Nuffnang Ads

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ หัวใจเศรษฐี อุ อา กะ สะ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ หัวใจเศรษฐี อุ อา กะ สะ" คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อจรัญเกี่ยวกับ "หัวใจเศรษฐี" เชื่อว่าพุทธศาสนิกชนคนไทยทุกท่านคงจะต้องการเป็นเศรษฐีกันทุกคน แต่ก่อนอื่นที่จะเป็นเศรษฐีคงจะต้องมีหัวใจเศรษฐีกันเสียก่อน ดังนั้น คงจะต้องลองฟังจาก YouTube ต่อไปนี้


“...ชื่อธรรมะนี้ว่า หัวใจเศรษฐี คือคำศัพท์ตัวต้นของศัพท์คือ อุ อา กะ สะ มาเรียงกันท่านว่า ใครภาวนาอยู่เสมอแล้ว รวยทุกคน แต่อย่าพึงเข้าใจผิดคิดว่า...”

เมื่อทุกท่านได้ฟังคติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อจรัญตามข้างต้นแล้ว เชื่อว่าทุกท่านย่อมอยากจะเป็นเศรษฐีกันแล้ว แต่ก่อนอื่นก็คงจะต้อง "ภาวนา" ก่อนอยู่เสมอ แล้วลงมือทำ ๔ ข้อ ๔ ประการตามดั่งที่หลวงพ่อจรัญได้เมตตาไว้ข้างต้น

และเป็นธรรมเนียมของผู้เขียนที่จะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑  ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดเมตตากรุณาชี้แนะแนะนำเพื่อ
การปรับปรุงพัฒนาดังต่อไปนี้


อันหัวใจเศรษฐี  เป็นสิ่งดีที่ควรทำ
สิ่งแรกต้องมีธรรม จิตน้อมนำภาวนา

ต้องขยันทำงาน  ยิ้มประสานทุกเวลา
ธรรมะสิ่งมีค่า  น้อมเข้าหามาสู่ใจ

ข้อสองก็สำคัญ  เมื่อขยันทำต่อไป
ต้องรักษาทรัพย์ไว้  ให้ปลอดภัยอยู่อย่างดี

ข้อสามไม่ยิ่งหย่อน  อย่าผัดผ่อนในฤดี
เลือกคบแต่คนดี  นำชีวีดีแน่นอน

เข้าใจใช้จ่ายทรัพย์  เรื่องรายรับจ่ายทุกตอน
ทำแล้วย่อมได้พร  แล้วคอยสอนลูกหลานเรา

สี่ข้อเป็นสิ่งดี  ทำให้มีดีกว่าเก่า
มีกันทุกค่ำเช้า  ไม่สูญเปล่าเรารวยเอย


ปภาวีร์ 
๑ สิงหาคม ๒๕๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ เล่าเรื่อง ขอไปนิพพาน พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ เล่าเรื่อง ขอไปนิพพาน พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต "  ซึ่่งเรื่องราวต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่ท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำได้เล่าไว้ในหนังสือ "เรื่องจริงอิงนิทาน (พิเศษ)  พระมหาวีระ ถาวโร (ฤาษีลิงดำ)" โดยในหนังสือหน้า ๑๐๗ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ก่อนสิ้นชีพตักษัยทรงเปล่งวาจาว่า "หญิงขอลาไปนิพพาน"  

ทั้งนี้ ท่านผู้อ่านสามารถ Download หนังสือเล่มข้างต้นได้ตามนี้ เรื่องจริงอิงนิทาน (พิเศษ) 



...แล้วท่านก็เปล่งวาจาดังๆ ว่า "โลกนี้เป็นทุกข์ ร่างกายเป็นทุกข์ ไม่ต้องการอีก ขอไปนิพพาน ขอลาไปนิพพาน" แล้วก็เปล่งวาจาดังขึ้นอีกว่า "หลวงพ่อ หลวงปู่ กรุณากราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ และทูลท่านชายปิยะให้ทรงทราบด้วยว่า หญิงขอลาไปนิพพาน" แล้วท่านก็เปล่งวาจาอีกว่า "นิพพาน นิพพาน นิพพาน"  นิ่งสักประเดี๋ยวเวลาผ่านไป ๓ นาทีได้ ท่านก็เปล่งเสียงดังๆ ว่า "โอ สว่างแล้วๆ เห็นนิพพานแล้วๆ นิพพานสวยเหลือเกิน หญิงขอลาไปนิพพานแล้ว หลวงปู่ หลวงพ่อ หญิงขอลาไปนิพพาน ขอหลวงพ่อได้กรุณากราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และท่านชายปิยะด้วยว่า หญิงขอลาไปนิพพาน" พอสิ้นเสียงก็ปรากฏว่าท่านสิ้นลมปราณ...

ทั้งนี้ วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานพระราชทานพระศพ หม่อมเจ้าวิภาวดีรังสิต พระราชทานสถาปนาพระอิสริยศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร 
สามารถดูเพิ่มเติมจาก YouTube ต่อไปนี้ 

ทั้งหมดข้างต้นนั้น เป็นสิ่งที่ท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำได้เล่าถึงการนิพพานของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ซึ่งท่านหญิงก็เป็นมนุษย์คนธรรมดาที่ได้เคยฝึกปฎิบัติธรรมกรรมฐานกับหลวงพ่อฤาษีลิงดำและตั้งจิตไว้เสมอว่า "ขอไปนิพพาน" อย่างแน่วแน่มั่นคง อันเป็นสิ่งที่เราทุกคนคนธรรมดาน่าจะลองศึกษาและลองปฏิบัติกันอย่างยิ่ง 

และเป็นธรรมเนียมของผู้เขียนที่จะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้เมตตาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาดังต่อไปนี้

เมื่อกายดับสิ้นลง  จิตมั่นคงตรงนิพพาน
จิตสั่งใจประสาน  คงไม่นานดั่งใจหมาย

ฝึกจิตปฏิบัติธรรม  เป็นประจำทั้งหญิงชาย

ไปดีเมื่อยามตาย  สู่จุดหมายอีกไม่ไกล

ขอลาไปนิพพาน  จิตเบิกบานสว่างใส

ดับสูญทุกคนไป  ไม่มีใครหลีกหนีพ้น

ความตายไม่แน่นอน  ใครตายก่อนสุขกมล

ตายดับกันทุกคน บุญมากล้นย่อมไปดี

จิตนั้นสำคัญยิ่ง  สงบนิ่งจริงทันที
นิพพานได้ทุกที่  ขอเพียงมีธรรมนำใจ

ชีวิตเมื่อต้องตาย  อย่าเสียดายอีกต่อไป
สั่งจิตนิ่งทันใด  พร้อมจากไปนิพพานเอย

ปภาวีร์ 
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘

วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ความเข้าใจเรื่องชีวิต โดย สมเด็จพระสังฆราชฯ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ความเข้าใจเรื่องชีวิต โดย สมเด็จพระสังฆราชฯ "  ขอนำเสนอเกี่ยวกับหนังสือพระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายา ซึ่งเป็นหนังสือที่น่าหาอ่านอย่างยิ่ง (ทั้งนี้สามารถ Download หนังสือดังกล่าวได้ที่ Link ด้านล่าง)  ในช่วงของวันหยุดธรรมะยาว วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา ดังนี้ 



ทั้งนี้หนังสือ "ความเข้าใจเรื่องชีวิต โดย สมเด็จพระสังฆราช"
  ซึ่งมีหัวข้อเรื่องดังนี้
- วงจรชีวิต
- เราเกิดมาทำไม
- ภาพชีวิตของแต่ละคน
- ชีวิตต้องการอะไร
- ศึกษาชีวิตสองด้าน
- สิ่งอันเป็นที่รักของชีวิต
- แง่คิดเกี่ยวกับชีวิต
- พึ่งผิดที่ ชีวิตย่อมมีภัย
- ความสุขที่ไหน
- เงื่อนไขของความสุข
- สุจริตธรรม เหตุที่ความสุขที่แท้จริง
=================="
"
ผู้ที่มี "ความพอ" แล้ว
ย่อมมีความพอใจในภาวะ
และฐานะของตน
จนกระทั่งไม่เห็นความสำคัญ
ที่จะต้องนำตน
ไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น
"
==============

และเนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันเพ็ญเดือนแปด (วันที่มีพระรัตนตรัยครบถ้วนสมบูรณ์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์)  ผู้เขียนขออนุญาตมอบกาพย์ยานี ๑๑ เพื่อเป็นธรรมบูชาแด่พุทธศาสนิกชนผู้อ่านทุกท่านขอให้ทุกท่านมีความสุขความเจริญในธรรมนำสุขตลอดกาลสมัยปัจจุบันกาลและอนาคตกาล ดั่งนี้ 

วงจรของชีวิต  ถูกหรือผิดคิดเอาเอง
ชีวิตโง่หรือเก่ง  อย่าอวดเบ่งว่าคนเขา

เราเกิดมาทำไม จะถามใครกันหนอเล่า
จิตคิดลืมเรื่องเก่า  เรื่องความเศร้าให้สิ้นไป

ภาพชีวิตของคน  ต้องปะปนดีชั่วไป
คนต้องการอะไร  รู้หรือไม่ใจรู้ดี

ศึกษาในสองด้าน  ทุกอย่างผ่านในชีวี
มนุษย์มีชั่วดี  เลือกให้ดีมีรู้จัก

ชีวิตก็เท่านี้  เลือกทำดีใจสมัคร
สิ่งอันเป็นที่รัก  จิตคอยภักรักให้ดี

แง่คิดในชีวิต จะต้องคิดธรรมมากมี
หากว่าพึ่งผิดที่  ย่อมจะมีภัยเข้ามา

ความสุขอยู่ที่ไหน  เป็นเงื่อนไขต้องค้นหา
ความสุขในอุรา ย่อมมีค่าให้จดจำ

ความสุขที่แท้จริง  สงบนิ่งใจประจำ
ด้วยสุจริตธรรม จะพานำภพชาติใหม่

ผู้ที่มีความพอ  ไม่ต้องรออีกต่อไป
ไม่ว่าอยู่ภพใด  จะสุขใจนิรันดร์เอย

ปภาวีร์ 
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘  

โดยหนังสือ "ความเข้าใจเรื่องชีวิต" สามารถ Download ได้จาก Link ต่อไปนี้  (รหัส ลำดับหนังสือ 3011) 


วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่แหวน กับ ในหลวง ทรงพระเจริญ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่แหวน กับ ในหลวง ทรงพระเจริญ" สำหรับหลวงปู่แหวนนั้นพุทธศาสนิกชนคนไทยหลายท่านจะต้องรู้จักท่านเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราได้มีโอกาสเห็นภาพที่ทรงคุณค่าระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ หลวงปู่แหวน แล้วนั้น เชื่อว่าคนไทยทุกท่านจะต้องมีความสุขอย่างแน่นอน ดั่งตัวอย่างภาพต่อไปนี้ 


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินถึงวัดดอยแม่ปั๋งเพื่อนมัสการและสนทนาธรรมกับหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณหลายครั้ง และได้จัดสร้างสิ่งมงคลโดยใช้รูปของหลวงปู่นำมาแจกในพระราชพิธีสำคัญ

ซึ่งสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรและประทับรักษาพระองค์ที่เชียงใหม่ หลวงปู่แหวนได้กราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า

"พระองค์นั้นมัวแต่ห่วงคนอื่น ไม่ห่วงพระองค์เองเลย"

จะเห็นว่าสิ่งที่หลวงปู่แหวนได้กราบบังคมทูลต่อในหลวงข้างต้นนั้น เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพรหมวิหาร ๔ อย่างใหญ่หลวงดียิ่งนัก" โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำที่ว่า "ห่วงคนอื่น" หลวงปู่แหวนคงจะหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่าทุกส่วนภูมิภาคของประเทศไทย  ซึ่งแน่นอนว่าพรหมวิหาร ๔ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อปวงชนชาวไทย คือ "เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา"  พระองค์ทรงเมตตาให้ความรัก ความปรารถดีต่อคนไทยทุกคน พระองค์ท่านไม่นิ่งดูดายมีความกรุณาต่อพสกนิกรของพระองค์ทุกคน

ดังนั้น สิ่งที่หลวงปู่แหวนได้กราบบังคมทูลต่อในหลวงนั้น ทำให้เราคนไทยน่าจะซาบซึ้งถึงคติธรรมคำสอนในพระพุทธองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่องของการที่มี "พรหมวิหาร" ซึ่งหากว่าคนไทยทุกคนมีเมตตา กรุณา ต่อกันและกันในเริ่มต้นแล้ว ย่อมจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดความรักความสามัคคีมีไมตรีต่อกันสร้างสรรค์ความปรารถดีช่วยเหลือกันแบ่งปันความสุขความทุกข์ระหว่างคนในชาติ  โดยหากว่าทำได้อย่างนั้นแล้ว เราคนไทยย่อมจะถือว่าเราทุกคนได้ทำเพื่อในหลวงที่ "พระองค์นั้นห่วงมัวแต่ห่วงคนอื่น ไม่ห่วงพระองค์เองเลย" ดั่งที่หลวงปู่แหวนได้เคยกราบบังคมทูลข้างต้น 

ทั้งนี้ ท่านผู้อ่านสามารถอ่านหนังสือเกี่ยวกับ หลวงปู่แหวน โดย Download ได้จาก Link ต่อไปนี้

และ "เสียงหลวงปู่แหวน"  ตาม Link ต่อไปนี้

https://www.youtube.com/watch?v=RVkxkzhO9iM

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดเมตตากรุณาช่วยพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาดังต่อไปนี้

หลวงปู่แหวนบอกว่า  พระราชาห่วงคนไทย
พระองค์เปี่ยมพระทัย  ขอคนไทยให้จดจำ

พรหมวิหารทั้งสี่  เป็นสิ่งดีที่ควรทำ
สั่งจิตเป็นประจำ  เป็นเรื่องธรรมนำจิตตื่น

รักพระเจ้าอยู่หัวฯ  พระองค์มัวห่วงคนอื่น
ชาวไทยชูชมชื่น  ทรงยั่งยืนพระเจริญ

โชคดีของคนไทย  เทิดเหนือไหว้อย่าหมางเมิน
ขอทรงพระเจริญ  ทรงเพลิดเพลินสุขสำราญ

เมตตาให้ความรัก  ต้องรู้จักมิตรประสาน
กรุณาจิตสงสาร  ตลอดกาลนานเข้าไว้

ยินดีมุทิตา  สิ่งมีค่าต่อจิตใจ
อุเบกขาวางใจ  นิ่งเฉยไว้ใจเป็นกลาง

เมื่อมีพรหมวิหาร  ธรรมประสานเป็นแบบอย่าง
ธรรมะคือหนทาง  เพื่อก่อร่างสร้างความดี

เมตตาต่อทุกคน  สุขกมลบุญมากมี
สงสารทุกชีวี  ทุกข์ไม่มีดีแน่นอน

ยินดีกับคนอื่น  จิตระรื่นอย่างถาวร
อิจฉาตัดไปก่อน  อย่าตัดรอนใจวางเฉย

วางเฉยสิ่งทำยาก  ต้องสามารถอย่าละเลย
ปล่อยวางมากกว่าเคย  นิพพานเลยในทันที

เป็นคนทดลองทำ  จิตน้อมนำธรรมให้ดี
พรหมวิหารทั้งสี่  นำชีวีมีสุขเอย

ปภาวีร์ 
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กับ สมเด็จพระสังฆราชฯ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กับ สมเด็จพระสังฆราชฯ"  ทั้งนี้ ในระหว่างวันจันทร์ที่ ๖ ถึง วันจันทร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑ สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งทรงออกผนวชเป็นพระภิกษุ (ที่มาอ้างอิง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ทรงออกผนวชเป็นพระภิกษุ)


(ที่มาของภาพ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=47286)

ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชฯ ขณะนั้นทรงทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ถวายการอบรมพระธรรมวินัยในพระภิกษุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร 

ดังนั้น วันนี้วันที่ ๒๘ กรกฎาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ "ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ" ยิ่งยืนนาน

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดเมตตากรุณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาดังต่อไปนี้ 

พระธรรมวินัย  ต้องใส่ใจให้ศึกษา
พุทธศาสนา  บรรพชาสามเณร

เติบใหญ่บวชเป็นพระ มุ่งมานะธรรมให้เห็น
อุปสมบทแล้วเย็น  ไม่ยากเย็นเห็นในธรรม

อ่านพระธรรมวินัย  ท่องขึ้นใจเป็นประจำ
คิดนึกจิตน้อมนำ  มองเห็นธรรมในทันที

พระธรรมคือคำสอน  อย่าตัดรอนในฤดี
หมั่นธรรมให้มากมี  นำชีวีมีสุขใจ

วินัยต้องเคร่งครัด  จิตคอยมัดธรรมเข้าไว้
ธรรมะอยู่กับใจ  สุขฤทัยใจเบิกบาน

ศึกษาให้ท่องแท้  มั่นคงแน่จิตประสาน
มีธรรมในทุกงาน  สู่นิพพานได้แน่นอน

พระธรรมวินัย  รักษาไว้ในทุกตอน
ทุกคนสนคำสอน  ย่อมได้พรก่อนจากลา

พบธรรมนำดวงจิต  ย่อมได้สิทธิ์บุญนำพา
เกิดดับทุกเวลา  ไม่กลับมาอีกแน่เอย

ปภาวีร์ 
๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "พระราชปุจฉาธรรมในหลวง กับ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "พระราชปุจฉาธรรมในหลวง กับ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล" พุทธศาสนิกชนคนไทยหลายท่านคงจะได้เคยมีโอกาสไปกราบสักการะท่านหลวงปู่ดุลย์  และยิ่งทุกท่านได้เห็นภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  กับ หลวงปู่ดุลย์  แล้วเชื่อว่าหลายๆ ท่านคงจะต้องรีบอ่านคติธรรมคำสอนของหลวงปู่ดุลย์กันอย่างแน่นอน


(ที่มาของ รูปภาพ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=19640)

ณ วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์   

พระราชปุจฉา : หลวงปู่ การละกิเลสนั้น ควรละกิเลสอะไรก่อน   

หลวงปู่ดูลย์ : กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิตอันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน   

พระราชปุจฉา : ขออาราธนาหลวงปู่ให้ดำรงขันธ์อยู่เกินร้อยปี เพื่อเป็นที่เคารพนับถือของปวงชน หลวงปู่รับได้ไหม   


หลวงปู่ดูลย์ : อาตมภาพรับไม่ได้หรอก แล้วแต่สังขารเขาจะเป็นไปของเขาเอง
(ที่มา http://www.watkhaophrakru.com/webboard/index.php?topic=415.0)

หากทุกท่านสนใจหนังสือธรรมะที่เกี่ยวกับหลวงปู่ดุลย์ อตุโล สามารถ Download ได้จาก Link ต่อไปนี้ (อ่านแล้ว แบ่งปันต่อก่อบุญให้ตัวเรา) 


(เมื่ออ่านแล้วลองทำนำไปปฏิบัติจริงยิ่งจะเกิดผลดีในที่สุด)

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุณาตกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดเมตตากรุณาชี้แนะเพื่อการปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปดังต่อไปนี้

เมื่อใจละกิเลส  ย่อมวิเศษขึ้นทันใด
ละกิเลสอะไร  เพ่งมองใจให้ดีดี

กิเลสรวมที่จิต  หากนึกคิดเห็นทันที
สิ่งแรกละทันที  เกิดผลดีมีตามมา

กิเลสโลภโกรธหลง  หากดำรงคงไร้ค่า
ตัดสิ้นลงทุกครา  สุขอุราพาชื่นบาน

สังขารธรรมชาติ  ไม่สามารถตลอดกาล
จิตใจที่เบิกบาน  ละสังขารกิเลสลง

กิเลสหากมีมาก ย่อมทุกข์ยากอย่างมั่นคง
ละได้ไม่ประสงค์  ธรรมดำรงมาสู่ใจ

สังขารไม่แน่นอน อยากได้พรธรรมเข้าไว้
สักวันคงต้องไป  ไม่ว่าใครหนีไม่พ้น

กิเลสฆ่าอย่างไร  ต้องถามใจของทุกคน
ธรรมะคงต้องสน  ให้มากล้นยิ่งจะดี

กิเลสมีทุกวัน   ละได้พลันสุขฤดี
ตัดลงสิ้นยิ่งดี  ย่อมไปดีมีสุขเอย

ปภาวีร์ 
๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘

วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อเกษม เขมโก ที่มีต่อในหลวง"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อเกษม เขมโก ที่มีต่อในหลวง" พุทธศาสนิกชนคนไทยหลายท่านที่เคยเห็นภาพต่อไปนี้คงจะรู้สึกมีความสุขอย่างยิ่ง ที่ครั้งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ กราบสักการะหลวงพ่อเกษม ซึ่งแน่นอนว่า คำสอนคติธรรมของท่านหลวงพ่อเกษม นั้น คนไทยต้องรู้จักดีเช่นกัน  และขอเชิญทุกท่านได้ลองอ่านตามข้างล่างนี้ 
(ที่มาของภาพ http://www.oknation.net/blog/chaichana/2010/05/28/entry-1)

ณ วัดคะตึกเชียงมั่น อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 

พระราชปุจฉา : หลวงพ่อประจำอยู่ที่วัดนี้หรือ 

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาตมาประจำอยู่ที่สุสานไตรลักษณ์ 

พระราชปุจฉา : อยากไปหาหลวงพ่อเหมือนกัน แต่หาเวลาไม่ค่อยได้ ได้ทราบว่าเข้าพบหลวงพ่อยาก 

หลวงพ่อเกษม : พระราชาเสด็จไปป่าช้าเป็นการไม่สะดวก เพราะสถานที่ไม่เรียบร้อย อาตมาภาพจึงมารอเสด็จที่นี่ ขอถวายพระพร มหาบพิตรสบายดีหรือ 

พระราชปุจฉา : สบายดี 

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพรมหาบพิตรพระชนมายุเท่าไร 

พระราชปุจฉา : ได้ ๕๐ ปี 

หลวงพ่อเกษม : อาตมาภาพได้ ๖๗ ปี 

พระราชปุจฉา : หลวงพ่ออยู่ตามป่ามีความสงบ ย่อมจะมีโอกาสปฏิบัติธรรม ได้มากกว่าพระที่วัดในเมือง ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับการปกครองและงานอื่นๆ จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า 

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เพราะอยู่ป่าไม่มีภารกิจอย่างอื่น แต่ก็ขึ้นอยู่กับศีลบริสุทธิ์ด้วย เพราะเมื่อศีลบริสุทธิ์จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน นิวรณ์ไม่ครอบงำก็ปฏิบัติได้ 

พระราชปุจฉา : การปฏิบัติอย่างพระมีเวลามากย่อมจะได้ผลเร็ว ส่วนผู้ที่มีเวลาน้อยมีภารกิจมาก จะปฏิบัติอย่างหลวงพ่อก็ไม่อาจทำได้ แล้วจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร เราจะหั่นแลกช่วงเวลาช่วงเช้าให้สั้นเข้าจะได้ไหม คือ ซอยเวลาออกจาก หนึ่งชั่วโมงเป็นครึ่งชั่วโมง จากครึ่งชั่วโมงเป็นสิบนาที หรือห้านาที แต่ให้ได้ผล คือ ได้รับความสุขเท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น นั่งรถยนต์จากเชียงใหม่มาลำปางก็สามารถปฏิบัติได้ หรือระหว่างที่มาอยู่ในพิธีนี้มีช่วงที่ว่างอยู่ ก็ปฏิบัติเป็นระยะไป อย่างนี้จะถูกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ อยากจะเรียนถาม 

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร จะปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้ ถ้าแบ่งเวลาได้ 

พระราชปุจฉา : ไม่ถึงแบ่งเวลาต่างหากออกมาทีเดียว ก็อาศัยเวลาขณะที่ออกมาทำงานอย่างอื่นอยู่นั้นแหละ ได้หรือไม่ คือ ใช้สติอยู่ทุกขณะจิตที่เกิดดับ ทำงานด้วยความรอบคอบให้สติตั้งอยู่ตลอดเวลา 

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มหาบพิตรทรงปฏิบัติอย่างนั้นถูกแล้ว การที่มหาบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติงานอย่างนี้ ก็เรียกว่าได้ทรงเจริญเมตตาในพรหมวิหารอยู่ 

พระราชปุจฉา : ก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น เช่นว่ามาตัดลูกนิมิตนี้ ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ด้วยขี้เกียจมาจึงมีกำลังใจมา และเมื่อได้โอกาสได้เรียนถามพระสงฆ์ว่า การปฏิบัติธรรมเป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นตอนๆ อย่างนี้จะได้ผลไหม อุปมาเหมือนช่างทาสีผนังโบสถ์ เขาทาทางนี้ดีแล้วพัก ทาทางโน้นดีแล้วพัก ทำอยู่อย่างนี้ก็เสร็จได้ แต่ต้องใช้เวลาหน่อย จึงอยากเรียนถามว่าปฏิบัติอย่างนี้ จะมีผลสำเร็จไหม 

หลวงพ่อเกษม : ปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้โดยอาศัยหลัก ๓ อย่าง คือ มีศีลบริสุทธิ์ ทำบุญในชาติปางก่อนไว้มาก มีบาปน้อย ขอถวายพระพร 
(ที่มาอ้างอิง http://www.watkhaophrakru.com/webboard/index.php?topic=415.0)

ถามตอบธรรมะระหว่างในหลวงและหลวงพ่อเกษมข้างต้น นั้น นับว่าทรงคุณค่าอย่างยิ่ง เป็นคคิธรรมคำสอนที่เราทุกคนสามารถน้อมธรรมนำไปปฏิบัติ แล้วเชื่อว่าจะต้องเกิดผลดีต่อตัวเราอย่างแน่นอน 

และภาพต่อไปนี้ เป็นลายมือของท่านหลวงพ่อเกษม 

(ที่มาของภาพ http://www.kammatan.com/ariya/nirvanadham.php)

(พระนิพพาน)
ความรู้พิเศษ
พระนิพพานเปรียบเหมือนคุณของอากาศ อธิบายว่า อากาศมีคุณอยู่ ๑๐ ประการ คือ ......  
๑. ไม่รู้จักเกิด 
๒. ไม่รู้จักแก่ 
๓. ไม่รู้จักตาย 
๔. ไม่จุติ 
๕. ไม่กลับเกิดอีก 
๖. เป็นของดำรงค์สภาพไว้ได้โดยไม่ต้องอาศรัยอะไร 
๗. สำหรับฝูงนกบินไปมา 
๘. ใครจะข่มเหง ลอบลักเอาไปไม่ได้ 
๙. ไม่รู้มีอะไรมากางกั้น และที่สุด
๑๐. ไม่ปรากฏ...... 
ท่องไปสอบวันว่าง 
(สวัสดี) 

นอกจากนั้น ทั้งนี้ หลวงตาม้า ได้เล่าเรื่อง "หลวงปู่ดู่ กับ หลวงพ่อเกษม" (ที่มา Facebook : หลวงปู่ดู่ กับ หลวงพ่อเกษม)  และ อ่านเพิ่มเติม  ความเกี่ยวข้องในหลวงปู่ดู่และหลวงพ่อเกษม เขมโก (ได้ที่ http://buddhapoom.com/index.php?topic=153.0)

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดเมตตาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาดังต่อไปนี้


หากไม่รู้จักเกิด ย่อมประเสริฐยิ่งนักหนา
ไม่แก่ตามเวลา  เป็นบุญญาที่ยากยิ่ง

เมื่อไม่รู้จักตาย  ไม่เสียดายในทุกสิ่ง
ความสุขที่แท้จริง  สงบนิ่งยิ่งได้บุญ

ไม่กลับมาเกิดอีก  ต้องเร่งรีบธรรมเป็นทุน
ทำดีและเกื้อกูล  เกิดเป็นคุณหนุนต่อไป

ฝูงนกบินไปมา  บินค้นหาสุขเรื่อยไป
ทุกสิ่งสิ้นสุดได้  อยู่ที่ใจให้รู้ดี

เหมือนคุณของอากาศ  ที่สามารถต่อชีวี
หายใจทุกนาที  เข้าออกดีมีสุขเย็น

นิพพานอยู่ที่ไหน  ธรรมเข้าใจไม่ยากเย็น
หมั่นธรรมทุกเช้าเย็น  จิตบำเพ็ญเห็นแน่นอน

ทุกอย่างอยู่ที่เรา  ทุกค่ำเช้าอย่าตัดรอน
ธรรมะต้องเริ่มก่อน  มีทุกตอนสอนในใจ

ทุกคนสนทำดี  นำชีวีพ้นทุกข์ภัย
นิพพานได้หรือไม่  อยู่ที่ใจของเราเอย

ปภาวีร์ 
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ชื่นชม สมเด็จพระสังฆราชฯ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ชื่นชม สมเด็จพระสังฆราชฯ" คนไทยพุทธศาสนิกชนหลายท่านต้องรู้จักท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำเป็นอย่างดี ซึ่งหลวงพ่อฤาษีลิงดำได้ชื่นชมสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ตามข้อมูลข้างล่างต่อไปนี้ 

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเข้าถวายสักการะแด่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) ณ วัดสามพระยา วรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง  ร่วมกันถวายการต้อนรับ  (ที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=45033)  ทังนี้ ในภาพท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำยืนร่วมถวายการต้อนรับในวันดังกล่าว

ทั้งนี้ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ได้ชื่นชม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ความตอนหนึ่งที่ว่า 
"....แต่ที่่เพิ่มความเคารพบูชาสมเด็จพระสังฆราชมากขึ้น เพราะท่านไม่มีมานะ คำว่า มานะ แปลว่า การถือตัวถือตน หรือถือยศถือศักดิ์ โดยคิดว่าเวลานี้ฉันเป็นสังฆราช ใครจะโตกว่าฉันไม่ได้ ฉันต้องโตกว่าทุกคนที่เป็นพระสงฆ์ การตัดมานะตัวนี้ เป็นเรื่องที่่ผู้เขียนบูชาน้ำใจอย่างยิ่ง และบูชาทุกคนที่ตัดได้ ไม่ใช่เฉพาะสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น วันนั้นถือว่าเฮงที่สุด ท่านที่ตัดมานะ หมดการถือตัวถือตน ตามภาษาพระที่่เรียกว่า สังโยชน์ ท่านถือว่ามีความดีสูง ควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง ใครบูชา คนนั้นเป็นคนมีอุดมมงคล คือมงคลสูงสุด (หรือเฮงที่สุด)..." (ที่มาอ้างอิง ธัมมวิโมกข์ เมษายน ๒๕๓๓ โดย หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ

ผู้เขียนเองต้องขอยอมรับว่าวันนี้พึงจะรู้ความหมายของคำว่า "มานะ" อีกแง่มุมหนึ่ง ตามที่ท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำได้เมตตาไว้ข้างต้นว่า "มานะ คือ การถือตัวถือตน หรือถือยศถือศักดิ์"  ดังนั้น คนเราทุกคนหากว่าไม่มีมานะแล้วย่อมจะดีอย่างที่ท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำได้ชื่นชมสมเด็จพระสังฆราชฯ ตามข้างต้น

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้มีเมตตากรุณาพิจารณาชี้แนะเพื่อการปรับปรุงพัฒนาต่อไปให้ดียิ่งขึ้นดังนี้ 

เข้าใจไม่มานะ  ต้องลดละในตัวตน
การถือตัวถือตน  เมื่อเป็นคนอาจไม่ดี

ถือยศหรือถือศักดิ์  ยิ่งจะหนักในชีวี
ถือมากหนักทุกที  เพื่อนไม่มีหนีห่างไกล

ถือตัวถือตนมาก  เพื่อนหนีจากไม่มีใคร
หากทำอยู่เรื่อยไป  ทุกข์ฤทัยไร้เมตตา

ต้องตัดในสังโยชน์  เกิดประโยชน์มีคุณค่า
เป็นคนธรรมนำพา เพื่อนเข้ามาหาทุกวัน

ละได้ในตัวเรา  เรื่องมัวเมาไม่สร้างสรรค์
ธรรมะพร้อมจัดสรร  สุขนิรันดร์ปันแบ่งบุญ

คนเรายิ่งถือยศ  เดี๋ยวก็หมดและดับสูญ
ถือตนยิ่งอาดูร  ไม่มีบุญหนุนต่อไป

คนเราก็เท่านี้  คิดทำดีมีภพใหม่
เกิดดับลาลับไป  กลับมาใหม่ย้อนเวียนวน

หากตัดภพชาติเกิด  จะประเสริฐยิ่งหนอคน
ขอเพียงอย่าถือตน  สุขกมลแน่นอนเอย

ปภาวีร์ 
๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "สมเด็จพระสังฆราช ฯ กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ : ความอ่อนน้อมถ่อมตน"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "สมเด็จพระสังฆราช ฯ กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ : ความอ่อนน้อมถ่อมตน" เชื่อว่าพุทธศาสนิกชนคนไทยจะต้องเคยเป็นรูปภาพอันประทับในระหว่างสมเด็จพระสังฆราช ฯ กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ ดั่งรูปภาพต่อไปนี้

(ที่มาของภาพ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=45048)

ท่านพุทธทาสทูลว่า “ขอประทานกราบสมเด็จพระสังฆราชหน่อยที่อุตส่าห์เสด็จมาเยี่ยมถึงวัด” เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงพยายามห้าม ท่านก็ไม่ยอม แล้วต่างคนก็ต่างกราบ พอท่านพุทธทาสกราบ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็บอกไม่ได้ๆ ต้องกราบกลับ (ที่มา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และพระธรรมโกศาจารย์ (ท่านพุทธทาสภิกขุ) สวนโมกขพลาราม)

(ที่มาของภาพ http://www.naewna.com/local/74325)

(ที่มาของภาพ http://sangharaja.org/instanyana.pdf)

"เมื่อผู้อื่นปรารถนาจะให้ผู้อื่นเป็นกัลยาณมิตร ของตน ก็ควรทำตนให้เป็นกัลยาณมิตรของเขาด้วย"

โดยที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก  ได้พระนิพนธ์คาถาสดุดีท่านพุทธทาสภิกขุในวโรกาสเฉลิมฉลองชาตกาลครบ ๑๐๐  ปี ดังนี้

**********************************************


จะเห็นว่าทั้งเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ และ ท่านพุทธทาสภิกขุต่างเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน มี "ความอ่อนน้อมถ่อมตน"  ซึ่งเป็นธรรมะอย่างดียิ่งที่พุทธศาสนิกชนคนไทยควรจะต้องเอาเป็นแบบอย่างและทำตามให้ได้  ดังนั้น เมื่อเราคนไทยทุกคนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ย่อมจะเป็นกัลยาณมิตรกันในที่สุดอย่างแน่นอน  ซึ่งผู้เขียนคิดว่าการที่เราจะมีความอ่อนน้อมถ่อมตนได้นั้น เบื้องต้นเราจะต้องไม่มีกิเลส คือ "ไม่หลงตนเอง"  (กิเลส ๓ ประการ : โลภ โกรธ หลง) นอกจากนั้นเราเองคงจะต้องมีข้อแรกของพรหมวิหาร ๔ คือ "เมตตา" แล้วในที่สุด "ความอ่อนน้อมถ่อมตน" จะมาสู่ทุกคนทุกท่านในที่สุด

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดเมตตากรุณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นดังต่อไปนี้ 

ชีวิตเมื่อเริ่มต้น เกิดเป็นคนสนเรื่องดี
กิเลสไม่มากมี  ย่อมจะดีมีต่อตน

กัลยาณมิตร ผูกดวงจิตธรรมมากล้น
ความอ่อนน้อมถ่อมตน  ทำให้คนเมตตากัน

ต้องไม่หลงตนเอง  ไม่อวดเบ่งแข่งขันกัน
มีธรรมแบ่งปันกัน  ย่อมสร้างสรรค์ในเรื่องดี

ทำตนให้เป็นมิตร  กัลยาณมิตรคิดแต่ดี
ธรรมะมีทันที  นำชีวีมิตรมั่งคง

มิตรแท้ต้องมีธรรม  จิตน้อมนำธรรมดำรง
เพื่อนธรรมอย่างยืนยง  จิตซื่อตรงคงต่อไป

อ่อนน้อมถ่อมตนจริง เมตตายิ่งธรรมยิ่งใหญ่
รักกันตลอดไป  เกิดภพใหม่ใจสุขเอย

ปภาวีร์ 
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "สมเด็จพระสังฆราชฯ กับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "สมเด็จพระสังฆราชฯ กับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร"  พระอริยสงฆ์หลวงปู๋ฝั้น อาจาโร นั้น พุทธศาสนิกชนคนไทยคงจะทราบกันเป็นอย่างดี  ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชฯ และ หลวงปู่ฝั้น ต่างเป็นกัลยาณมิตรในธรรมเป็นอย่างดียิ่ง ดั่งภาพต่อไปนี้ 


(ที่มาของภาพ http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=43558

และที่สำคัญคือ เสียงธรรมของท่านหลวงปู่ฝั้น อาจาโร อยากจะเชิญชวนพุทธศาสนิกชนคนไทยทุกท่าน ลองฟังจาก YouTube ต่อไปนี้ (นาทีที่ ๒.๔๒) 


“... ความชั่วทั้งหลายอยู่ที่ไหนหรือเนี้ย สุขทุกข์มันอยู่ที่ไหนเดี๋ยวนี้  ให้พากันพึงรู้พึงเข้าใจ...” 

เสียงธรรมคำสอนของท่านหลวงปู่ฝั้นข้างต้น เมื่อทุกท่านได้ฟังจาก YouTube (หลายรอบๆ)  คงจะต้องถามตัวเองว่า แล้ว "ความชั่ว ความสุข ความทุกข์ อยู่ที่ไหนกัน"  ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกท่านจะต้องหาคำตอบด้วยตัวของท่านเอง 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้เพื่อให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดกรุณาเมตตาพิจารณาชี้แนะแนะนำสำหรับการปรับปรุงพัฒนาต่อไปดังนี้ 

ความชั่วอยู่ที่ไหน  ต้องถามใจให้รู้ดี
สุขทุกข์เกิดทันที  สุขฤดีมีโศกศัลย์

ทุกอย่างมีสองอย่าง  หาหนทางเจอแล้วกัน
สุขทุกข์เกิดทุกวัน  ธรรมสร้างสรรค์สิ่งที่ดี

ทุกข์สุขเกิดที่ใจ  จิตเป็นใหญ่เรารู้ดี
ธรรมะเป็นสิ่งดี  ยิ่งมากมีดีแน่นอน

พึงรู้พึงเข้าใจ  มากเข้าไว้อย่าตัดรอน
สุขทุกข์มีมาก่อน  นั่งยืนนอนทุกตอนมี

เมื่อทราบถึงที่มา  ธรรมเข้าหามาทันที
ทุกข์ดับสิ้นกันที  นำชีวีดีต่อไป

เมื่อเราปัจจัตตัง  ธรรมะตั้งไว้ในใจ
เกิดดับสู่ภพใหม่  สุขยิ่งใหญ่มากกว่าเดิม

หลวงปู่ฝั้นท่านสอน ดั่งได้พรธรรมมากเพิ่ม
เข้าใจจิตต้องเริ่ม  ธรรมะเติมเสริมสู่ใจ

ก้มกราบน้อมวันทา  ธรรมมีค่าอันยิ่งใหญ่
จิตเราน้อมเข้าใจ  พร้อมจากไปใจสุขเอย

ปภาวีร์ 
๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "สมเด็จพระสังฆราชฯ กับ หลวงปู่ชา"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "สมเด็จพระสังฆราชฯ กับ หลวงปู่ชา" กัลยาณมิตรจิตธรรมของสมเด็จพระสังฆราช ฯ และ หลวงปู่ชา นั้น เราพุทธศาสนิกชนคนไทยคงจะทราบกันเป็นอย่างดียิ่งว่าเป็นอย่างไร ซึ่งรูปภาพต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันในเรื่องของ "กัลยาณมิตรจิตธรรม"








ส่วนรูปภาพต่อไปนี้ นับว่าเป็นบุญของร้านบะหมี่อุบล  ที่ได้มีโอกาสได้ทำบุญตักบาตร (แต่ไม่แน่ใจว่าร้านดังกล่าวในปัจจุบันยังคงอยู่หรือไม่อย่างไร และอยู่ถนนเส้นไหน คงเป็นหน้าที่ของคนอุบลฯ ได้ค้นหาต่อไป) 




คติธรรมคำสอนของสมเด็จพระสังฆราชฯ และ หลวงปู่ชา ที่เหมือนกันสิ่งหนึ่งคือ เรื่องของ "เมตตา"

โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  "การไม่เมตตาผู้อื่น เป็นการไม่เมตตาตนด้วย"

ศีลเกิดแต่เมตตา เมตตาเกิดกับศีล ทั้งสองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ศีลของผู้ใดบกพร่อง เมตตาของผู้นั้นก็บกพร่องด้วย บกพร่องทั้งเมตตาตนเอง และบกพร่องทั้งเมตตาผู้อื่น อันเมตตาตนเองกับเมตตาผู้อื่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้

การไม่เมตตาผู้อื่นก็เป็นการไม่เมตตาตนไปพร้อมกัน พึงคิดถึงสัจจะประการหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ คือ “ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว ผู้ใดทำกรรมใดไว้ จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น”

เมื่อเบียดเบียนเขา เราเองนั่นก็จะต้องได้รับผลนั้น เมื่อไม่เมตตาเขา เราเองนั่นก็จะต้องได้รับผลนั้น

“เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก” มีพระพุทธศาสนสุภาษิตแสดงไว้เช่นนี้ เมื่อเมตตาเป็นเหตุให้มีศีล ศีลเกิดแต่เมตตา เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก ก็คือศีลเป็นเครื่องค้ำจุนโลกเข่นกัน

โลกมิได้หมายถึงเพียงดาวดวงหนึ่งดังเป็นที่เข้าใจกันอยู่ แต่โลกหมายถึงตนเอง หมายถึงเขาอื่นทั้งหลายทั้งปวง ผู้มีเมตตา หรือผู้มีศีลจึงเป็นผู้ค้ำจุนตนเอง และค้ำจุนผู้อื่นทั้งหลาย
(ที่มาอ้างอิง http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6952)



และเช่นกัน หลวงปู่ชา ได้กล่าวไว้ว่า "ให้เมตตาตัวเองซะก่อน" รับฟังจาก YouTube หลวงปู่ชา ให้เมตตาตัวเองซะก่อน
ให้เมตตาตัวเองซะก่อนให้ใจเมตตา

หรือ อาจจะอ่านเพิ่มเติม "ยอดคำสอนพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)"

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกลอน ๘  ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดเมตตากรุณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงดังต่อไปนี้

อันกัลยาณมิตรจิตธรรม 
จิตน้อมนำทำดีมีบุญมาก
มีเมตตาหาธรรมทำไม่ยาก  
ยิ่งมีมากสามารถดีต่อกัน

กราบสมเด็จพระสังฆราช  
เหล่าทวยราษฏร์วันทาพาสุขสันต์
หลวงปู่ชาวัดป่าพาคู่กัน  
ธรรมสร้างสรรค์ปันแบ่งแหล่งความดี

ใจเมตตาค่ายิ่งจริงอย่างเห็น  
เมตตาเป็นเย็นใจในชีวี
เมตตาตนคนอื่นยิ่งจะดี  
ส่งผลดีมีค่าพาสุขใจ

เมตตาธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลก  
ขจัดโศกทุกสิ่งจริงยิ่งใหญ่
เมตตานำทำดีมีที่ใจ  
ไม่ว่าใครใจดีมีเมตตา

ตั้งใจให้เมตตาตัวเองก่อน  
อย่าตัดรอนถอนใจไม่นำพา
พรหมวิหารสานใจให้เมตตา  
เกิดคุณค่าสู่ธรรมนำสุขเอย

ปภาวีร์ 
๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๘
FB : ธรรมะเพื่อชีวิต โดย ปภาวีร์

กาพย์ยานี ๑๑ 
ให้เมตตาตัวเองซะก่อน
ให้ใจเมตตา
==================
ให้เมตตาตัวเอง โดยต้องเร่งในเร็วพลัน
เมตตาในทุกวัน จะสุขสันต์ต่อตัวเรา

ให้ใจมีเมตตา จะนำพาไม่ให้เศร้า
เมตตาต่อผู้เยาว์ และผู้เฒ่าให้ทุกคน

ข้อแรกพรหมวิหาร จะประสานสุขกมล
เมตตาเพื่อมวลชน ความสุขล้นพ้นทุกข์ภัย

เมตตาได้ไม่ยาก มียิ่งมากจะสุขใจ
เมตตานั้นยิ่งใหญ่ ไม่ว่าใครควรต้องมี

เมตตาเริ่มที่จิต พร้อมนึกคิดในเรื่องดี
เมตตายิ่งมากมี นำชีวีมิตรมากมาย

เมตตาต่อสัตว์โลก สร้างประโยชน์บุญเหลือหลาย
เมตตาไม่ต้องอาย ยังไม่สายเมตตาเอย

 

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่ดู่ สอนให้เขียนตัว พ."

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่ดู่ สอนให้เขียนตัว พ." พุทธศาสนิกชนคนไทยหลายท่านคงจะรู้จักหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ กันเป็นอย่างดี ซึ่งท่านหลวงปู่ดู่ได้มีเมตตาคติธรรมคำสอนสั้นๆ ที่ได้ใจความ ซึ่งหากว่าเราเข้าใจแล้ว และเราทุกคนได้น้อมนำลองไปปฏิบัติกันแล้ว เชื่อว่าจะเกิดผลดีอย่างแน่นอน


“ถ้าแกเขียนตัว พ พาน ได้เมื่อไร
นั่นแหละจึงจะดี...
ก็ตัวพอน่ะซี...”

คติธรรมคำสอนของท่านหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ข้างต้นเกี่ยวกับเรื่อง "พ.พาน" ซึ่ง พ.พาน เป็นพยัญชนะไทยลำดับที่ ๓๐  และคนไทยทุกท่านจะต้องเขียน พ.พาน กันได้ทุกท่านอย่างแน่นอน สำหรับผู้เขียนถือว่า พ.พาน ลำดับที่ ๓๐ เป็นเลขมงคลอย่างยิ่ง เพราะ ๓+๐ เท่ากับ ๓  สาม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ (ลองอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของ เลข ๓ และ ๓ อรหันต์ ณ หนองขอน) เอาเป็นว่า พอ ดีกว่า แล้วจะดีดั่งตามที่หลวงปู่ดู่ได้เมตตาไว้

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดเมตตาพิจารณาแนะนำเพิ่มเติมเพื่อการปรับปรุงต่อไปดังนี้ 

ถ้าเขียนตัว พ.พาน  จิตประสานให้พอดี
พอแล้วนั้นแหละดี  ยิ่งพอดีมีธรรมเพิ่ม

พอได้ในทุกสิ่ง  เห็นความจริงจิตริเริ่ม
พอแล้วไม่ต้องเติม  ไม่ต้องเสริมเพิ่มรกใจ

พอนั้นคำสั้นๆ  พอเริ่มกันในทันใด
พอแล้วสุขฤทัย  พอหรือไม่ถามใจตน

พ.พาน ไว้วางตั้ง พอหรือยังกันหนอคน
พอแล้วจิตอดทน  อย่าไปสนอีกต่อไป

พ.พาน เป็นพอเพียง จิตอย่าเลี่ยงพอให้ได้
พอนั้นเริ่มจากใจ  พอลงได้ใจสุขเย็น

พอแล้วคือสิ้นสุด  จิตสั่งหยุดไม่ยากเย็น
ธรรมะจิตบำเพ็ญ  แล้วจะเห็นตัว พ. เอย

ปภาวีร์ 
๒๑​ กรกฎาคม ๒๕๕๘