Nuffnang Ads

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่ชา จิตไม่มีอาหาร"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่ชา จิตไม่มีอาหาร" คติธรรมคำสอนของท่านหลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เชื่อว่าพุทธศาสนิกชนคนไทยทราบกันดี  ซึ่งท่านได้เมตตาไว้เกี่ยวกับเรื่องของ "จิตไม่มีอาหาร" จึงขอเชิญรับฟังได้จาก YouTube ต่อไปนี้ 


"...เพราะใจขาดอาหาร ขาดอาหารทั้งใจ ใจเราขาดอาหารที่ดี แต่ว่าอาหารร่างกายของเรามันพอสมควรแล้วทุกคน และอาหารทางใจคืออาหารทางจิตที่มาปฏิบัตินี้ เราพร้อมที่จะให้อาหารทางจิต ให้จิตเรามันอ้วน อันนี้พูดตามความรู้สึกที่อาตมาได้ก้าวเข้ามาสู่ชาวตะวันตกนี้เป็นอย่างนั้น คือ จิตไม่มีอาหาร จิตเรานั้น ก็หมายความว่า ปล่อยจิตไปตามอารมณ์ อารมณ์เป็นอย่างไร ก็ปล่อยจิตไปตามอารมณ์อย่างนั้น ผลที่สุดแล้ว ก็อารมณ์อันนั้นก็ดึงไปสู่ความทุกข์ เราทั้งหลายไม่มีปัญญา คือ มันปราศจากอาหารนั้น เห็นความสุขก็ตะครุบเอา เห็นความทุกข์ก็ไปตะครุบเอา ว่าเห็นสุขมันเป็นอย่างหนึ่ง เห็นทุกข์มันเป็นอย่างหนึ่ง ไม่รู้จักแก้ไขในส่วนตัวของเรา..."

คติธรรมคำสอนของท่านหลวงปู่ชาข้างต้น เชื่อว่าทุกท่านจะต้องเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะคนเราทุกคนจะต้องรับประทานอาหารเพื่อร่างกาย แต่เรื่องของอาหารทางจิต "จิตไม่มีอาหาร" คงจะต้องเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่จะต้องสนใจให้อาหารกับจิตตามที่ท่านหลวงปู่ชาได้เมตตาไว้  สิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นจริง คือ อาหารทางร่างกายย่อมจะมีวันอิ่ม ย่อมจะอิ่ม (หากว่าอิ่มแล้วยังกินอีก ท้องคงจะแตกอย่างแน่นอน) แต่ถ้าหากเป็นอาหารทางจิต เชื่อว่าจิตคงจะไม่มีวันอิ่ม ยิ่งจิตมีอาหาร คือ "ธรรมะ" มากเท่าไร ก็ยิ่งจะดียิ่งๆ ขึ้นไปในที่สุด 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดเมตตากรุณาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไปดังนี้

จิตไม่มีอาหาร  ไม่เบิกบานสำราญใจ
อาหารทางจิตใจ  ทำอย่างไรจะได้มา

ปล่อยจิตตามอารมณ์  ทุกข์ระทมตรมอุรา
อาหารจิตมีค่า  ต้องค้นหามาสู่ใจ

สุขก็ตะครุบเอา  ทุกข์ก็เอาเหมามาไว้
เรื่องธรรมไม่สนใจ  ทุกข์ต่อไปไม่ได้ดี

อาหารจิตชิดธรรม  เป็นประจำให้มากมี
ไตร่ตรองคิดให้ดี  อิ่มฤดีมีสุขใจ

ธรรมะอาหารจิต  วันละนิดจิตแจ่มใส
ความทุกข์หนีห่างไกล  สุขฤทัยทุกข์ไม่มี

ธรรมะไม่มีอิ่ม  หากลองชิมยิ้มทันที
อิ่มธรรมเป็นเรื่องดี  นำชีวีมีสุขเอย

ปภาวีร์ 
๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น