Nuffnang Ads

วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "จากทางโลก เกิดใหม่ทางธรรม" “หนังสือ : เปิดตำนาน หลวงปู่เทพโลกอุดร คือ อาจารย์สอนกรรมฐาน พระเจ้าตาก”

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "จากทางโลก เกิดใหม่ทางธรรม" “หนังสือ : เปิดตำนาน หลวงปู่เทพโลกอุดร คือ อาจารย์สอนกรรมฐาน พระเจ้าตาก”

ธรรมะเพื่อชีวิต บทความนี้ ผู้เขียนขอบอกเลยว่าตั้งใจเขียนตอน “หนังสือ : เปิดตำนาน หลวงปู่เทพโลกอุดร คือ อาจารย์สอนกรรมฐาน พระเจ้าตาก (โดย ทิพยจักร)” อย่างยิ่ง เนื่องจากได้อ่าน หนังสือ : เปิดตำนาน หลวงปู่เทพโลกอุดร คือ อาจารย์สอนกรรมฐาน พระเจ้าตาก (โดย ทิพยจักร) แล้ว อยากจะเชิญชวนทุกท่านได้ลองหาซื้อหนังสือดังกล่าวมาอ่าน (อ่านหลายๆ รอบยิ่งดี ครับ)  ผู้เขียนจะขออนุญาตยกบางส่วนของหนังสือ (ซึ่งคงจะอนุญาตท่านทิพยจักร มา ณ โอกาสนี้  เพื่อจะได้เป็นธรรมทานแก่ญาติโยมพุทธศาสนิกชนต่อไป) 



หน้า ๔๔
“เรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญ (วัดอัมพวัน) ท่านสัมผัสนั้นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นประมาณ ปี ๒๕๒๗ ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อจรัญท่านสามารถพบเห็นสมเด็จพระเจ้าตากสินและหลวงปู่เทพโลกอุดรด้วยตาเนื้อของท่านมิใช่เป็นความฝันหรือการเห็นในสมาธิ”

หน้า ๔๗
“สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมักมานั่งกรรมฐานที่วัดอินทารามบางยี่เรือแห่งนี้โดยเป็นที่นัดหมายในการพบกับหลวงปู่เทพโลกอุดร ซึ่งบางครั้งก็มาในนิมิตและบางครั้งหลวงปู่ก็มากายเนื้อ การมาปรากฏของหลวงปู่เทพโลกอุดรนั้น จะเห็นได้เฉพาะองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินเท่านั้น ส่วนทหารทั่วไปที่เฝ้าอยู่ไม่อาจเห็นได้ เพราะหลวงปู่เทพโลกอุดรมาด้วยความเป็นทิพย์ และท่านประสงค์ให้สมเด็จพระเจ้าตากสินเห็นแต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น”

หน้า ๑๐๕ 
“การตัดสินใจของสมเด็จพระเจ้าตากสินเพื่อเปลี่ยนจากการเป็นที่สุดของทางโลกเพื่อหาความเป็นที่สุดในทางธรรมนั้น น่าจะวิเคราะห์ได้ว่าพระองค์ทรงเล็งเห็นด้านนี้มานานพอสมควรและวางแผนอย่างเป็นระบบในการปลีกตนเองออกมาจากทางโลก การที่พระองค์จะปลีกตนเองจากทางโลกด้วยการขอลาบวชตรงๆ นั้น อาจจะเกิดปัญหาทางการเมือง ความวุ่นวายต่างๆ ทั้งการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศได้”

หน้า ๑๐๖ 
“สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเป็นเหมือนผู้ที่เกิดใหม่ในร่างเดียวกัน ตามศัพท์ที่เรียกว่า ทวิชาชาติ คือ การเกิดใหม่ครั้งที่สอง ในความหมายของคำนี้ หมายถึงการละจากเพศฆราวาสเข้าสู่ความเป็นนักบวชและในความหมายที่ลึกกว่าคือ การตายจากปุถุชนแล้วขึ้นเป็นอริยบุคคล”

หน้า ๑๐๗ 
“การเลือกที่จะเล่นบทถูกประหารด้วยเหตุแห่งการวิปลาสจึงเหมาะควรที่สุดที่จะทำได้  และการเล่นบทตายก็ดีที่สุดสำหรับผู้ที่คิดหนีไปภาวนา เพื่อไม่ให้ใครรู้จักไม่ให้ใครติดตาม เหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์จึงเป็นจุดหักเหในชีวิตของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่สำคัญยิ่ง และเป็นเหตุการณ์ที่นำพระองค์ไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ที่เขาขุนพนม (นครศรีธรรมราช)”

หน้า ๑๐๘ 
“พระองค์ได้เกิดใหม่ที่เขาขุนพนมแต่การเกิดครั้งนี้คือการเกิดในทางธรรม อันเป็นหนทางที่พระองค์เดินไปเพียงผู้เดียวสมกับคำว่า เอกะมัคโควิสุทธิยา พระองค์ทรงค้นพบทางอันสงบ สงัด ทางอันสันโดษ อันเป็นหนทางที่พ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งหลายทั้งปวง เป็นหนทางที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่าเป็นทางแห่งนักปราชญ์โดยแท้ หนทางดังกล่าวนี้คือทางแห่งโลกอุดรที่พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง พ้นไปจากโลกธรรมทั้งปวง อันเป็นหนทางที่เราทุกคนควรดำเนินตามรอยบาทของพระองค์แม้ว่าจะยากเพียงใดแต่ก็เป็นหนทางอันประเสริฐอย่างยิ่ง”

หน้า ๑๒๑ 
“เป็นที่ทราบกันดีว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้นทรงสนพระทัยในการทำกรรมฐานมาก กรรมฐานที่พระองค์ศึกษาเป็นเบื้องต้นหรือแม่แบบนั้นคือ  กรรมฐานที่เผยแพร่ในยุคสุโขทัย จนถึงอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น นั้น เรียกกันว่า  กรรมฐานมัชฌิมา  ตามลำดับ กรรมฐานนี้ไทยรับมากจากลังกา เป็นกรรมฐานแม่แบบที่นิยมร่ำเรียนกันมาแต่โบราณ โดยกรรมฐานนี้จะเริ่มเรียนจาก การเข้าสมาธิเพื่อให้จิตเข้าถึงสภาวธรรมที่เรียกว่า พระปีติ ทั้ง ๕ เป็นเบื้องต้น เพื่อให้ปีตินั้นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงหัวใจทำให้มีกำลังทำสมาธิชั้นสูงยิ่งๆ ขึ้น โดยปีติทั้ง ๕ นั้น ได้แก่  พระขุทกาปีติ คือ เมื่อเกิดปีติในใจแล้วน้ำตาไหลออกมา พระขณิกาปีติ เมื่อเกิดปีติในใจแล้วเกิดอาการดั่งแสงสว่างวาบขึ้นมา พระโอกันติกาปีติ เมื่อเกิดปีติในใจแล้วร่างกายเกิดไหวโคลงไปมาดั่งโดนลมพัด พระอุเพ็งคาปีติ หมายถึงเกิดปีติในใจแล้วตัวสั่นสะเทิ้ม  และ พระผรณาปีติ เมื่อเกิดปีติในใจขึ้นมาก็จะซาบซ่านไปทั่วทุกอณูของร่างเกิดเป็นกระแสร้อนผ่าวบ้าง เย็นบ้างไปตามร่างกาย"
(ทั้งนี้  หน้า ๒๔๒ พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤาษีลิงดำท่านอธิบายไว้ว่าคนที่มีปีติทั้ง  ๕ ครบจะเป็นกลุ่มพุทธภูมิ  เคยอธิษฐานสร้างบารมีเพื่อสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อๆ ไป ส่วนผู้ที่ไม่ได้ปรารถนาทางพุทธภูมิมานั้นอาจพบปีติเพียงสองแบบเท่านั้น) 

หน้า ๑๓๘ 
“สมเด็จพระเจ้าตากสินนั้นท่านเข้าสมาบัติฌานครั้งหนึ่ง ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง จนครั้งสุดท้ายก่อนท่านดับขันธ์ ท่านเข้าสมาบัติเป็นเวลา ๗ เดือนกับ ๗ วัน แล้วสิ้นลมในท่านั่งขัดสมาธิ สังขารไม่เน่าเปื่อย ภายในถ้ำเขาขุนพนม”

หน้า ๒๑๙ 
“เรื่องการศาสนานั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีภารกิจทางด้านนี้มาตั้งแต่สมัยเป็นกองทัพกู้ชาติ โดยเห็นได้จากหลายเหตุการณ์เช่นกัน เช่น การบทสวดมนต์พุทธชัยมงคลคาถาและสร้างพระยอดธง มีบันทึกโบราณบอกไว้ดังนี้เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชตีเมืองจันทบุรีได้แล้วก็ทรงเล็งเห็นว่า สงคราวกู้ชาติต่อจากนี้ไปจะต้องหนักหนาและยืดยาว จึงโปรดเกล้าให้สร้างพระยอดธงแบบศรีอยุธยาขึ้น  แล้วนิมนต์พระเถระทั้งหลายมาสวดบทพาหุงมหากาบรรจุไว้ในองค์พระ และพระองค์ก็ทรงเจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วยการเจริญพาหุงมหากา จึงบันดาลให้ทรงกู้ชาติสำเร็จ” 

หน้า ๒๔๑
“สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีดวงตาเห็นธรรม ปลงโลกปลงธรรม รู้แจ้งในพระไตรลักษณ์ จนสามารถวางโลกได้อย่างสิ้นเชิง แม้เมื่อพระองค์ยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ในโลกใบนี้ก็หาได้แปดเปื้อนกับโลกธรรม อันมีได้ลาภก็เสื่อมลาภ ได้ยศก็เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ โลกธรรมทั้ง ๘ หาได้แปดเปื้อนพระองค์ทั้งกายทั้งใจไม่ พระองค์ทรงดำรงอยู่อย่างเป็นผู้เหนือโลก เหนือความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวงโดยสิ้นเชิง”

ดั่ง พระราชมโนปณิธานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช “อันตัวพ่อชื่อว่าพระยาตาก”
“อันตัวพ่อชื่อพระยาตาก  ทนทุกข์ยากกู้ชาติพระศาสนา
ถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา แด่ศาสนาสมณะพุทธโคดม
ให้ยืนยงคงถ้วนห้าพันปี สมณะพราหมณ์ชีปฏิบัติให้พอสม
เจริญสมถะวิปัสสนาพ่อชื่นชม ถวายบังคมแทบบาทพระศาสดา
คิดถึงพ่อพ่ออยู่คู่กันเจ้า ชาติของเราคงอยู่คู่พระศาสนา
พระพุทธศาสน์อยู่ยงคู่องค์กษัตรา พระศาสดาฝากไว้ให้คู่กัน”

ครับ นั่นเป็นส่วนหนึ่งหนังสือ “เปิดตำนาน หลวงปู่เทพโลกอุดร คือ อาจารย์สอนกรรมฐาน พระเจ้าตาก (โดย ทิพยจักร)” (จำนวน ๒๔๘ หน้า)  ผู้เขียนคิดว่าหนังสือดังกล่าวมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้อ่านที่สนใจเกี่ยวกับ “พระเจ้าตากสินมหาราช และ “การปฏิบัติธรรมอันเป็นหนทางของการหลุดพ้น” และเช่นเคยเป็นธรรมเนียมที่ก่อนจากกัน ผู้เขียนขออนุญาตมอบกาพย์ยานี ๑๑ ให้ผู้อ่านได้กรุณาพิจารณา

สมเด็จพระเจ้าตากสิน กู้แผ่นดินเพื่อคนไทย
กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ น้ำพระทัยใฝ่ในธรรม

กษัตริย์ผู้กล้าหาญ ทรงเชี่ยวชาญศึกผู้นำ
ทรงปฏิบัติธรรม เป็นประจำเพื่อได้พร

พบพระผู้ทรงเดช หลวงปู่เทพโลกอุดร
ใจธรรมอย่างถาวร พร้อมจากจรไม่กลับมา

ทรงเห็นแก่บ้านเมือง ความรุ่งเรืองชาวประชา
พบธรรมอันล้ำค่า พระราชาของคนไทย

พระองค์จิตเด็ดเดี่ยว ไม่ข้องเกี่ยวโลกต่อไป
นำธรรมมาสู่ใจ สุขยิ่งใหญ่ตลอดกาล

พระองค์ทรงหลุดพ้น บุญกุศลมหาศาล
คนไทยจิตประสาน ดลบันดาลท่านคุ้มครอง

พนมกราบเทิดทูน ผู้ทรงคุณไทยทั้งผอง
ธรรมะเป็นครรลอง ขอยกย่องพระองค์เอย

ปภาวีร์ 
๓๑ มกราคม ๒๕๕๘


หลวงพ่อฤาษีลิงดำเล่าเรื่องพระเจ้าตากสินมหาราช
พระเจ้าตากสินมหาราช จาก หลวงพ่อจรัญ

จากทางโลกเกิดใหม่ในทางธรรม 
สิ้นสุดกรรมทางโลกเพื่อหลุดพ้น
ทางธรรมใหม่สุขใจไม่หมองหม่น 
ไปทุกคนยิ่งดีมีความสุข


โลกวุ่นวายตายไปเพื่อพบธรรม 
จิตน้อมนำธรรมะทางพ้นทุกข์
อันทางโลกบางครั้งอาจสนุก  
สุขและทุกข์ปนกันมันอย่างนี้


ต้องตัดใจให้จริงยิ่งสิ้นสุด 
พร้อมจะหยุดให้ได้ในโลกนี้
ตั้งจิตหมั่นมั่นใจไปย่อมดี 
สุขฤดีมีสุขทุกข์หมดลง


ชดใช้กรรมนำใจให้น้อมรับ 
ใจพร้อมปรับจับจิตคิดให้ปลง
นำธรรมะจะดีจิตมั่นคง 
ธรรมดำรงคงอยู่คู่จิตเอย











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น