Nuffnang Ads

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ยิ่งแข่งก็ยิ่งแพ้

การแข่งขันใดๆ ผลการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นนั้นมีได้สามอย่าง คือ แพ้ ชนะ หรือ เสมอ การแข่งขันไม่ว่าจะเป็นกีฬา หรือ แข่งขันอย่างอื่นๆ จะต้องมีกติกาสำหรับใช้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันได้ทราบข้อปฏิบัติข้อบังคับร่วมกัน เพราะถ้าหากผู้เข้าร่วมแข่งขันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำผิดกติกา ย่อมจะกระทบต่อผลการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น การแข่งขัน ถ้าหากผู้เข้าร่วมแข่งขันยิ่งแข่งยิ่งเป็นผู้ชนะย่อมจะมีความสุขในผลการแข่งขันดังกล่าว แต่กล่าวสำหรับผู้แพ้แล้วนั้นเมื่อยิ่งแข่งมากเท่าใดมีแต่เป็นผู้แพ้ก็ย่อมจะมีความรู้สึกที่ไม่ดี ไม่มีความสุข ไม่อยากจะลงแข่งขันอีกต่อไป

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นการแข่งขันกีฬา แต่สำหรับชีวิตจริงในการทำงานในการปฏิบัติงาน ถ้ามีการแข่งขันกันก็อาจจะมีผลเช่นกันกับการแข่งขันกีฬา ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยในประเทศไทยต่างแข่งขันกันในเรื่องคุณภาพการศึกษา โดยมีคณะกรรมการมาประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวไม่สามารถไปประเมินได้ทุกมหาวิทยาลัยเนื่องจากจำนวนมหาวิทยาลัยนั้นมีจำนวนมากมายเหลือเกิน ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการประเมินจะต้องมีเข้ารับการอบรมภายใต้กฎเกณฑ์ที่เหมือนกันมาตรฐานเดียวกัน อันจะทำให้การประเมินนั้นมีความยุติธรรมมาตรฐานที่เดียวกันใกล้เคียงกัน เพื่อทำให้ผลการประเมินเกิดการยอมรับ

ในโลกของความเป็นจริงมีการแข่งขันกันมากมาย กล่าวเช่น การแข่งขันทางธุรกิจ การแข่งขันในเรื่องคุณภาพการศึกษา และนอกจากนั้น ยังมีการแข่งขันในการทำงาน การแข่งขันกันในองค์กรหน่วยงาน กล่าวคือ ถ้าหากในองค์กรใดพนักงานต่างแข่งกันแต่งตัว แข่งกันแต่งหน้า แข่งกันอวดร่ำอวดรวยใช้ในสิ่งที่ของอุปกรณ์ที่ฟุ่มเฟือย ไม่มีเงินก็ไปกู้ยืมเพื่อได้มาซึ่งที่ต้องการนำไปแข่งกันคนอื่นๆ จะเห็นว่าการแข่งดังกล่าว ยิ่งแข่งยิ่งมีแต่ผู้แพ้ ไม่มีผู้ชนะเกิดขึ้น การแข่งดังกล่าวก็มักจะเกิดความอิจฉาริษยา เกิดความโกรธ เกิดความทุกข์เห็นคนอื่นๆ เด่นเกินหน้าเกินตาเราไม่ได้

ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถเห็นการแข่งขันดังกล่าวได้ในชีวิตประจำวันอีกมากมาย เช่น นักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัยต่างแข่งขันกันแต่งตัวโดยเฉพาะในสมัยนี้ใครสวมใส่กระโปรงยิ่งสั้นยิ่งจะรู้สึกว่าตัวเองนั้นสวยเป็นที่สนใจของคนอื่นๆ หรือ นักเรียนนักศึกษาต่างแข่งกันในการมีเครื่องโทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ หรือ ชีวิตของข้าราชการหลายๆ ท่านต่างแข่งกันมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ หากใครไม่มีก็กู้ยืมผ่านสหกรณ์หรือธนาคาร เป็นต้น

โดยข้อเท็จจริงที่เราเห็นหรือทราบกันอยู่ในปัจจุบันนั้น การที่ยิ่งแข่งกันในการใช้ของฟุ่มเฟือยหรือสิ่งของที่ไม่ก่อประโยชน์ที่คุ้มค่า จะเป็นการแข่งขันที่ ยิ่งแข่งยิ่งมีแต่ผู้แพ้ ซึ่งหมายความว่า เราใช้เงินใช้ทองใช้ทรัพย์สมบัติที่เรามีอยู่หรือไปกู้ยืมมานั้นไม่สมเหตุสมผลไม่เหมาะสมไม่ถูกไม่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยซึ่งบางคนก็ทำการกู้ยืมเงินเรียน (ที่เรียกว่า กยศ.) ยิ่งกู้ยืมเงินเรียน และยิ่งขอเงินคุณพ่อคุณแม่มาใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ซึ่งคุณพ่อคุณแม่บางท่านก็อาจจะไปทำการกู้ยืมเงินมาให้ลูกๆ เพื่อแข่งขันกันในการใช้จ่ายที่ไม่เหมาะสมหรือซื้อสิ่งของที่ไม่คุ้มค่า

ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากนักเรียนนักศึกษาเหล่านั้นมาร่วมกันแข่งประหยัดในเรื่องการแต่งตัว การใช้สิ่งของที่ไม่เหมาะไม่ควรสำหรับชีวิตนักเรียนนักศึกษา หรือ เรื่องอื่นๆ แล้วก็ จะสามารถทำให้ การแข่งดังกล่าว กลายเป็น ยิ่งแข่ง ยิ่งแต่มีผู้ที่ชนะ เป็นผู้ที่ชนะทุกคนทั้งคุณพ่อคุณแม่ ทั้งตัวเราเอง ทั้งเพื่อนๆ ที่รอบข้างตัวเรา

การแข่งขันอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่สามารถมองเป็นรูปธรรมได้ คือ การแข่งกันมีอำนาจ เพราะอำนาจเป็นสิ่งที่ทำให้คนๆ นั้นสามารถจะดลบันดาลสิ่งที่ต้องการได้หลายๆ เรื่อง บางเรื่องอาจจะไม่ถูกไม่ควรก็ได้ ยิ่งแข่งกันมีอำนาจก็ยิ่งจะเกิดการแย่งกันมาก เนื่องจากอำนาจมีจำนวนไม่มาก ในหน่วยงานใดๆ ผู้อำนาจสูงสุดในหน่วยงานองค์กรนั้นสามารถที่จะได้รับการนับถือ ได้รับเอาอกเอาใจจากผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะถ้าหากกระทำในสิ่งที่ไม่เป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจแล้ว ผู้นั้นอาจจะเดือดร้อนก็ได้

ดังนั้น ยิ่งแข่งกันมีอำนาจ ยิ่งมีแต่แพ้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งกันมีอำนาจด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง วิธีการที่ใช้พลังเกินขอบเขตเกินกติกาที่กำหนดไว้ ผลที่เกิดขึ้นย่อมมีแต่แพ้ ถึงแม้จะเป็นผู้ชนะที่มีอำนาจ แต่ก็เป็นผู้แพ้ในสัจธรรมความจริง เป็นผู้ชนะที่ไม่ยั่งยืน

แต่อย่างไรก็ดี ยิ่งมีสิ่งหนึ่งที่ยิ่งแข่งยิ่งไม่มีทางแพ้ คือ การแข่งกันทำความดี ยิ่งแข่งกันทำความดี ยิ่งจะเกิดสิ่งที่ดีๆ ต่อคนรอบข้างต่อครอบครัวต่อองค์กรหน่วยงาน และประเทศชาติของเราในที่สุด ซึ่งก็จะเป็นการ ยิ่งแข่งยิ่งชนะ และเป็นการชนะที่ยั่งยืนตลอดไป

มนูญ ศรีวิรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น