Nuffnang Ads

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

มอง แต่ไม่เห็น หรือ เห็น แต่ไม่มอง

มนุษย์เราสามารถมีประสาทสัมผัสอันหนึ่งที่ทำให้เราได้รู้ลักษณะของวัตถุที่เป็นทั้งสัตว์ คน สิ่งของ หรืออื่นๆ ทั้งในลักษณะหนึ่งมิติ สองมิติ และสามมิติ ซึ่งการรู้รับลักษณะดังกล่าวจะสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยสองลักษณะ คือ มอง หรือ เห็น

มอง เป็นลักษณะของการที่เรารับรู้ลักษณะของวัตถุ สัตว์ สิ่งของ หรืออื่นๆ ที่อาจจะเป็นเพียงไม่ใส่ใจ

เห็น เป็นลักษณะของการที่เรารับรู้ลักษณะของวัตถุ สัตว์ สิ่งของ หรืออื่นๆ ที่เป็นการใส่ใจ ให้ความสนใจ

(หรือ นิยามข้างต้นอาจจะผิดก็ได้นะครับ เป็นเพียงความรู้สึกของผู้เขียนเท่านั้น)

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับการมองและการเห็น ในห้องเรียนขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง นักศึกษาบางคนนั่งอยู่ในห้องได้แต่มองไปที่อาจารย์หน้าห้องโดยไม่สนใจเนื้อหาที่อาจารย์สอนบนจอภาพขนาดใหญ่ แต่นักศึกษาส่วนใหญ่นั้นได้เห็นว่าอาจารย์ผู้สอนกำลังสอนอะไรเห็นข้อความที่ปรากฏ เห็นว่าอาจารย์กล่าวถึงเรื่องอะไร ซึ่งเรื่องดังกล่าว นักศึกษาบางส่วนที่ได้แต่มองและไม่เห็น นักศึกษาส่วนใหญ่ได้เห็นและมองด้วย ดังนั้น โดยทั่วๆ ไป แล้ว การมอง การเห็น มีด้วยกันหลายลักษณะดังนี้

ได้แต่มอง และไม่เห็น
ได้แต่มอง และเห็น
ได้แต่เห็น และไม่มอง
ได้แต่เห็น และมอง

จากข้างต้น เราจะเลือกแบบไหน แต่ถ้าจะให้ดี เราทุกคนควรจะฝึกหรือกระทำในรูปแบบ ได้แต่มองและเห็น หรือได้แต่เห็นและมอง เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรามองแล้วเห็น หรือ เห็นแล้วมอง ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ตัวอย่างเช่นถ้าหากนักศึกษาในห้องเรียนเมื่อมองแล้วเห็น นั้นหมายความว่า นักศึกษาได้รับรู้ทุกอย่างที่ปรากฏต่อหน้าต่อดวงตาได้อย่างเข้าใจและถูกต้องสามารถที่จะตัดสินใจเรื่องที่มองแล้วเห็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี โดยส่วนมากบางครั้งเราได้แต่มองเท่านั้น ได้แต่มอง คือ ไม่สามารถจะทำอะไรได้ในเรื่องนั้น เช่น เราได้รับรู้อยู่ในเหตุการณ์ของการวิ่งราวทรัพย์ แต่เราได้แต่อยู่เฉยๆ ไม่รู้สึกว่าจะต้องทำอะไร เพราะไม่ใช่เรื่องของเรา ดังนี้แล้ว จะเป็นลักษณะที่ ได้แต่มอง ด้วยเหตุนี้ หากคนไทยทุกคนได้แต่มองเกี่ยวกับความแห้งแล้งของประเทศไทยของเรา ได้แต่มองเกี่ยวกับความปรองดองของคนในไทย ได้แต่มองเกี่ยวกับการขาดแคลนพลังงานของประเทศ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ย่อมจะเกิดความเดือดร้อนอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากคนไทยทุกคนได้แต่เห็นเกี่ยวกับปัญหาของประเทศร่วมกัน เชื่อได้ว่าปัญหาด้านต่างๆ ที่เราเห็นนั้น จะสามารถถูกแก้ไขร่วมกัน

ที่ผ่านมาบางครั้ง หรือ หลายๆ ครั้ง เราอาจจะมีความรู้สึกว่า ได้แต่มอง แต่ถ้าหากมาลองปฏิบัติฝึกฝน ให้เป็นการ ได้แต่เห็น นั้นหมายความว่า เราใส่ใจในสิ่งที่เรารับรู้รับทราบได้สัมผัสได้รับรู้ผ่านดวงตาด้วยสติด้วยความตั้งใจ การได้แต่เห็นดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อการเรียน การศึกษา การทำงานอย่างมหาศาล เพราะการเห็นดังกล่าวหากเป็นเห็นด้วยจิตใจที่ตั้งใจที่ใส่ใจ จะก่อเกิดความเข้าใจในเรื่องที่เราเห็น แล้วเราจะสามารถไตร่ตรองประมวลผลผ่านสมองได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สำหรับนักเรียน นักศึกษา เวลานั่งเรียนก็ควรจะฝึกตัวเองให้เป็นคนที่มี เห็น มากกว่า มอง ในสิ่งที่ครูบาอาจารย์ผู้สอนได้มอบให้เราในแต่ละชั่วโมงสอน สำหรับผู้คนที่ทำงานในบริษัทองค์กรใดๆ ก็ควรจะฝึกให้ตัวเองเป็นคนที่ เห็น มากกว่า มอง เช่นกัน คือ เห็นว่าเพื่อนร่วมงานทำงานด้วยความลำบากเราก็ควรจะให้การช่วยเหลือ ไม่ใช่ ได้แต่มอง ถ้าเป็นเจ้านายคนก็เช่นกัน ก็ควรจะเห็นความเหน็ดเหนื่อยของลูกน้องไม่ใช่ได้แต่เอาแต่มอง เมื่อเจ้านายเห็นในส่วนต่างๆ ของลูกน้อง ก็สามารถที่จะเข้าใจลูกน้องเพื่อนร่วมงานได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรมีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งๆ ขึ้น

ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่า เราทุกคนคนไทยจะไม่เอาแต่มองซึ่งกันและกันนะครับ เราควรจะเห็นซึ่งกันและกัน เห็นในความเดือดร้อนของเพื่อนคนในชาติ เห็นในความยุติธรรมที่จะต้องมีต่อคนไทยในทุกชนชั้นทุกระดับ แล้วเมื่อเป็นอย่างนั้น สังคมไทย ประเทศไทยของเราจะมีแต่การเห็นตรงกัน มีความเห็นตรงกัน และมีความสุขในที่สุด

มนูญ ศรีวิรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น