การไม่รู้เป็นสิ่งที่อันตรายมากสำหรับมนุษย์เรา เพราะหากเราไม่รู้อะไรในเรื่องใดๆ ก็ตาม เราก็จะไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับมัน ทำอย่างไรกับเรื่องนั้นๆ การไม่รู้นั้น เกิดจากอะไรครับ เกิดจากที่เราไม่แสวงหาข้อมูลสิ่งที่เกี่ยวข้อง นั่นหมายความว่า เราไม่มีความสนใจใส่ใจเลย ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใดก็ตามควรจะต้องมาเริ่มในการที่จะรู้ ทั้งการเรียน การทำงาน
มีหลายตัวอย่างมากมายที่การไม่รู้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก การไม่รู้แล้วยิ่งพูดต่อไปๆ ก็ยิ่งเกิดความเสียหายเพิ่มทวีคูณมากยิ่งขึ้น การไม่รู้ข้อมูลความเป็นมาของเรื่องใดๆ ทำให้เราตัดสินใจในเรื่องนั้นๆ เกิดความผิดพลาด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นั้น (ผู้ที่ไม่รู้) ใส่อารมณ์ที่เป็นความอิษฉาริษยา ความเห็นแก่ตัว ก็ยิ่งทำให้เรื่องไม่รู้ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และถ้าหากผู้นั้นได้กล่าวถ่ายทอดต่อไปอีก ก็ยิ่งทำให้การไม่รู้ดังกล่าวเกิดความเสียหายมากขึ้น
สำหรับการไม่รู้เกิดขึ้นได้กับคนทุกระดับทั้งการศึกษาระดับสูง บางคนที่มีการศึกษาระดับสูงแต่ไม่รู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่รู้ความเป็นมาของเรื่องนั้นๆ แต่เขาได้ใช้ความรู้สึกเอาเองว่ามันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ซึ่งเป็นการแสดงความโง่ของตัวเขาเอง ยิ่งเขาแสดงความรู้สึกความคิดเห็นออกไป ยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกในเรื่องดังกล่าว เพราะเขาไม่รู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง และยิ่งคนที่ได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว นำไปใช้ในการใดๆ ก็ตามแต่ ก็ยิ่งทำให้เกิดการไม่รู้มากยิ่งๆ ขึ้น เสียหายมากยิ่งไปอีก โดยเฉพาะหลายๆ อาชีพจะต้องรู้ให้มากที่สุด ยิ่งผู้ที่เป็นครูอาจารย์แล้วยิ่งจะต้องรู้ให้มากขึ้นในทุกๆเรื่อง เพื่อจะได้นำสิ่งที่รู้นั้นไปบอกไปสอนลูกศิษย์ให้ได้รับความรู้ทุกๆด้าน เพื่อลูกศิษย์จะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพในอนาคต
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น พระพุทธองค์ถึงได้กล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องการรับรู้ อย่าเชื่องมง่ายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดีก่อนเชื่อ มีอยู่ 10 ประการคือ
- อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ฟังๆ กันมา
- อย่าเพิ่งเชื่อตามที่ทำต่อๆ กันมา
- อย่าเพิ่งเชื่อตามคำเล่าลือ
- อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างตำรา
- อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกเดา
- อย่าเพิ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา
- อย่าเพิ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล
- อย่าเพิ่งเชื่อเพราะถูกกับทฤษฎีของตน
- อย่าเพิ่งเชื่อเพราะมีรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้
- อย่าเพิ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน
ข้างต้นนั้นเรียกว่า กาลามสูตร และที่ชาวพุทธท่านรู้กันดีว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพราะ ตรัสรู้ แปลว่า รู้แจ้ง รู้อย่างแจ่มแจ้ง รู้ชัดเจน
การไม่รู้ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เราสามารถที่แก้ไขได้เพียงแต่เราเริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การหาข้อมูลเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง การอ่านหนังสือเอกสารที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้เรารู้เรื่องนั้นๆให้เข้าใจได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ซึ่งมีหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าสนใจ และผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านที่สนใจได้อ่าน ชื่อหนังสือว่า คนฉลาดแล้วแสร้งโง่ (เขียนโดย อิบูคิ ทาคาชิ และ อธิคม สวัสดิญาณ แปลเรียบเรียง) ซึ่งน่าจะดีกว่า โง่แล้วแสร้งฉลาด
ดังนั้น วันนี้เป็นต้นไป เรามาเริ่มรู้ให้มากกว่า การไม่รู้ และที่สำคัญที่สุด คือ การรู้ตัวเองให้มากยิ่งขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น