Nuffnang Ads

วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน " หลวงปู่ชา เพราะชอบไม่ชอบ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน " หลวงปู่ชา เพราะชอบไม่ชอบ" คติธรรมคำสอนของท่านหลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เกี่ยวกับเรื่องของ "ชอบไม่ชอบ"  หากว่าท่านใด "ชอบ" ก็ลองฟังต่อได้ที่ YouTube ต่อไปนี้ 


"...จริงแล้วไม่ต้องค้นคว้าอะไรให้มากมาย มันมีความสงบ มันมีความระงับ เพราะว่าโลกอันนี่ ที่เราอยู่เนี้ย  มันไม่ทำอะไรใคร มันไม่เป็นอะไรกับใคร นะ  มันก็เป็นสภาวะของมันอยู่อย่างงั้น ทำไมบางครั้งเราถึงเป็นทุกข์ เพราะเราไม่ชอบมัน ทำไมบางครั้งเราถึงเป็นสุข เพราะเราไปชอบมันเข้า ไอ้เรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องชอบ เรื่องไม่ชอบ มันเป็นเรื่องของธรรมดาของมัน เปลี่ยนแปลงไปมาอยู่เช่นนั้น แต่คนไม่ค่อยจะมาดูตัวของตัวเอง ไปมองดูอย่างอื่นมาก มันจึงไม่เห็นตน ถ้าคนเห็นตน มันก็เห็นความจริง เห็นตนก็เห็นธรรมะ เห็นธรรมะก็เห็นตน 
อันนี้มันไม่เห็นตน มันก็ไม่เห็นธรรมะ ไม่เห็นตนไม่เห็นธรรมะ มันก็ไม่เห็นความจริง ถ้าไม่เห็นความจริง ก็ไม่มีความถูกต้อง ตามความจริง ตามธรรมะ ฉะนั้น คนไม่รักธรรมะ มันจึงเป็นทุกข์ มันถึงไม่สบาย คนมีธรรมะในใจแล้วนะ มันสบาย มันสบาย ก็เพราะมันอย่างงั้น เป็นความจริงอยู่ทุกอย่างในโลกนี้ มันเป็นจริงอย่างนั้น..." 

คติธรรมคำสอนของท่านหลวงปู่ชาข้างต้น หากว่าได้ฟังแล้วชอบ ก็ลองฟังอีกสักครั้ง (หรือ หลายๆ ครั้งก็ได้) แล้วยิ่งจะทำให้เราได้เห็นตนมากยิ่งขึ้น ว่าตัวตนของเรานี้เป็นอย่างไร มีความชอบใน "ธรรมะ" แล้วหรือยัง หากว่ายังไม่ชอบก็ต้องขอบอกอีกครั้งว่า "ต้องฟังท่านหลวงปู่ชา" อีกรอบ  (แล้วอาจจะชอบในที่สุด)

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้กรุณาเมตตาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้ 

จะชอบหรือไม่ชอบ  จะต้องตอบตนให้ได้
ชอบแล้วจะสุขใจ  ชอบเข้าไว้ในใจตน

ต้องกลับดูตัวเอง  จิตต้องเล็งเพ่งอดทน
ธรรมะจะต้องสน  มนุษย์คนทนต่อไป

ถ้าไม่เห็นความจริง  ทุกข์อย่างยิ่งจริงหรือไม่
ทุกอย่างอยู่ที่ใจ  จะถามใครให้รู้ดี

เห็นธรรมะเห็นตน  ทุกข์หนี้พ้นจนสุขี
ธรรมะเป็นของดี  จะต้องมีจิตเฝ้าดู

คนไม่รักธรรมะ  ไม่พบพระไม่เรียนรู้
ไม่ชอบน่าอดสู  เลยไม่รู้อยู่ทุกข์ใจ

ความจริงตามธรรมะ ชั่วลดละจะสุขใจ
ต้องชอบธรรมมากไว้  ธรรมในใจให้สุขเอย

ปภาวีร์ 
๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น