Nuffnang Ads

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

๓ อ ที่ได้จากวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๔ (วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)

เมื่อเช้าวันนี้ (๒๕ เมษายน ๒๕๕๔) ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเข้าร่วมพิธีถวายพานพุ่มเงินพุ่มทองวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเราคนไทยทุกคนทราบกันดีว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้มีภาพยนต์เฉลิมพระเกียรติตำนานพระนเรศวร (ภาค ๓) ก็ขอเชิญชวนคนไทยทุกคนไปสนับสนุนภาพยนต์ดังกล่าวนะครับ

ครับ สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ (เท่าที่ ผู้เขียนมีความสามารถคิดได้) วันนี้ คือ พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำเป็นคุณประโยชน์ที่เราคนไทยทุกคนสามารถจะนำไปปฏิบัติเพื่อเกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม คือ เกี่ยวกับ ๓ อ.

๑. อ. "อดทน" สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงอดทนตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงใช้ชีวิตในวัยเยาว์ในต่างแดน พระองค์ท่านทรงมีพระปรีชาสามารถอดทนในการเรียนรู้ด้านต่างๆ

๒. อ. "โอบอ้อมอารี" สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีความโอบอ้อมอารีต่อทั้งเหล่าทหารกล้าที่รบเคียงบ่าเคียงไหลกับพระองค์ท่าน

๓. อ."อาจหาญ" สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีความอาจหาญกล้าหาญอย่างมากในการศึก พระองค์ทรงเป็นผู้นำที่อาจหาญในการออกรบทุกรูปแบบทั้งทางบก ทางน้ำ และยุทธหัตถี

แน่นอนครับ ๓ อ. ดังกล่าว เป็นสิ่งที่เราคนไทยควรจะเรียนรู้ศึกษา หากเราเรียนรู้การอดทนในเรื่องต่างๆ อดทนในสิ่งที่ถูกต้อง อดทนในสิ่งที่คิดว่ายังไม่ถึงเวลา เมื่อไรก็ตามที่เราสามารถฝึกอดทนในเรื่องต่างๆ ได้แล้ว จะเกิดความโอบอ้อมอารีโดยทันทีและอัตโนมัติ (หากท่านไม่เชื่อ ลองทำดูนะครับ)

ความโอบอ้อมอารีทำให้ได้เพื่อนจำนวนมากขึ้น เพื่อนในที่นี้เป็นทั้งเพื่อนร่วมงาน เพื่อนต่างวัย เพื่อนต่างสถานที่ และเพื่อนอื่นๆ (แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเพื่อนก็อย่าให้มีพวกใครพวกมันนะครับ) ความโอบอ้อมอารีทำให้เราเกิดการให้อภัยและการมีเมตตาตามมา (เพราะการมีเมตตาเป็นการฆ่าศัตรู ในโอกาสต่อไป ผู้เขียนจะได้เขียนถึงเรื่อง "เมตตาฆ่าศัตรู")

สำหรับ อ.อาจหาญ เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตของเราทุกคนที่จะต้องมีความอาจหาญกล้าหาญกระทำหรือตัดสินใจในเรื่องที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วม (ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตน) หากเราที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ฝึกให้ลูกของเรามีความอดทน ไม่ใช่ลูกอยากได้อะไรเราจะให้เสมอ ฝึกให้เกิดความอดทนในความอยากได้อยากมี หากมีโอกาสก็พาลูกๆ ออกไปฝึก "การให้" ให้ความโอบอ้อมอารีต่อผู้ที่ด้อยกว่าเรา เช่น การไปมอบบริจาคสิ่งของให้กับโรงเรียนอุบลปัญญา (ที่จังหวัดอุบลราชธานี) เป็นต้น สำหรับ "อาจหาญ" เราก็สามารถฝึกให้ลูกได้เช่นกัน คือ ฝึกให้มีความกล้าในการแสดงออกที่เหมาะสมกับตัวเขาเอง ซึ่งบางครั้งคุณพ่อคุณแม่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความอาจหาญ ความอาจหาญจะเกิดขึ้นได้จะต้องออกมา "จิต" ที่เข้มแข็ง ผู้เขียนเองเมื่อสักประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว ตอนจะบริจาคครั้งแรกในชีวิต ก็เกิดความกลัวไม่กล้าไม่อาจหาญ แต่ด้วยจิตที่สั่งออกมา บอกว่ามันไม่เจ็บหรอก เข็มขนาดเล็กนิดเดียวทำอะไรเราไม่ได้หรอก ไม่สามารถทำให้เราตายหรอก

ดังนั้น อาจหาญ ผู้เขียนเชื่อว่าเราทุกคนทำได้ เพียงใช้ "จิต" (ไม่ได้ใช้สมองนะครับ) แน่วแน่ว่าจะทำให้ได้ ว่าจะต้องสำเร็จ ว่าจะต้องไปให้ถึง ว่าจะต้องเป็นตามเป้าหมาย เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ทุกอย่างจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน สำหรับการทำงานก็เช่นเดียวกับ เราจะต้องฝึกความอดทนต่อเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมงานกระทำสิ่งใดที่ไม่เป็นที่พอใจของเรา เราก็ฝึกอดทนอดกลั้น (หรือที่เรียกว่า อย่าใช้อารมณ์) ให้ความโอบอ้อมอารีกับเพื่อนร่วมงาน และที่สำคัญ คือ อาจหาญที่จะกระทำในเรื่องที่ถูกต้อง เป็นตัวอย่างที่ดี

กล่าวสำเร็จ ๓ อ. ข้างต้น จริงแล้วอาจจะมีอีกหลาย อ. ที่มีประโยชน์ต่อการเรียนหนังสือ การทำงาน การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะต่างๆ ถ้าเป็นสำหรับการเรียนหนังสือ คือ อ. "อ่าน" นักเรียน นักศึกษาจะต้องอ่านให้มากๆ เพราะการอ่านทำให้เรารู้ข้อมูลข้อเท็จจริงสามารถทำสิ่งที่ได้รับจากการอ่านไปประยุกต์ใช้ในเรื่องต่างๆ ได้ สำหรับผู้ที่ทำงานปฏิบัติงานในฐานะต่าง ๆ อ. "ออม" ก็น่าจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อฐานะของแต่ละคน เพราะทุกท่านจะต้อง "ออม" ทรัพย์เพื่ออนาคตของท่าน ท่านใดมีมากก็ออมมาก ท่านใดมีน้อยก็ออมน้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเราคนไทยทุกคนควรจะออม คือ การ "ออม" ความดี สะสมความดีกระทำความดีเพื่ออนาคตของเราในชาติภพหน้า ยิ่งออมวันนิดวันหน่อยด้วยความอดทน ความโอบอ้อมอารี และความอาจหาญกล้าหาญ ที่จะออม จะสามารถทำให้เรานั้น มี อ. ตัวสุดท้ายในตอนนี้ได้ คือ "อิ่มเอิบ" มีความสุขในการออมความดี

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

พูดดีเป็นศรีแก่โลกของเรา

ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูร้อน อากาศภายนอกอาคารบ้านเรือนของเราค่อนข้างจะร้อน เมื่ออากาศร้อนก็พยายามอย่าให้อารมณ์ร้อนไปด้วย ผู้เขียนได้อ่านข่าวได้ดูข่าวในช่วงนี้ มีการกล่าวถึงคำว่า "สถาบัน" อันนั้นก็เป็นเรื่องของบ้านเมืองผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่สำหรับคนไทยทุกคนผู้เขียนเชื่อว่าจะต้องรู้จัก "สถาบัน" แห่งนี้อย่างแน่นอน สถาบันที่ว่า คือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ The National Institute of Development Administration (NIDA) เป็นสถาบันที่เหมือนกับมหาวิทยาลัย เพียงแต่เป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโทและเอกเท่านั้น พูดง่ายๆ คือ คนที่จะเรียนที่นี้จะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีมาก่อน นอกจากนั้นเมื่อหลายปีก่อน เราก็มักจะได้ยินคำว่า "สถาบันราชภัฏ" ซึ่งเป็นวิทยาลัยครูมาก่อน แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยกันหมดแล้ว และ "สถาบันเทคโนโลยี" เช่น สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ปัจจุบันก็ปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีต่างๆ ๙ แห่ง อย่างไรก็ดี ก็ยังดีที่มี "วิทยาลัย" ปรับเปลี่ยนมาเป็น "สถาบัน" คือ สถาบันพลศึกษาในปัจจุบัน หรือ สถาบันอาชีวศึกษา ที่ผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีเช่นกัน

ครับที่กล่าวว่า ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับหัวข้อชื่อเรื่องเลย แต่ต้องเกี่ยวครับ เพราะ ทุกสถาบันหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย สถาบัน จะต้องสอนหรือบอกนักเรียน นักศึกษาให้รู้จักการพูดที่ดี เมื่อตอนเป็นเด็ก คุณพ่อคุณแม่ก็อยากจะได้ยินคำพูดของลูกว่าจะพูดคำว่าอะไรก่อน เมื่อได้ยินก็ดีใจ แต่พอลูกๆ โตขึ้น ลูกคนใดพูดมาก คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะรำคาญก็ได้ กระบวนการพูดผู้เขียนเข้าใจว่าทุกท่านจะต้องทราบดีรู้ดีว่ากว่าเราจะพูดอะไรออกมานั้น จะต้องเกิดจากจิตความคิดที่สั่งผ่านสมองโดยขั้นตอนที่รวดเร็วเป็นอย่างมาก ซึ่งที่เรียกว่า "นึกอะไรก็พูดอย่างนั้น" หลายๆ ท่านเมื่อตอนเป็นเด็กไม่ค่อยจะพูด และพอโตขึ้นกลับพูดมาก และตรงกันข้ามกับบางท่านที่ตอนเด็กๆ พูดมาก ตอนโตขึ้นมาอาจจะเบื่อการพูดเลยไม่ค่อยพูด (อันนี้ไม่รู้ว่าจะมีมากหรือเปล่า) การพูดเป็นสิ่งที่เป็นนายของเรา เมื่อพูดออกจากปากของเรา เราก็จะต้องรับผิดชอบคำพูดดังกล่าว เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การพูดเป็นการแสดงเจตนาที่ออกมาจิตผ่านสมองผ่านกล่องเสียงออกมา นั้นย่อมแสดงว่า การพูดเป็นกระบวนการเป็นระบบที่ผ่านไตร่ตรอง (จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับการมีสติของแต่ละท่าน) หลายๆ ครั้งเราทุกคนจะได้ยินการถอนคำพูด ซึ่งเกิดอยู่ที่สถาบันที่เรียกว่า "รัฐสภา" ที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทั้งหลายเวลาอภิปรายแล้วเกิดการประท้วงกันมากมายจนจะต้องมี "การถอนคำพูด"

สำหรับการพูดสามารถที่จะพัฒนาการพูดได้ สามารถที่จะเรียนการพูดได้ มีหลายหน่วยงานหลายๆ สถาบันได้เปิดอบรมการพูดในลักษณะต่างๆ มากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการพูด (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามแต่) ผู้พูดควรจะต้องมีข้อมูลข้อเท็จจริงกับเรื่องนั้นที่จะพูด หากยังไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ ก็ควรจะต้องค้นคว้าสืบหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด เพราะเมื่อไรที่เราพูดโดยบอกว่า "ก็ไม่รู้เหมือนกันเห็นมีคนเขาบอกมา" การพูดดังกล่าว ก็ไม่อาจจะเรียกว่าการพูดที่ดี แล้วการพูดที่เรียกว่า "พูดดี" จะวัดกันอย่างไร แน่นอนครับก็ต้องวัดจากผู้ฟัง ว่าเมื่อฟังการพูดดังกล่าวแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง

ที่นี้ "การพูดดีเป็นศรีแก่โลกของเรา" เป็นอย่าไร คำว่า "ดี" ผู้เขียนคงจะไม่กล่าวถึงมากมาย เพราะเชื่อว่าทุกท่านทราบดีว่า "ดี" เป็นอย่างไร สำหรับ "ศรี" ก็อาจจะหมายถึง การเป็นสิริมงคล การมีโชคลาภบารมี การมีทรัพย์สินเงินทอง การอยู่เย็นเป็นสุข (อันนี้ผู้เขียนก็ขอออกตัวเช่นกันว่าไม่รู้เกี่ยว "ศรี" มาก แต่ตัวของผู้เขียนเองก็มี "ศรี" ตั้งแต่จำความได้เช่นกัน) ครับ อย่างที่ได้กล่าวข้างต้นว่า พูดที่ดี คือ การมีข้อมูลข้อความจริงครบถ้วนที่เป็นหลักฐานได้ รู้โดยที่เราสืบค้นค้นคว้าในเรื่องที่จะพูดออกมาอย่างที่แน่ชัดแล้ว และประการสำคัญ คือ การพูดดังกล่าวจะต้องไม่ใส่ความรู้สึกอารมณ์ที่จะก็ให้เกิดความเดือดร้อนกับผู้อื่นๆ หรือที่เรียกว่ามีเจตนาดี พูดอย่างมีสติ พูดอย่างสร้างสรรค์ ดังนั้น การพูดที่ดี จะต้องออกมาจากจิตที่ดี จิตที่บริสุทธิ์ จิตที่ไม่คิดร้าย (คิดแต่เรื่องดีๆ ) เจตนาที่ดีต่อผู้คนที่จะได้ยิน ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราพูดดีแล้วย่อมจะเกิดเป็นศรีต่อทุกคน (รวมทั้งตัวเราเองด้วย) เมื่อเกิดเป็นศรีต่อทุกคน สิ่งที่ตามมาคือ โลกใบนี้ของเราสังคมของเราจะมีแต่ความสุข เพราะทุกคนต่างๆ พูดในสิ่งที่เป็นข้อมูลจริงข้อเท็จจริงมีเจตนาที่ดีมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน ทุกคนก็จะมีความสุขจากการพูดและมีความสุขจากการได้ยินคำพูดที่ดีๆ

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเคยได้รับการสั่งสอนจาก ฯพณฯ องคมนตรี (ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย) คือ เมื่อเริ่มจะพูดที่ดี จะต้องมีสติและพยายามยิ้มก่อนที่จะพูดให้ได้ โดยการยิ้มที่ว่าจะต้องยิ้มมาจากจิตที่ต้องการยิ้มจริงๆ ด้วยเหตุนี้ หากสังคมไทยของเราไม่ว่าจะเป็นสถาบันระดับใด (เริ่มจากครอบครัว โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด หรือหน่วยงานราชการต่างๆ) จะเริ่มพูดดีๆ ต่อกัน ผู้เขียนเชื่อว่า จะเป็น "ศรี" แก่ประเทศไทยของเรา แล้วเมื่อนั้นเราทุกคนก็คงจะมีแต่ความสุขนะครับ

วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

๒ เมษายน เป็นวันดี อ่านให้ดี แล้วจะดีทุกอย่าง

คนไทยหลายท่านคงจะทราบกันดีว่า วันที่ ๒ เมษายน เป็นวันดีสำหรับคนไทยวันหนึ่งที่เราชาวไทยทุกท่านต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ทรงงานเพื่อปวงชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน (ซึ่งวันที่ ๒ เมษายน เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์) และในวันศุกร์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย นายกสภามหาวิทยาลัย (ศ.พิเศษ ดร.จอมจิน จันทรสกุล) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ (รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ รศ.ปภัสวดี วีรกิตติ) อธิการบดี (รศ.ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข) รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและชุมชนสัมพันธ์ (ผศ.ดร.มนูญ ศรีวิรัตน์) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ (ผศ.ดร.อุทิศ อินทรประสิทธิ์) คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ (รศ.ดร.วัชรพงษ์ วัฒนกูล) คณบดีคณะศิลปศาสตร์ (ผศ.ดร.อินทิรา ซาฮีร์) ได้เข้าเฝ้าถวายพระพร ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน


นอกจากนั้น วันที่ ๒ เมษายน ยังเป็น “วันรักการอ่าน” ครับ อ่านให้ดี แล้วจะดีทุกอย่าง ตามชื่อเรื่องข้างต้น ผู้เขียนขออนุญาตแลกเปลี่ยนก็แล้วกันนะครับ การที่เราจะได้อ่านหนังสือหรืออะไรก็ตามแต่นั้น จะต้องมีผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนนี้แหละสำคัญมาก เพราะผู้เขียนจะต้องเป็นผู้รอบรู้โดยการค้นคว้า โดยการปฏิบัติ โดยการทดลองลองผิดลองถูก แล้วได้เป็นความรู้ องค์ความรู้ออกมา หลังจากนั้น ก็ลงมือบันทึกจดเขียนเพื่อถ่ายทอดสืบต่อกันไป ท่านผู้อ่านคงจะเคยดูภาพยนต์จีนกำลังภายใน อาจารย์ผู้สอนจะมีการคิดค้นกระบวนท่าการต่อสู้ต่างๆ แล้วจดเป็นคัมภีร์เคล็ดลับ ดังนั้น จะเห็นว่าขั้นตอนกว่าที่เราจะได้อ่านหนังสือหรือตำรานั้น ผู้รู้จะต้องกลั่นกรองจากประสบการณ์ความรู้ที่มีอยู่เพื่อสื่อสารให้ผู้ที่สนใจอ่านแล้วเข้าใจ นำไปปฏิบัติต่อๆ ไป

การอ่านทำให้เราได้ทราบข้อมูลความรู้จากผู้มีประสบการณ์ผู้รู้ หนังสือตำรา วารสาร หรือ สื่อพิมพ์ต่างๆ ล้วนแต่เกิดจากผู้รอบรู้ในเรื่องนั้นๆ เขาได้ตั้งใจเขียนตั้งจะสื่อตั้งใจจะให้รู้ อ่านทำให้ผู้ที่ไม่รู้อะไรเลย เกิดความรู้ เกิดความคิดตามไปด้วย หากใครที่อ่านมากๆ ก็สามารถที่จะคิดประยุกต์เรื่องราวต่างๆ เข้ามาหากันได้ ทั้งนี้ ยิ่งอ่านมากๆ ยิ่งได้รับความรู้มากๆ เมื่อรู้มากๆ ก็สามารถนำไปใช้ประยุกต์ในเรื่องต่างๆ ได้มากตามไปด้วย ผู้เขียนขออนุญาตนำข้อเสนอของคุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ มาแลกเปลี่ยน (ท่านได้กรุณาชี้แนะเมื่อวันศุกร์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๔) คือ เรื่อง ศาสตร์ของการเรียนรู้ เพื่อฝึกให้นักเรียนนักศึกษาได้มีความสามารถในด้านการอ่าน การค้นคว้า การเขียน การวิจารณ์ การนำเสนอ (โดยการพูด) สื่อสาร ซึ่งศาสตร์ของการเรียนรู้นั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยการค้นแล้วคว้าแล้วก็อ่าน เมื่ออ่านมากๆ ก็จะต้องสามารถเขียน พูด ออกมาให้ได้โดยสิ่งที่เราเขียนและพูดนั้นเกิดจากที่เราได้อ่านนั้นเอง ดังนั้น จะเห็นว่า เมื่อไรก็ตามที่เราต้องการจะเรียนรู้สิ่งใดๆ ก็ตามแต่ จะต้องเกิดจากการอ่าน และเมื่ออ่านให้ดี แล้วทุกอย่างก็จะดีตามไปด้วย

สุดท้ายนี้ ถึงแม้ว่าวันที่ ๒ เมษายน ของทุกปีจะเป็นวันรักการอ่าน แต่ถ้าเราคนไทยทุกคน รักการอ่านไม่ว่าจะเป็นวันไหน เวลาไหน สถานที่ใด อ่านมากๆ และอ่านให้ดีๆ ผู้เขียนเชื่อว่า ชีวิตของเราจะดีไปด้วย