กาชาด เป็นคำนาม หมายถึง สัญลักษณ์ของการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน โดยมีเครื่องหมายกากบาทสีแดงบนพื้นสีขาว
จังหวัดทุกจังหวัดของประเทศไทยเราจะจัดงานกาชาด (รวมทั้งงานกาชาดที่สวนอัมพร กรุงเทพมหานคร) การจัดงานดังกล่าวนั้น ผู้เขียนไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร มีวัตถุประสงค์อย่างไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ คือ เป็นงานที่ทำให้ประชาชนในจังหวัดได้มีโอกาสร่วมทำบุญบริจาคให้กับ กาชาดจังหวัด เพื่อให้จังหวัดมีทุนทรัพย์ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินสำหรับผู้ที่เดือดร้อนจากประสบภัยธรรมชาติหรือภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดหมาย ซึ่งภัยดังกล่าวผู้เขียนเชื่ออย่างแน่นอนเลยว่าไม่มีใครหน้าไหนต้องการหรอกครับ
ในปีนี้ก็เช่นกัน งานกาชาด (รวมปีใหม่) ของจังหวัดอุบลราชธานี จัดระหว่างวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นงานที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก็ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง (เล็กๆ) โดยการจัดนิทรรศการของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานกาชาดได้มีโอกาสได้รับทราบข้อมูลที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีดำเนินการมาเป็นเวลา ๒๐ ปี อย่างไรก็ตาม นิทรรศการดังกล่าวอาจจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ก็อาจจะเนื่องจากคนที่เข้าชมงานโดยส่วนมาก (เท่าที่ผู้เขียนเฝ้าสังเกต) จะมาเพื่อความบันเทิง จับจ่ายใช้สอยซื้อสิ่งของที่ลดราคา ชาวบ้านที่มีงบประมาณน้อยก็อาจจะเป็นที่พอใจ เพราะสินค้าหลายๆ อย่างนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามสภาพราคาที่กำหนด ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างน้อยก็เป็นหนทางโอกาสหนึ่งที่ให้ประชาชนในจังหวัดที่มีงบน้อยสามารถเกิดความสุขได้ เพราะความสุขของคนเราไม่เหมือนกัน คนร่ำรวยก็อาจจะมีความสุขในช่วงปีใหม่ในการจับจ่ายซื้อสินค้าราคารแพงตามห้างใหญ่ๆ หรือที่ต่างประเทศ แต่กล่าวสำหรับผู้คนที่มีงบน้อยเงินน้อย ก็ใช้โอกาสของงานกาชาดปีใหม่นี้แหละเป็นช่วงที่เกิดความสุขได้เช่นกัน
งานกาชาดมีความหลากหลาย มีหลายประเภท บางท่านอาจจะชอบ บางท่านอาจจะไม่ชอบ การชอบหรือไม่ชอบของแต่ละท่านก็อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า "ไม่เหมือนกัน" การชอบตามสภาพสถานะของตัวเอง (รู้ตัวเอง) เป็นเรื่องที่เราจะต้องถามจิตใจของตัวเราเองว่าชอบหรือไม่ (ไม่มีใครไปบังคับได้) ซึ่งผู้เขียนจะไม่กล่าวถึงความไม่ชอบ เพราะการไม่ชอบทำได้ง่ายมาก ถ้าผู้อ่านไม่เชื่อลองทำดูซิครับ ที่นี้การชอบจะทำอย่างไรให้ชอบ ผู้เขียนคิดว่ายากกว่า เพราะเหตุใดถึงว่ายากกว่า การชอบมันต้องเหมาะกับตัวเราทั้งสถานภาพกายภาพของเราและจิตใจของเราด้วย บางท่านชอบเหลือเกินชอบรถเบนซ์ (ชอบด้วยจิตใจ) แต่สถานภาพสถานะของตัวเองไม่ได้เลย คือ เงินก็ไม่มี หน้าที่การงานก็งั้นๆ ดังนี้แล้ว ก็มักจะบอกว่า ชอบ ด้วยความพอดี พอดีกับตัวเราทั้งกายภาพและจิตใจ
ขออนุญาตวกกลับมาที่งานกาชาดเสียก่อน ก่อนที่จะไปเรื่องใหม่เรื่อยๆ งานกาชาดทำให้เราเห็นรอยยิ้มใบหน้าที่มีความสุขของคนที่เข้ามาสู่พื้นที่ของงาน ความสุขที่ว่ามีหลายประเภท เช่น ได้เสี่ยงโชค ได้ซื้อสิ่งของ ได้รับชมการแสดง ได้เล่นสิ่งของต่างๆ ได้รับประทานอาหาร ได้เดิน เป็นต้น และที่สำคัญ คือ ทุกคนที่ซื้อบัตรเข้างานกาชาด ท่านได้เป็นส่วนเหลือในการช่วยเหลือผู้คนที่ประสบภัยเดือดร้อนผ่านงานกาชาด เพราะรายได้จากการจัดงานนั้นส่วนหนึ่งมอบให้กับกาชาดจังหวัดเพื่อนำไปใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ ผู้เขียนก็ขอให้ทุกคนที่ไปเที่ยวงานกาชาดไม่ว่าจะเป็นจังหวัดใดก็ตามแต่ ได้รับบุญกุศลกันทุกท่าน ดังคำที่ว่า "ช่วยเหลือกาชาด กาชาดช่วยเรา"
มนูญ ศรีวิรัตน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น