Nuffnang Ads

วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "วันขึ้นปีใหม่ โดย หลวงพ่อจรัญ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "วันขึ้นปีใหม่ โดย หลวงพ่อจรัญ" วันนี้วันดี วันขึ้นปีใหม่ (๒๕๕๙) ขอเรียนเชิญทุกท่านลองฟังเมตตาในหลวงพ่อจรัญ ตาม YouTube ต่อไปนี้ 

https://www.youtube.com/watch?v=1neLF-3jaYA&feature=youtu.be

“...วันขึ้นปีใหม่
อย่าไปกินเหล้า...
ชั่วตลอดปีจะเอาดีไม่ได้...
เมาน่าเสียดาย ...ขาดสติ”


คติธรรมคำสอนในหลวงพ่อจรัญเกี่ยวกับ "วันขึ้นปีใหม่" ข้างต้น หากว่าเราทุกคนสนใจให้ความสำคัญ เชื่อว่าจะดีอย่างแน่นอน ไม่เชื่อลองดูก็แล้วกัน 

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ทุกท่านได้โปรดพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับแก้ไขพัฒนาให้ดีต่อไป ดังนี้


อันวันขึ้นปีใหม่  ต้องใส่ใจให้ดีดี
ชั่วมาตลอดปี   จะเอาดีมีไม่ได้

อย่าไปกินแต่เหล้า  มัวแต่เมาเศร้าเรื่อยไป

ขาดสติร่ำไป  ทุกข์ฤทัยในทุกสิ่ง

มัวเมาน่าเสียดาย  อาจถึงตายชายหรือหญิง
ปีใหม่ใจต้องนิ่ง  สงบจริงยิ่งจะดี 

ปีสองห้าห้าเก้า  อย่ามัวเมาเราไม่ดี
ละไปสิ่งไม่ดี  เอาชีวีเป็นเดิมพัน

ปีใหม่ใจเป็นสุข  สิ้นเรื่องทุกข์ที่โศกศัลย์
ขอให้ใจสุขสันต์  นิพพานพลันกันทุกคน

จงหยุดดื่มกินเหล้า  เรื่องราวเก่าเราไม่สน
เริ่มธรรมในกมล  จะสุขล้นจนตายเอย 

ปภาวีร์ 
๑ มกราคม ๒๕๕๙ 

วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่ชา เมื่อเราสบาย"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่ชา เมื่อเราสบาย" คติธรรมคำสอนของท่านหลวงปู่ชา เกี่ยวกับ "เราสบาย" วันนี้ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ เป็นวันสุดท้ายของปีเก่า "เรา" ทุกคนน่าจะสบาย  ดังนั้น หากว่าต้องการทราบว่า "เมื่อเราสบาย" เป็นอย่างไร ขอเชิญรับฟังได้จาก YouTube ต่อไปนี้ 


"...ไม่สบาย ฉะนั้น พระพุทธเจ้าของเราท่านจึงได้สอนให้ภาวนา ภาวนาคือพิจารณาให้รู้เรื่องจิตของเจ้าของนี่แหละ ไม่รู้เรื่องอื่น จิตนี้เป็นของสอนยาก เป็นของสอนลำบาก เพราะว่า จิตมีอำนาจ ถ้าไม่มีอำนาจมันก็สอนง่ายเท่านั้นแหละ สิ่งที่มีอำนาจนะสอนยาก เมื่อสอนแล้วจิตจึงมีอำนาจ สามารถที่ละอารมณ์ได้ทุกอย่าง ทุกประการ  อันนี้เขาร้องไห้ เราสบาย อันนี้เขาหัวเราะเยาะ เราก็สบาย อันนั้นเขาเสียใจ เราก็สบาย อันนั้นเขาโศกเศร้า เราก็สบาย อันนั้น เขารื่นเริง เราก็สบาย อยู่เช่นนั้น ไม่ไปไหน มันก็มีเท่านั้น ..." 

คติธรรมคำสอนของท่านหลวงปู่ชา ข้างต้นนั้น เมื่อทุกท่านได้ฟังแล้ว ย่อมจะสามารถทำให้ "ตัวเราสบาย" ได้อย่างไร ซึ่งพิจารณากันเอาเองก็แล้วกัน 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ผู้อ่านทุกท่านได้โปรดเมตตาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป ดังนี้

จะต้องภาวนา  พิจารณารู้เรื่องจิต
ภาวนาที่ละนิด  ย่อมรู้จิตชิดมากดี

เรื่องจิตนั้นสอนยาก  สอนลำบากหากไม่ดี

สอนแล้วจิตรู้ดี  ว่าเรื่องดีมีอย่างไร

เมื่อจิตมีอำนาจ  เรื่องที่ยากอยากแก้ไข

เกิดธรรมนำจิตใจ  สบายใจในทุกครา

สามารถละอารมณ์  ที่ขื่นขมตรมอุรา

สบายใจหรรษา  เรื่องใดมาพาชื่นบาน

เขาเป็นกันอย่างไร  เราเฉยไว้ใจสำราญ

สบายใจในทุกงาน อาจนิพพานกาลทันที

จิตเราสอนทุกวัน  เรื่องสร้างสรรค์ขยันดี

สอนมากยิ่งจะดี  นำชีวีมีสุขเอย

ปภาวีร์ 
๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘

วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ทำความดี จนกว่าจะถึงวันตาย"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ทำความดี จนกว่าจะถึงวันตาย"  คติธรรมคำสอนในหลวงพ่อฤาษีลิงดำ เกี่ยวกับเรื่องของ ความดี เป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่งที่ทุกคนคนไทยควรจะต้องพิจารณา ทั้งนี้ สามารถรับชมรับฟังได้ที่ YouTube ต่อไปนี้ 


“...ไปเสียเวลานี้จนกว่าจะถึงวันตาย เวลาทำความดีทุกอย่าง ไอ้มือสิบนิ้วนี่มันไม่สึกเวลาไหว้พระ  สึกไหม ไม่สึกหรอก มีแต่งอก เนื้อไม่งอกก็เล็บงอก ใช่ไหมเล่า ยกมือไหว้พระเวลาตื่นขึ้นตอนเช้าน่ะ ยังไม่มีเรื่องอะไร กราบพระไปที่หมอนก่อนก็ได้ ไม่ต้องลุกไปที่ห้องพระก็ได้ ใจนึกถึงพระที่ไหนพระถึงเราที่นั่น เคารพพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพ ด้วยความจริงใจ ถ้าตั้งใจตั้งกายอธิษฐานว่าเวลานี้พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนข้าพเจ้าขอไปที่นั่น ถ้าตายแล้ว เอากันแค่นี้...”

เมื่อทุกท่านได้รับชมรับฟังคติธรรมคำสอนในหลวงพ่อฤาษีลิงดำตามข้างต้นนั้นแล้ว เชื่อว่าทุกท่านจะสามารถพิจารณา ทำดีต่อไป (เริ่มทำดี หากว่าท่านใดยังไม่เคยทำดี) 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ทุกท่านได้โปรดเมตตาพิจารณาชี้แนะเพื่อการปรับแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้ 

ทำดีได้ไม่ยาก  จิตต้องอยากมากคิดดี
ไหว้พระให้ทันที  ธรรมชิดดีมีสุขล้น

ทำดีจนวันตาย  ไม่ต้องอายตายทุกคน
จิตใจไม่หมองหม่น  ธรรมต้องสนอดทนใจ

ตั้งใจอธิษฐาน  ธรรมประสานเบิกบานใจ
พระพุทธเจ้าอยู่ไหน  จิตต้องไปให้ทันที

ทำดีในทุกอย่าง  บุญนำทางสร้างวิถี
ธรรมะสร้างชีวี  คิดทำดีมีสุขใจ

นึกถึงพระทุกเวลา  ทรงคุณค่าพายิ่งใหญ่
ไม่ว่าอยู่ที่ไหน  ทำดีไว้ในใจตน

จริงใจในความดี  ส่งผลดีมีทุกคน
ทำดีมีอดทน  ตายหนีพ้นนิพพานเอย

ปภาวีร์ 
๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘

วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ ทุกอย่างมาจากพ่อแม่"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ ทุกอย่างมาจากพ่อแม่" คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อจรัญ ที่ท่านได้เมตตาไว้ว่า "ทุกอย่างมาจากพ่อแม่" มันเป็นความจริงแท้แน่นอนที่สุด ไม่เชื่อลองรับชมรับฟังจาก YouTube ต่อไปนี้ 



"...มาจากพ่อแม่ชัดเจน มีทุกวันที่วัดอัมพวัน ลูกไม่ยอมเรียนหนังสือเถียงพ่อเถียงแม่เถียงครูบาอาจารย์ ไม่อยากจะเรียนหนังสือ เป็นเวรกรรมของครอบครัวนั้น พ่อแม่สร้างความไม่ดีกับลูกทำไม่ถูกกับหลาน รักไม่ถูกวิธี  ทำความไม่ดีให้ลูกดู ชัดเจนมาก บ้านนั้นหาความเจริญไม่ได้แน่ คนที่เถียงพ่อเถียงแม่ คิดไม่ดีกับพ่อแม่เจ๊ง  รับราชการไม่ได้ตำแหน่ง เป็นนักธุรกิจเจ๊งหมด ค้าขายก็ไม่ดีเอาดีไม่ได้ คิดไม่ดีกับแม่ คิดไม่ดีกับพ่อ..."

คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อจรัญนับได้ว่าทรงคุณค่าอย่างยิ่งที่เราทุกคนควรจะต้องใส่ใจให้ดีที่สุด ว่า "ทุกอย่างมาจากพ่อแม่" 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ทุกท่านได้เมตตากรุณาพิจารณาชี้แนะเพื่อการปรับปรุงต่อไป ดังนี้ 

ตัวเราต้องค้นหา  ทุกอย่างมาจากพ่อแม่
เป็นเรื่องที่จริงแท้  เถียงพ่อแม่แย่แน่นอน

พ่อแม่สร้างไม่ดี   ลูกไม่ดีมีกลับย้อน
ไม่ดีในทุกตอน  ธรรมต้องสอนย้อนทุกคน

พ่อแม่คือตัวอย่าง  เป็นหนทางสร้างผู้คน
หมั่นธรรมในกมล   พร้อมอดทนสนทำดี

ไม่ดีกับพ่อแม่  รับรองแย่แน่ชีวี
การงานย่อมไม่ดี  เศร้าฤดีดีไม่ได้

พ่อแม่ลูกสัมพันธ์  ธรรมผูกพันหมั่นเข้าไว้
ธรรมะมีที่ใจ   ใช่หรือไม่ใจรู้ดี

พ่อแม่คือต้นเหตุ  จะวิเศษเดชมากมี
สนใจใฝ่ธรรมดี  ทุกชีวีมีสุขเอย

ปภาวีร์ 
๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๘

วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "“มรดกธรรม ๖ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "“มรดกธรรม ๖  หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ"  คติธรรมนคำสอนของท่านหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ จากหนังสือมรดกธรรม ๖ เกี่ยวกับ ทำบุญอย่างไรให้ได้บุญ ลองอ่านดังต่อไปนี้ 


ทำบุญอย่างไรให้ได้บุญครับ?
ทำบุญให้เป็นประโยชน์ ให้ท่านให้เป็นประโยชน์ เช่น สร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล ส่วนการปล่อยนกปล่อยปลา และปล่อยเต่านั้นได้บุญนิดหน่อยเพียงทำให้เกิดความสบายใจในขณะที่ทำเท่านั้น แต่เบื้องหลังแล้วเป็นการส่งเสริมเป็นการทรมานสัตว์ เป็นเรื่องไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเขาต้องจับปลา จับนก และจับเต่ามาจากธรรมชาติมาขังไว้เพื่อรอให้คนมาซื้อ เรายิ่งซื้อมากเท่าไรเขาก็ยิ่งจับมาขายมากเท่านั้น เท่ากับว่าเป็นการส่งเสริมให้เกิดอาชีพที่ทุจริตมากเท่านั้น

ข้างต้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือดีๆ "มรดกธรรม๖" ในท่านหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ  มีคุณค่าอย่างยิ่ง โดยเฉพาะที่ท่านได้เมตตาให้เราเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการทำบุญอย่างไรให้ได้บุญ 

เรื่องบุญทำประจำ  ดีในธรรมนำความสุข
บางสิ่งเป็นเรื่องทุกข์  ไม่ใช่สุขอย่างแท้จริง

ทำแล้วสบายใจ  ทำมากไว้ในทุกสิ่ง
บุญเกิดประเสริฐยิ่ง  จิตต้องนิ่งธรรมต้องโปรด

เรื่องบุญต้องทำไว้  ทำบุญให้เป็นประโยชน์
ทำบุญไม่มีโทษ  พร้อมอย่าโกรธโลภให้มาก

เรื่องบุญทุนชาติหน้า  ธรรมนำพาหาทุกชาติ
ทำบุญเต็มสามารถ  ปราศจากมากโกรธหลง

ทำบุญมากหรือน้อย  ทำบ่อยบ่อยค่อยมั่นคง
ผลบุญตามประสงค์  ธรรมดำรงจงเจริญ

ทำบุญทุจริต  ทำไม่คิดมิตรหมางเมิน
ได้ทำไม่เพลิดเพลิน  ไม่สรรเสริญเกินคนเอย

ปภาวีร์ 
๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๘

วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตั้งใจนิพพาน"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตั้งใจนิพพาน" คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำ เกี่ยวกับเรื่องของ "นิพพาน" ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงขอเชิญชวนทุกท่านรับชมได้จาก YouTube ต่อไปนี้ 



"...พุทธบริษัททุกคน ตั้งใจเอาเฉพาะนิพพานตรงเลยนะ มันจะไปค้างที่ไหนก็ตาม มันก็ต้องไปนิพพาน ถ้าไปค้างที่สวรรค์แล้วเราก็ต้องเจอะพระอรหันต์ พระอรหันต์นี่มีมากนะ ปัจจุบันนี่ มีมากจริงๆ ไม่ใช่มีน้อย พระเล็กพระน้อยพระเด็กๆ เป็นพระอรหันต์ก็มี  บางทีไปเจอะหนุ่มๆ หน้าแจ๋วๆ ไม่ใช่เอาเฉพาะพระแก่ ไอ้ที่แก่ไม่ได้เรื่องมีเยอะแยะไป ไอ้พระกังหันบางเจ้าอยากจะดีอยากจะเด่น ไปไหนก็อวดตัวฉันเป็นพระอรหันต์ ฉันรู้นั่นฉันรู้นี่ พวกนี้ใช้อะไรไม่ได้ลงนรกหมด ลงนรกเป็นแถวๆ ถ้าพระอรหันต์จริงๆ ท่านไม่มีคำว่าอวด ตั้งแต่พระโสดาบันไปนี่เก็บเงียบ ท่านเก็บตัวนะ ท่านไม่แสดงออก..."

เชื่อว่าเมื่อทุกท่านได้รับชมรับฟังสิ่งที่ท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำได้เมตตาตามข้างต้น (หลายๆ รอบ) แล้ว ย่อมจะทำให้ทุกท่านพิจารณาว่า "นิพพาน" นั้น ตัวของเราจะสามารถทำได้หรือไม่ เป็นเรื่อง "ปัจจัตตัง"  

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ทุกท่านได้โปรดเมตตาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้

ความตั้งใจให้ดี  หากมากมีดีแน่นอน
ผ่านมาไม่กลับย้อน  เรื่องเก่าก่อนสอนใจตน

เอาเฉพาะนิพพาน  สุขสำราญกาลหลุดพ้น
ทำได้ในทุกคน   ธรรมมากล้นสนให้ดี

จะไปค้างที่ไหน  อยู่ที่ใจให้คิดดี
นิพพานได้ทันที  ตายสิ้นทีมีสุขเย็น

พระอรหันต์จริง  จิตท่านนิ่งอิงบำเพ็ญ
ไม่อวดอ้างว่าเป็น  นิพพานเย็นเห็นที่ตน

ละในโลภโกรธหลง  จิตมั่นคงปลงให้พ้น
นิพพานกันทุกคน  สุขกมลสนธรรมดี

ตั้งใจให้นิพพาน  ธรรมประสานทุกนาที
ตายลงปลงทันที  สุขฤดีตอนนี้เอย

ปภาวีร์ 
๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ จิตต้องทำงาน"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ จิตต้องทำงาน" คติธรรมที่ท่านหลวงพ่อจรัญได้เมตตาเกี่ยวกับเรื่องของ "จิตต้องทำงาน" อยากจะขอเชิญชวนทุกท่านได้รับชมรับฟังได้จาก YouTube ต่อไปนี้


"...พระเดี๋ยวนี้ พวกเถรเทวทัต สอนให้ไปเห็นนิพพานเลย สอนให้ไปโน้น อย่าทำงาน พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไม่ให้ทำงาน สอนให้ทำงาน สอนให้มีกิจการมีหน้าที่รับผิดชอบ เรียกว่าพัฒนาบริหารจิต ให้จิตมีงานทำ ตาเห็นรูปกำหนด เห็นหนอ ส่งกระแสที่หน้าผาก อย่าไปพูดเอาปากพูดพล่อยๆ เชียวนะ เสียงหนอ ให้พัฒนาที่หู พัฒนาจิต บริหารจิตที่หู เพราะจิตมันอยู่ที่หูแล้วในขณะนี้ กำหนดจิตมีสติปัฏฐานสี่ ไว้ที่หูมีทรัพย์ จมูกได้กลิ่นบริหารจิตที่จมูก บริหารวาจาที่พูดไปที่ลิ้น มีความหมาย บริหารทั้งอาหารการบริโภค รับประทานอาหารช้าๆ อย่าให้ผลุนผลันๆ มูมมาม วอกแวก ต้องมีสติบริหารกาย บริหารจิตขณะรับประทานอาหารใช่หรือไม่ ท่านจะสำรวม ท่านสังวรณ์ ท่านจะระวัง จะไม่ผองแผลง  ข้าวซักเม็ดก็จะไม่หก..."

คติธรรมคำสอนข้างต้นที่หลวงพ่อจรัญได้เมตตาไว้ นับว่าเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง ซึ่งหากว่าทุกท่านได้ลองฟังหลายๆ รอบ แล้วเชื่อว่าจะเกิดผลดีต่อการพัฒนาจิตอย่างแน่นอน 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เมตตาพิจารณาเช่นเคยในการชี้แนะแนะนำเพื่อการพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้ 

ต้องบริหารจิต  ที่ละนิดชิดในธรรม
บริหารจิตประจำ  ทุกเช้าค่ำย้ำจิตตน

กำหนดจิตสติ   สมาธิให้อดทน
ทำได้ในทุกคน  ธรรมต้องสนจนตัวตาย

จิตกำหนดทุกจุด  อย่าได้หยุดไม่ต้องอาย
สติบริหารกาย   ได้ทุกรายตายสุขเย็น

เมื่อจิตต้องทำงาน   จิตเบิกบานสานธรรมเห็น
สั่งจิตคิดบำเพ็ญ  ทุกเช้าเย็นเป็นประจำ

เมื่อจิตไม่เคยนิ่ง   อยู่ทุกสิ่งอิงในธรรม
ธรรมะจะต้องจำ  ลงมือทำนำจิตดี

จิตคนหยุดไม่เป็น   ธรรมให้เห็นเป็นเรื่องดี
ฝึกจิตคิดสิ่งดี   ตายทันทีมีสุขเอย

ปภาวีร์ 
๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "เย็นหิมะในรอยธรรม โดยสมเด็จเกี่ยว"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "เย็นหิมะในรอยธรรม โดยสมเด็จเกี่ยว" พุทธศาสนิกชนคนไทยทุกท่านคงจะต้องรู้จัก "สมเด็จเกี่ยว" หรือ "สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)" เป็นอย่างแน่นอน (ดูข้อมูลเกี่ยวกับสมเด็จเกี่ยวได้ที่ th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระพุฒาจารย์_(เกี่ยว_อุปเสโณ))  ซึ่งที่สำคัญอีกอย่างนั้น คือ หนังสือที่สมเด็จเกี่ยวได้นิพนธ์ชื่อเรื่อง "เย็นหิมะในรอยธรรม" น่าสนใจหาอ่านเป็นอย่างยิ่ง



ทั้งนี้ หนังสือ "เย็นหิมะในรอยธรรม" รวบรวมขึ้นจากโอวาท เกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ที่เจ้าประคุณสมเด็จเกี่ยวแสดงธรรมในโอกาสต่างๆ โดยบางส่วนบางตอนจากหนังสือดังกล่าว เป็นดังนี้ 
"         ในโลกปัจจุบัน การจะรักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ให้ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้พระเณรได้มีความรู้ มีการศึกษาทั้งธรรมะและวิชาการทางโลก ความรู้อย่างพระก็ต้องรู้ เพราะเป็นเรื่องพระศาสนา แต่ก็ต้องรู้ความรู้ชาวบ้านเขาด้วย ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการวางแผน เพื่อให้พระพุทธศาสนาไปอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก

              ผู้ที่จะรับภาระหน้าที่อันหนักหน่วงนี้ได้ก็คือ พระเณรนั่นเอง จึงจำเป็นจะต้องให้พระเณรมีการศึกษา รู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอายุยังน้อยต้องเรียน เรียนอะไรก็ได้ ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย อย่าอยู่เฉยๆ เพราะพระเณรจะต้องรับภาระธุระพระศาสนา แต่หลวงพ่อแก่แล้ว คนแก่จะทำอะไรได้ แค่ให้หายใจอยู่เฉยๆ ก็ยังแย่แล้ว

              พระพุทธศาสนาในเมืองไทยมีภัยรอบด้าน ซึ่งกำลังแทรกเข้ามาทุกรูปแบบ พระพุทธศาสนาอาจจะล้มครืนลงวันใดก็ได้ แต่พระก็ยังเหมือนปลาอยู่ในน้ำเย็น จึงตายใจว่า พระพุทธศาสนาตั้งมั่นเจริญรุ่งเรืองในเมืองไทย เลยไม่รู้สึกถึงความล่มสลาย ซึ่งกำลังใกล้เข้ามา  

             ให้มองไปข้างหน้าอีก 50 ปี โดยกำหนดดูผลแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งละ 10 ปี และในทุก 10 ปีนั้น ก็ยังต้องดูความเปลี่ยนแปลงในแต่ละปีด้วย จนกว่าจะถึง 50 ปี เพื่อให้คาดการณ์ว่า อีก 50 ปีข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาอย่างที่เคยขึ้นในอดีตแล้ว เราจะทำอย่างไร มองให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอดีต ความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ของสังคม และของโลก ความเปลี่ยนแปลงมีอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งกับพระพุทธศาสนา มิเช่นนั้นแล้ว พระพุทธศาสนาในอินเดีย ในปากีสถาน บังกลาเทศ และในอัฟกานิสถาน เป็นตัวอย่าง ก็คงไม่ล่มสลาย ถ้าสามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ของสังคม และของโลก ที่จะเกิดขึ้นในอีก 50 ปีข้างหน้า ก็จะทำให้สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น        "

แน่นอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกฎไตรลักษณ์ ดังนั้น เราทุกคนชาวพุทธควรจะต้องเรียนรู้ในเรื่องธรรมะพุทธศาสนาให้มากยิ่งๆ ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่้งสำหรับเด็กในยุคปัจจุบันที่พ่อแม่ควรจะให้ความสำคัญ  เพราะอย่างที่ในหนังสือที่สมเด็จเกี่ยวได้เมตตาไว้ว่า "คนแก่จะทำอะไรได้ แค่ให้หายใจอยู่เฉยๆ ก็ยังแย่แล้ว"

 จากส่วนหนึ่งของหนังสือเย็นหิมะในรอยธรรมที่เจ้าประคุณสมเด็จเกี่ยวได้เมตตาไว้ข้างต้น เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สืบสานพระพุทธศาสนาให้เจริญยั่งยืนต่อไป 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ทุกท่านได้โปรดพิจารณาเมตตาชี้แนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไขต่อไปให้ดียิ่งๆ ขึ้น ดังนี้

เป็นคนต้องพบพระ  เย็นหิมะในรอยธรรม
ยิ่งพบเป็นประจำ  จิตน้อมนำธรรมต้องหนุน

ทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง  เมื่อมีแรงแบ่งปันบุญ
ทำไว้เพื่อเป็นทุน  ไว้เกื้อกูลภพต่อไป

ทำอะไรคนแก่   ก็ยังแย่แค่หายใจ
แก่แล้วธรรมไม่ได้  น่าเสียใจในที่สุด

เกิดมาลองคิดดู  จิตให้รู้ดูอย่าหยุด
ธรรมะมีทุกจุด  อย่าสะดุดหยุดมีธรรม

หากตายน่าเสียดาย  หญิงหรือชายอายประจำ
ทุกคนสนในธรรม  ตายสุขล้ำนำสุขเย็น

เย็นหิมะจะดี  หากว่ามีธรรมบำเพ็ญ
ธรรมะทุกเช้าเย็น  แล้วจะเห็นเย็นนิพพาน

ตอนนี้ยังไม่แก่   ธรรมอย่าแย่แน่ประสาน
ทำจิตให้เบิกบาน  สุขสำราญสานสุขเอย

ปภาวีร์ 
๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘

วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "นรกตลอดเวลา พุทธทาสภิกขุ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "นรกตลอดเวลา พุทธทาสภิกขุ" พุทธศาสนิกชนคนไทยหลายท่านอาจจะยังไม่เชื่อว่านรกมีจริง ดังนั้น ลองฟังคติธรรมคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ตาม YouTube ต่อไปนี้



"...นี่ คนมันไม่รู้เรื่องนี้ มันอดทนทำงาน เหมือนกับตกนรกตลอดเวลาที่ทำงาน มันตกนรกตลอดเวลานะ เมื่อทำการงานอยู่มันก็ตกนรกด้วยการจำใจทำ เมื่อทำแล้วมันก็เอาเงินไปซื้อหาความเพลิดเพลินที่หลอกลวง ให้การเงินมันมีปัญหาหนักเข้าไปอีก มันก็ตกนรกชั้นลึกลงไปอีก..."

คติธรรมคำสอนในท่านพุทธทาสภิกขุ เกี่ยวกับเรื่องของ "นรก" เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ดังนั้น ลองฟังหลายๆ รอบว่าเป็นอย่างไร ให้เข้าใจว่า "นรก" นั้น ไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ใกล้ๆ นี้เอง

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดเมตตาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้ 

นรกอยู่ที่ไหน  ใกล้หรือไกลให้รู้ดี
นรกทุกวันนี้  ใช่แน่มีที่ทำงาน

ตกนรกทุกวัน  เพราะมัวพลันแต่ทำงาน
หาเงินจนเชี่ยวชาญ  สุขสำราญงานแท้จริง

เอาเงินซื้อเพลิดเพลิน  ธรรมหมางเมินเดินหนีทิ้ง
ใช้เงินเกินความจริง  ทุกข์อย่างยิ่งจริงหรือไม่

เพลิดเพลินที่หลอกลวง  น่าเป็นห่วงถ่วงภพใหม่
ปัญหาหนักเข้าไป  ลึกลงไปในนรก

เพราะไม่รู้จักธรรม  ยิ่งถล้ำจำใจตก
เพลิดเพลินคือนรก  จิตต้องยกธรรมเข้ามา

นรกอยู่ที่จิต  ธรรมใกล้ชิดทุกเวลา

เพลิดเพลินในเงินตรา  อาจไร้ค่าพาทุกข์ใจ

ทำงานจำใจทำ  ต้องมีธรรมนำเข้าไว้

นรกหนีห่างไกล  ธรรมที่ใจในทุกครา

เข้าใจในนรก  จะไม่ตกวกกลับมา

นิพพานในทันตา  สุขอุราค่ายิ่งเอย

ปภาวีร์ 
๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘

วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงตาม้า การบวชใน"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงตาม้า การบวชใน" สำหรับหลวงตาม้า ชื่อนี้หลายคนหลายท่านอาจจะยังไม่ค่อยรู้จัก หรือ บางท่านอาจจะรู้จักเป็นอย่างดี หลวงตาม้าท่านอยู่ที่  "วัดถ้ำเมืองนะ" จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหลายท่านอาจจะเคยไปวัดดังกล่าวมาแล้ว ทั้งนี้ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัดถ้ำเมืองนะได้ที่ www.watthummuangna.com

ซึ่งท่านหลวงตาม้าได้เมตตาเกี่ยวกับเรื่อง "การบวชใน" สามารถรับชมรับฟังได้จาก YouTube ต่อไปนี้ 



"...บวชใน นึกถึงว่าเป็นพระอยู่ตลอด ก่อนนอน ตื่นนอน ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งภาวนา ตัวเองเป็นพระตลอด ทำความดีทุกอย่างติดตัวเป็นพระทั้งนั้นเลย... หลายวัน หลายเดือน หลายปี เข้านิ.. การกระทำ คำพูด มันจะเป็นพระ
สิ่งที่  ที่เขาไปๆ กัน จะไม่ไปแล้ว 
ดูหนัง ดูละคร ไปรื่นเริง จะไม่ไปแล้ว
พูดก็เป็นหลักธรรมแล้ว นั่นแหละ คือ การพิสูจน์ว่า การบวชใน มันจะออกมาข้างนอก..."

เมื่อทุกท่านได้รับชมรับฟังสิ่งที่หลวงตาม้าได้เมตตาไว้ตามข้างต้นแล้ว เชื่อว่าหลายๆ ท่านจะสามารถบวชในได้อย่างแน่นอน หากไม่เชื่อคงจะต้องพิสูจน์ด้วยตัวของท่านเอง

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดเมตตาพิจารณาชี้แนะเพื่อการปรับแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้

บวชนอกหรือบวชใน  ทำอย่างไรให้รู้ดี
บวชในทำไงดี  พระทุกทีมีที่ตน

ก่อนนอนและตื่นนอน พระทุกตอนย้อนกมล
ภาวนาสวดมนต์  จิตอดทนจนเป็นพระ

ทำความดีทุกอย่าง  เป็นหนทางชัยชนะ
บวชในจิตมานะ  อย่าลดละจะได้ดี

มีธรรมในทุกตอน  จิตพร่ำสอนพรทันที
ต้องทำหลายเดือนปี  นำชีวีมีสุขเย็น

บวชในให้มากๆ  ไม่ได้ยากหากจะเป็น
สั่งจิตคิดบำเพ็ญ  ทุกเช้าเย็นเห็นผลดี

บวชในสู่ข้างนอก  มันจะออกบอกว่าดี
บวชในให้มากมี  สุขฤดีมีธรรมเอย

ปภาวีร์ 
๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "บวชกาย บวชใจ ท่านปัญญานันทภิกขุ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "บวชกาย บวชใจ ท่านปัญญานันทภิกขุ" ท่านปัญญานันทภิกขุ ได้ปาฐกถาธรรมเรื่องเกี่ยวกับ "บวชกาย-บวชใจ" เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ กรกฏาคม ๒๕๒๗ ซึ่งสามารถหาอ่านได้จาก หน้า ๓๔ หนังสือ "ชีวิตเพื่อธรรม ธรรมเพื่อชีวิต" พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)


พ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกบวช อย่าเข้าใจว่าได้นุ่งเหลืองห่มเหลืองแล้วก็เป็นใช้ได้ ให้รู้ว่าที่เราให้ลูกบวชเพื่อเข้ามาศึกษาพระศาสนาอบรมบ่มจิตใจ ให้มีหลักธรรมะเพื่อเป็นพื้นฐานทางจิตใจ เมื่อออกไปอยู่บ้านก็จะได้ใช้หลักธรรมะที่เราได้เล่าได้เรียน เอาไปเป็นเครื่องมือป้องกันตนไม่ให้ตกต่ำไปสู่อบายคือความชั่วความร้าย

เพราะฉะนั้นการบวชต้องใช้เวลา ถ้ายังไม่มีเวลาที่่จะบวชนานก็เก็บไว้ก่อน เมื่อใดว่างจึงมาบวช หรือบางทีก็ บวชหน้าศพ บวชเช้าเย็นสึกแล้ว อาตมาก็ไม่รับบวชให้เหมือนกันนอกจากเด็กตัวน้อยๆ เอามาเล่นละครกันหน่อย ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่มาขอบวชหน้าศพ บอกว่า เธอไม่ต้องบวชหน้าศพ เธอไปยืนหน้าศพคุณพ่อ แล้วก็พูดดังๆ เอาไหม พูดดังๆ ว่า
         "ต่อหน้าไฟที่เผาศพคุณพ่อ ข้าพเจ้าขออธิษฐานใจว่า จะไม่เล่นการพนันตลอดชีวิต จะไม่ดื่มของมึนเมาตลอดชีวิต จะไม่คบเพื่อนชั่วตลอดชีวิต จะไม่เที่ยวกลางคืนตลอดชีวิ จะไม่ใช้จ่ายทรัพย์สุรุ่ยสุร่ายโดยไม่จำเป็นตลอดชีวิต จะไม่เกียจคร้านการงานตลอดชีวิต"

เอาเท่านี้ก็เหลือกินแล้ว พอกินแล้ว เหลือกินเหลือใช้ ไม่เอา มันจะเอาแต่แต่งตัวเล่นละครให้คนดูตอนเผาศพเท่านั้นเอง ให้บวชจริงอย่างนี้ไม่เอา อย่างนี้ละบวชแท้ แล้วไม่ใช่บวช ๓ วัน ๗ วัน บวชกันตลอดชีวิต

เพราะคำว่า "บวช" หมายความถึงว่า "งดเว้นจากการกระทำความชั่ว" ในภาษาบาลีว่า บัพพชา หรือ บวชเป็นอุบายงดเว้นจากการกระทำเรื่องชั่ว งดเว้นจากการคิดเรื่องชั่ว การพูดเรื่องชั่ว กระทำสิ่งชั่ว การไปสู่สถานที่ชั่ว การคบหาสมาคมด้วยคนชั่วๆ งดเว้นหมด

งดเว้นหมออย่างนี้มันก็ประเสริฐแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องโกนหัวขูดคิ้วก็ได้ เราไปยึดถือในรูปแบบมากเกินไป ไม่ได้เพ่งเอาเนื้อแท้ของการบวชว่าคืออะไร ถ้าเราจะบวชตามรูปแบบมันต้องมีเวลา มีโอกาสเหมาะที่เราจะบวชอย่างนั้น แต่ถ้าเรายังไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสก็บวชทางจิตใจไปก่อนก็ได้

เพราะว่าการบวชนั้นมีอยู่ ๒ แบบ คือบวชทางร่างกาย และ บวชทางจิตใจ
บวชกาย นี่คือบวชตามรูปแบบ โกนหัว ขูดคิ้ว นุ่งเหลือง ห่มเหลือง
บวชใจ คืออธิษฐานใจ ตั้งใจงดเว้น ไม่กระทำอะไรที่เป็นการขัดต่อหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

ทุกคนมีโอกาสบวชด้วยกันทั้งนั้น แล้วบวชใจนี่แหละได้อานิสงส์มาก ได้ประโยชน์มาก เพราะว่าบวชนาน ไม่ได้บวช ๓ เดือน หรือ ไม่ได้บวช ๑๕ วัน แต่ว่าบวชกันไปตลอดชีวิตทีเดียว ตั้งใจงดเว้นจากเรื่องชั่วร้าย เช่น งดเว้นอบายมุขตลอดชีวิตไปเลยแล้วอานิสงส์มันจะมีขนาดไหน ก็ลองคิดดู

ปาฐกถาธรรมของท่านปัญญานันทภิกขุ ข้างต้นเกี่ยวกับเรื่องของการ "บวช" หากว่าทุกท่านไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง (ที่บางครั้งคิดว่าตัวเองไม่สามารถจะบวชได้) ได้อ่านหลายๆ รอบแล้ว เชื่อว่าทุกท่านจะสามารถ "บวช" ได้ในที่สุด

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เมตตาพิจารณาแนะนำว่ามีส่วนใดที่จะต้องปรับแก้ไขเพื่อการพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้

บวชกายหรือบวชใจ  ต้องเข้าใจให้มากมี
บวชใจเป็นเรื่องดี  ทำชีวีมีเรื่องธรรม

งดเว้นในเรื่องชั่ว  เรื่องเมามัวตัวไม่ทำ
ทำดีมีประจำ  จิตจดจำธรรมสู่ใจ

บวชใจให้นานๆ จิตเบิกบานสานธรรมไว้
เด็กเล็กหรือผู้ใหญ่  ล้วนทำได้ใจรู้ดี

บวชกายเต็มรูปแบบ  จิตใจแนบธรรมมากมี
บวชใจก็เข้าที  นำชีวีดีทุกทาง

หากว่าจะคิดบวช จิตคอยตรวจหาหนทาง
จิตดีมีแบบอย่าง ธรรมส่องทางสว่างใจ

บวชจิตชิดธรรมะ  จิตเป็นพระมานะไว้
บวชได้ย่อมสุขใจ  เมื่อตายไปใจสุขเอย

ปภาวีร์ 
๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘


วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "วจนธรรม : ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ใช่เป็นความฉลาด - สมเด็จพระสังฆราช"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "วจนธรรม : ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ใช่เป็นความฉลาด - สมเด็จพระสังฆราช"  คติธรรมคำสอนในเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เกี่ยวกับเรื่อง "ความฉลาด" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือ "วจนธรรม" ดังนี้ 




โดยเฉพาะหน้า ๑๙  ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จปฏิบัติศาสนกิจ ณ แก่งสะพือ จังหวัดอุบลราชธานี 

"... โดยมากอุปสรรคต่างๆ เป็นเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อยไม่มีสาระ แต่มักจะรับเข้ายึดเป็นอารมณ์กวนใจให้เดือดร้อนไปเอง จนถึงให้ทอดทิ้งความดี ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ใช่เป็นความฉลาด..."

คติธรรมคำสอนในเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชข้างต้น บอกได้คำเดียวว่า "โดน" คือ โดนใจเป็นอย่างยิ่ง ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ที่เราพุทธศาสนิกชนคนไทยน่าจะไตร่ตรองลองคิดพิจารณาว่าตัวของเรานั้น "มีความฉลาด" หรือไม่อย่างไร 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เมตตาพิจารณาแนะนำเพื่อการปรับแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้

อุปสรรค์ย่อมจะมี  ทางที่ดีมีแก้ไข
หยุมหยิมมากเกินไป  น่าเศร้าใจในจิตตน

เล็กน้อยไร้สาระ  แต่มักจะละอดทน
กวนใจในกมล  นี่หนอคนอารมณ์ร้าย

เดือดร้อนกันไปเอง  ไม่รีบเร่งน่าเสียดาย
ธรรมะยังไม่สาย  อย่าเอียงอายทิ้งความดี

อารมณ์ที่กวนใจ  จะเผาไหม้ในฤดี
เดือดร้อนทุกนาที  นำชีวีดีไม่ได้

ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้  คงไม่ดีมีทุกข์ใจ
ธรรมะมากเอาไว้  ฉลาดได้ในทันกาล

หยุมหยิมและเล็กน้อย  ธรรมจากน้อยมากประสาน
มีธรรมอีกไม่นาน   จิตเบิกบานนิพพานเอย

ปภาวีร์ 
๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๘

วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ผลของกรรมนั้นแน่นอน ไม่มีข้อยกเว้น - สมเด็จพระสังฆราช"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ผลของกรรมนั้นแน่นอน ไม่มีข้อยกเว้น - สมเด็จพระสังฆราช"  คติธรรมคำสอนในเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เกี่ยวกับเรื่อง "ผลของกรรมนั้นแน่นอน" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากโครงการแผยแพร่ธรรมะยุคดิจิตอล "เสียงธรรม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" น่าหาฟังเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็น File mp3 แบ่งเป็นตอนๆ รวมความยาวเสียงธรรมในเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชทั้งสิ้นประมาณ ๕๐๐ ชั่วโมง ซึ่งในหน้า ๓ ของหนังสือดังกล่าวน่าสนใจ ตามรูปภาพต่อไปนี้


"     เมื่อใดมีความคิดว่าเราทำดีไม่ได้ดี หรือเขาทำดีไม่ได้ดี ก็พึงรู้ว่าเมื่อนั้นกำลังหลงคิดผิดจากความจริง กำลังเข้าใจผิดจากความจริง... ทำดีต้องได้ดีเสมอ ไม่มียกเว้นด้วยเหตุผลใดทั้งสิ้น
      เมื่อใดมีความคิดว่าเราทำไม่ดีแต่กลับได้ดี หรือเขาทำไม่ดีแต่กลับได้ดี ก็พึงรู้ว่าเมื่อนั้นกำลังหลงคิดผิดจากความจริง กำลังเข้าใจผิดจากความจริง... ทำไม่ดีต้องได้ไม่ดีเสมอ ไม่มียกเว้นด้วยเหตุผลใดทั้งสิ้น"

คติธรรมคำสอนในเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชข้างต้น เป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่งที่เราทุกคนควรจะต้องน้อมเข้าไว้ในจิตใจให้ดีๆ เพื่อได้ระลึกอยู่เสมอว่า "จะต้องทำดี" 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ผู้อ่านทุกท่านได้เมตตากรุณาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้

ทำดีย่อมได้ดี  ทำไม่ดีมีทุกข์ใจ
ดีนั้นออกจากใจ  ดีหรือไม่ใจรู้ดี

ทำดีอาจจะยาก แต่สามารถหากอยากดี
ทำได้ทุกนาที  ยิ่งทำดีมีผลบุญ

ทำดีดีที่จิต  ที่ละนิดคิดเป็นทุน
ทำได้ธรรมเกื้อกูล  จะเป็นคุณหนุนต่อไป

ทำดีทุกเวลา  ธรรมนำพาค่ายิ่งใหญ่
ทำดีอย่าเสียใจ  ต้องเข้าใจว่าได้ดี 

ทำดีจิตแจ่มใส  อยู่ข้างในใจรู้ดี
ใครว่าเราไม่ดี  ยิ้มทุกทีที่ได้ทำ

ทำดีแล้วสุขใจ  ไม่ว่าใครใจมีธรรม
ใครจะใหญ่เกินกรรม  ดีแล้วทำนำต่อไป

ทำดีอยู่ที่เรา  ไม่มีเศร้าเมาทุกข์ใจ
ต้องทำทุกวันไป  สุขฤทัยนิรันดร์กาล

ทำดีดีที่สุด  ธรรมอย่าหยุดสุดเบิกบาน
เข้าสู่แดนนิพพาน  สุขสำราญกาลสิ้นเอย

ปภาวีร์ 
๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ผู้ไม่ปรารถนาทุกข์ พึงหลีกเลี่ยงกรรมชั่ว - สมเด็จพระสังฆราช"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ผู้ไม่ปรารถนาทุกข์ พึงหลีกเลี่ยงกรรมชั่ว - สมเด็จพระสังฆราช"  คติธรรมคำสอนในเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เกี่ยวกับเรื่อง "ผู้ไม่ปรารถนาทุกข์" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือพระนิพนธ์ "ธรรมเพื่อความสวัสดี" หน้า ๓๕ ดังรูปภาพต่อไปนี้ 


กรรมนั้น เป็นความสำคัญแก่ทุกชีวิต ทั้งทางดีและทางร้าย คือ ทั้งมีคุณและมีโทษ.
กรรมดี... ก็มีคุณ กรรมไม่ดี...ก็มีโทษ การรู้จักกรรมให้ถูกต้อง จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง แม้การรู้จักรรมจะเป็นเรื่องยาก เพราะลึกซึ้งและสลับซับซ้อนมาก แต่ก็ควรที่จะพยายามทำความเข้าใจเรื่องกรรมและการให้ผลของผลให้ถูกต้อง จะได้ไม่ได้รับผลร้ายหรือโทษของกรรม จะได้ได้รับแต่ผลดีหรือคุณของกรรมเท่านั้น.


คติธรรมคำสอนข้างต้นในเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งที่พุทธศาสนิกชนคนไทยจะได้น้อมนำทำตาม คิดตาม แล้วจะได้ "ไม่มีกรรม" ในที่สุด (ลองหาอ่านต่อสำหรับหนังสือพระนิพนธ์ เรื่อง "ธรรมเพื่อความสวัสดี")

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ผู้อ่านทุกท่านได้โปรดเมตตากรุณาพิจารณาชี้แนะเพื่อการปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้

กรรมนั้นสำคัญยิ่ง  เป็นความจริงยิ่งปรากฎ
ทุกคนประสบหมด  จะต้องพบร้ายหรือดี

มีคุณและมีโทษ  มีประโยชน์หากกรรมดี
ผลร้ายกรรมไม่ดี  ยิ่งมากมีดีไม่ได้

กรรมดีก็มีคุณ  เป็นผลบุญหนุนต่อไป
กรรมร้ายตายทุกข์ใจ  เวียนวนไปไม่สิ้นสุด

เข้าใจให้ลึกซึ้ง  ธรรมที่พึ่งพึงอย่าหยุด
ผลกรรมมีทุกจุด  ดีที่สุดธรรมให้มี

กรรมใดที่เราก่อ  จะเฝ้ารอต่อชาตินี้
เลือกทำแต่กรรมดี  นำชีวีดีต่อไป

อาจยากรู้จักกรรม  จิตใฝ่ธรรมทำดีไว้
กรรมดีจิตฝั่งใจ  เมื่อตายไปใจสุขเอย

ปภาวีร์ 
๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "จิตจะผ่องใส - สมเด็จพระสังฆราช"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "จิตจะผ่องใส - สมเด็จพระสังฆราช"  คติธรรมคำสอนในเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เกี่ยวกับเรื่อง "จิตจะผ่องใส" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือพระนิพนธ์ "ธรรมเพื่อความสวัสดี" หน้า ๓๑ ดังรูปภาพต่อไปนี้ 



ดังนั้น การทำจิตให้ผ่องใส จึงอยู่ที่การพยายามไม่นำจิตเข้าไปอยู่ในแวดวงของกิเลส พยายามนำจิตออกให้ไกลกิเลสให้มากที่สุด พยายามให้สม่ำเสมอ แม้จิตจะถอยไกลบ้างใกล้บ้างกับกิเลส ก็จะมีเวลาหนึ่งที่จะไกลได้โดยไม่กลับถอยเข้าไปกิเลสอีก กิเลสจะไม่อาจปกคลุมจิตให้เศร้าหมองได้อีก ความผ่องใสประภัสสรอ้ันเป็นธรรมชาติแท้ของจิต จะไม่ถูกบดบัง จะปรากฎรุ่งเรืองงดงาม พร้อมด้วยความสิ้นร้อน สิ้นเศร้ามอง.

คติธรรมคำสอนข้างต้นในเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งที่พุทธศาสนิกชนคนไทยจะได้น้อมนำทำตาม คิดตาม แล้วจะได้ "สิ้นร้อน" ในที่สุด (ลองหาอ่านต่อสำหรับหนังสือพระนิพนธ์ เรื่อง "ธรรมเพื่อความสวัสดี"

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ผู้อ่านทุกท่านได้โปรดเมตตากรุณาพิจารณาชี้แนะเพื่อการปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้

อันจิตจะผ่องใส  ธรรมมากไว้ในทุกวัน
ธรรมะจะเสกสรรค์  ชั่วนิรันดร์สุขกมล

กิเลสอย่าเข้าใกล้  หนีให้ไกลไปให้พ้น
สั่งจิตให้อดทน  ตอนเป็นคนสนธรรมไว้

จิตคิดถอยให้ห่าง  เป็นหนทางสร้างบุญใหญ่
กิเลสเผามอดไหม้  ธรรมที่ใจให้มากมี

ผ่องใสประภัสสร  ได้ทุกตอนสิ้นร้อนที
เศร้าหมองหมดทันที  สุขฤดีมีสุขเย็น

ต้องฝึกจิตผ่องใส  ธรรมเข้าใจไม่ยากเย็น
ธรรมะจิตจะเห็น  ทุกเช้าเย็นเป็นแน่นอน

ปลายทางของจุดหมาย  เมื่อจะตายประภัสสร
ดับทุกข์หมดสิ้นร้อน  อำนวยพรนิพพานเอย

ปภาวีร์ 
๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๘

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "สติปัญญาดังกระจก - สมเด็จพระสังฆราช"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "สติปัญญาดังกระจก - สมเด็จพระสังฆราช"  คติธรรมคำสอนในเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เกี่ยวกับเรื่องของสติปัญญาเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง ขอเชิญรับฟังได้จาก YouTube ต่อไปนี้



เมื่อมีสติกับปัญญามาเป็นกระจกส่องดูจิตขอ­งตนเอง ก็ย่อมจะรู้จักจิตของตนเองว่าเป็นอย่างไร

สองสิ่งข้างต้นคือ "สติกับปัญญา" เป็นที่สิ่งที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชได้เมตตาไว้เชื่อว่าจะเป็นคำสอนย้อนให้ทุกท่านได้คิดว่า ตัวของเรานั้น มีสติและปัญญากันหรือยัง ซึ่งหากว่ามีแล้ว ย่อมจะสามารถรู้จักจิตของเราว่าเป็นอย่างไรในที่สุด

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดกรุณาเมตตาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป ดังนี้

สติกับปัญญา  สิ่งมีค่าพาส่องจิต
สมาธิที่ละนิด  สติคิดติดตามมา

สองสิ่งเป็นกระจก  จะต้องยกส่องค้นหา
ส่องจิตด้วยปัญญา  แล้วพบว่าเป็นอย่างไร

ต้องหมั่นภาวนา  เกิดปัญญาพาเข้าใจ
ส่องจิตดูรู้ไว้  นิ่งหรือไม่ใจรู้ดี

ต้องรู้จิตของตน  เรื่องใดสนค้นให้ดี
สติมากเรื่องดี  สมาธิดีมีทุกตอน

กระจกที่ส่องจิต  ธรรมใกล้ชิดคิดกลับย้อน
ไม่ดีมีมาก่อน  รีบตัดรอนก่อนสายไป

ตั้งใจในสติ  สมาธิมากเข้าไว้
ปัญญาเกิดทันใด ส่องจิตได้ในทันที

จิตจะพบธรรมะ  ยิ่งมานะจะรู้ดี
ปัญญาพาเรื่องดี  นำชีวีมีสุขเอย

ปภาวีร์ 
๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘

วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน เกี่ยวกับ "สมเด็จพระสังฆราชฯ"

รวม Link ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน เกี่ยวกับ "สมเด็จพระสังฆราชฯ" 


http://msrivirat.blogspot.com/2015/03/blog-post_2.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/03/blog-post_29.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/03/blog-post_90.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/03/blog-post_55.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/03/blog-post_53.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/05/blog-post_7.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/05/blog-post_26.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/07/blog-post_38.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/07/blog-post_32.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/07/blog-post_69.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/07/blog-post_64.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/07/blog-post_23.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/07/blog-post_71.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/07/blog-post_39.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/08/blog-post_31.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/09/blog-post_4.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/09/blog-post_6.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/09/blog-post_12.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/09/blog-post_18.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/09/blog-post_38.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/10/blog-post_0.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/11/blog-post_71.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/11/blog-post_22.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/11/blog-post_28.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/11/blog-post_29.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/11/blog-post_30.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/12/blog-post_1.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/12/blog-post_2.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/12/blog-post_3.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/12/blog-post_5.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/12/blog-post_6.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/12/blog-post_7.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/12/blog-post_8.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/12/blog-post_9.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/12/blog-post_10.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/12/blog-post_11.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/12/blog-post_12.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/12/blog-post_13.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/12/blog-post_14.html

http://msrivirat.blogspot.com/2015/12/blog-post_15.html

ปภาวีร์ 
๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๘