Nuffnang Ads

วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "บวชกาย บวชใจ ท่านปัญญานันทภิกขุ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "บวชกาย บวชใจ ท่านปัญญานันทภิกขุ" ท่านปัญญานันทภิกขุ ได้ปาฐกถาธรรมเรื่องเกี่ยวกับ "บวชกาย-บวชใจ" เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘ กรกฏาคม ๒๕๒๗ ซึ่งสามารถหาอ่านได้จาก หน้า ๓๔ หนังสือ "ชีวิตเพื่อธรรม ธรรมเพื่อชีวิต" พระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)


พ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกบวช อย่าเข้าใจว่าได้นุ่งเหลืองห่มเหลืองแล้วก็เป็นใช้ได้ ให้รู้ว่าที่เราให้ลูกบวชเพื่อเข้ามาศึกษาพระศาสนาอบรมบ่มจิตใจ ให้มีหลักธรรมะเพื่อเป็นพื้นฐานทางจิตใจ เมื่อออกไปอยู่บ้านก็จะได้ใช้หลักธรรมะที่เราได้เล่าได้เรียน เอาไปเป็นเครื่องมือป้องกันตนไม่ให้ตกต่ำไปสู่อบายคือความชั่วความร้าย

เพราะฉะนั้นการบวชต้องใช้เวลา ถ้ายังไม่มีเวลาที่่จะบวชนานก็เก็บไว้ก่อน เมื่อใดว่างจึงมาบวช หรือบางทีก็ บวชหน้าศพ บวชเช้าเย็นสึกแล้ว อาตมาก็ไม่รับบวชให้เหมือนกันนอกจากเด็กตัวน้อยๆ เอามาเล่นละครกันหน่อย ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่มาขอบวชหน้าศพ บอกว่า เธอไม่ต้องบวชหน้าศพ เธอไปยืนหน้าศพคุณพ่อ แล้วก็พูดดังๆ เอาไหม พูดดังๆ ว่า
         "ต่อหน้าไฟที่เผาศพคุณพ่อ ข้าพเจ้าขออธิษฐานใจว่า จะไม่เล่นการพนันตลอดชีวิต จะไม่ดื่มของมึนเมาตลอดชีวิต จะไม่คบเพื่อนชั่วตลอดชีวิต จะไม่เที่ยวกลางคืนตลอดชีวิ จะไม่ใช้จ่ายทรัพย์สุรุ่ยสุร่ายโดยไม่จำเป็นตลอดชีวิต จะไม่เกียจคร้านการงานตลอดชีวิต"

เอาเท่านี้ก็เหลือกินแล้ว พอกินแล้ว เหลือกินเหลือใช้ ไม่เอา มันจะเอาแต่แต่งตัวเล่นละครให้คนดูตอนเผาศพเท่านั้นเอง ให้บวชจริงอย่างนี้ไม่เอา อย่างนี้ละบวชแท้ แล้วไม่ใช่บวช ๓ วัน ๗ วัน บวชกันตลอดชีวิต

เพราะคำว่า "บวช" หมายความถึงว่า "งดเว้นจากการกระทำความชั่ว" ในภาษาบาลีว่า บัพพชา หรือ บวชเป็นอุบายงดเว้นจากการกระทำเรื่องชั่ว งดเว้นจากการคิดเรื่องชั่ว การพูดเรื่องชั่ว กระทำสิ่งชั่ว การไปสู่สถานที่ชั่ว การคบหาสมาคมด้วยคนชั่วๆ งดเว้นหมด

งดเว้นหมออย่างนี้มันก็ประเสริฐแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องโกนหัวขูดคิ้วก็ได้ เราไปยึดถือในรูปแบบมากเกินไป ไม่ได้เพ่งเอาเนื้อแท้ของการบวชว่าคืออะไร ถ้าเราจะบวชตามรูปแบบมันต้องมีเวลา มีโอกาสเหมาะที่เราจะบวชอย่างนั้น แต่ถ้าเรายังไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสก็บวชทางจิตใจไปก่อนก็ได้

เพราะว่าการบวชนั้นมีอยู่ ๒ แบบ คือบวชทางร่างกาย และ บวชทางจิตใจ
บวชกาย นี่คือบวชตามรูปแบบ โกนหัว ขูดคิ้ว นุ่งเหลือง ห่มเหลือง
บวชใจ คืออธิษฐานใจ ตั้งใจงดเว้น ไม่กระทำอะไรที่เป็นการขัดต่อหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

ทุกคนมีโอกาสบวชด้วยกันทั้งนั้น แล้วบวชใจนี่แหละได้อานิสงส์มาก ได้ประโยชน์มาก เพราะว่าบวชนาน ไม่ได้บวช ๓ เดือน หรือ ไม่ได้บวช ๑๕ วัน แต่ว่าบวชกันไปตลอดชีวิตทีเดียว ตั้งใจงดเว้นจากเรื่องชั่วร้าย เช่น งดเว้นอบายมุขตลอดชีวิตไปเลยแล้วอานิสงส์มันจะมีขนาดไหน ก็ลองคิดดู

ปาฐกถาธรรมของท่านปัญญานันทภิกขุ ข้างต้นเกี่ยวกับเรื่องของการ "บวช" หากว่าทุกท่านไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง (ที่บางครั้งคิดว่าตัวเองไม่สามารถจะบวชได้) ได้อ่านหลายๆ รอบแล้ว เชื่อว่าทุกท่านจะสามารถ "บวช" ได้ในที่สุด

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เมตตาพิจารณาแนะนำว่ามีส่วนใดที่จะต้องปรับแก้ไขเพื่อการพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้

บวชกายหรือบวชใจ  ต้องเข้าใจให้มากมี
บวชใจเป็นเรื่องดี  ทำชีวีมีเรื่องธรรม

งดเว้นในเรื่องชั่ว  เรื่องเมามัวตัวไม่ทำ
ทำดีมีประจำ  จิตจดจำธรรมสู่ใจ

บวชใจให้นานๆ จิตเบิกบานสานธรรมไว้
เด็กเล็กหรือผู้ใหญ่  ล้วนทำได้ใจรู้ดี

บวชกายเต็มรูปแบบ  จิตใจแนบธรรมมากมี
บวชใจก็เข้าที  นำชีวีดีทุกทาง

หากว่าจะคิดบวช จิตคอยตรวจหาหนทาง
จิตดีมีแบบอย่าง ธรรมส่องทางสว่างใจ

บวชจิตชิดธรรมะ  จิตเป็นพระมานะไว้
บวชได้ย่อมสุขใจ  เมื่อตายไปใจสุขเอย

ปภาวีร์ 
๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น