Nuffnang Ads

วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ เรื่อง นิพพาน"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ เรื่อง นิพพาน" คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อจรัญเกี่ยวกับเรื่องของนิพพานนั้นนับได้ว่าเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง ดังนั้น หากว่าท่านใดสนใจสามารถที่จะรับชมรับฟังได้จาก YouTube ต่อไปนี้


“...แต่จิตวิญญาณรูปนามขันธ์ห้าเป็นอารมณ์ มันไม่มีตาย มันเกิดดับจนมองไม่เห็น จะไปสู่สถานที่ที่ทำกรรมเขาไว้ทุกประการ ไม่มีโอกาสที่ว่าท่านกลับไปตรงนั้นกลับไปตรงนี้ อย่างที่ว่าไม่ได้ทำกรรมเอาไว้ ตายสูญก็คือ สูญยังไง ตายสูญตัวนี้คือตายแล้วไม่มาเวียนว่ายตายเกิด คือไปนิพพาน หมดกิเลสตัณหาทั้งหลายแล้ว ไม่มามีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง ก็ไปรออยู่ สูญไป ไม่กลับมาในโลกมนุษย์อีกแล้ว ไม่กลับมาแล้ว ก็ไม่ใช่หมายความว่ามนุษย์ต่างดาวนะ คนละเรื่องกัน เดี๋ยวจะหาว่ามนุษย์ต่างดาวไปนิพพาน นิพพานัง ปรมัง สุขัง ความสุขที่ไม่เจือปนด้วยกิเลสนานาประการ หรือดับไม่ติดเชื้อ ไฟดับไม่มีเชื้อติด เรียกว่านิพพาน ไม่มีกิเลสตัณหา ไม่มาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกต่อไปแล้ว นี่เรียกว่าตายสูญ มีเท่านี้เอง...”

สิ่งที่ท่านหลวงพ่อจรัญได้เมตตาไว้ข้างต้นนี้ เป็นคติธรรมคำสอนที่จะเราทุกคนสามารถที่จะน้อมนำทำตามได้หากว่ามีความตั้งใจจริง นิพพานอาจจะคิดว่าเป็นสิ่งที่สูงและเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น คงจะต้องเป็นเรื่องที่แต่ละท่านจะได้ศึกษาและลองทำตามที่ท่านหลวงพ่อจรัญได้เมตตา  หากไม่เชื่อ ก็คงลองตายดูแล้วคงจะพบความจริงหรือไม่อย่างไรต่อไปในที่สุด

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดพิจารณาเมตตาชี้แนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้  

ไม่เวียนวนมาเกิด  สิ่งประเสริฐเลิศอย่างดี
ตายไปในทันที  นิพพานมีดีแน่นอน

ไม่เชื่อต้องลองตาย  อย่าเสียดายตายไปก่อน
นิพพานได้ทุกตอน  ไม่ต้องย้อนกลับมาใหม่

หมดสิ้นในกิเลส  ช่างวิเศษเดชยิ่งใหญ่
ตัณหาหมดสิ้นไป  สุขฤทัยในที่สุด  

ไม่หลงไม่มีโกรธ  ไม่มีโลภโทษจะหยุด
มีธรรมในทุกจุด   ไม่สะดุดในโลกา

ความสุขไม่เจือปน  ตายจากคนพ้นโศกา
สิ้นกิเลสตัณหา  สุขทุกคราพาเบิกบาน

ชีวิตหากวนเวียน  สลับเปลี่ยนเวียนเนิ่นนาน
ไม่พบในนิพพาน  ทุกข์อีกนานสานต่อไป

ชีวิตนิพพานัง  ปรมังสุขังไว้
ทำกรรมอะไรไว้  ชดใช้ไปให้หมดลง

ละวัฏสงสาร   ธรรมประสานนานยืนยง
นิพพานตามประสงค์  ธรรมดำรงคงมั่นเอย 

ปภาวีร์ 
๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น