อเราจะได้หาหนทางกลับมารักกันเหมือนเดิมและยิ่งรักกันมากกว่าเดิม ขอบคุณครับ

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เก๋ หรือ ไม่เก๋

หลายวันก่อนมีน้องได้บอกว่าให้เขียนเกี่ยวกับเรื่องของ “เก๋” ผู้เขียนก็คิดอยู่นานพอสมควรว่าจะออกเป็นอย่างไรดี แต่ไม่เป็นไรลองเขียนดูว่าจะ “เก๋” หรือ “ไม่เก๋”

คำๆ นี้ เป็นคำที่วัยรุ่นสมัยก่อนและสมัยนี้ต่างนำมาใช้สำหรับการขยายคำนามหรือคำกริยา หรือที่เรียกว่า คำคุณศัพท์ (ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้เขียนพูดถูกหรือเปล่า) "เก๋" ถูกใช้ในการอธิบายสิ่งนั้นๆ ไปทิศทางที่ดีเชิงบวก ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีมีพลัง และโดยส่วนมากก็ใช้สำหรับความสวยความงาม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย แต่งข้าวของสิ่งของทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ รวมถึงบ้านเรือนที่พักอาศัย และที่สำคัญ "เก๋" มักจะไม่ถูกใช้ในเชิงวิชาการหรือเป็นทางการทางราชการ

เก๋ เป็นการบ่งบอกหรือกล่าวจากบุคคลหนึ่งไปชื่นชมอีกบุคลหนึ่งหรืออีกสิ่งหนึ่ง และตัวเราเองโดยส่วนมากก็อาจจะไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้น "เก๋ หรือ ไม่เก๋" และโดยส่วนมากเราก็มักจะได้ยินการชื่นชมด้วยคำว่า "เก๋" นั้นเป็นการกล่าวชมด้วยความจริงใจและเป็นข้อเท็จจริงจากสิ่งที่เราได้เห็นได้ยิน


เก๋ จะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าสิ่งนั้นอาจจะเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนทำให้เกิดความประทับใจ ซึ่งบางครั้งเราก็อาจจะรู้สึกว่าเราก็อยากจะทำตามและเอาเป็นแบบอย่างไปใช้ต่อไปทำต่อจากสิ่งที่เราได้เห็นได้ยินมา หลายๆ ครั้ง "เก๋" ทำให้เกิดขบวนการเรียนรู้ร่วมกัน หรือ อาจจะเรียกว่าเป็น KM (Knowledge Management) ไปในตัว เพราะเกิดการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปในที่สุด


กล่าวสำหรับ "เก๋" ของวัยรุ่นแล้วก็มักจะเป็นการกระทำอะไรที่ไม่เหมือนชาวบ้านชาวเมืองเขาหรือแปลกประหลาดออกไป ซึ่งวัยรุ่นส่วนใหญ่โดยธรรมชาติแล้วก็มักจะเป็นอย่างนี้ เพราะมีความต้องการให้ตัวเองเด่น ดัง เก่ง เป็นที่สนใจของคนอื่นๆ ดังนั้น วัยรุ่นก็มักจะครุ่นคิดและค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อนำเสนอต่อเพื่อนๆ ทั้งวัยใกล้ๆ กันและต่างวัยต่างเพศ หากคนใดสามารถคิดค้นได้ก็จะกลายเป็น "คนที่เก๋มาก" ในทางตรงกันข้ามหากสิ่งที่ได้คิดค้นหรือกระทำลงไปแล้ว "ไม่เก๋" เลย ก็จะทำให้เสียความรู้สึกก็ได้


ดังนั้น หากวัยรุ่นได้ครุ่นคิดคิดค้นสิ่งใหม่ที่ "เก๋" และมีประโยชน์ต่อทั้งการเรียน การดำรงคงอยู่ในช่วงชีวิตของวัยรุ่นอย่างมีความสุขแล้ว จะทำให้วัยรุ่นเกิดการแข่งขันกันในการทำสิ่งที่ "เก๋" และมีประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ผู้เขียนเลยวัยดังกล่าวมานานแล้ว ก็เลยไม่สามารถคิดค้นอะไรที่ "เก๋ๆ" แต่ตรงกันข้ามสิ่งที่คิดได้กลับ "ไม่เก๋" เลย ครับในชีวิตของเราหากเราคิดอะไรที่ "เก๋ๆ" แล้วจะทำให้เกิดความสุขในการที่เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่จะคิดอะไร "เก๋ๆ" ขึ้นมานะครับ


หากอยากจะ "เก๋" จะต้องทำตัวให้ "เท่"
หากอยากจะ "เท่" จะต้องทำตัวไม่ให้ "ว้าเหว่"
หากไม่อยากจะ "ว้าเหว่" จะต้องทำตัวให้ "เก๋" อยู่เสมอ