Nuffnang Ads

วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

ล้มเหลว

เราทุกคนคงจะประสบพบกับคำว่า "ล้มเหลว" ท่านใดที่ไม่เคยพบหรือประสบก็อาจจะมีความสุขและโชคดี แต่หากท่านใดที่เคยประสบก็ย่อมเกิดความทุกข์และโชคร้าย

"ล้ม" เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคำว่า "ตั้ง" และจะต้องตั้งตรงด้วย เพราะหากไม่ตั้งตรงสักวันก็อาจจะล้มลงมาได้ ซึ่งการตั้งที่ไม่ตรงเขาก็อาจจะเรียกว่า "เอน" ดั่งเช่นหอเอนเมืองปิซ่า (อิตาลี) ซึ่งเอนมาหลายร้อยปี และก็ยังเอนไม่ล้มลงมาสักที สำหรับการล้มนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราไม่แข็งแรงหรือมีรากฐานที่ไม่แข็งแรง เวลาที่มีอะไรก็กระทบกระแทก ก็ย่อมจะเอนไม่ว่าเป็นด้านซ้ายหรือด้านขวาก็ตามแต่ และหากได้รับแรงมากๆ การเอนดังกล่าวก็อาจจะทำให้สิ่งนั้นล้มได้ จะเห็นว่าหากเราทำอะไรก็ตามแต่ที่มีรากฐานไม่แข็งแรงไม่มีอะไรมาพะยุงค้ำไว้ก็มีโอกาสล้มได้ เหมือนกันกับเวลาที่เรานำต้นไม้ขนาดใหญ่ไปปลูกที่ใหม่ (สถานที่ใหม่) หากไม่มีไม้ค้ำยันไว้ทั้ง ๔ ด้านให้มีความแข็งแรงเพื่อให้ต้นไม้ดังกล่าวมีความแข็งแรงเจริญเติบโต เมื่อเวลาล่วงเลยไปสักพัก ต้นไม้ดังกล่าวสามารถปรับตัวได้มีความแข็งแรง ก็สามารถที่จะตั้งตรงเจริญเติบโตต่อไป หรือตัวอย่างเช่น การที่ครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนลูกศิษย์ตั้งแต่ยังเด็กเล็กค่อยค้ำยันให้ความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพมีความเจริญในหน้าที่การงานมั่นคงแข็งแรงเป็นกำลังของชาติต่อไป

สำหรับ "เหลว" เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงวัตถุที่ไม่มีการเกาะรวมตัวกันและมักจะเกิดการไหลจากตำแหน่งที่สูงไปสู่แหล่งที่ต่ำ เหลวเป็นสิ่งที่ไม่อยู่กับที่ถ้าหากมีการเปลี่ยนต่ำแหน่งสูงต่ำมาเกี่ยวข้อง หรือ หากมีพลังงานมาเกี่ยวข้องก็อาจจะทำให้สิ่งของวัตถุที่แข็งนั้นเปลี่ยนสภาพในทางที่ตรงกันข้าม คือ ไม่แข็ง หรือ เหลวในที่สุด ตัวอย่างเช่น ขวดพลาสติกหากได้รับพลังงานความร้อนก็จะกลายเป็นของเหลวที่เปลี่ยนสภาพไปในที่สุด เหลวเป็นอาการที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยจะไหลไปตามอย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ คือ ไหลจากสูงไปต่ำ ด้วยเหตุนี้ เหลว ในความคิดของผู้เขียน คือ การที่เราไม่สามารถยึดอะไรไว้ได้อย่างมั่นคง
ดังนั้น "ล้มเหลว" เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเข้าใจว่าผู้อ่านที่เคารพทุกท่านได้ทราบและรู้กันดีอย่างลึกซึ้ง แต่ที่นำมาเสนอในวันนี้ ก็เพื่อให้เราทุกคนได้ตระหนักว่า "ล้มเหลว" ถึงแม้มันเกิดขึ้นจากการที่เราไม่แข็งแรงและไม่สามารถยึดเหนี่ยวสิ่งที่เราทำอยู่ไว้ได้อย่างมั่นคง แต่ถ้าหากเราเปลี่ยนใหม่ในทางตรงกันข้าม คือ "ลุกแข็ง" นั่นคือ หากเมื่อไรที่เรา "ล้ม" เราก็ลุกขึ้นมาใหม่ ด้วยจิตใจที่ "แข็ง" ซึ่ง "แข็ง" ในที่นี้ คือ แข็งแรงในความตั้งใจในจิตใจของเรา หลายสิ่งหลายอย่างที่ผ่านมาของเราทุกคนถึงแม้ว่ามันจะล้มเหลวก็ตามแต่ หากเราลองพักสักครู่แล้ว ใช้จิตใจที่เข้มแข็งของเราทำให้สิ่งที่ล้มนั้นลุกขึ้นมาอีกครั้ง ความล้มเหลวดังกล่าวเราจะสามารถก้าวพ้นผ่านไปได้ และจะทำให้เราสามารถจะไม่ล้มเหลวอีก
จริงๆ แล้วในประเทศไทยของเรา มีผู้คนที่ล้มเหลวมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้เฝ้าสังเกตเห็น คือ คนล้มเหลวเหล่านั้น ไม่ยอมแพ้ พวกเขาลุกขึ้นมาใหม่ด้วยจิตใจที่แข็งแรงและแน่วแน่มุ่งมั่นเพื่อจะลุกขึ้นมาอีกครั้งและเป็นการลุกที่แข็งอย่างมั่นคงตลอดไป
วันนี้ ถึงแม้ว่าเราจะล้มเหลวก็ไม่เป็นไรนะครับ ลองลุก และลุกขึ้นมาด้วยความแข็งแรงในจิตใจ ผู้เขียนคิดว่าเราทุกคนจะสามารถเจริญเติบโตมีความก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน หรือการทำการใดๆ ผู้เขียนหวังว่า หากคนไทยท่านใดที่เคยล้มเหลว แล้วลองเล่าประสบการณ์ที่ผ่านความล้มเหลวให้เพื่อนๆ คนไทยเราได้รับทราบและนำประสบการณ์ของท่านไปประยุกต์ใช้ ผู้เขียนคิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลและเป็นบุญกุศลต่อผู้ที่จะนำไปใช้
ล้ม แล้ว ลุก
เหลว แล้ว แข็ง (แข็งที่จิตใจของเรา)
ลองดูตัวอย่างของการลุกแล้วแข็ง (แรงที่จิตใจ) ดูได้เลยครับ
เราสามารถชนะความล้มเหลวได้ ด้วยการสร้างความแข็งแรงของจิตใจของเรา สู้ต่อไป ยอดมนุษย์คนไทย
มนูญ ศรีวิรัตน์

วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

ของขวัญ

คำว่า "ของขวัญ" เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการในโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวันเกิด วันแต่งงาน วันปีใหม่ หรือวันสำคัญอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขออนุญาตแยกเป็นคำย่อย ๒ คำ คือ ของ และ ขวัญ กล่าวสำหรับคำว่า "ของ" นั้น เป็นสิ่งที่หมายถึงสิ่งที่ใช้แทนความเป็นผู้ครอบครองสิ่งนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต และสำหรับคำว่า "ขวัญ" คงจะหมายถึงสิ่งที่ดีๆ สิ่งที่เป็นมงคล

ผู้เขียนได้คำแนะนำจากเพื่อนร่วมงานกรุณาชี้แนะว่า น่าจะลองเขียนเกี่ยวกับเรื่องของ "ของขวัญ" และเช่นเดียวกัน วันนี้ ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (๑๙ มกราคม ๒๕๕๔) มีการจัดงานเกี่ยวกับเรื่องของ “ของขวัญ” ณ บริเวณสระน้ำ ตรงข้ามวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฯ เริ่มงาน ๑๗.๐๐ น.

ซึ่งอย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวมาก่อนน่านี้แล้วว่า "ของขวัญ" เป็นสิ่งที่ดีเพราะเนื่องจากเป็นสิ่งที่ดีๆ เป็นสิริมงคล

อย่างไรก็ดี ก่อนที่ผู้เขียนจะได้พูดถึง "ของขวัญ" นั้น ขออนุญาตแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ของขวัญเป็นสิ่งที่ทั้งผู้ให้และผู้รับมีความต้องการแทบทั้งสิ้น เพราะเนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้ที่จะให้ (ของขวัญ) ไปนั้นก็อาจจะมีความรู้สึกว่าจะได้ของขวัญกลับคืนมาสักวัน หรือ สำหรับผู้ที่จะรับสิ่งใดนั้น (ของขวัญ) ก็เป็นอีกประการหนึ่งว่า เมื่อรับยิ่งมากเท่าไร เราก็ย่อมจะต้องนำสิ่งของนั้นไปแบ่งปันผู้อื่นๆ

กล่าวสำหรับของขวัญแล้ว เป็นสิ่งที่เราทุกคนล้วนประสบแทบทุกคน ของขวัญที่ดีและชิ้นใหญ่ราคาแพงก็เป็นที่ต้องการของทุกๆ คน ของขวัญที่ดีราคาน้อยไม่มากก็ย่อมไม่เป็นที่ต้องการ อย่างไรก็ดี ของขวัญจะดีมีค่าหรือไม่นั้น ผู้เขียนคิดว่าไม่สำคัญเท่ากับว่า ของขวัญดังกล่าว ทำให้เกิดความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ ของขวัญบางอย่างอาจจะไม่มีค่ามากแต่ล้นเปี่ยมไปด้วยคุณค่าของมัน คุณค่าที่ว่า คือ คุณค่าของความรักความห่วงใย ความเอื้อมิตรไมตรีต่อกัน

สำหรับพ่อแม่ย่อมต้องการที่จะได้รับของขวัญจากลูก ลูกก็ต้องการได้รับของขวัญจากพ่อแม่ในโอกาสต่างๆ เช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เป็นลูกให้ของขวัญแด่พ่อแม่ได้เลยทุกเวลานาทีและไม่จำเป็นจะต้องมีค่ามาก นั้นคือ การเป็นคนดีของพ่อแม่ คนดีที่ว่าคือ ตั้งใจเรียน เมื่อเรียนจบสำเร็จในระดับการศึกษาต่างๆ แล้วมีหน้าที่การงานที่ดีเหมาะสมกับความสามารถของตน คำว่า “ดี” ผู้เขียนเชื่อว่าทุกท่านทราบกันว่าเป็นอย่างไร แต่ผู้เขียนขอเพิ่มเติมคำว่า “ดี” คือ ทำแล้วทำให้พ่อแม่เกิดความสุขทั้งทางกายและจิตใจ พ่อแม่บางท่านอาจไม่ต้องการของขวัญจากลูกมากมาย เพียงต้องการเห็นลูกว่า “คิดถึงพ่อแม่บ้าง” อันสอดคล้องกับคำที่ว่า “กตัญญู กตเวที” คือ รู้บุญคุณ และหาโอกาสที่จะตอบแทนพระคุณของพ่อแม่

ของขวัญ สำหรับเพื่อนร่วมงาน ผู้เขียนคิดว่า ของขวัญที่เพื่อนร่วมงานทุกคนต้องการน่าจะเป็นการได้รับของขวัญที่จับต้องไม่ได้ นั้นคือ “ความเป็นพี่เป็นน้องกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการทำงาน” เรามีอะไรแนะนำเพื่อนร่วมงานก็ควรมอบหรือบอกให้เพื่อนเพื่อเกิดการพัฒนาปรับปรุงงานร่วมกัน ถึงแม้ว่าของขวัญดังกล่าวจะตีค่าเป็นเงินทองไม่ได้จับต้องไม่ได้ แต่ผู้เขียนคิดว่าของขวัญดังกล่าวมีค่ามหาศาล และสามารถที่จะมอบให้กันและกันในทุกเวลาทุกเทศกาลสถานที่

ของขวัญจะมีค่ามากหรือน้อยนั้น สิ่งสำคัญน่าจะอยู่ที่ ผู้ให้และผู้รับของขวัญ คือ ๑. มีจิตใจร่วมกันในสิ่งนั้นอย่างบริสุทธิ์ ๒. มีความตั้งใจที่จะให้และรับ ๓. ไม่หวังใดๆ อันเป็นสิ่งตอบแทนจากการให้และรับ

สำหรับ คำว่าของขวัญภาษาอังกฤษที่ว่า “GIFT” นั้น ผู้เขียนขออนุญาตแสดงความคิดเห็นกับคำดังกล่าว ดังนี้
G = Give ให้ ด้วยความตั้งใจบริสุทธิ์ใจ
I = Identify กำหนดระบุ ในสิ่งที่ต้องการให้อย่างเป็นมิตรและเอื้ออาทรต่อกัน
F = Forever สิ่งที่ให้จะทำให้เรามีความสุขใจร่วมกัน ตลอดไป
T = Time เวลาโอกาส ต่างๆ ที่เราให้เป็นสิ่งที่กำหนดให้เราได้มาพบกันให้กันและกัน
ดังนั้น เรา (ทั้งผู้ให้และผู้รับ ของขวัญ) ได้กำหนดสิ่งที่ทำให้เกิดมิตรภาพอย่างบริสุทธิ์ใจร่วมกันเพื่อเกิดความสุขตลอดไปอย่างยั่งยืนตามเวลาโอกาสต่างๆ ที่สำคัญต่อเรา

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอมอบของขวัญที่สำคัญต่อผู้อ่านทุกท่าน ของขวัญที่ว่า คือ ของขวัญจากก้อนดิน
มนูญ ศรีวิรัตน์

วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

กำลังจะตก





ริมฝั่งแม่น้ำมูลตอนเย็นเป็นสิ่งที่สวยงามเป็นอย่างมาก เพราะแสงอาทิตย์ที่สาดแสงแรงกล้าผ่านแผ่นน้ำเป็นสัญลักษณ์ของการที่จะสิ้นสุดวันนี้ ซึ่งสิ่งที่กำลังจะตกลงไปคือ ดวงอาทิตย์กำลังจะลับฟ้า จะเห็นว่าสิ่งที่กำลังจะตกล้วนแต่จะหมดพลังกำลังดั่งเช่นดวงอาทิตย์ พลังงานของแสงอาทิตย์ก็ลดน้อยถอยลง ความร้อนแรงก็ลดน้อยลงไปด้วย

การกำลังจะตก เป็นสิ่งที่เราทุกท่านอาจจะต้องตระหนักเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อไรก็ตาม ที่เรากำลังจะตก พลังต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะน้อยลงไปโดยเฉพาะกำลังใจ

ผู้เขียนขออนุญาตยกตัวอย่างประกอบในเรื่องกำลังจะตก เพื่อจะได้ให้ท่านผู้อ่านพิจารณาว่าการกำลังจะตกนั้นเป็นสิ่งที่เราทุกคนด้วยจะให้กำลังใจสำหรับท่านที่กำลังจะตก ดังนี้
"น้องสาวคนหนึ่งเป็นผู้ที่มีความตั้งใจในการทำงานเป็นอย่างดียิ่ง ชีวิตของเขามีความตั้งใจเป็นอย่างมากในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้กำหนดและรับมอบหมาย ชีวิตการทำงานมีความรุ่งเรืองเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี อยู่มาวันหนึ่งในช่วงวัยกลางคน เขาจะต้องประสบกับสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับเขา เป็นส่งที่เราทุกคนไม่ต้องการ นั้นคือการเจ็บป่วย ซึ่งการเจ็บป่วยในครั้งนี้ทำงานเขาจะต้องเกิดความสุญเสียเวลาในการทำงาน ชีวิตในการทำงานจะต้องสะดุดลง สภาพร่างกายเกิดกำลังลดน้อยถอยลง หรือที่เรียกว่า กำลังจะตก การกำลังจะตก เป็นการที่เกิดความสูญเสียกำลังใจในการทำงานและเรื่องอื่นๆ อย่างไรก็ดี น้องสาวคนนี้เป็นคนที่มีกำลังใจที่ดี ถึงแม้จะกำลังจะตก แต่เขามีกำลังใจที่ดีทำให้การกำลังจะตกจากการป่วยดังกล่าว กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้สิ่งต่างๆ ที่กำลังจะตกนั้นดีขึ้น จนกลายเป็นสิ่งที่กำลังจะขึ้น และในที่สุด การมีกำลังใจที่ดีทำให้สิ่งที่กำลังจะตก กลับขึ้นสู่สิ่งที่ดีขึ้น และแล้วน้องสาวคนดี ก็มีสุขภาพที่ดีขึ้นในที่สุด"

กำลังจะตก เป็นสิ่งที่เราทุกท่านไม่ต้องการอย่างแน่นอน เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เราสูญเสียในสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งบางครั้งเขาเรียกว่า ดวงกำลังจะตก โดยบางครั้งท่านที่กำลังดวงตก ก็มักจะไปแก้ดวงให้ดีขึ้นโดยการทำบุญกุศล โดยการทำบุญกุศลนั้นมีหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร การทำบุญบริจาคให้ผู้ยากไร้ด้อยโอกาส เป็นต้น

ด้วยเหตุดังกล่าวนั้น หากผู้อ่านท่านใดมีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะตกในเรื่องใดๆ ก็ตามแต่ ขอเพียงแต่ให้ท่านมีกำลังใจที่ดี ผู้เขียนรับรองเลยได้ว่าทุกอย่างที่กำลังจะตก จะดีขึ้นอย่างแน่นอน การที่จะมีกำลังใจที่ดีขึ้นนั้นไม่ยาก เพียงแต่ท่านจะต้องรู้ว่าสิ่งที่กำลังจะตกคืออะไร อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการตก เมื่อทราบและรู้แล้ว เราก็จะสามารถที่จะใช้จิตใจก่อเกิดสร้างกำลังใจให้มากขึ้นดีขึ้น แน่นอนครับว่าการสร้างกำลังใจเป็นสิ่งที่คู่กันกับสิ่งที่กำลังจะตกเป็นเรื่องที่ยาก แต่อย่างไรก็ดี หากเรามั่นทดลองสร้างกำลังใจเป็นประจำทุกวัน ผู้เขียนเชื่อว่า สิ่งที่กำลังจะตก ก็จะเริ่มปรับสูงขึ้นและดีขึ้นอย่างแน่นอน

สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างถึงแม้จะกำลังจะตก แต่สักวันผู้เขียนรับรองได้เลยว่าสิ่งนั้นจะต้องขึ้นอย่างแน่นอน ขอเพียงแต่ท่านผู้อ่านมีกำลังใจที่ดี มีความตั้งใจที่ดี มีเป้าหมายที่ดีแน่วแน่ในสิ่งที่ต้องการจะเป็นต้องการจะไป

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอเสนอว่า ถึงสิ่งทุกอย่างถึงแม้ว่ามันกำลังจะตก แต่สักวันมันก็จะต้องขึ้น ถ้าหากเราต้องการให้มันกลับขึ้นมาโดยอาศัยกำลังใจและจิตที่เข้มแข็ง จิตเท่านั้นที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับคืนขึ้นมาให้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

มนูญ ศรีวิรัตน์

วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

มั่นคง (ความมั่นคง ... ในชีวิต)

มีผู้อ่านรบกวนให้ผู้เขียนลองเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับ มั่นคง (ความมั่นคง ... ในชีวิต) ผู้เขียนก็ไม่ค่อยจะแน่ใจสักเท่าไรว่าจะสามารถเขียนได้หรือไม่ แต่เมื่อมีผู้ต้องการ เราก็ควรจะสนองตามสภาวะความสามารถของเราเท่าที่เราจะทำได้

หลายๆ ท่านน่าจะทราบดีว่า มั่นคง หมายถึง อะไร ถ้าเป็นความมั่นคงของตึกอาคาร ผู้ที่อยู่อาศัยก็ต้องการให้มีความมั่นคงที่แข็งแรงไม่ทรุดตัวไม่มีชำรุดเสียหายสามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ให้ได้นานที่สุด

สำหรับ มั่นคงในวันนี้ ผู้เขียนขออนุญาตแยกออกจากกันเสียก่อน คือ มั่น และ คง

สำหรับคำว่า "มั่น" เป็นคำหนึ่งที่มีความพ้องเสียงกับ คำว่า หมั้น ซึ่งหมายถึง การจองไว้ก่อน (จองสำหรับการแต่งงานในอนาคต) พูดง่ายๆ คือ บอกหรือแสดงให้เข้าใจตั้งสองฝ่ายว่าเราจะต้องแต่งงานกันอย่างแน่นอน โดยการหมั้นดังกล่าวจะต้องมีการแสดงเจตจำนงและสิ่งของมัดจำเอาไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะต้องแต่งงานอยู่ด้วยกันในอนาคต นอกจากนั้น มั่น น่าจะหมายถึงความสมบูรณ์แข็งแรง ซึ่งจะใช้กับคำ ยึดมั่น ถือมั่น มั่นใจ เป็นต้น

สำหรับคำว่า "คง" เป็นคำหนึ่งที่หมายถึง การทำอะไรก็ตามแต่ให้สิ่งนั้นมีสภาพที่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงถึงแม้ว่าเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตามแต่

ดังนั้น ผู้เขียนก็เลยคิดว่าสำหรับ "มั่นคง" ในความหมายของผู้เขียนนั้น ก็เสนอว่าเป็นเรื่องที่จะเรา "แสดงเจตนาตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะทำให้สิ่งต่างๆ ในความตั้งใจของเราให้มีสภาพที่ไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าเวลาจะก้าวเดินไป" ที้นี้ กล่าวสำหรับความมั่นคง...ในชีวิต ที่สิ่งที่ผู้คนทุกคนต้องการอย่างแน่นอนว่า ต้องการมีความมั่นคงในชีวิต แล้วความมั่นคงที่ว่าควรจะเป็นอย่างไร

ความมั่นคงในชีวิต ก็คือ "ความตั้งใจของเราความต้องการของเราที่อยากจะให้ชีวิตมีสภาพที่ดี (ผู้เขียนขอเน้นว่า ดี) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้ว่าเวลาของเราจะล่วงเลยวัยไปสู่ความชรา" ซึ่งความสำคัญของความมั่นคงในชีวิตดังกล่าว คือ คำว่า "สภาพที่ดี" ที่นี้ สภาพที่ดี คือ อะไร

สภาพที่ดี ของแต่ละคนไม่เหมือนกันไม่เท่ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนจะขออนุญาตนำเสนอ คือ สภาพที่ดีของแต่ละท่านควรจะดำเนินตามรอยพระบาทของในหลวงในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจความพอเพียง ที่ว่า ๑. ความพอประมาณของแต่ละคน ซึ่งความพอประมาณดังกล่าวของแต่ละท่านก็ไม่เหมือนกันเท่ากัน ๒. ความมีเหตุผลมีผลประกอบ ๓. ความมีภูมิคุ้มกัน ภายใต้การมีคุณธรรมและความซื่อสัตย์

แต่ละคนมีความต้องการ ความมั่นคงในชีวิตที่ไม่เหมือนกันไม่เท่ากันตามแต่สถานะอาชีพ เพศ การศึกษา หรือสถานะอื่นๆ เช่น คนที่ขับวินมอเตอร์ไซด์ก็อาจจะบอกว่าความมั่นคงของตัวเองคือให้มีอาชีพอย่างนี้ไปตลอดไปไม่เจ็บป่วยไข้ มีเงินเก็บออมเพื่อไว้รักษาตัวเองยามแก่ชรา คนที่ร่ำรวยมหาศาลอาจจะบอกว่าความมั่นคงของตัวเองขอให้มีมูลค่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีเงินปันผลทุกปี มีเงินทองเพิ่มขึ้น เป็นต้น

จะเห็นว่าความมั่นคงในชีวิตของแต่ละท่านไม่เหมือนกันอย่างแน่อน ผู้อ่านคงจะต้องตรวจสอบจิตใจของตัวเองว่าเราต้องการความมั่นคงในชีวิตอย่างไ แต่ถ้าหากคิดไม่ออกก็อาจจะใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นั้นคือ ความมั่นคงในชีวิตด้วยความพอประมาณสำหรับตนเอง ความมั่นคงในชีวิตในการมีเหตุผลในการประกอบอาชีพในการใช้ชีวิดำรงชีวิต และประการสำหรับคือ จะมีทำให้เกิดภูมิคุ้มกันสำหรับตัวเองในยามที่เราอาจะเดือดร้อนเจ็บป่วยไข้หรือเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามแต่ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ป้องกันได้ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี อาจจะเริ่มที่การมีจิตที่ดีงามจิตใจที่แข็งแกร่งเมื่อจิตใจดี กายก็ย่อมดีด้วย ทุกอย่างก็จะตามมาเอง

ดังนั้น ความมั่นคงในชีวิตสำหรับผู้เขียนนั้น คงจะต้องใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เหมือนกัน คือ พอประมาณในอาชีพที่เป็นอยู่ มีเหตุมีผลในการทำงานในดำรงชีพ และสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองที่จิตใจของตัวเองให้ได้มากที่สุด ตามที่ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าพบศ.ดร.ไพทูรย์ อิงคสุวรรณ (อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๔ ท่านได้แง่คิดไว้ว่าจิตที่ดีที่แข็งแกร่งจะทำให้ร่างกายดีและแข็งแกร่งไปด้วยและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในด้านต่างๆ ให้ตัวเราเป็นอย่างดี ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านทุกท่านจงมีความมั่นคงในชีวิตของท่านเองตามที่ท่านต้องการนะครับ
มนูญ ศรีวิรัตน์

วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

บริจาคโลหิต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล





ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ซึ่งเราพสกนิกรชาวไทยทุกคนควรจะต้องถวายความจงรักภักดีเพื่อให้พระองค์ทรงพระเกษมสำราญและทรงพลามัยสมบูรณ์แข็งแรงยิ่งยืนนาน

โครงการหนึ่งที่สภากาชาดไทยได้จัดทำ คือ โครงการคนไทยทุกหมู่เหล่าร่วมบริจาคโลหิต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล" ระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔

การบริจาคโลหิตเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายมาก ไม่ต้องมีทุนทรัพย์ก็บริจาคได้เพียงแต่อายุถึงเกณฑ์ และที่สำคัญคือสุขภาพของผู้บริจาคก็เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด โดย ๓ เดือนสามารถบริจาคได้ ๑ ครั้ง อย่างไรก็ดี การบริจาคเกร็ดเลือดสามารถจะกระทำได้เดือนละ ๑ ครั้ง เพียงแต่การบริจาคเกร็ดเลือดนั้นจะต้องใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่งถึง ๒ ชั่วโมง เพราะจะต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยในการคัดแยกคัดกรองเกร็ดเลือด
ผู้เขียนเองเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมาก็มีโอกาสไปบริจาคโลหิต โดยตั้งใจว่าจะบริจาคเกร็ดเลือด แต่เนื่องจากเตียงสำหรับบริจาคและเครื่องมือไม่ว่าง มีผู้มีจิตศรัทธาจำนวน ๔ ท่านได้บริจาคอยู่ขณะนั้น ผู้เขียนก็เลยตัดสินใจบริจาคโลหิตแบบปกติ ซึ่งใช้เวลาไม่นานประมาณ ๒๐ กว่านาทีเท่านั้น

การบริจาคโลหิต คงจะไม่ต้องอธิบายนะครับว่าดีอย่างไร เพราะผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านนั้นทราบดีอยู่แล้วว่าโลหิตที่ได้จากการบริจาคจะนำไปให้ผู้ที่ป่วยผู้ที่ต้องการในการรักษา โดยในแต่ละวันมีความต้องการโลหิตจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของเทศกาลสำคัญของไทยที่มีอุบัติเหตุจำนวนมาก ซึ่งมีความต้องการโลหิตเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับอุบัติเหตุ

เช่นกัน สำหรับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริจาคโลหิต เพื่อสนับสนุนโครงการของสภากาชาดตามข้างต้น จึงได้จัดทำโครงการเช่นเดียวกัน คือ โครงการบริจาคโลหิตเพื่อพ่อหลวงเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา โดยจัดในวันศุกร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ (เป็นวันสถาปนา ม.อุบลราชธานี) และมีเป้าหมายให้นักศึกษาและบุคลากรหรือประชาชนทั่วไป จำนวน ๘๔๐ คนเข้าร่วมบริจาคโลหิต หรือ เป้าหมายต้องการเลือดจำนวน ๘๔,๐๐๐ CC ก็ขอเชิญชวนทุกท่านนะครับ ถึงแม้ว่าจะเริ่มเชิญชวนตั้งแต่ต้นปี คงจะไม่ว่ากัน เพราะเราจะได้เตรียมตัวเองให้มีความสมบูรณ์เพื่อให้โลหิตของเรามีคุณภาพมากที่สุด เพื่อผู้ที่รับโลหิตของเราสามารถนำไปรักษาตัวผู้ป่วยเองหายเร็วที่สุด

การบริจาคโลหิต เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสุขภาพของเรา เพราะถ้าหากเราต้องการบริจาคโลหิต เราก็ควรจะต้องดูแลรักษาตัวเองเพื่อให้ได้โลหิตที่มีคุณภาพ และที่สำคัญ คือ เมื่อได้มีโอกาสบริจาคโลหิตแล้ว จะทำให้ผู้ที่บริจาครู้สึกว่าการให้นั้น มีค่าที่ยิ่งใหญ่มาก ให้ไปแล้วตัวเราก็สร้างโลหิตขึ้นมาใหม่ได้ ให้แล้วไม่ได้หมดไป ให้แล้วมีแต่เกิดใหม่ เกิดในที่นี้ คือ การเกิดชีวิตใหม่ของผู้ที่ได้รับโลหิตของเรา เกิดความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ ถึงแม้ว่าผู้ให้และผู้รับจะไม่ได้เห็นหน้าซึ่งกันและกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทั้งคู่เห็น คือ เห็นความสุขของกันและกันผ่านจิตที่บริสุทธิ์จากการให้

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขอเชิญชวนผู้อ่านอีกครั้ง ท่านอาจจะจดลงสมุดบันทึกของท่านว่า วันศุกร์ที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เจอกันที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตั้งแต่เวลา ๘.๓๐ น. เป็นต้นไป เพื่อร่วมจิตร่วมใจกันบริจาคโลหิตเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา "บริจาคโลหิตเป็นนิจ แล้วชีวิตจะเป็นสุข"
มนูญ ศรีวิรัตน์

วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

อโรคยา ปรมาลาภา การไม่มีโรค เป็นลาภ (อันประเสริฐ จริงๆๆ)

การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ ผู้เขียนคิดว่า ผู้อ่านหลายท่านหลายเพศหลายวัยต่างได้เคยได้ยินได้รู้มามากพอสมควรแล้ว เพราะผู้เขียนเองตั้งแต่จำความได้ก็ไม่ยินคำดังกล่าวตั้งแต่เด็กเล็กเป็นต้นมา

การเป็นโรคต่างๆ เป็นของคู่กันกับมนุษย์เราตั้งแต่โบร่ำโบราณ ทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะอะไรก็ตามแต่ ต่างก็หลีกหนีไม่พ้นการเป็นโรค หากท่านใดโชคดีไม่เคยเป็นโรคอะไรเลย แต่โรคหนึ่งที่ท่านจะหลีกหนีไม่พ้น คือ โรคชรา เพราะในที่สุดคนเราก็จะต้องพบกับโรคดังกล่าวอย่างแน่นอน ใครโชคดีอาจจะไม่พบกับโรคชรา แต่พบกับโรคอื่นๆ ไปก่อน

โรคต่างๆ จะมาเยือนหาสู่ตัวเรา เมื่อตัวเราอ่อนแอ (ในที่นี้อ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจ) คำว่า อ่อนแอ ตรงกันข้ามกับคำว่า แข็งแรง (ซึ่งเราทุกคนทราบดี) ทุกปีใหม่ เราต่างก็อวยพรให้กันและกันว่า ขอให้แข็งแรง แต่ท่านผู้อ่านเชื่อหรือไม่ว่า ความแข็งแรงจะมาเองเกิดขึ้นเองไม่ได้อย่างแน่นอน จะต้องอยู่ที่ตัวของเรา หากเราต้องการความแข็งแรง ตัวเราเองจิตใจของเราเองจะต้องรู้สึกเสียก่อนว่า อยากจะแข็งแรง ต้องการความแข็งแรงให้กับตัวเอง ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ตัวเราจะหาวิธีการที่จะไปสู่ความแข็งแรง เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะตามทางการแพทย์ การทำจิตใจให้ผ่องใสสดชื่น เป็นต้น

สำหรับ ความแข็งแรง มักจะมีความสัมพันธ์ตรงกันข้ามกับเรื่องของเวลา และตรงกันข้ามกับความมีโรคต่างๆ (แต่สำหรับเวลาและโรคต่างๆ นั้น มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน) นั้น หมายความว่า เมื่อเวลาของเรามากยิ่งขึ้น (คือ เกิดมานานเท่าไร) ความแข็งแรงก็ลดน้อยถอยลงไปทุกวัน และโรคภัยต่างๆ ก็มักจะจับจองเข้ามาหาตัวเรา ท่านใดที่ดูแลตัวเองรักษาสุขภาพเป็นอย่างดี ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็อาจจะยืดออกไป (แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถจะยืดได้ชั่วฟ้าดินสลายได้)

มนุษย์เราเงินทองที่หาสะสมมาได้ ก็เอาไว้ใช้ในการรักษาตัวเองให้อยู่ในโลกใบนี้ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางคนตอนหนุ่มสาวมีเงินทองมากมาย ไม่มีเวลาที่จะดูแลรักษาตัวเอง ทำงาน แล้วก็ทำงาน แล้วก็ทำงาน หาเงิน แล้วก็หาเงิน หาเอาไว้ทำอะไร แน่นอนครับ เมื่อเจ็บป่วยไข้ก็นำเงินที่หาได้ออกมารักษาตัวเอง ท่านที่โชคดีก็อาจจะไม่ต้องใช้เงินรักษามากมาย แต่สำหรับท่านใดที่โชคร้าย ก็อาจจะใช้เงินทองมากมายในการรักษาตัวเอง เงินทองที่หามาได้ถ้าหากเจ็บป่วยลงไป ก็ไม่มีเวลาที่จะหาเงิน ดังนั้น จะเห็นว่า ผู้คนโดยส่วนมากแล้ว มักจะขอพรไม่ให้เจ็บป่วยไข้ แต่เราเคยถามตัวเองหรือไม่ รักตัวเอง ดูแลตัวเองหรือไม่ เวลาป่วยก็อาจจะมัวแต่เสียใจโทษนั้นโทษนี้ ซึ่งก็ยิ่งจะทำให้เกิดความทุกข์ในจิตใจมากขึ้น ส่งผลต่อร่างกายมากตามไปด้วย

พระพุทธองค์ได้กล่าวเตือนมนุษย์เราไม่ให้ประมาท ซึ่งประมาทอันหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่า เราทุกคนควรจะระลึกอยู่เสมอ คือ ประมาทในตัวของเรา ประมาทในการรักตัวเอง หมายความว่า ดูแลตัวเอง รักษาสุขภาพของตัวเองให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่สม่ำเสมออยู่ตลอดไว้เท่าที่ตัวเราจะทำได้ตามฐานะสภาวะของเราเอง ชีวิตนี้ไม่จีรังยั่งยืน โรคภัยต่างๆ ไม่สามารถหลีกพ้นได้ แต่หากเรารู้ว่าทำอะไรแล้วไม่เกิดโรคนั้นโรคนี้ มันก็น่าจะเป็นหนทางหนึ่งของชีวิตที่จะหลีกเลี่ยงโรคภัยต่างๆ ได้ เหมือนกัน คำข้างต้นที่ว่า อโรคยา ปรมาลาภา การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ
มนูญ ศรีวิรัตน์
รักตัวเองในวันนี้ ก่อนที่จะไม่มีเวลาจะได้รักตัวเองอีกในวันหน้า

ผู้เขียนตรวจสุขภาพประจำ (๖ เดือน) วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๔

ผลการตรวจ ไขมัน สูงกว่าปกติ (ของสูงที่เราไม่ชอบ)

คุณหมอกรุณาให้กินยา ๑ เดือน และควบคุมอาหารและเครื่องดื่ม

ต้องตรวจเลือด และ คลื่นหัวใจ อีกครั้ง ๓๑ มกราคม ๒๕๕๔


กาชาด











กาชาด เป็นคำนาม หมายถึง สัญลักษณ์ของการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน โดยมีเครื่องหมายกากบาทสีแดงบนพื้นสีขาว

จังหวัดทุกจังหวัดของประเทศไทยเราจะจัดงานกาชาด (รวมทั้งงานกาชาดที่สวนอัมพร กรุงเทพมหานคร) การจัดงานดังกล่าวนั้น ผู้เขียนไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร มีวัตถุประสงค์อย่างไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ คือ เป็นงานที่ทำให้ประชาชนในจังหวัดได้มีโอกาสร่วมทำบุญบริจาคให้กับ กาชาดจังหวัด เพื่อให้จังหวัดมีทุนทรัพย์ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินสำหรับผู้ที่เดือดร้อนจากประสบภัยธรรมชาติหรือภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดหมาย ซึ่งภัยดังกล่าวผู้เขียนเชื่ออย่างแน่นอนเลยว่าไม่มีใครหน้าไหนต้องการหรอกครับ
ในปีนี้ก็เช่นกัน งานกาชาด (รวมปีใหม่) ของจังหวัดอุบลราชธานี จัดระหว่างวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นงานที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก็ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง (เล็กๆ) โดยการจัดนิทรรศการของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานกาชาดได้มีโอกาสได้รับทราบข้อมูลที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีดำเนินการมาเป็นเวลา ๒๐ ปี อย่างไรก็ตาม นิทรรศการดังกล่าวอาจจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ก็อาจจะเนื่องจากคนที่เข้าชมงานโดยส่วนมาก (เท่าที่ผู้เขียนเฝ้าสังเกต) จะมาเพื่อความบันเทิง จับจ่ายใช้สอยซื้อสิ่งของที่ลดราคา ชาวบ้านที่มีงบประมาณน้อยก็อาจจะเป็นที่พอใจ เพราะสินค้าหลายๆ อย่างนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามสภาพราคาที่กำหนด ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างน้อยก็เป็นหนทางโอกาสหนึ่งที่ให้ประชาชนในจังหวัดที่มีงบน้อยสามารถเกิดความสุขได้ เพราะความสุขของคนเราไม่เหมือนกัน คนร่ำรวยก็อาจจะมีความสุขในช่วงปีใหม่ในการจับจ่ายซื้อสินค้าราคารแพงตามห้างใหญ่ๆ หรือที่ต่างประเทศ แต่กล่าวสำหรับผู้คนที่มีงบน้อยเงินน้อย ก็ใช้โอกาสของงานกาชาดปีใหม่นี้แหละเป็นช่วงที่เกิดความสุขได้เช่นกัน

งานกาชาดมีความหลากหลาย มีหลายประเภท บางท่านอาจจะชอบ บางท่านอาจจะไม่ชอบ การชอบหรือไม่ชอบของแต่ละท่านก็อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า "ไม่เหมือนกัน" การชอบตามสภาพสถานะของตัวเอง (รู้ตัวเอง) เป็นเรื่องที่เราจะต้องถามจิตใจของตัวเราเองว่าชอบหรือไม่ (ไม่มีใครไปบังคับได้) ซึ่งผู้เขียนจะไม่กล่าวถึงความไม่ชอบ เพราะการไม่ชอบทำได้ง่ายมาก ถ้าผู้อ่านไม่เชื่อลองทำดูซิครับ ที่นี้การชอบจะทำอย่างไรให้ชอบ ผู้เขียนคิดว่ายากกว่า เพราะเหตุใดถึงว่ายากกว่า การชอบมันต้องเหมาะกับตัวเราทั้งสถานภาพกายภาพของเราและจิตใจของเราด้วย บางท่านชอบเหลือเกินชอบรถเบนซ์ (ชอบด้วยจิตใจ) แต่สถานภาพสถานะของตัวเองไม่ได้เลย คือ เงินก็ไม่มี หน้าที่การงานก็งั้นๆ ดังนี้แล้ว ก็มักจะบอกว่า ชอบ ด้วยความพอดี พอดีกับตัวเราทั้งกายภาพและจิตใจ

ขออนุญาตวกกลับมาที่งานกาชาดเสียก่อน ก่อนที่จะไปเรื่องใหม่เรื่อยๆ งานกาชาดทำให้เราเห็นรอยยิ้มใบหน้าที่มีความสุขของคนที่เข้ามาสู่พื้นที่ของงาน ความสุขที่ว่ามีหลายประเภท เช่น ได้เสี่ยงโชค ได้ซื้อสิ่งของ ได้รับชมการแสดง ได้เล่นสิ่งของต่างๆ ได้รับประทานอาหาร ได้เดิน เป็นต้น และที่สำคัญ คือ ทุกคนที่ซื้อบัตรเข้างานกาชาด ท่านได้เป็นส่วนเหลือในการช่วยเหลือผู้คนที่ประสบภัยเดือดร้อนผ่านงานกาชาด เพราะรายได้จากการจัดงานนั้นส่วนหนึ่งมอบให้กับกาชาดจังหวัดเพื่อนำไปใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ ผู้เขียนก็ขอให้ทุกคนที่ไปเที่ยวงานกาชาดไม่ว่าจะเป็นจังหวัดใดก็ตามแต่ ได้รับบุญกุศลกันทุกท่าน ดังคำที่ว่า "ช่วยเหลือกาชาด กาชาดช่วยเรา"

มนูญ ศรีวิรัตน์