Nuffnang Ads

วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ข้าพเจ้า (อจต.) กับ ม.อุบลฯ 20 ปี

จุดเริ่มต้น

ข้าพเจ้ารู้จักวิทยาลัยอุบลราชธานี สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2531 ซึ่งที่ตั้งทำการของวิทยาลัยอุบลราชธานีในขณะนั้นตั้งอยู่ที่บริเวณชั้น 2 ของอาคารเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ข้าพเจ้าก็ไม่รู้สึกว่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้า หลังจากที่ข้าพเจ้าสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สอบเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ NIDA และธรรมศาสตร์ อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าก็เลือกศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะที่กำลังศึกษาปริญญาโทนั้น เพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกัน เขาชวนไปรับทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยโดยทุนที่ถูกเรียกว่าUDC(University Development Committee) ปรากฏว่าเพื่อนๆ ก็เลือกมหาวิทยาลัยดังๆ เช่น เชียงใหม่ นเรศวร บูรพา พระนครเหนือ NIDA แม่ใจ้ เชียงใหม่ เป็นต้น แต่มีแห่งที่ข้าพเจ้าเห็นแล้วข้าพเจ้าเลือกสมัครขอรับทุนเลย คือ ทุนวิทยาลัยอุบลราชธานี สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะคิดว่า เราน่าจะไปอยู่ที่คนอื่นๆ เขาไม่เลือก (เพราะน่าจะมีโอกาสได้รับทุนมากกว่า) โดยในรายละเอียดของการกรอกข้อมูลสมัครรับทุนเขาให้ระบุ มหาวิทยาลัยที่ต้องการสมัครรับทุน 2 แห่ง แต่ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจว่าเลือกแห่งเดียวเท่านั้น คือ วิทยาลัยอุบลราชธานี วันสอบสัมภาษณ์ (ผู้ที่สอบสัมภาษณ์ขณะนั้น คือ ผศ.อุทิศ อินทรประสิทธิ์) และในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้รับผ่านการคัดเลือกให้ได้รับทุน UDC โดยจะต้องไปทำสัญญารับทุนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ข้าพเจ้าต้องเดินทางไปที่สถาบันเดิมที่สำเร็จการศึกษามาอีกครั้ง รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากเพราะมหาวิทยาลัยขอนแก่นทำให้ข้าพเจ้ามีวันนี้ วันที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ได้รับทุนการศึกษาที่ข้าพเจ้าไม่ต้องรบกวนทางบ้านรบกวนคุณพ่ออีกแล้ว โดยผู้ที่นำข้าพเจ้าไปลงนามในสัญญารับทุน คือ ผศ.วรรณวไล อธิวาสนพงศ์ ท่านนำไปข้าพเจ้าที่อาคารสำนักงานอธิการบดี (ด้วยรถยนต์คัน เก่าเก่าๆ น่าจะเป็นยี่ห้อ SKODA) ท่านก็ได้บอกว่าและแนะนำว่าให้รีบๆ สำเร็จการศึกษาเพื่อจะได้ไปพัฒนาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งจะเป็นมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในอนาคต

เมื่อรับทุน UDC เป็นระยะเวลา 2 ปี ข้าพเจ้าก็กลับมารับราชการที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่16 กรกฎาคม 2535 ที่เลือกไปรายงานตัววันดังกล่าว เพราะข้าพเจ้ารอให้รับพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสร็จสิ้น และอีกอย่างคือ ช่วงวันดังกล่าวเป็นวันที่ก่อนถึงวันสำคัญของชาวจังหวัดอุบลราชธานี คือ วันเข้าพรรษา เมื่อข้าพเจ้ามาที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีวันแรก โดยรายงานตัวที่อาคารเอนกประสงค์ (คณะบริหารศาสตร์ในปัจจุบัน) มีความรู้สึกว่า อยากกลับบ้าน (ที่อำเภอสุวรรณ จังหวัดร้อยเอ็ด) เพื่อทำใจ เพราะมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2535 ยังไม่เหมือนกับมหาวิทยาลัยที่ข้าพเจ้ารู้จักมาก่อนเลย ดังนั้น เมื่อข้าพเจ้าได้ที่พักอาศัยที่กันเกรา 1 ห้อง 313 ก็กลับมาเพื่อจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะใช้เพื่อดำรงชีวิต ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไม่ว่าจะเป็นจักรยานยนต์ เครื่องใช้ส่วนตัว เพราะเนื่องข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในขณะนั้น บ้านนอกมากๆจะต้องรีบนอนตั้งแต่หัวค่ำเพราะไม่ยังงั้นแมง แมลงต่างๆ อาจจะเข้ารบกวนที่ห้องพักเนื่องจากพวกสัตว์เล็กๆ เหล่านั้นจะตามแสงไฟแสงสว่างที่ห้องพัก จะเห็นว่าการที่อยู่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีลำบากเฉพาะภายนอกเท่านั้น แต่ภายในจิตใจมีความสุขเป็นอย่างมากไม่ต้องรีบเร่งกับชีวิตเหมือนการดำรงชีวิตที่กรุงเทพฯ มีพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ที่ทำงานด้วยกันพบปะสังสรรค์ที่ชั้นล่างของอาคารแฟลตกันเกรา 1 แทบทุกวัน ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวที่เป็นเวลาสิบกว่าปี ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นบุญกุศลที่ได้มารู้จักทุกๆ คนที่ได้ช่วยเหลือกันในการทำงาน ช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ

ชีวิตเริ่มสู่ปีที่ 2 และ 3

ข้าพเจ้าเคยมีความคิดว่าจะชดใช้ทุนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในครบระยะเวลาที่กำหนด คือ 4 ปี หลังจากนั้น อาจจะเลือกหนทางเดินไปสู่สิ่งใหม่ๆ อื่นๆ ที่น่าจะดีกว่าเดิม อย่างไรก็ดี หลังจากที่ใช้ชีวิตที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เข้าที่ 3 คือ พ.ศ. 2537 มหาวิทยาลัยมีโครงการจะจัดตั้งสำนักคอมพิวเตอร์ ข้าพเจ้าได้รับโอกาสให้เป็นเลขานุการคณะกรรมการดังกล่าว โดยเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้มีโอกาสมาช่วยงานส่วนกลาง (ซึ่งหมายถึง ส่วนของสำนักงานอธิการบดี) ได้ทำงานร่วมกับท่านผู้หลักผู้ใหญ่ของมหาวิทยาลัยหลายๆ ท่าน ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกสนุกขึ้นมีความอยากรู้อยากเห็นมากยิ่งๆ ขึ้น และที่สำคัญ คือ มีความรู้สึกว่า อยากจะพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป และในปีนี้เอง ท่านอธิการบดีขณะนั้น (รศ.ดร.สมจิตร ยอดเศรณี) ได้กรุณาอนุมัติให้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ University of Akron, USA เป็นว่าประมาณ 1 เดือน เพื่อเข้าไปดูงานและศึกษางานของศูนย์คอมพิวเตอร์ของ University of Akron ที่มี Prof .Dr. Frnak B. Thomas ให้ความกรุณา ตลอดระยะเวลาดังกล่าวทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า การให้โอกาสเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เลย เพราะทำให้เราได้เรียนรู้ ได้รู้ ได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ที่อันจะเป็นประโยชน์นำมาพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยในช่วงที่ข้าพเจ้าอยู่ที่ University of Akron นั้น ท่านอธิการบดีได้เดินทางไปราชการที่สหรัฐอเมริกา และท่านได้กรุณาแวะเยี่ยมนับได้ว่าเป็นพระคุณอย่างยิ่งที่ได้ให้กำลังใจ อีกทั้ง ท่านก็ได้แนะนำว่าถ้าหากจะเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ก็ต้องพยายามในเรื่องของภาษาอังกฤษ สำหรับภาษาอังกฤษกับข้าพเจ้านั้นเป็นของที่ไม่คู่กันเลย เพราะพื้นฐานของเราไม่ค่อยดี ไม่เก่งภาษาอังกฤษ

เมื่อชีวิตเข้าสู่ปีที่ 4 ที่ ม.อุบลฯ และจาก ม.อุบลฯ เพื่อความก้าวหน้า

ปี พ.ศ. 2538 พ.ศ. 2539 เป็นปีที่ก้าวเข้าสู่ที่จะต้องตัดสินใจว่าเมื่อหมดระยะเวลาชดใช้ทุนแล้วจะทำอย่างไรต่อไปสำหรับชีวิต โดยกลางปี 2538 ได้มีการสอบคัดเลือกทุนระดับปริญญาเอกของทบวงมหาวิทยาลัยเป็นทุนการศึกษาสำหรับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งข้าพเจ้าได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและระดับคณะเป็นอย่างดีในเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านภาษาอังกฤษเพื่อเดินทางศึกษาในต่างประเทศ ในชีวิตที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในช่วงนี้ ข้าพเจ้าจะต้องมีการปรับตัวเองอย่างมาก เพราะได้ตัดสินใจไปแล้วว่ารับทุนการศึกษาและตั้งใจจะต้องกลับมาพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและในที่สุดในปี 2539 วันที่ 12 สิงหาคม ข้าพเจ้าก็ตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อที่อังกฤษ เป็นวันที่จดจำได้ง่ายเนื่องจากเป็นวันสำคัญของชาติ เป็นวันแม่แห่งชาติ มีญาติๆ ไปส่งที่สนามบินดอนเมือง เป็นบรรยากาศที่จำเป็นจะต้องเดินทางจากประเทศไทยอีกครั้งแต่ครั้งนี้ข้าพเจ้าคิดเพียงแต่ว่าจะต้องรีบกลับมาประเทศไทยของเราให้เร็วที่สุด กลับมาพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ในที่สุดก็กลับมาที่เดิม

วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2544 เป็นวันที่ข้าพเจ้าเดินทางกลับมาประเทศไทย เพื่อมารายงานตัวกลับเข้ารับราชการที่ ม.อุบลฯ อีกครั้งหนึ่ง หลังจากรายงานตัวที่มหาวิทยาลัยแล้วข้าพเจ้าก็เดินทางกลับมาที่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อพักผ่อนและปรับตัว หลังจากที่วันหยุดสงกรานต์ได้ดำเนินการเิสร็จสิ้นไป ข้าพเจ้ากลับมาที่มหาวิทยาลัยอีกครั้ง ในครั้งนี้จะต้องเริ่มต้นทำงานเริ่มต้นใช้ชีวิตใหม่ เริ่มทุ่มเทให้กับมหาวิทยาลัยให้กับประเทศชาติเพื่อชดใช้เงินทุนที่ได้รับไป ดังนั้น ข้าพเจ้าตั้งใจเป็นอย่างมากที่จะทำงานให้ได้ดีที่สุด โดยงานที่ได้รับมอบหมายคือการจัดทำหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อจะเ้ปิดสอนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า การกลับมาทำงานในรอบนี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจะต้องทำงานเป็นสองเท่า (เพราะข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า มหาวิทยาลัยและประเทศชาติให้สิ่งที่ดีๆ กับข้าพเจ้ามามากแล้ว) เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงานอะไร ก็พยายามเติมความสามารถ ในขณะ ศ.พิเศษ ดร. ไพทูรย ์ อิงคสวุรรณ เป็นอธิการบดี ได้มีโอกาสเข้าไปร่างหลักสูตรการอบรมให้กับบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดัมหาวิทยาลัยในสาขาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การใช้คอมพิวเตอร์ ปฏิบัติงานสอนไปด้วยในวิชา Business Information Systems, Numercial Analysis, เป็นต้น โดยในต้นปี พ.ศ. 2545 ข้าพเจ้าได้รับเลือกเป็น ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก็ได้ใช้ความรู้ความสามารถพอสมควร เข้าไปดูว่างบการเงินเป็นอย่างไร การจัดการเงินออมและเงินกู้ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสมาชิก ในปีเดียวกันนี้เิอง ประมาณเดือนกันยายน พ.ศ.2545 ได้รับการทาบทามจากท่านว่าที่อธิการบดีคนใหม่ (ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ) ให้เข้ามาส่วนงานของมหาวิทยาลัยในส่วนของผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผน ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เนื่องจากเกี่ยวกับการวางแผน การจัดทำงบประมาณ การติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ และในที่สุดก็ได้มีโอกาสได้ช่วยงานมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวางแผนได้ 6 เดือน ท่านอธิการบดีได้เสนอให้สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน ซึ่งถือได้ว่าข้าพเจ้าได้เดินทางมาในชีวิตราชการที่เร็วมาก (เนื่องจากขณะัั้ั้นั้นอายุประมาณ 35 ปี) และคิดว่าข้าพเจ้ามาไกลเกินไปอย่างมากๆ เพราะในชีวิตไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นแบบนี้ ดังนั้น ข้าพเจ้าบอกตัวเองเสมอว่าจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และที่สำคัญข้าพเจ้ามีคนรอบๆ ข้าง ไม่ว่าจะเป็นพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีคอยให้กำลังใจ คอยให้คำปรึกษา คอยให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ อย่างเป็นกันเองและเป็นกัลยาณมิตรเป็นอย่างสูงยิ่ง ทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า ไม่ได้ทำงานเพียงคนเดียวแต่ทำงานเป็นทีม เป็นกองทัพ (ขนาดเล็กๆ) โดยในช่วง พ.ศ. 2546-2547 ข้าพเจ้าได้รับหน้าที่เพิ่มเติมอีก คือ กรรมการและเลขานุการสภามหาวิทยาลัย CIO (Chief Information Officer ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงมหาวิทยาลัย) และ รักษาการผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย

ข้อสังเกตที่เป็นพลังในการทำงานที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หลายๆ ท่านในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้แสดงออกทางความคิดในที่ลับและในที่แจ้งว่า ข้าพเจ้าจะทำงานได้หรือเปล่า เพราะมีหน้าที่ตั้งหลายอย่าง (บางท่านอาจจะบอกว่ามากมาย) แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้ามีความสุขและสามารถทำงานได้ลุ่ล่วงถึงแม้่ว่าอาจจะไม่มีประสิทธิภาพอย่างเติมที่ คือ การที่เพื่อนๆ น้องๆ พี่ๆ ร่วมงานที่สำนักงานอธิการบดี สำนักคอมพิวเตอร์ ให้ความร่วมมือในการทำงานเป็นอย่างดีเยี่ยม ความหมายในที่นี้ คือ ทุกคนที่ข้าพเจ้ารู้จักทั้งในสำนักงานอธิการบดีและสำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย ได้ให้สิ่งที่มีค่าอย่างมากในการทำงาน คือ ความไว้่ใจ ความจริงใจ ในการทำงาน ทุกคนที่ข้าพเจ้ารู้จัก หรือ ท่านในสำนักงานอธิการบดี สำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย รู้จักข้าพเจ้า ทุกคน ให้ความรู้สึกว่า เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัย ดังนั้น ทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า ทำงานแล้วไม่เหนื่อย เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับเพิ่มเติมมานั้น (คือ กรรมการและเลขานุการสภามหาวิทยาลัย CIO (Chief Information Officer ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงมหาวิทยาลัย) และ รักษาการผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย) จะไม่มีค่าตอบแทนค่าตำแหน่งเพิ่มเติม แต่ข้าพเจ้าก็คิดว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับที่มีมากกว่าค่าตอบแทน คือ ได้มีโอกาสได้ทำงาน ได้มีโอกาสพัฒนามหาวิทยาลัยในด้าน Information Techonology (ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้พัฒนาไปมากมาย) ได้ีมีโอกาสร่วมงานกับบุคลากรที่มีความสามารถของมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุดังกล่าว ข้าพเจ้ามีความสุขเป็นอย่างมาก มีความสุขที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัย (ถึงแม้ว่าข้าพเ้จ้าจะมีส่วนร่วมเพียงนิดหน่อยเท่านั้น) เมื่อ พ.ศ. 2549 ท่าน ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ ได้ัรับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีอีกวาระหนึ่ง ข้าพเจ้าได้รับโอกาสให้ช่วยเหลืองานมหาวิทยาลัยอีกครั้ง โดยถือว่าได้รับความกรุณาจากท่านอธิการบดี จากสภามหาวิทยาลัย ที่ให้ความไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ โดยดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและสารสนเทศ และมีหน้าที่เพิ่มเติมในส่วนของ การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี (จังหวัดมุกดาหาร) เพื่อเป็น วิทยาเขต อย่างไรก็ดี งานดังกล่าว หลายๆ คนในมหาวิทยาลัยคิดว่าข้าพเจ้ามีความอยากและต้องการที่จะทำ แต่สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าอยากจะเรียนในทุกท่านได้ทราบ ก็คือว่า โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่สภามหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบ (สมัียที่ี่ ฯพณฯ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็น นายกสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ) และมหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้ข้าพเจ้ารับผิดชอบ


ความรับผิดชอบ เป็น ส่ิงที่จะต้องทำให้บรรลุเป้าหมาย เป้าหมาย มีไว้ให้พุ่งชน

เมื่อสภามหาวิทยาัอุบลราชธานีได้กำหนดเป้าหมายใว้แล้ว หน้าที่ของข้าพเจ้าคือ ทำให้เป้าหมายทะลุให้ได้ เป็นเรื่องท้าทายเป็นอย่างมากทีเดียว เพราะงบประมาณก็จะต้องจัดหา พื้นที่จะต้องจัดหา กำลังคน (ที่มีความสามารถ) ก็จะ้ต้องจัดหา และอื่นๆ อีกมากมายเหลือเกิน แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อข้าพเจ้าได้รับความไว้ใจ ได้รับความจริงใจจากท่านอธิการบดี ท่านกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ แล้ว ข้าพเจ้าบอกตัวเองเสมอว่า จะต้องทำให้ได้ ดังนั้น จึงวางเป้าหมายให้สูงขึ้นกว่าเดิม คือ จะต้องจัดสร้างเป็นวิทยาเ้ขตให้ได้ และจะต้องทำเพื่อในหลวง ทำเพื่อพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยที่เคารพยิ่ง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2554 ที่ในหลวงจะทรงพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ที่วิทยาเขตมุกดาหารจะต้องมีสิ่งดีๆ มีสิ่งที่ภาคภูมิใจของชาวมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและชาวจังหวัดมุกาดาหารให้ได้ ที่ผ่านมาสำหรับมุกดาหาร ข้าพเจ้าได้พยายามให้ท่านเลขาธิการ สกอ. (ดร.สุเมธ แย้มนุ่น) ได้รับทราบ โดยส่งท่านรองเลขาธิการ สกอ. (ดร.สุชาติ เมืองแ้ก้ว) มาดูพื้นที่ (รายละเอียดเพิ่มเติม ความเป็นมาของวิทยาเขตมุกดาหาร ท่านสามารถเข้าไปที่ http://www.muk.ubu.ac.th/sub/report/sarn.pdf http://msrivirat.blogspot.com/2009/09/blog-post_9974.html) ดังนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า เป้าหมายที่กำหนดไว้ ข้าพเจ้าได้พุ่งเข้าชนในระยะใกล้ที่สุดแล้วในขณะนี้ อย่างไรก็ดี อาจจะยังไม่มีความสมบูรณ์เต็มที่เนื่องจากปัจจัยด้านต่างๆ ที่ยังจะต้องพัฒนาแก้ไขให้ดียิ่งๆๆ ขึ้นไป

โดยการทำงานเพื่อวิทยาเขตมุกดาหาร ข้าพเจ้าได้พบกับเหตุการณ์ในช่วงรับการเตรียมงานรับเสด็จสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชา (ที่วิทยาเขตมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร) มีเหตุการณ์ที่ท่านอาจจะเชื่อหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ท่าน นั้น คือ มีกลุ่มประชาชนบางคนที่มีส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องที่ดิน ภูผาเจีย เกิดล้มป่วยทันหัน (เช่น เกี่ยวกับเส้นเลือดในสมอง เส้นเลือดที่หัวใจ) ก่อนวันเตรียมงานสองสามวัน เจ้าหน้าที่จะติดตั้งเครื่องปั่นแสไฟฟ้า ไม่สามารถทำได้ สนจะต้องทำพิธีบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะมาพัฒนาที่ภูผาเจีย เพื่อถวายแด่ในหลวง ทำเพื่อประเทศชาติ ซึ่งหลังจากได้บอกกล่าวจึงสามารถมีแสไฟฟ้าสำรองในการทำงานช่วงกลางคืน ส่วนวันงาน คือ เช้าวันที่ 21 ธันวาคม 2552 เมื่อติดตั้งเครื่องเสียงที่บริเวณงาน ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่เครื่องเสียงป่วยกะทันหันไม่สามารถมาที่บริเวณงานได้ และเวลา 7.09 น. พิธีบวงสรวง พราหมณ์หลวงได้ทำพิธีโดยมีการนำตราแผ่นดิน (ตราแผ่นดิน คือ เครื่องหมาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) เป็นพิธีที่ข้าพเจ้าคิดว่าศักดิ์สิทธิ์มาก นอกจากนั้น เวลา 15.00 น. โดยประมาณ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสร่วมกับท่านนายกสภามหาวิทยาลัย ท่านอุปนายกสภามหาวิทยาลัย และท่านอธิการบดี เข้าเฝ้าส่งเสด็จสมเด็จพระเทพฯ เป็นการใกล้ชิดเป็นเวลาประมาณ 30 นาที และพระองค์ท่านได้ตรัสหลายๆ อย่างที่ถือว่าเป็นบุญของข้าพเจ้าที่ได้มีโอกาสดังกล่าว นับได้ว่า ไม่เหนื่อยแล้วและทำให้มีกำลังในการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม และข้าพเจ้าคิดว่า เพื่อในหลวง จะต้องทำให้อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชา แล้วเสร็จก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2554 เนื่องจาก ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารได้โทรศัพท์ถึงข้าพเจ้าในตอนเย็นของวันที่ 21 ธันวาคม 2552 โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารได้บอกข้าพเจ้าว่า สมเด็จพระเทพฯ ทรงพระกรุณารับสั่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดว่า พยายามให้แล้วเสร็จในหลวง 84 พรรษาดังนั้น สิ่งนี้ ถือว่ายิ่งใหญ่ในชีวิตที่ข้าพเจ้าจะได้เป็นส่วนเสี้ยวหนึ่งของการทำงานถวายแด่ในหลวง

นอกจากนั้น ในส่วนของวิทยาเขตมุกดาหาร อาจจะเป็นวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระชนมพรรษา 7 รอบ ในปี พ.ศ. 2554 หรือ หากชาวจังหวัดมุกดาหาร ต้องการเป็นมหาวิทยาลัย อาจจะมีการพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ ในปี พ.ศ. 2558 โดยอาจจะชื่อว่า มหาวิทยาลัยสิรินธรเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา

ม.อุบลฯ 20 ปี มีอะไรดี ที่้จะต้องบอก

ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนทุน UDC ในลำดับต้นๆ ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ข้าพเจ้าคิดว่าไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะทำให้ข้าพเจ้าได้มีความสุขนอกเสียจากการได้ทำงานให้มหาวิทยาลัยเติมกำลังความสามารถ ได้ทำในสิ่งที่ข้าพเจ้าคิดว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้รับประโยชน์สูงสุด ถึงแม้ว่าในบางครั้งจะมีเสียงแว่วๆ ของคนบางคนที่เกี่ยวข้องกับความชรา ที่ไม่รู้ความจริง ไม่รู้ข้อเท็จจริงแต่อยากจะพูด และพูดกับคนอื่นๆ ที่เขาอาจจะเชื่อเพราะคนบางคนนั้นเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับความชราน่าจะมีความน่าเชื่อถือ แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้วถือเสียว่าอย่าไปใส่ใจ ความจริงอยู่ที่ใจของเรา การกระทำของเราเท่านั้น ที่คนอืนๆ จะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ด้วยเหตุนี้ ทำให้ข้าพเจ้ายิ่งต้องการทำงานเพื่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยใีนปีที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 20 ปี มีอะไรดี ที่จะต้องบอก โครงการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ "เสียง ม.อุบลฯ 20 ปี เสียงดนตรี เสียงอีสาน" มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในอีสาน วงดนตรีเสียงอีสาน เป็นวงดนตรีที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศ ดังนั้น เสียงดนตรี น่าจะเป็นสื่อออกไปทั่วประเืทศให้ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ได้รับทราบว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีของดี งานที่ว่าจะเป็นงานแสดงดนตรี ภายใต้ 3 ส. คือ สุขสันต์ สร้างสรรค์ สามัคคี ตั้งแต่ข้าพเจ้ารู้จักมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมาเกือบ 20 ปี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีของเราทุกคณะ ทุกหน่วยงานมีของดี มีอะไรดีมากมาย เพียงแต่เรายังประชาสัมพันธ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น ขอให้ดูและติดตามที่ Website ของมหาวิทยาัลัย (www.ubu.ac.th) ในส่วนของอนาคตต่อจาก 20 ปี

ข้าพเจ้าคิดว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อาจจะต้องวางแผนในการจัดสร้างอาคาร (อาจจะเป็นอาคารโรงพยาบาล) เพื่อถวายแด่ราชวงศ์ ดังนี้

อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชินี (ในปี พ.ศ. 2555)

- อาคารเฉลิมพระเกียรติมหาวชิราลงกรณ์ 60 พรรษา (ในปี พ.ศ. 2555)

- อาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สยามบรมราชกุมารี (ในปี พ.ศ. 2558)

- อาคารเฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษา มหาราชา (ในปี พ.ศ. 2560)

และอาคารส่วนกลาง คือ อาคารมหาวิทยาลัย 25 ปี (ในปี พ.ศ. 2558) ซึ่งอาจจะเป็น อาคารสยามบรมราชกุมารี

สุดท้ายที่บอก "ข้าพเจ้ารัก ม.อุบลฯ ที่สุด"

ถ้าหากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพูดได้ และรับฟังได้ ข้าพเจ้าอยากจะบอกมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่า "ข้าพเจ้ารักเขานะ และรักมากที่สุด" เพราะเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นเสมือนบ้าน (ข้าพเจ้าใช้ชีวิตในแต่วันที่มหาวิทยาลัยน่าจะมากพอสมควร) เป็นที่ให้อาชีพ เป็นที่ให้รู้จักเพื่อน และเพื่อนเหล่านี้ ทำให้ข้าพเจ้าเป็นคนได้ เพราะพวกเขาเหล่านี้ เป็นเหมือนญาติ เป็นเหมือนผู้ที่เคยสร้างเวรสร้างกรรมร่วมกันในชาติปางก่อน ที่จะต้องมาทำงานร่วมกัน ดังนั้น ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 20 ปี ข้าพเจ้าอยากจะบอกเขาว่า ข้าพเจ้ารักเขา ขอให้เขามีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีความสุขตลอดไป ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าอาจจะไม่ได้อยู่กับเขาไปตลอด แต่ข้าพเจ้าอยากจะให้เขารู้ว่า เขาเป็นสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้ามีวันนี้ มีวันที่ดีในอดีต และจะมีวันที่ดีในอนาคต รักษาตัวนะ "ม.อุบลฯ ที่รัก"

มนูญ ศรีวิรัตน์

อจต. (อาจารย์ตุ้ย หรือ อุ่นใจตลอดกาล)

14 กุมภาพันธ์ 2553 บอกรัก ม.อุบลฯ เพื่อ ม.อุบลฯ จะได้รักเราบ้าง




วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นระดับสากล (นานาชาติ)

การพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นระดับสากล (นานาชาติ) เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลในการที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการศึกษาภูมิภาคนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง สปป.ลาว และกัมพูชา อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเวียดนาม (ผ่านวิทยาเขตมุกดาหารของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) ผ่านสู่จีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ในแถบทะเลที่เชื่อมต่อกับสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอในบริบทของจังหวัดอุบลราชธานีที่เป็นเมืองนักปราชญ์ตามคำขวัญของจังหวัดอุบลราชธานีที่ว่า "เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์" ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎรใผ่ธรรม นั้น จังหวัดอุบลราชธานีมีเกจิอาจารย์พระที่ชาวไทยเคารพบูชาที่ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศให้ความเคารพนับถือ คือ หลวงปู่ชา (วัดหนองป่าพง)


จะเห็นว่าคนต่างชาติที่ต้องการเรียนรู้ธรรมะ ต้องการเรียนรู้ศาสนาพุทธต่างจะต้องเรียนรู้ภาษาไทยให้เข้าใจเนื่องจากหลวงปู่ชาท่านให้คำสอนเป็นภาษาไทย คนต่างชาติที่สนใจเล่าเรียน สนใจปฏิบัติธรรมจะต้องมาที่ประเทศไทย ต้องมาที่อุบลราชธานี ต้องมาเรียน "ภาษาไทย" และในที่สุดจนถึงทุกวันนี้ เราชาวอุบลราชธานีและชาวไทย รวมทั้งชาวต่างประเทศ จะได้เห็นว่าวัดสาขาของวัดหนองป่าพงในต่างแดนอย่างมากมายเป็นนับสิบนับร้อยสาขา ทุกท่านเห็นหรือยังครับว่า การเป็นนานาชาติ การเป็นสากล ได้เกิดขึ้น โดยการที่ชาวต่างชาติหากจะต้องการเรียนรู้สิ่งดีๆ ของประเทศไทย ตัวอย่าง คือ การเรียนรู้การปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ชา พวกเขาเหล่านั้น จะต้องมาเรียนที่เมืองไทย จะต้องรู้ภาษาไทยเสียก่อน ซึ่งผู้เขียนคิดว่า นี้แหละคือ ความเป็นนานาชาติ ความเป็นสากลของการเรียนรู้ตามแบบฉบับของคนไทย ที่เรามีอะไรดีแล้วฝรั่งต่างชาติเห็นว่าดี เห็นว่าจะต้องมาศึกษา เห็นว่าจะต้องมาเรียนรู้ ชาวต่างชาติจะต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของไทยทั้งด้านภาษาไทยและความเป็นอยู่
ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้เขียนจึงมีความคิดว่า การพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นระดับสากล (นานาชาติ) เราชาวมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ควรจะต้องมีอะไรที่ดีที่สุด ที่พร้อมจะให้ชาวต่างชาติมาเรียนรู้ มาศึกษา แล้วนำกลับไปใช้ประโยชน์ที่บ้านเมืองของเขา ซึ่งจะเหมือนที่มีวัดสาขาของวัดหนองป่าพงในต่างแดนอย่างมากมาย และอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องของความเป็นสากลหรือนานาชาติ คือ การที่เรามีวัฒนธรรมที่ดีๆ (ด้านการเป็นอยู่ ด้านการดำรงชีพตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) แล้วชาวต่างชาติได้เข้ามาหาเรา เขามาประเทศไทยของเราเพื่อการดังกล่าว
ความเป็นสากลหรือนานาชาติ น่าจะเป็นไปในลักษณะที่ เราชาวมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีอะไรดีแล้วเขาเหล่านั้น (ชาวต่างประเทศ) มาเรียนกับเรา หรือมาศึกษาพัฒนาร่วมกันเพื่อประโยชน์ต่อประชาคมโลก ซึ่งเมืองไทยของเรามีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีๆ มากมาย เพียงแต่ยังอาจจะไม่ถูกเจียระไนให้เป็นเพชรเม็ดงามเท่านั้น ผู้เขียนจึงได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะมีความเป็นสากล ตามแนวของหลวงปู่ชาและวัดหนองป่าพง
มนูญ ศรีวิรัตน์