Nuffnang Ads

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อตด. (เอาแต่ได้)

คำย่อโดยส่วนมากมักจะมีเพียง 3 ตัวอักษร ผู้เขียนก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรกัน เนื่องจากที่เห็นและได้ยินอักษรย่อที่ใช้เรียกแทนก็มักจะพบเห็นเป็น 3 ตัว เช่น BBC CNN NEC JVC KFC KTB JBP BMW ภาษาไทยก็อาจจะเป็น กกต. ศอฉ. สกอ. กพร. สมศ. และอื่นๆ อีกมากมาย

แล้วเกี่ยวอะไรกันกับเรื่อง อตด. (เอาแต่ได้)


เอาแต่ได้ เป็นเรื่องทีเรามักจะได้ยินในกรณีสำหรับเรื่องที่ไม่ดี มีแต่แง่ลบ เพื่อให้เห็นภาพหรือมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขออนุญาตนำเสนอ เรื่องต่อไปนี้


เรื่องก็มีอยู่ว่าในห้องเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 แห่งหนึ่ง ห้องเรียนดังกล่าวมักจะถึงเรียกว่า ห้องคิง เป็นห้องสำหรับเด็กเรียนเก่งมาอยู่เรียนร่วมกัน ในห้องนี้มีนักเรียนหลายคนที่สนใจแต่เรื่องเรียนที่โรงเรียน และเรียนพิเศษทั้งตอนเย็นเลิกเรียน และวันเสาร์ วันอาทิตย์ สรุปง่ายๆ คือ ไม่มีเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นเลย นอกจากเรียน และห้องเรียนนี้ มีนักเรียนคนหนึ่งที่ไม่สนใจเพื่อนๆ เลย วันๆ นอกจากเวลาเรียนในชั่วโมงแล้วเขาอ่านแต่หนังสือ เวลาที่เพื่อนรู้อะไรเขาก็ต้องถามเพื่อนเพื่อให้ตัวเองรู้ ในทางตรงกันข้ามเวลาเพื่อนๆ ถามอะไรเขามักจะบอกว่าไม่รู้


อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับที่ทำงานแห่งหนึ่ง หน่วยงานแห่งนี้มีสุภาพสตรีเป็นจำนวนมากกว่าสุภาพบุรุษ โดยในแต่ละเดือนหน่วยงานนี้มักจะมีการจัดเลี้ยงในโอกาสต่างๆ ซึ่งการเลี้ยงเป็นการใช้งบประมาณกลางของส่วนรวม ทุกครั้งเมื่อจะใกล้สิ้นสุดเวลาของงานเลี้ยง จะมีคนๆ หนึ่งที่มักจะบอกทุกคนว่า "คงจะไม่มีใครสนใจในอาหารที่เหลือนะ เราขอเอากลับไปให้แมวที่บ้านนะ" แต่ที่สำคัญคือ อาหารบางอย่างยังไม่มีการทานเลยและสามารถที่นำเก็บไว้ทานในวันต่อไปได้ คนๆ นี้ก็ไม่สนใจขอห่อกลับบ้านทุกอย่าง


จากตัวอย่างที่กล่าวมาก เราจะเห็นว่า การกระทำดังกล่าว ถ้าหากเราเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องและอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวก็อาจจะไม่เดือดร้อนเท่าไรนัก เพราะมันก็ไม่ม่ผลกระทบอะไรกับเราเลย อย่างไรก็ดี ถ้าบุคคลดังกล่าวเขามีนิสัยหรือการกระทำที่กระทำแบบนี้กับทุกเรื่องๆ ไป จะเกิดอะไรขึ้น ลักษณะการกระทำดังกล่าว บางครั้งมักถูกเรียกว่า "เอาแต่ได้" นั่นคือ เอาประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ไม่สนใจคนอื่นๆ ว่าจะเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากหน่วยงานของเรา องค์กรของเรา มีบุคคลประเภทดังกล่าวจำนวนมากๆๆๆๆๆ จะเกิดอะไรขึ้น แน่นอนครับ จะเกิดการเอาประโยชน์ส่วนตนมากๆๆๆๆ และประโยชน์ส่วนรวมก็จะไม่มีเลย ไม่เกิดขึ้นเลย
คำว่า เอาแต่ได้ และคำว่า ได้แต่เอา มีความหมายไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน ได้แต่เอา นี่ผู้เขียนก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร แต่ในวันนี้ ขอกลับมาสำหรับคำว่า "เอาแต่ได้ หรือ อตด." ทำไมถึงเกิดอาการเอาแต่ได้ หรือ เกิดการกระทำเอาแต่ได้ ที่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าบุคคลนั้น ไม่ได้นึกถึงความรู้สึกของผู้คนรอบข้าง ไม่ได้สนใจความรู้สึกความนึกคิดของคนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ตัว คือ ไม่ได้มีการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ได้เอาความรู้สึกคนอื่นมาใส่ความรู้สึกของเรา ซึ่งถ้าหากใครฝึกปฏิบัติการเอาใจเขามาใส่ใจของเราบ่อยๆ ครั้ง รับรองและเชื่อได้ว่า จะไม่สามารถเกิดอาการที่เรียกว่า "เอาแต่ได้"

เมื่อไรก็ตาม ที่เราไม่สนใจคนอื่นคนรอบข้าง ตัวเราเองอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับคนอื่นคนรอบข้างนั้นพวกเขามีความรู้สึกอย่างแน่นอน ว่า คนที่ไม่สนใจคนอื่นไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นคนประเภทที่ไม่ควรจะเข้าใกล้ ไม่ควรที่จะร่วมสนทนา ถ้าเป็นอย่างนั้น นานๆ ไป คนที่เอาแต่ได้ก็จะไม่มีเพื่อนแท้ ไม่มีมิตร จะทำอะไรก็ยากที่จะมีผู้ช่วยเหลืออย่างจริงใจ ก็ขอให้ผู้เป็นคนเอาแต่ได้ หรือ คิดว่าตนเองเข้าข่ายเป็นคนเอาแต่ได้ ลองกลับมาทบทวนตัวเอง ตัวเราเองว่าเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดี ถ้าหากเราในครอบครัว ในหมู่บ้าน ในหน่วยงาน ในองค์กร ในอำเภอ ในจังหวัด ในประเทศ ต่างก็มาร่วมกันเอาแต่ใจในเรื่องการทำความดี ย่อมจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วมในที่ต่างๆ ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว การเอาแต่ได้ในการทำความดีก็พลอยทำให้เกิดความสุขในทุกแห่งหนได้ เรามาเริ่มเป็น คนเอาแต่ได้ในการสร้างความดีตั้งแต่วินาทีเป็นต้นไป
มนูญ ศรีวิรัตน์




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น