ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ดอกบัว คู่ ธรรมะ"
อุบลฯ เมืองดอกบัว คู่ ธรรมะ
--------------------
เมืองดอกบัวงดงาม เลื่องลือนามถามต้องรู้
อุบลน่าเรียนรู้ น่าเชิดชูดูบัวบาน
ดอกบัวสีชมพู บานพรั่งพรูดูสำราญ
ดอกบัวคือตำนาน ต้องสืบสานประสานใจ
ดอกบัวมีประโยชน์ ไม่มีโทษคุณยิ่งใหญ่
ดอกบัวสีสดใส ต้องใส่ใจในเรื่องคุณ
ดอกบัวคู่ธรรมะ บูชาพระจะได้บุญ
ดอกบัวบูชาคุณ ธรรมเกื้อหนุนจุนเจือเอย
-----------------------
บัว กับ เมืองดอกบัว (อุบลราชธานี)
เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเมืองแห่งดอกบัว ซึ่งประโยชน์ของบัวมีมากมาย ตัวอย่างเช่น
ดอกบัว
ประชาชนนิยมนำไปบูชาพระมากกว่าดอกไม้ชนิดอื่น เพราะดอกบัวสามารถคงความงามไว้ได้นาน
เมล็ดบัว
เป็นแหล่งรวมธาตุอาหารหลายชนิด สามารถนำมากินได้ทั้งสดและแห้ง ยังนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวาน หรือนำไปบดเป็นแป้งกวนทำไส้ขนมก็ได้
เกสรบัว
มีสรรพคุณทางยาหลายชนิด ปัจจุบันมีการนำเกสรบัวมาทำผลิตภัณฑ์เครื่องบำรุงผิวพรรณอีกด้วย
ดีบัว
มีสารเนเฟอรีน (neferine) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ สามารถขยายหลอดเลือดและช่วยให้นอนหลับง่าย
ใบบัว
นำมาห่อข้าว เป็นข้าวห่อใบบัว ส่วนใบอ่อนสามารถนำมากินเป็นผักสดแกล้มน้ำพริก หรือนำมาหั่นฝอย ๆ ชงดื่มแทนน้ำชา ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำได้เป็นอย่างดี
ก้านบัว
นำมาตากแห้ง สามารถใช้แทนยากันยุงหรือใช้ทำเชื้อเพลิง ใช้ปิ้งย่าง ทำให้มีกลิ่นหอมและสามารถนำไปทำเยื่อกระดาษได้เช่นเดียวกับกระดาษสา
เหง้าบัว
เป็นลำต้นใต้ดินสำหรับสะสมอาหาร ขนาดใหญ่ อ้วน มีคุณค่าทางอาหารมาก นิยมนำมาเชื่อมแห้งกินเป็นของหวาน หรือนำไปต้มกับน้ำตาลกรวด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ
ไหลบัว
เป็นยอดอ่อนของบัว สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งสด ทั้งแห้ง จิ้มน้ำพริกหรือผัดก็อร่อย โดยมากจะนำมาแกงส้ม แกงเลียง ผัดเผ็ดต่าง ๆ
ส่วน “บัวสาย” ก้านของบัวสาย สามารถปรุงอาหารแทนผักได้หลายชนิด ทั้งแกงส้มสายบัว แกงสายบัวกับปลาทู และทำขนมสายบัว
นอกจากนั้น เพื่อเป็นการองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘ และเป็นการส่งเสริมเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี อันนำไปสู่ความสำคัญระดับชาติ ในเบื้องต้นอาจจะมีการพัฒนา “บัวอุบล” ดังนี้
บัวอุบลฯ BUA UBON
B = Beauty สวยงาม
U = Upgrade ยกระดับ ทำให้ดีขึ้น
A = Atop บนยอด สุดยอด สูงสุด
U = Usable มีประโยชน์
B = Bright สีสดใส
O = Optimal เหมาะสมที่สุด ดีที่สุด
N =National ประจำชาติ ระดับชาติ
ดังนั้น BUA UBON ต้องสวยงามถูกทำให้ดีขึ้นสูงสุดโดยพัฒนาให้มีประโยชน์สีสดใสที่ดีที่สุดในระดับชาติ
อุบลฯเมืองดอกบัว รู้กันทั่วเมืองบัวงาม
บัวอุบลฯ ลือนาม เป็นนิยามของดอกบัว
บัวมีมากหลายพันธุ์ ต้องร่วมกันให้รู้ทั่ว
อนุรักษ์พันธุ์บัว ทุกครอบครัวมารวมกัน
อุบลฯต่างต้องชวน ทุกภาคส่วนต้องแข็งขัน
ช่วยประชาสัมพันธ์ สืบสานพันธุ์บัวงามเอย
“บัว”
===============
เรื่องของบัว ทั่วไป ไม่รู้ดี
บัวมีดี ราชินี แห่งพืชน้ำ
บัวที่เห็น เป็นอยู่ งามเลิศล้ำ
ควรจดจำ นำรู้ คู่บูชา
บัวอียิปต์ มีดี สี่พันปี
บัวหลายสี ที่เป็น เห็นล้ำค่า
บัวอุบล ล่องหน คนสืบหา
บัวมีค่า หารู้ คู่อุบลฯ
---------------------
ดอกบัวกับพุทธศาสนา
เมื่อพระสิทธัตถะออกบวช ทรงกระทำความเพียรปฏิบัติธรรมจนบรรลุอนุตรสัมมาโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ทรงพิจารณาถึงธรรมที่ทรงตรัสรู้ว่าเป็นธรรมะอันล้ำลึกยากที่ชนผู้ยินดีในกามคุณจะรู้ตามได้ แต่อาศัยพระมหากรุณาในหมู่สัตว์ ทรงพิจารณาทบทวนดูอัธยาศัยเวไนยสัตว์อีก ก็ทรงทราบว่าผู้มีกิเลสเบาบางอันอาจรู้ตามได้ก็มี จึงเกิดอุปมาเวไนยสัตว์เหมือน “ดอกบัว”ว่า
เวไนยสัตว์ย่อมแบ่งออกเป็นสี่เหล่าตามอัธยาศัย คือ
เหล่า ๑ ผู้มีกิเลสน้อยเบาบาง มีอินทรีย์กล้าจะพึงสอนให้รู้โดยง่าย อาจรู้ธรรมพิเศษได้ฉับพลัน อันเปรียบเหมือนดอกปทุมชาติที่โผล่พ้นจากพื้นน้ำขึ้นมา แล้วคอยสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์อยู่ จักบานในวันนี้
เหล่า ๑ ผู้มีกิเลสค่อนข้างน้อย มีอินทรีย์ปานกลาง ได้รับอบรมจนอุปนิสัยแก่กล้าแล้ว ก็สามารถบรรลุธรรมพิเศษได้ เปรียบเสมือนดอกบัวซึ่งยังตั้งอยู่เสมอพื้นน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้
เหล่า ๑ ผู้ที่มีกิเลสยังไม่เบาบาง ก็ยังควรได้รับคำแนะนำในธรรมปฏิบัติไปก่อนจนกว่าอินทรีย์จะแก่กล้า จึงสอนให้รู้ธรรมะขั้นสูง ก็จะบรรลุธรรมพิเศษ เปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังจมอยู่ในน้ำ คอยเวลาที่จะเลื่อนขึ้นจากน้ำ และบานในวันต่อ ๆ ไป
เหล่า ๑ ผู้ที่มีกิเลสหนาปัญญาหยาบหาอุปนิสัยไม่ได้เลย ไม่สามารถจะบรรลุธรรมพิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่จมอยู่ใต้น้ำ และเป็นภักษาของเต่าปลา
(อ้างอิงที่มา หนังสือ “บัว ราชินีแห่งไม้น้ำ โดยคุณหญิงคณิตา เลขะกุล)
----------------------
บัวสี่เหล่า
อันว่าบัว ทั่วไป ให้เหมือนคน
มีปะปน คนไป ในสี่เหล่า
จมใต้น้ำ ตามจิต คิดโง่เขลา
คงต้องเศร้า เหงาใจ ไปอีกนาน
บัวในน้ำ ดำดิ่ง นิ่งไม่ได้
ไม่สุขใจ ได้อยู่ อีกช้านาน
บัวพื้นน้ำ ยามนี้ ดีก่อสาน
ไม่ช้านาน สานก่อ ต่อเรื่องดี
บัวพ้นน้ำ ทำดี มีมากมาย
ย่อมสบาย กายใจ ให้สุขี
บัวสูงส่ง ตรงธรรม นำความดี
ย่อมจะดี มีพ้น ล้นทางธรรม
ปภาวีร์
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘