Nuffnang Ads

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

(ร่าง) โครงการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการข้อมูลความรู้ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี

(ร่าง)
โครงการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการข้อมูลความรู้
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี

หลักการและเหตุผล
              พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายในหัวข้อ แนวโน้มการจัดการเรียนการสอนเพื่อการเรียนรู้ในทศวรรษหน้าในการสัมมนาวิชาการ เรื่อง เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ในทศวรรษหน้า”  ณ โรงแรม บีพี สมิหลา จังหวัดสงขลา  วันที่ 23 กันยายน 2542  ความตอนหนึ่งว่า “...แนวโน้มความรู้ในทศวรรษหน้าจะมีหลายอย่าง   ดังนี้  ประการแรก   ความรู้สากล คือความรู้ที่จะสามารถเปรียบเทียบกันได้ทั้งโลก ประการที่  2  ความรู้ที่เป็นมาตรฐานระดับประเทศ  ที่เราจะกำหนดว่าคนไทยควรต้องรู้อะไร ประการที่  3   ความรู้ท้องถิ่น  ทำให้เรารู้ความเป็นมาและศักยภาพของท้องถิ่น ที่สำคัญคือ จะต้องสามารถโยงความรู้ทั้ง 3 ระดับนี้ให้เข้ากันได้...”  (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. (2542). รัตนพินิจ นิทิศการศึกษา : รวมปาฐกถาด้านการศึกษา ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  กรุงเทพมหานคร มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร)  ดังนั้น จะเห็นว่าความรู้ท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดการโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความรู้ดังกล่าวสามารถที่เผยแพร่ให้ความรู้กับประชาชนทั่ว อันจะนำไปสู่ความรู้ที่เป็นมาตรฐานระดับประเทศ และความรู้สากลในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญของประเทศชาติที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๕๗ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทรงเปิดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๕๗  (อ้างอิง  ๑)  นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า จากการที่เฝ้ารับเสด็จฯ     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งด้วยว่า "หลังจากมีการสร้างอาคาร หอสมุดแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุแห่งชาติใหม่แล้ว ควรจะมีการพัฒนารูปแบบการให้บริการแก่ประชาชนให้มีมาตรฐาน อีกทั้งควรจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้มากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ ควรมีการปรับปรุงระบบจัดเก็บเอกสารหายากให้สามารถสืบค้นและเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ส่วนงานด้านจดหมายเหตุ ควรมีความร่วมมือกับหอจดหมายเหตุชาติของต่างประเทศ เพื่อขอสำเนาเอกสารมาให้คนไทยศึกษาค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วย(อ้างอิง  ๒)   สำหรับจังหวัดอุบลราชธานีในด้านศิลปวัฒนธรรมนั้น จังหวัดอุบลราชธานีเป็นเมืองราชธานีที่มีประวัติอันยาวนานเกี่ยวข้องกับศิลปะมาตั้งแต่โบราณกาล ตามคำขวัญของจังหวัดที่ว่า "เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์" โดยที่ผาแต้มนั้นเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศไทย  นอกจากนั้น จังหวัดอุบลราชธานีได้กำหนดวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาจังหวัด คือ ชุมชนเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่ เป็นประตูการค้าและการท่องเที่ยว การเกษตรมีศักยภาพพร้อมทั้งกำหนดนโยบาย ๔ นคร ประกอบด้วย "นครแห่งธรรม นครแห่งเทียน นครแห่งการพัฒนา นครแห่งความฮักแพง" ซึ่งจะเห็นว่าวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ว่า เมืองน่าอยู่นั้น จะต้องประกอบด้วยด้านการพัฒนาศิลปวัฒนธรรม อันจะสอดคล้องกับนโยบาย ๔ นคร เช่นกัน  เมื่อกล่าวถึงศิลปวัฒนธรรมนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเชื่อมโยงกับพื้นที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกลของจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า "หุ้นส่วนเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านโดยที่หุ้นส่วนเศรษฐกิจหากมีการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างประเทศเพื่อนบ้านแล้ว จะเกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อพร้อมที่เป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งในปีดังกล่าวอยู่ในช่วงระยะของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑  โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่จะเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับการเป็นประชาคมอาเซียนที่ประกอบด้วยเสาหลัก คือ (๑)ประชาคมความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community–ASC) (๒) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC)  และ (๓) ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) ด้วยเหตุดังกล่าว การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องความรู้ด้านต่างๆ นอกจากด้านศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งหน่วยงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานีมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในการติดต่อประสานงานกับทุกส่วนราชการในการถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.๒๕๒๖ โดยเฉพาะในเรื่อง การรับมอบเอกสารราชการที่มีอายุครบ ๒๕ ปี การฝากเก็บเอกสารราชการ และการทำลายเอกสารราชการ รวมทั้งการได้มาของเอกสารที่เก็บรักษาไว้เป็นเอกสารสำคัญของชาติ หรือเอกสารจดหมายเหตุ ดังนั้น หากว่านำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ในการจัดการข้อมูลของหอจดหมายเหตุฯ พัฒนาในรูปแบบสื่อดิจิตอล จะสามารถทำให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นสารสนเทศความรู้ที่เป็นมาตรฐานระดับประเทศและความรู้สากลในที่สุด
                 
วัตถุประสงค์
๑.      เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๖๐ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๕๕๘  (ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ ๒ เมษายน ของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันพระ ราช สมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น วันอนุรักษ์มรดกไทย”)
๒.      เพื่อเป็นการน้อมนำพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในประเด็นการเชื่อมความรู้ ๓ ระดับ คือ ความรู้ท้องถิ่น ความรู้ระดับประเทศและความรู้สากลให้เข้ากันได้โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ 
๓.      เพื่อพัฒนาข้อมูลจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานีเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับนักเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา และประชาชนทั่วไปในรูปแบบสื่อดิจิตอล

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
๑.      ทำให้ประชาชนสำนักในพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติในวโรกาส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๖๐ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ 
๒.      ทำให้สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์เชื่อมต่อข้อมูลความรู้ ๓ ระดับ คือ ความรู้ท้องถิ่น ความรู้ระดับประเทศและความรู้สากลให้เข้ากันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๓.      ทำให้มีแหล่งเรียนรู้จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานีด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับนักเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา และประชาชนทั่วไปในรูปแบบสื่อดิจิตอล

อ้างอิง

ที่มาของภาพ http://www.finearts.go.th/promotion/ข่าวประชาสัมพันธ์/ข่าวประชาสัมพันธ์/item/สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ-สยามบรมราชกุมารี-เสด็จฯ-ทรงเปิดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย-พุทธศักราช-๒๕๕๗.html



ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้เดินทางไปเยี่ยมชมอาคารโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (หลังเก่า) โดยมีท่านสุรพล สายพันธ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ให้การต้อนรับและนำเสนอเกี่ยวกับอาคารดังกล่าว






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น