Nuffnang Ads

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

มะม่วง

ผู้เขียนได้อ่านหนังสือธรรมะของท่านหลวงปู่ชาแห่งวัดหนองป่าพง (อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี) เล่มหนึ่ง ท่านได้กล่าวไว้ว่า มะม่วงมันอยู่สูงห้าเมตร เราอยากได้ เอาไม้สิบเมตรมาสอยไม่ได้ มันยาวเกินไป เอาไม้สองเมตรมาสอยมันก็ไม่ได้ ไม่พอดีมันสั้นเกินไป เราอย่าเข้าใจว่า คนจบดอกเตอร์มาปฏิบัติสบายเหลือเกิน เพราะเรียนรู้มาพอแล้ว อย่าเข้าใจอย่างนั้น ดอกเตอร์มันยาวเกินไปก็ได้

หลายๆ ท่านที่อ่านข้อความข้างต้นคงจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่ามีความหมายว่าอย่างไร ซึ่งผู้เขียนเองเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า บางอย่างนั้นจะต้องเหมาะสมพอดีกับสิ่งที่มันเป็นอยู่

แต่ที่จะกล่าวถึงในวันนี้ คือ ชื่อเรื่องที่ว่า มะม่วง มะม่วงนั้นมีหลายชนิดหลายประเภทมีผู้คนมากมายที่ชอบในรสชาติที่แตกต่างกันไป มะม่วงดิบก็ชอบ มะม่วงสุกก็ชอบ มะม่วงดิบก็สามารถกินกับน้ำปลาหวาน มะม่วงสักรับประทานกับข้าวเหนียวได้ กลายเป็นข้าวเหนียวมะม่วง มะม่วงสุกมากๆ ก็ทำเป็นมะม่วงกวนซะเลย จะเป็นว่ามะม่วงเป็นผลไม้ที่รับประทานได้ทั้งตอนดิบและตอนสุก ไม่เหมือนกับผลไม้อย่างอื่น (น้อยหน่ากินตอนสุก ขนุนก็กินตอนสุก เท่านั้นเป็นต้น) แสดงให้เห็นว่ามะม่วงนั้นไม่ว่าจะเป็นตอนหนุ่มดิบก็กินได้มีประโยชน์ ตอนแก่สุกก็กินได้มีประโยชน์

ถ้าหากมนุษย์เราเป็นดังมะม่วงก็คงจะดีนะครับ คือ เมื่อเป็นหนุ่มสาวก็มีศักยภาพมีประโยชน์ขยันในการศึกษาเล่าเรียน ทำงาน เมื่อแก่ตัวไปก็ยังขยันทำงานปฏิบัติตัวดีเป็นประโยชน์ไม่เสื่อมคลาย แก่ตัวมากๆ ก็ยังไม่ยอมให้ตัวเองหมดคุณค่าก็ยังทำงานสะสมความดีไปตลอด ท่านอยากเป็นอย่างมะม่วงหรือเปล่าครับ ถ้าหากจะเป็นอย่างมะม่วงก็ควรจะต้องกลับไปอ่านข้อความที่หลวงปู่ชาได้กล่าวไว้ข้างต้นอีกสักครั้งหนึ่งด้วยความรอบครอบและตั้งสติให้ดีทบทวนให้ดีว่า เราควรจะทำอย่างไร

แต่ที่แน่ๆ คือ ถ้าทุกอย่างเรากระทำด้วยความพอดีกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ ที่เรามีอยู่ ไม่กระทำใดๆ ที่เกินเลย เกินกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและของธรรมะ ท่านสามารถที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นดั่งมะม่วงได้ หลายสิ่งหลายอย่างที่เข้ามาในชีวิตของเราบางครั้งมันก็ไม่พอดี บางครั้งมันก็เกินไป แต่ถ้าหากพิจารณาให้ดีกับสิ่งที่เรามีอยู่ว่าเหมาะสมแล้ว พอควรแล้ว ไม่เกิน ไม่มากไป ไม่น้อยไป แล้วละก็จะทำให้เราไม่เกิดทุกข์ขึ้น ซึ่งเขาเรียกว่า ไม่เกิดกิเลสนั่นเอง ที่กล่าวมาผู้เขียนเองก็ทำไม่ได้หรอก เพราะยังไม่สามารถที่จะฝึกปฏิบัติได้ แต่ก็กำลังพยายาม และจะพยายามต่อไป เพราะคิดว่าสักวันหนึ่งเราจะต้องหาความพอดีให้กับตนเองให้ได้ และจะเป็นความพอดีที่เหมือนกับลักษณะของมะม่วงดังที่กล่าวมาแล้ว

สุดท้ายนี้ เรามาช่วยกันปลูกต้นมะม่วงเพื่อจะได้ผลมะม่วงทั้งดิบและสุกกันตั้งแต่วันนี้ แต่เป็นการปลูกในจิตใจของเรา นั่นคือ การทำความดีที่เป็นประโยชน์ไม่ว่าจะอายุจะมากหรือน้อยก็ตามแต่ แล้วเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วผู้เขียนเชื่อว่า เราทุกคนจะพบกับความสุขที่เป็นความสุขทั้งเปรี้ยวและความสุขทั้งหวานตามระยะเวลาของอายุของเรา

มนูญ ศรีวิรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น