Nuffnang Ads

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ปิดทองหลังพระ

ผู้เขียนได้อ่านบทสัมภาษณ์ของพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร กับ "ธรรมะของพระเจ้าอยู่หัว" ในหนังสือสกุลไทย มีความตอนหนึ่งที่น่าประทับมากๆ   


"... พอเดือนเมษายน ปี ๒๕๑๗​  ก็เป็นปีที่ต้องเฝ้าฯ กันใหม่เพราะท่านเสด็จฯ ไปประทับหัวหินทุกเดือนเมษายน  ผมก็มีบุญอีก ได้รับพระมหากรุณาฯ ให้เข้าไปรับพระราชทานเลี้ยง แต่คราวนี้มีบุญหนักเข้าไปอีกตรงที่ได้นั่งโต๊ะเสวยด้วย และอยู่ข้างพระเจ้าอยู่หัวด้วย พอรับประทานอาหารจะเสร็จแล้ว ก่อนเสด็จขึ้น ผมกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต ท่านก็ถามว่าจะเอาอะไร ผมก็กราบทูลว่า  ขอพระบรมราชานุญาตปิดทองหน้าพระ   รับสั่งถามว่า ทำไม เกิดอะไรขึ้น ผมก็เล่าถวายละเอียดเลยว่า ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ผมระหกระเหินแค่ไหน เสี่ยงอันตรายแค่ไหน ไปปะทะต่อสู้ เครื่องบินถูกยิงจนเกือบจะตก  แต่พอสิ้นปีผมไม่ได้เงินเดือนขึ้นสักบาท เพราะผมมีเรื่องทะเลาะกับนาย ท่านก็ฟังจนจบ ก็รับสั่งว่า ปิดทองหลังพระต่อไป แล้วมันจะล้นออกมาข้างหน้าเอง ตั้งแต่นั้นมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ผมยึดหลักของพระเจ้าอยู่หัว คือ ผมทำให้มันดีที่สุด ใครจะชมก็ช่าง ใครจะด่าก็ช่าง ถ้าคุณดูให้ดีจะเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวเองท่านทรงปฏิบัติพระองค์อย่างนั้น ท่านทรงทำ ผมก็ทำตาม แล้วก็จริงอย่างที่ท่านรับสั่ง เวลานี้ทองยังล้นมาไม่หยุดเลย มันมาในรูปของลาภ ของยศ ของสรรเสริญ มาในรูปของความสุข..."


อ่านบทสัมภาษณ์ดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนคิดว่า ควรจะเผยแพร่ให้ทุกท่านได้รับทราบเพื่อเป็นข้อคิดในการปฏิบัติตนไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดๆ หน้าที่ใดๆ ก็ตาม


การปิดทองหลังพระ เป็นส่ิงที่บางท่่านอาจจะไม่ชอบ เพราะเป็นลักษณะการกระทำสิ่งใดแล้วไม่มีคนอื่นเห็นว่าเรากำลังทำอะไรให้กับหน่วยงานองค์กรที่เราทำงานอยู่ 


ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว บางคนอาจจะยังไม่เคยแม้จะคิดไปปิดทอง (ไม่ว่าจะหลังพระ หรือหน้าพระ) ความหมายก็คือ ไม่เคยคิดแม้กระทั่งจะกระทำความดี ประกอบความดีในการเรียน  การทำงาน หรือในการใดๆ    และประการสำคัญ คือ เวลาทำงาน โดยส่วนมาก ผู้คนที่ทำงานให้หน่วยงานองค์กรใดๆ ก็มักจะทำงานเพื่อให้เจ้านาย หรือ ผู้บังคับบัญชาให้ได้เห็นว่า เรานั้นเป็นผู้ทำ  ซึ่งบางครั้ง เขาเรียกว่า ทำงานเอาหน้าของตัวเอง      โดยปกติเรารู้กันว่า ใครก็ตามที่คิดทำงานเอาแต่หน้านั้น ไม่น่าจะคบหาสมาคมด้วย เพราะเป็นคนที่เอาความดีใส่ตัว เอาความชั่วให้กับคนอื่น


แต่อย่างไรก็ดี ในสังคมไทยถ้าหากเราได้ปฏิบัติตนให้เหมือนกับพลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งตามข้างต้น ที่ว่า " ปิดทองหลังพระต่อไป แล้วมันจะล้นออกมาข้างหน้าเอง " แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าสังคมของไทยเราคงจะมีแต่ความสุข เพราะสักวันเราจะมีทองที่ล้นออกมาข้างหน้าอย่างมากมาย


มีตัวอย่างที่ให้เห็นมากมายๆ แต่ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเป็นลักษณะการปิดทองหลังพระหรือไม่  คือว่า "...ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของดินแดนที่ไกลมากๆ งบประมาณก็มีจำนวนจำกัดค่อนข้างจะน้อย เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่ห่างไกลจากเมืองหลวง เงินสำหรับการจ้างดูแลภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อมก็ไม่คอยจะมี แต่มีพื้นที่ให้ดูแลมากมายเหลือเกิน  คนงาน (หรือที่เรียกว่าคนสวน) ก็ทำงานในหน้าที่อย่างไม่บกพร่อง เวลาทำงานเขาก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมาย ทำงานก็ตั้งแต่เช้าประมาณ ๘​ นาฬิกา ซึ่งทำงานดังกล่าวก็ร้อนมากๆ เพราะจะต้องเผชิญแดดที่แรงกล้าแผดเผาใบหน้าและร่างกาย  คนงานเหล่านี้จะต้องสวมหมวกบางครั้งก็ต้องสวมหมวกที่เรียกว่า หมวกไหมพรม (เพราะเขาต้องการที่จะปัองกันแสงแดดนั่นเอง) คนในมหาวิทยาลัยไม่เคยรู้เลยว่าเขามีหน้าตาอย่างไร เขาทำงานเหนื่อยหรือไม่ เขาได้รับค่าจ้างเพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ ทั้งที่ชีวิตอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยใช้ชีวิตอยู่ในห้องแอร์ทั้งการเรียน การสอน การทำงาน  แต่สิ่งที่ทุกคนต้องการ คือ ต้องการให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความสวยงาม มีภูมิทัศน์ที่น่าอยู่ แต่ทุกคนไม่เคยคิดเลยว่า จะทำมหาวิทยาลัย (บ้านของเรา) ให้น่าอยู่ได้อย่างไร มีแต่อ้างว่าไม่มีงบประมาณ ไม่มีคน ไม่มีสาระพัด แต่ไม่เคยคิดเลยว่า มีคนบางคนบางตำแหน่งที่จะต้องสู้แดดสู้ฝน เพื่อทำให้มหาวิทยาลัยน่าอยู่... เขาเหล่านั้นอยู่เบื้องหลัง เวลามีงานใหญ่ๆ เป็นหน้าเป็นตาของมหาวิทยาลัยพวกเขาไม่เคยได้มีส่วนร่วม..."


ที่จริงแล้วในองค์กรหนึ่งๆ นั้น อาจจะมีหลายๆงาน หลายๆ ฝ่าย หลายๆ คนที่ทำงานอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ พวกเขาเหล่านั้นไม่เคยมีโอกาสที่จะได้ ...​(เสนอหน้า) แต่ไม่ผู้เขียนคิดว่าไม่เป็นไรหรอกครับ เราทำงาน ปิดทองหลังพระต่อไป แล้วมันจะล้นออกมาข้างหน้าเอง  


และขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันปิดทอง...​ โดยปิดที่พระ และ ....​ปิดที่หลังขององค์พระต่อไป นะครับ


มนูญ​ ศรีวิรัตน์

ขอขอบพระคุณ ท่านที่กรุณาส่งบทสัมภาษณ์พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ให้ได้อ่านนับว่าเป็นการปิดทองหลังพระช่วยกันต่อไป

วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

น้ำท่วม น้ำตา และน้ำใจ

ช่วงเวลาการเปลี่ยนฤดูกาลระหว่างฤดูฝนและฤดูหนาว เรามักจะเห็นและประสบกับภัยตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำฝนที่บางปีก็แห้งแล้ง บางที่ก็มีปริมาณมากมายมหาศาล นั้นเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ไม่มีความแน่นอน แต่ถ้าหากเมื่อไรก็ตามที่สิ่งที่มาจากธรรมชาติมันมากมายเกินธรรมชาติของมัน เราก็มักจะประสบกับภัยของธรรมชาติดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่อง น้ำ ถ้าหากว่ามันมากมาย มันก็จะกลายเป็น น้ำท่วม ทำให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย ทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้เกิดน้ำตาของผู้ประสบภัย รอยน้ำตาดังกล่าวทำให้เราชาวไทยไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลล้วนก็ทุกข์ไปด้วย ที่เราได้เห็นความเดือนร้อนของเพื่อนชาวไทยด้วยกัน น้ำตา สำหรับความทุกข์เป็นที่สิ่งเราทุกคนไม่ต้องการ แต่บางครั้งความเดือดร้อนเกี่ยวกับน้ำท่วมดังกล่าว มันก็เกินไป ทำให้ผู้ประสบภัยต้องสิ้นเนื้อประดาตัว เป็นสิ่งที่เราทุกคนคนไทยที่ไม่ประสบด้วยตนเอง จะต้องหาหนทางเยี่ยวยาบริจาคสิ่งของ ข้าวของ เครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพ



แต่บางครั้ง น้ำตา ก็หลั่งออกมาอันเนื่องมาจากพระกรุณามหาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ​ สมเด็จพระราชินีฯ​ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โปรดกระหม่อม ฯ พระราชทาน สิ่งของเครื่องใช้ให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน ซึ่งน้ำตาดังกล่าวเป็นน้ำตา ที่แสดงถึงความตื้นตันใจอย่างหาที่สุดมิได้ที่ได้รับพระราชทาน น้ำตาดังกล่าวเป็นความรู้สึกที่ถึงแม้ว่าผู้ประสบภัยจะเดือดร้อนเพียงใด แต่เมื่อได้รับพระราชทานสิ่งของและเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินได้เสด็จมาเยี่ยมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน น้ำตาดังกล่าวก็เป็นน้ำตาที่แสดงถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เราชาวไทยต่างเทิดทูนไว้เหนือหัว



นอกจากเรื่อง น้ำท่วม น้ำตา ที่เราได้เห็นแล้ว เราชาวไทยยังเห็นความมี น้ำใจ ในการช่วยเหลือกันในยามที่คนไทยด้วยกันได้รับความเดือดร้อน น้ำใจ ดังกล่าวได้หลั่งออกมาจากทุกที่ทุกสถาน ทุกแห่งทุกหน คนที่ร่ำรวย คนที่มีฐานะดี ก็อาจจะช่วยเหลือมากหน่อย หน่วยงานใดที่มีปัจจัยพร้อม มีงบประมาณพร้อม ก็ต้องแสดงความมี น้ำใจ ต่อคนไทยด้วยกัน เราคนไทยถ้าหากไม่แสดงน้ำใจในเวลาที่คนไทยเดือดร้อนแล้ว เราคนไทยจะไปแสดงความมีน้ำใจตอนไหน น้ำใจ ถึงแม้ว่าบางท่านจะมีสักเล็กน้อยตาอัตภาพฐานะที่เป็นอยู่ อย่างน้อยก็ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า เราคนไทยไม่ทิ้งกัน เราคนไทย จะช่วยเหลือกัน ดังนั้น น้ำใจ เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมากที่ เราควรจะปลูกฝังใหเยาวชนลูกหลานของเราได้ตระหนักถึงเรื่อง การมีน้ำใจ ต่อไปในอนาคต มหาวิทยาลัยอาจจะรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อ เข้าเรียนต่อ โดยวัดจากความมีน้ำใจ หรือบางครั้งอาจจะเรียกว่า จิตสาธารณะ ซึ่งถ้าหากนักศึกษามีน้ำใจ ทั้งเวลาเรียน เวลาจบสำเร็จการศึกษาออกไปทำงาน ก็มีน้ำใจต่อสังคม ต่อประเทศชาติ เมื่อเป็นเช่นนั้น น้ำใจ จะทำให้นักศึกษาประสบความสำเร็จในทุกๆๆ ด้าน



ถึงแม้ว่า จะมีน้ำท่วม มีน้ำตา และถ้าหากเราคนไทยทุกคนมีน้ำใจ ผู้เขียนเชื่อว่า น้ำท่วมจะลดลงไปอย่างรวดเร็ว น้ำตาจากความเดือดร้อนก็จะจางหายไปโดยเร็วจากผู้ประสบภัย ดังนั้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เรามาช่วยกันให้มีน้ำใจ เพื่อทำให้น้ำท่วมและน้ำตา ลดลง กันเถอะครับ ผู้มีจิต มีน้ำใจ สามารถร่วมบริจาค น้ำ ข้าวสาร อาหารแห้งได้ที่ อาคารสำนักงานอธิการบดี (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานนี) ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (๒๖​ ตุลาคม ๒๕๕๓)



มนูญ​ ศรีวิรัตน์






วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

I my mine and me (มันเรื่องของฉัน ของเรา ของผม หรือของกู)

สืบเนื่องจากที่ได้อ่านหนังสือ เดินสู่อิสระภาพ (ดร.ประมวล เพ็งจันทร์) แล้วจึงเลือกวันที่ 23 ตุลาคม 2553 (เลขรวมกันเป็น 30 คือวันเกิด 03 เดือนเกิดขอบคุณมากครับ สำหรับวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ที่ทำให้ได้เข้าใจหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างในชีวิตมากยิ่งข้น ถึงแม้ว่ามันเป็นอะไรที่น้อยนิดที่เริ่มต้นในเรียนรู้  และเป็นวันเริ่มต้นที่อยากจะบอกตัวเองว่าอะไรที่ทำให้เป็นทุกข์... เราจะทำให้มันยุติ เราจะเดินหน้าต่อไปเพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ และหาความสุขที่ยั่งยืน ขอบพระคุณทุกท่านที่จะสนับสนุนการเดินทางในครั้งนี้


แต่กล่าวสำหรับวันนี้ ผู้เขียนตั้งใจเขียนเกี่ยวกับภาษาอังกฤษที่ว่า I my mine and me

I              ฉัน                           เรา                             ผม                            กู

my         ของฉัน                      ของเรา                       ของผม                     ของกู

mine      ซึ่งเป็นของฉัน            ซึ่งเป็นของเรา             ซึ่งเป็นของผม          ซึ่งเป็นของกู

me          ตัวฉันเอง                  ตัวเราเอง                    ตัวผมเอง                 ตัวกูเอง 

 

เอาละซิ ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไงดี แต่มีความคิดเพียงว่า ไม่ลองเขียนก็ไม่รู้ ไม่ลองดูก็ไม่รู้เช่นกัน

อยากจะมันเป็นเรื่องที่ฉัน (เรา ผม หรือ กู) เขียนแล้วรู้สึกว่ามันทำให้เกิดความสุขแก่ทั้งตัวเอง

และแก่ผู้อื่นก็เท่านั้น 

 

สำหรับ ฉัน (เรา ผม หรือ กูบางครั้งจะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการกระทำใดๆ ทั้งเป็นผู้กระทำผู้เดียวและร่วมกับคนอื่น แต่ในทางตรงกันข้าม ฉัน (เรา ผม หรือ กูก็อาจจะถูกกระทำจากคนอื่นๆ หรือหลายๆ คน   ซึ่งเวลาที่เราเป็นผู้กระทำ เราจะมีความรู้สึกว่าเรานี่แหละมีความเป็นใหญ่ที่สุด ใครหน้าไหนก็อย่าได้มาขัดขวาง ถ้าหากไม่ได้อย่างใจของเรา เราก็เป็นทุกข์เสียเอง  หรือ เมื่อไรก็ตามที่เราถูกกระทำ เราก็มีความรู้สึกว่าโลกนี้ทำไมไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย มีแต่เราที่โดนเราที่เป็นทุกข์


ของฉัน (ของเรา      ของผม   ของกู) ซึ่งเป็นของฉัน มันเป็นสิ่งที่เรายึดเอาไว้ถือเอาไว้ว่าเป็นของๆ เรา เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าเป็นเจ้าของ เราจะมีควาาห่วงแหนเป็นอย่างมาก คอยเฝ้าดู คอยดูแลว่ามันจะเป็นอย่างไร และเช่นกันถ้ามีใครมาทำร้ายสิ่งที่เป็นของเรา เราก็จะมีความโกรธ เป็นทุกข์ เป็นแค้น  และประการสำคัญ คือ เราจะรู้สึกว่า จะต้องหาทาง เอาคืน แก้แค้นให้ได้   เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็จะเป็นทุกข์ไปตลอด  


สำหรับตัวฉันเอง  (ตัวกูเอง) หากว่าเมื่อไรก็ตามที่เราคิดได้ว่า ตัวเราเอง เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำให้เกิดความทุกข์ ทำให้เกิดความเดือดร้อน เรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาล้วนเกิดจากตัวเราเองที่เป็นผู้กระทำ  เราอาจจะต้องกลับถามหาว่า แล้วเรา (ฉัน​)​ ทำอะไรลงไป มีสติ สมาธิ กลับไปทบทวน เพื่อให้เกิดปัญญาด้วยตัวของเราเอง ว่า สิ่งที่ได้กระทำลงไปนั้น มันดีหรือไม่ดี หากไม่ดี เราก็จะต้องหาหนทางแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น สิ่งใดที่ดีอยู่แล้วก็จะต้องรักษาความดีไว้ และทำให้ดีมากขึ้นกว่าเดิมอีก 


เรื่องของ เรา ตัวของเรา  มันเป็นของเรา และตัวเราเอง เป็นส่ิงที่น่าสนใจเป็นอย่างมากที่เราควรจะเรียนรู้ตัวของเราเองให้เข้าใจ ให้รู้รายละเอียดโดยเฉพาะรายละเอียดของจิตใจของตัวเรา  เหมือนกับเนื้อหาของเพลงๆ หนึ่งที่ว่า


ทุกชีวิตดิ้นรนค้นหาแต่จุดหมาย
ใจในร่างกายกลับไม่เจอ
ทุกข์ที่เกิดซ้ำ เพราะใจนำพร่ำเพ้อ
หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข


(ถ้าหากท่านใดอยากจะฟังเพลงดังกล่าว ก็เชิญเลยครับ)


อย่างไรก็ดี เมื่อเรียนรู้ตัวเอง หาหัวใจตัวเองให้เจอแล้ว  ตัวเรา เรา ก็จะต้องปรับเปลี่ยน เพราะเราไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนจิตใจคนอื่นๆ ได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสุขในการเรียน การทำงาน และการอืนๆ เราก็ควรจะเรียนรู้เพื่อจะเป็น I my mine and me ให้มากที่สุด


มนูญ​​ ศรีวิรัตน์


....  ทำอะไรก็ผิด    

.....ทำอะไรก็ไม่ผิด

ฉัน  ทำอะไรก็ผิด    

เธอ ทำอะไรก็ไม่ผิด

ซึ่งที่จริง มันอาจจะถูกเรียกว่า ๒  มตฐ (ไม่ตามฐานะ) 



วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

โสด

ที่จริง เรื่องของคำว่า โสด มีน้องที่ทำงานเขาบอกว่าให้เขียนให้อ่านหน่อยจะได้หรือไม่ เพราะเขามีความรู้สึกว่าจะเป็นโสดหรือไม่เป็นโสดดี ผู้เขียนเองก็คงออกตัวเสียก่อนว่าไม่มีประสบการณ์เหมือนกันแต่ก็จะพยายามเขียน เพราะมีความรู้สึกว่า ถ้าเขียนแล้วทำให้เขาได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อยก็คงจะดี

โสด ผู้เขียนไม่รุ้ว่าความหมายว่าแท้จริงว่าเป็นอย่างไร  แต่ที่เรารู้กันดี คือ โสด คือ คนที่ยังไม่ได้มีคู่ครอง อยู่คนเดียว โดยส่วนมากคำว่า โสด มักจะใช้กับคนที่มีอายุพร้อมที่จะมีครอบครัว เช่น อายุประมาณจบสำเร็จระดับอุดมศึกษา (คือระดับปริญญา) ซึ่งส่วนมากอายุก็คงจะราวๆ ประมาณ ๒๐ กว่าปี อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็อาจจะมีคนที่ต้องการมีครอบครัวเมื่อเขามีความพร้อมโดยไม่ต้องจบปริญญาตรีก็ได้  ซึ่งคำว่า โสด นี้ สามารถได้ถึงกับคนที่มีอายุมากๆ ก็ได้ที่ยังไม่ได้แต่งงานมีครอบครัว อาจจะอายุ ๖๐​ ๗๐​ ๘๐​ หรือ มากกว่า จนบางครั้งอาจจะมีคนถามว่า อยู่เป็นโสด ทำไม 

กล่าวโดยสรุป คือ โสด เป็นคนที่อยู่คนเดียว ไม่มีคู่ครอง ซึ่งอาจจะมีคำถามว่า ดีหรือไม่  ผู้เขียนคิดว่าตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวของเขาเองว่ามีความรู้สึกอย่างไร บางท่านก็ไม่อยากจะเป็นโสดสักเท่าไร แต่ก็ไม่รู้ว่าจะหาคู่ได้อย่างไร บางท่านอาจจะต้องการเป็นโสด แต่ก็มีผู้คนเข้ามาหา ซึ่งบางครั้ง การเป็นโสด หรือไม่เป็น​โสด เขาก็อาจจะเรียกว่า บุญเก่าที่ได้สร้างได้ทำมาตั้งแต่ชาติที่ผ่านมา หลายๆ ท่านอาจจะไม่เชื่อในชาติก่อนหน้านี้ที่เราเกิดมา แต่ไม่เป็นไรครับ ท่านจะเชื่อหรือไม่ ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน  แต่ท่านอาจจะเชื่อผู้เขียนว่า ทำไมชาตินี้ เราถึงต้องโสด เราถึงต้องไม่โสด  สิ่งหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ ถ้าเป็นโสด ก็มักจะไม่มีใครสนใจและไม่สนใจใคร  ส่วนการไม่โสด ก็มักจะสนใจใครและมีคนมาสนใจเรา  ซึ่งความสนใจและไม่สนใจนี้แหละเป็นต้นเหตุของการจะโสดหรือไม่โสด

ถ้าหากว่าท่านใดที่ต้องการเป็นโสด ท่านก็ไม่ต้องไปสนใจใครทั้งสิ้น เขาเรียกว่า ไม่ต้องหาบ่วงกรรมมาใส่ตัวเอง ไม่ต้องหาความเป็นห่วงมาใส่ตัวเอง สำหรับไอ้ห่วงเนี้ย มันเป็นอะไรที่ไม่จบไม่สิ้น เพราะอะไรครับ ก็เพราะว่ามันเป็นลักษณะวงกลมที่ไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นอยู่ที่ไหน จุดหมายปลายทางอยู่ที่ไหน ดังนั้น บางครั้งการเป็นโสดก็ดีเหมือนกัน คือ ไม่ต้องมีห่วง  ด้วยเหตุนี้ ผู้อ่านก็คงสรุปได้ด้วยตัวเองนะครับ

ครับ ไม่เป็นไร เรื่องโสด อาจจะทำให้หลายๆ ท่านเครียด เรามาลองเอาบางตัวบางอักษร บางสระ ออกจากคำว่า โสด จะดีหรือไม่ครับ

โสด ถ้าไม่มี สระโอ โอ้อวด โสด ก็จะกลายเป็น สด ซึ่งหมายถึง เรามีความสดชื่นในการใช้ชีวิต ในการดำรงชีวิต ดังนั้น ถ้าหากเรามีชีวิตที่เป็นโสด แล้วไม่โอ้อวด เราก็อาจจะมีความสดชื่นมีความสุขในการดำรงชีวิตในการทำงานของเรา  

อย่างไรก็ดี โสด ถ้าไม่มี ด.เด็ก ก็จะกลายเป็น โส ซึ่ง โส ทางภาคอีสาน มักจะใช้ในทางที่ไม่ดี เช่น โสตาย โสทิ้ง เป็นต้น อันหมายถึง จะทำอะไรโดยที่ไม่มีสตินั้นเอง ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว จะเห็นว่า โสด และไม่มีเด็ก ก็ไม่ดีอย่างแน่แท้ 

สุดท้ายนี้ ก็อยากจะให้กำลังทุกๆ คนที่เป็นโสด และให้กำลังใจสำหรับท่านใดที่ไม่เป็นโสด การที่จะโสดหรือไม่โสด ไม่ใช้เรื่องที่สำคัญ เรื่องที่สำคัญ คือ เมื่อเป็นโสดแล้ว เราจะเป็นคนดีได้อย่างไร เมื่อไม่เป็นโสด เราจะเป็นคนดีได้อย่างไร เรื่องที่ดี สำหรับคนโสด และ ไม่โสด ที่ผู้เขียนจะขออนุญาตนำเสนอ คือ ให้เข้าใจตัวเองให้มากที่สุด และเข้าใจคนรอบข้างให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คนโสดก็ต้องเข้าใจตัวเอง และคนอืนๆ ที่อยู่ใกล้ๆ เรา คนไม่โสดก็ต้องเข้าใจตัวเองและคนอืนๆ ที่อยู่กับเราและรอบๆ ข้างเรา และถ้าหากเป็นอย่างนั้นแล้ว ทั้งคนโสดและไม่โสด ก็จะ สด (ชื่น) ตลอดไป

มนูญ​ ศรีวิรัตน์

อยากจะบอก...

มีหลายครั้งที่ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า อยากจะบอกอะไรสักอย่างกับใครสักคนหนึ่ง แต่ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาส ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ว่าทำไมเราไม่บอกไป ณ เวลานั้น ณ โอกาสนั้น เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ทำให้มีความรู้สึกว่ามีอะไรที่ติดอยู่ในจิตใจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางคร้้งเวลานอนก็อาจจะฝันเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว

อาการของการอยากจะบอก เป็นสิ่งที่คนๆ นั้น มีความต้องการจริงในการที่จะพูดจะกล่าวกับใครสักคน แต่เขาอาจจะไม่มีความกล้าที่เปล่งวาจาออกไป ดังนั้น ขณะที่อยากจะบอกออกไป ความกล้าที่เรามีอยู่อาจจะไม่พอเพียง ซึ่งจะต้องการใช้สติ ใช้พลังจิตใจที่มากพอกำลังการที่อยากจะกล่าว จะบอกอะไร กับใครบ้างคน

แต่บางครั้งเราอาจจะมีความรู้สึกว่า อยากจะบอกให้มัน.... (หยุด) เช่น คุณพ่อ คุณแม่ อยากจะบอกให้ลูกๆ หยุดเล่น หยุดกระทำในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ความรู้สึกอยากจะบอกดังกล่าว เป็นความรู้สึกที่เป็นความห่วงใย ใส่ใจ ให้ลูกๆ ได้รับในสิ่งที่ดีๆ

อยากจะบอก เป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกคนที่จะกล่าวออกไป และรวมทั้งได้รับในสิ่งที่อยากจะบอก ดังนั้น สิ่งที่หนึ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรจะอยากจะบอก คือ อยากจะบอกตัวเองว่า พอแล้ว พอหรือยังในสิ่งที่ไม่ดี ผู้เขียนเองก็ไม่ใช่คนดี ผู้เขียนก็อยากจะบอกตัวเองว่า วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๓ นี้ (เพราะเป็นวันที่ดีมาก คือ ตัวเลขมีผลรวมกันเท่ากับ ๓๐ เป็นวันเวลาของวันในหนึ่งเดือนที่เราควรจะอยากจะบอกว่า...) ผู้เขียนพอแล้ว พอในสิ่งที่คิดว่าตัวเองพอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำได้ แต่ผู้เขียนก็อยากจะบอกตัวเองอีกครั้งว่า... เราควรจะพอแล้ว และยุติแล้วในเรื่องที่ควรจะพอ

ดังนั้น หากท่านใดคิดว่า อยากจะบอกว่า... อะไรสักอย่าง ผู้เขียนก็ขอให้ได้ใช้ความกล้าที่จะบอก ขอให้ทุกท่านได้ใช้ความกล้าของตัวเองด้วยจิตที่แน่วแน่ ตั้งใจจริง อยากจะบอกว่า ... เราจะต้อง.... เราจะต้องทำ..... เราจะต้องไปจาก... ซึ่งถ้าหากอยากจะบอก... ก็แสดงว่าเรานั้นได้แสดงความกล้าออกมาแล้ว และถ้าจะให้เป็นจริงได้ในสิ่งที่อยากจะบอก เราก็ควรจะกล้าด้วยจิตที่เข้มแข็ง มั่นคง แน่วแน่ ที่อยากจะบอก...

ว้นที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๓ นี้เป็นวันดี ที่เราอาจจะ อยากจะบอก.... ว่า เราจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ชีวิตที่ดีขึ้น ขอให้กำลังทุกท่านที่กำลังอยากจะบอก.... กับตัวเรา ... กับใครสักคน ... กับบางสิ่งบางอย่าง ... กับทุกสิ่งทุกอย่าง... ขอให้วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๓ เป็นวันที่เราทุกคนอยากจะบอก... พอแล้วชีวิตนี้ โชคดีทุกท่าน
มนูญ ศรีวิรัตน์

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การรู้ตัวเอง กับ การเห็นแก่ตัว กลายเป็น การรู้เห็นตัวเอง

การรู้ตัวเอง กับ การเห็นแก่ตัว ทั้งสองประโยคประกอบด้วย คำ เช่นกัน ถ้าหากเป็นเด็กๆ ที่ยังไม่ได้ทราบความหมายของทั้งสองประโยคดังกล่าว อาจจะมีความรู้สึกว่า คล้ายๆ กัน เพราะ การรู้ตัวเอง เด็กๆ ก็อาจจะหมายถึง รู้เห็นตัวเองว่าเป็นอย่างไร และ  การเห็นแก่ตัว เด็กๆ ก็อาจจะคิดว่า หมายถึง การเห็นตัวเอง เช่นกัน 

แต่สำหรับความเป็นจริงแล้วนั้น การรู้ตัวเอง และ การเห็นแก่ตัว มีความหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเนื่องจาก การรู้ตัวเอง คือ การสร้างความเข้าใจเรียนรู้จิตใจของตัวเราเองว่าเราเป็นคนอย่างไร ต้องการอะไร เป้าหมายในชีวิตเป็นอย่างไร และการเรียนรู้และสร้างเข้าใจตัวเรานั้น กระทำได้โดยอาศัยการมีสติ มีสมาธิ เพื่อทบทวนเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเรา เรื่องใดที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม เราก็อาจจะปรับปรุงให้ดีขึ้น  

แต่สำหรับ การเห็นแก่ตัว นั้น มีความหมายในทางที่อาจจะไม่ดีนัก เพราะเป็นเรื่องของตัวเรามีความคิดที่คับแคบ ไม่เอื้อเฟื้อคนอื่นๆ เอาแต่ประโยชน์ใส่ตนเอง ไม่ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน ไม่เข้าคบหาสมาคมกับเพื่อนๆ ในองค์กร เป็นต้น


ที่นี้ ผู้อ่านเห็นแล้วหรือยังว่า ท่านจะเลือกอะไรระหว่าง การรู้ตัวเอง และ การเห็นแก่ตัว หรือถ้าหากเลือกไม่ได้ ก็ลองนำทั้งสองประโยคมาเปลี่ยนใหม่เป็นดังนี้จะดีหรือเปล่าครับ คือเป็น การรู้เห็นตัวเอง ซึ่งอาจจะหมายถึง การที่เราได้เรียนรู้ตัวของเราเองพร้อมทั้งได้เห็นตัวเองว่าเป็นอย่างไร  

การเรียนรู้ตัวเอง เป็นสิ่งแรกที่เราควรจะต้องทำ ถ้าหากเรามีโอกาส เพราะทำให้เรารู้ตัวตนของตัวเราว่า เราต้องการอะไร ต้องการทำอะไร ต้องการมีเป้าหมายอะไร ต้องการให้อนาคตเป็นอย่างไร  ผู้เขียนมีตัวอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับการรู้เห็นตัวเอง ดังนี้

น้องแอน เป็นนักเรียนของโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนที่ดีมากๆ ตอนมัธยมศึกษาตอนต้นคุณพ่อคุณแม่ก็อยากจะให้เรียนสูงสุดในมหาวิทยาลัยคณะที่ดีๆ จบมาแล้วมีหน้าที่การงานที่ผู้คนนับหน้าถือตา มีเงินเดือนจำนวนมากๆ พอเรียนมาถึงมัธยมตอนปลาย ม.๔ ม. ๕​ น้องแอนเริ่มคิดและถามตัวเองว่าอยากจะเรียนอะไรกันแน่ คุณพ่อคุณแม่ก็อยากจะให้เรียนหมอ น้องแอนเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเรียนดีหรือไม่ ในช่วงระยะ ม.๔ ม.๕  น้องแอนจะต้องคอยถามคนนั้นคนนี้ว่าเรียนหมอดีหรือไม่ แต่ผู้อ่านเชื่อหรือไม่ว่า น้องแอนไม่สามารถที่จะให้คำตอบกับตัวเองได้  น้องแอนต้องรู้เห็นตัวเองให้มากยิ่งขึ้น ถามใจตัวเองให้มากยิ่งขึ้น จนจบ ม.๕​ น้องแอนก็เลยลองไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ลองฝึกงานดูงาน ณ โรงพยาบาลแห่งนั้นประมาณ ๑ เดือน (น้องแอนได้เรียนรู้ ได้ถามใจตัวเองว่าชอบเรียนหมอหรือไม่ รู้เห็นตัวเอง คือ รู้เห็นจิตใจของตัวเอง ว่าเป็นอย่างไร)  ในที่สุด น้องแอน ก็สามารถตอบตัวเองได้ในตอนเรียน ม.๖ ว่า จะไม่เรียนแล้วหมอ น้องแอนตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต เลือกเรียนในส่วนที่ การรู้เห็นตัวเอง รู้เห็นจิตของตัวเอง และแล้วในที่สุด น้องแอนก็ตัดสินใจเลือกเรียนวิศวะคอมพิวเตอร์  และเขาก็ชอบ จนสามารถเรียนสำเร็จเกียรตินิยมอันดับหนึ่งของสถาบันที่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ  หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีแล้ว น้องแอนก็ยังต้องการที่จะ รู้เห็นตัวเอง เพิ่มเติม ว่า การทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่จิตเราต้องการอย่างแท้จริงหรือยัง  การรู้เห็นตัวเองของน้องแอนก็ยังคงดำเนินต่อไป และปัจจุบัน น้องแอนทำงานไปด้วยและเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษา คือ ป.โท ด้าน Finance หลักสูตรนานาชาติ   ตัวอย่างของน้องแอน เป็นส่ิงหนึ่งของ การรู้เห็นตัวเอง ว่าบางสิ่งบางอย่างสามารถเปลี่ยนไปได้ตามที่จิตของเราต้องการได้ถามจิตของตัวเองอย่างแท้จริง 

ตัวอย่างข้างต้น ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นส่ิงหนึ่งของการรู้เห็นตัวเองในหนทางที่ถูกที่ควร ซึ่งดีกว่าการเห็นแก่ตัวอย่างแน่นอน  เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรามีเวลา ให้เวลากับจิตของตัวเราเองโดยการไม่เห็นแก่ตัว แต่เป็นการรู้ตัวเอง รู้เห็นตัวเอง น่าจะทำให้เราสามารถเดินทางต่อไปในชีวิตของเราในทางที่ถูกต้อง แล้วเราก็สามารถมีความสุขในส่ิงที่เรารู้เห็นตัวเอง


มนูญ​ ศรีวิรัตน์

วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การไม่รู้

การไม่รู้เป็นสิ่งที่อันตรายมากสำหรับมนุษย์เรา เพราะหากเราไม่รู้อะไรในเรื่องใดๆ ก็ตาม เราก็จะไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับมัน ทำอย่างไรกับเรื่องนั้นๆ  การไม่รู้นั้น เกิดจากอะไรครับ เกิดจากที่เราไม่แสวงหาข้อมูลสิ่งที่เกี่ยวข้อง  นั่นหมายความว่า เราไม่มีความสนใจใส่ใจเลย ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดก็ตามควรจะต้องมาเริ่มในการที่จะรู้ ทั้งการเรียน การทำงาน  

มีหลายตัวอย่างมากมายที่การไม่รู้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก การไม่รู้แล้วยิ่งพูดต่อไปๆ ก็ยิ่งเกิดความเสียหายเพิ่มทวีคูณมากยิ่งขึ้น  การไม่รู้ข้อมูลความเป็นมาของเรื่องใดๆ ทำให้เราตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ เกิดความผิดพลาด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นั้น (ผู้ที่ไม่รู้) ใส่อารมณ์ที่เป็นความอิษฉาริษยา ความเห็นแก่ตัว ก็ยิ่งทำให้เรื่องไม่รู้ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และถ้าหากผู้นั้นได้กล่าวถ่ายทอดต่อไปอีก ก็ยิ่งทำให้การไม่รู้ดังกล่าวเกิดความเสียหายมากขึ้น

สำหรับการไม่รู้เกิดขึ้นได้กับคนทุกระดับทั้งการศึกษาระดับสูง บางคนที่มีการศึกษาระดับสูงแต่ไม่รู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่รู้ความเป็นมาของเรื่องนั้นๆ แต่เขาได้ใช้ความรู้สึกเอาเองว่ามันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้  ซึ่งเป็นการแสดงความโง่ของตัวเขาเอง ยิ่งเขาแสดงความรู้สึกความคิดเห็นออกไป ยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกในเรื่องดังกล่าว เพราะเขาไม่รู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง  และยิ่งคนที่ได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว นำไปใช้ในการใดๆ ก็ตามแต่ ก็ยิ่งทำให้เกิดการไม่รู้มากยิ่งๆ ขึ้น  เสียหายมากยิ่งไปอีก  โดยเฉพาะหลายๆ อาชีพจะต้องรู้ให้มากที่สุด ยิ่งผู้ที่เป็นครูอาจารย์แล้วยิ่งจะต้องรู้ให้มากขึ้นในทุกๆเรื่อง เพื่อจะได้นำสิ่งที่รู้นั้นไปบอกไปสอนลูกศิษย์ให้ได้รับความรู้ทุกๆด้าน เพื่อลูกศิษย์จะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพในอนาคต  

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น พระพุทธองค์ถึงได้กล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องการรับรู้ อย่าเชื่องมง่ายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ มีอยู่ 10 ประการคือ
  1. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา
  2. อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา
  3. อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ
  4. อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา
  5. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา
  6. อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา
  7. อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล
  8. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน
  9. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
  10. อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน

ข้างต้นนั้นเรียกว่า กาลามสูตร  และที่ชาวพุทธท่านรู้กันดีว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพราะ ตรัสรู้ แปลว่า รู้แจ้ง รู้อย่างแจ่มแจ้ง รู้ชัดเจน 

การไม่รู้ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เราสามารถที่แก้ไขได้เพียงแต่เราเริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การหาข้อมูลเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง การอ่านหนังสือเอกสารที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้เรารู้เรื่องนั้นๆให้เข้าใจได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้  ซึ่งมีหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าสนใจ และผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านที่สนใจได้อ่าน ชื่อหนังสือว่า คนฉลาดแล้วแสร้งโง่  (เขียนโดย อิบูคิ ทาคาชิ  และ  อธิคม สวัสดิญาณ แปลเรียบเรียง) ซึ่งน่าจะดีกว่า โง่แล้วแสร้งฉลาด 

ดังนั้น วันนี้เป็นต้นไป เรามาเริ่มรู้ให้มากกว่า การไม่รู้  และที่สำคัญที่สุด คือ การรู้ตัวเองให้มากยิ่งขึ้น