มีผู้อ่านรบกวนให้ผู้เขียนลองเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับ มั่นคง (ความมั่นคง ... ในชีวิต) ผู้เขียนก็ไม่ค่อยจะแน่ใจสักเท่าไรว่าจะสามารถเขียนได้หรือไม่ แต่เมื่อมีผู้ต้องการ เราก็ควรจะสนองตามสภาวะความสามารถของเราเท่าที่เราจะทำได้
หลายๆ ท่านน่าจะทราบดีว่า มั่นคง หมายถึง อะไร ถ้าเป็นความมั่นคงของตึกอาคาร ผู้ที่อยู่อาศัยก็ต้องการให้มีความมั่นคงที่แข็งแรงไม่ทรุดตัวไม่มีชำรุดเสียหายสามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ให้ได้นานที่สุด
สำหรับ มั่นคงในวันนี้ ผู้เขียนขออนุญาตแยกออกจากกันเสียก่อน คือ มั่น และ คง
สำหรับคำว่า "มั่น" เป็นคำหนึ่งที่มีความพ้องเสียงกับ คำว่า หมั้น ซึ่งหมายถึง การจองไว้ก่อน (จองสำหรับการแต่งงานในอนาคต) พูดง่ายๆ คือ บอกหรือแสดงให้เข้าใจตั้งสองฝ่ายว่าเราจะต้องแต่งงานกันอย่างแน่นอน โดยการหมั้นดังกล่าวจะต้องมีการแสดงเจตจำนงและสิ่งของมัดจำเอาไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะต้องแต่งงานอยู่ด้วยกันในอนาคต นอกจากนั้น มั่น น่าจะหมายถึงความสมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งจะใช้กับคำ ยึดมั่น ถือมั่น มั่นใจ เป็นต้น
สำหรับคำว่า "คง" เป็นคำหนึ่งที่หมายถึง การทำอะไรก็ตามแต่ให้สิ่งนั้นมีสภาพที่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงถึงแม้ว่าเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตามแต่
ดังนั้น ผู้เขียนก็เลยคิดว่าสำหรับ "มั่นคง" ในความหมายของผู้เขียนนั้น ก็เสนอว่าเป็นเรื่องที่จะเรา "แสดงเจตนาตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะทำให้สิ่งต่างๆ ในความตั้งใจของเราให้มีสภาพที่ไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าเวลาจะก้าวเดินไป" ที้นี้ กล่าวสำหรับความมั่นคง...ในชีวิต ที่สิ่งที่ผู้คนทุกคนต้องการอย่างแน่นอนว่า ต้องการมีความมั่นคงในชีวิต แล้วความมั่นคงที่ว่าควรจะเป็นอย่างไร
ความมั่นคงในชีวิต ก็คือ "ความตั้งใจของเราความต้องการของเราที่อยากจะให้ชีวิตมีสภาพที่ดี (ผู้เขียนขอเน้นว่า ดี) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้ว่าเวลาของเราจะล่วงเลยวัยไปสู่ความชรา" ซึ่งความสำคัญของความมั่นคงในชีวิตดังกล่าว คือ คำว่า "สภาพที่ดี" ที่นี้ สภาพที่ดี คือ อะไร
สภาพที่ดี ของแต่ละคนไม่เหมือนกันไม่เท่ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนจะขออนุญาตนำเสนอ คือ สภาพที่ดีของแต่ละท่านควรจะดำเนินตามรอยพระบาทของในหลวงในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจความพอเพียง ที่ว่า ๑. ความพอประมาณของแต่ละคน ซึ่งความพอประมาณดังกล่าวของแต่ละท่านก็ไม่เหมือนกันเท่ากัน ๒. ความมีเหตุผลมีผลประกอบ ๓. ความมีภูมิคุ้มกัน ภายใต้การมีคุณธรรมและความซื่อสัตย์
แต่ละคนมีความต้องการ ความมั่นคงในชีวิตที่ไม่เหมือนกันไม่เท่ากันตามแต่สถานะอาชีพ เพศ การศึกษา หรือสถานะอื่นๆ เช่น คนที่ขับวินมอเตอร์ไซด์ก็อาจจะบอกว่าความมั่นคงของตัวเองคือให้มีอาชีพอย่างนี้ไปตลอดไปไม่เจ็บป่วยไข้ มีเงินเก็บออมเพื่อไว้รักษาตัวเองยามแก่ชรา คนที่ร่ำรวยมหาศาลอาจจะบอกว่าความมั่นคงของตัวเองขอให้มีมูลค่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีเงินปันผลทุกปี มีเงินทองเพิ่มขึ้น เป็นต้น
จะเห็นว่าความมั่นคงในชีวิตของแต่ละท่านไม่เหมือนกันอย่างแน่อน ผู้อ่านคงจะต้องตรวจสอบจิตใจของตัวเองว่าเราต้องการความมั่นคงในชีวิตอย่างไ แต่ถ้าหากคิดไม่ออกก็อาจจะใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นั้นคือ ความมั่นคงในชีวิตด้วยความพอประมาณสำหรับตนเอง ความมั่นคงในชีวิตในการมีเหตุผลในการประกอบอาชีพในการใช้ชีวิดำรงชีวิต และประการสำหรับคือ จะมีทำให้เกิดภูมิคุ้มกันสำหรับตัวเองในยามที่เราอาจะเดือดร้อนเจ็บป่วยไข้หรือเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามแต่ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ป้องกันได้ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี อาจจะเริ่มที่การมีจิตที่ดีงามจิตใจที่แข็งแกร่งเมื่อจิตใจดี กายก็ย่อมดีด้วย ทุกอย่างก็จะตามมาเอง
ดังนั้น ความมั่นคงในชีวิตสำหรับผู้เขียนนั้น คงจะต้องใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เหมือนกัน คือ พอประมาณในอาชีพที่เป็นอยู่ มีเหตุมีผลในการทำงานในดำรงชีพ และสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองที่จิตใจของตัวเองให้ได้มากที่สุด ตามที่ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าพบศ.ดร.ไพทูรย์ อิงคสุวรรณ (อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๔ ท่านได้แง่คิดไว้ว่าจิตที่ดีที่แข็งแกร่งจะทำให้ร่างกายดีและแข็งแกร่งไปด้วยและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในด้านต่างๆ ให้ตัวเราเป็นอย่างดี ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านทุกท่านจงมีความมั่นคงในชีวิตของท่านเองตามที่ท่านต้องการนะครับ
มนูญ ศรีวิรัตน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น