Nuffnang Ads

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ตอกตะปู


หลายวันก่อนมีน้องที่เป็นหมอได้อยากจะให้เขียนเรื่องที่เกี่ยวกับ "ตอกตะปู" ผู้เขียนก็รับปากไว้และตั้งใจว่าจะเขียนให้เร็วทีสุด แต่ก็ไม่มีเวลาเพื่อที่จะเขียน อีกทั้งเป็นเรื่องที่คิดไม่ออกว่าจะเขียนอย่างไรดี

แต่ไม่เป็นไรในเมื่อเรารับปากแล้วจะต้องรักษาคำพูดของตัวเราเอง ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ตะปู นั้นมาจากคำว่า ตาปู (ตาของปู) หรือไม่ ถ้าเราสังเกตตาปูให้ดีๆ ก็จะเห็นว่าก็อาจะมีลักษณะที่คล้ายตะปูเหมือนกัน คือ มีหัวตะปู (ซึ่งคล้าย ส่วนหัวตาของปู)


ที่นี้มาขอเริ่มก็แล้วกัน ตอกตะปู เป็นการที่เรานำตะปูไปตอกกับวัตถุต่างๆ ไม่ว่าเป็นพื้นไม้ ท่อนไม้ คอนกรีต ฝาผนัง ฝาบ้านหรือสิ่งอื่นๆ ซึ่งจะเห็นว่า การตอกตะปู ส่วนมากแล้วจะเป็นการยึดวัตถุให้มีความติดแน่นกันหรือยึดกันให้อยู่ด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ และที่สำคัญคือ ตอกตะปูจะทำให้วัตถุที่ถูกตอกเป็นรูตามขนาดของตะปู ก็แสดงว่าตอกตะปูทำให้เกิดการติดกันและเป็นรู หากตอกตะปูด้วยแรงมากๆ ก็ทำให้เกิดการยึดติดกันมากขึ้นไปด้วย ถ้าเปรียบเหมือนชีวิตของมนุษย์เรา ตอกตะปูน่าจะเปรียบเสมือนกับที่เราได้สร้างความสัมพันธ์กับใครเพื่อให้มีความใกล้ชิดและความลึกซึ้งเข้าใจกัน และถ้ายิ่งใส่ใจความตั้งใจในความสัมพันธ์ดังกล่าวก็จะเกิดความใกล้ชิดกันอย่างเหนียวแน่นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ตอกตะปู จะตรงข้ามกับคำว่า "ถอนตะปู" ทั้งตอกตะปูและถอนตะปูต่างจะต้องใช้แรงในการตอกและถอนพร้อมทั้งใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อที่จะให้การตอกและการถอนตะปูไม่เกิดปัญหา แต่ประการสำคัญ คือ เมื่อมีการถอนตะปูขึ้นมาจะเกิดรอยของรูตะปูอย่างแน่นอนหนีไม่พ้น ซึ่งจะหาอะไรมาปิดบังหรืออุดรอยตะปูดังกล่าวก็ยังรู้อยู่วันยังค่ำว่าเคยเป็นรอยตะปูมาก่อน และถ้าหากเปรียบกับชีวิตของเราแล้วก็อาจจะหมายถึง เมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเป็นอย่างดีและเกิดเลิกลากัน ทั้งสองคนที่คบหากันนั้นก็ยังมีรอยในอดีตที่ไม่สามารถจะลืมเลือนได้ ซึ่งจะต้องใช้เวลาเข้ามาช่วยเพื่อให้รอยดังกล่าวคอยจางหายไป โดยจะหาใครมาทดแทนเหมือนกันการปิดบังหรืออุดรอยตะปูก็อาจจะได้หรือไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้นั้น

แต่ผู้เขียนคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ควรจะทำเมื่อมีรอยจากการถอนตะปู คือ หาวัสดุอะไรก็ตามแต่ที่มีความเหมือนกันวัสดุที่เป็นรอยรูตะปูมาอุดให้สามารถมองไม่เห็นรอยจะเป็นการดีที่สุด ซึ่งถ้าหากเป็นเรื่องชีวิตมนุษย์ ก็อาจจะเปรียบได้ คือ เราก็หาใครสักคนที่เหมาะกับตัวของเรามากที่สุด ถ้าหาไม่เจอก็ให้มันเป็นรอยต่อไป สักวันหนึ่งมันก็จะชินไปเอง ก็ได้แต่หวังว่า เมื่อตอกตะปูแล้วก็ไม่ควรจะถอนตะปู แต่ไม่เป็นไรถ้าท่านใดที่ถอนตะปูไปแล้วก็ให้มันเป็นไปอย่างนั้น ก็เท่านั้น

ที่นี้ มีตอกตะปูอย่างหนึ่งที่ถูกนำไปใช้กับเรื่องอะไรก็ตามแต่ที่จะเป็นจะเกิดอย่างแน่นอน คำที่ว่า คือ "ตอกฝาโลง" ซึ่งตอกฝาโลงมักจะใช้สำหรับเหตุการณ์ใดๆ ที่ดูเหมือนจะยากที่กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ เช่น การแข่งขันฟุตบอลที่ผลการแข่งขันขณะเวลาประมาณนาทีที่ ๘๘ ผลของทีม ก นำ ทีม ข อยู่ด้วยผล ๓ ต่อ ๐ แต่พอนาทีที่ ๘๙ ทีม ก ยิงเพิ่มอีก ๑ ประตู เป็น ๔ ต่อ ๐ ดังนั้น ณ เวลานาทีที่ ๘๙ ผู้บรรยายมักจะพูดว่า "ทีม ก ตอกฝาโลง" นั้นหมายความว่า ไม่ฟื้นจากการตาย(คือ คนตายอยู่ในโลงศพ)อย่างแต่นอน โดยหากประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันสำหรับคำว่า "ตอกฝาโลง" ก็น่าจะสามารถใช้กับเรื่องใดเรื่องนั้นที่เราคิดว่า เราตั้งใจอย่างแน่วแน่จะไม่เปลี่ยนแปลงเป้าหมายใดๆ ที่ตั้งใว้ ก็อาจจะเรียกได้ว่าเราตอกฝาโลงสำหรับเป้าหมายของเรา ที่เรายึดไว้ให้เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้

ดังนั้น ตอกตะปู เป็นสิ่งที่ดีที่เราทุกคนควรจะตอกตะปูในเรื่องการทำงานใดๆ ที่เราต้องการให้ความใกล้ชิด ความสัมพันธ์กัน ให้ยึดกันติดยึดมั่นกันเพื่อให้ทุกอย่างอยู่ด้วยกันประกอบกันให้มีความสมบูรณ์ ผู้เขียนขอให้กำลังใจสำหรับท่านใดที่กำลังจะตอกตะปูในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอกตะปูในเรื่องของการทำงานร่วมกันในองค์กร

มนูญ ศรีวิรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น