Nuffnang Ads

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

มัน คือ ปัญหา

ผู้อ่านคงจะทราบกันดีว่า ปํญหา หมายถึง อะไร แต่เพืยงเป็นการย้ำเน้นอีกครั้ง คำว่า ปัญหา จากพจนานุกรม หมายถึง ข้อสงสัย ข้อขัดข้อง คำถาม ข้อที่ควรถาม ข้อที่ต้องพิจารณาแก้ไข

สำหรับ ปัญหา ถ้าหากว่า เราแยกคำน่าจะแยกเป็น ปัญ + หา

กล่าวสำหรับ คำว่า ปัญ อยู่เดี่ยวๆ ไม่มีความหมายอะไรเลย แต่มีคำที่ใกล้เคียงที่สุด คือ ปัญจ อันมีความหมาย เหมือน เบญจ ที่หมายถึง ๕ ปัญจนที แม่น้ำ ๕ สาย ปัญจวัคคีย์ พระสงฆ์ทั้ง ๕ ที่ตามพระพุทธเจ้าออกบวชให้และได้เป็นพระอรหันต์ ปัญจสาขา กิ่งทั้ง ๕ คือ หัว ๑ แขน ๒ ขา ๒ ของลูกที่อยู่ในท้อง
สำหรับ หา อยู่เดี่ยวๆ หมายถึง มุ่งให้พบ การพบ การขวนขวายเพื่อให้ได้มาโดยวิธีการต่างๆ

จะเห็นว่า เมื่อ ปัญ + หา เป็น ปัญหา มักจะเกิดเป็นเรื่องราวต่างๆ มากมายที่เราจะต้องแก้ไข ปล่อยทิ้งไว้ก็เกิดความทุกข์ เรามนุษย์ทุกคนไม่อยากมีปัญหาทั้งในชีวิตครอบครัว ชีวิตการเรียน ชีวิตการทำงาน หรือในด้านอื่นๆ เพราะเมื่อไรก็ตามที่มีปัญหาแล้ว จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ เกิดความทุกข์กายทุกข์ใจ ปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนาน นำวันแต่จะทำให้เสียสุขภาพทั้งกายและจิต

ปัญหาที่เกิดขึ้นหลายๆ อย่าง ผู้เขียนคิด สำหรับ ปัญ น่าจะมาจากสิ่งทั้ง ๕ คือ การไม่เบียดเบียนสัตว์โลก การไม่เอาของคนอื่นมาเป็นของเรา การไม่กล่าวร้ายให้คนอื่นเดือดร้อน การไม่ทำผิดในกามอารมณ์ให้คนอื่นเดือดร้อน และการไม่ทำร้ายตัวเองด้วยของมึนเมาประเภทต่างๆ ซึ่งถ้าหากมนุษย์เราไม่หาทั้ง ๕ อย่างข้างต้นไม่ใส่ตัวเรา ผู้เขียนเชื่อว่า มัน จะไม่เป็น ปัญหา หรือเกิด ปัญหา อย่างแน่นอน สิ่งทั้ง ๕ นั้น ผู้อ่านคงจะทราบกันดีว่า มัน คือ ศีล๕

ที่นี้ ปัญหา เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไรดี หลายๆ ท่าน มักจะพูดหรือกล่าวว่า มัน คือ ปัญหา แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว ถ้าหากเราลองสลับคำ เป็น หา + ปัญ ลองดูว่ามันจะเป็นอย่างไร หา ซึ่งหมายถึง การขวนขวายเพื่อให้ได้มาโดยวิธีการต่างๆ ดังนั้น เราจะต้องหาให้ได้ว่าเรื่องที่เป็นปัญหา นั้น มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร สาเหตุที่มันเกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะอะไร แล้วทำอย่างไรต่อไป ผู้เขียนคิดว่า ปัญ น่าจะเป็น ๕ อย่างเช่นกัน กล่าวคือ ๕ ขั้นตอนในการพิจารณาแก้ปัญหา คือ ๑. หาสาเหตุ ๒. หาวิธีการต่างๆ ที่มีคนอื่นๆ (คนมีประสบการณ์) เขาเคยทำ ๓. หาโอกาสเวลาออกแบบวางแผนวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว ๔. หาวิธีการทดลองแก้ปัญหานั้นๆ จากที่ได้วางแผน และ ๕. หาทางสรุปให้ได้ว่า ทั้งหมด แก้ปัญหาดังกล่าวได้เพราะอะไร ซึ่งผู้เขียนคิดว่า หาทั้ง ๕ ขั้นตอนดังกล่าวนั้น คงจะเหมือนกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (การทำวิทยานิพนธ์) เช่นกัน กล่าว คือ ค้นหาปัญหา (บทที่ ๑ ความเป็นมาของปัญหา) ศึกษาผลงานที่เกี่ยวข้อง (บทที่ ๒ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง) ออกแบบวิธีการแก้ปัญหา (บทที่ ๓ การวิเคราะห์และการออกแบบระบบ) ทดลองผลการออกแบบ (บทที่ ๔ ผลการทดลอง) แล้วก็สรุปผล (บทที่ ๕ สรุปผล)

จะเห็นว่าถ้าหากเราได้แก้ปัญหาต่างๆ ด้วยวิธีการทั้ง ๕ ข้างต้นแล้ว ก็ จะทำให้เกิดความรอบรู้ความฉลาดที่เกิดจากการเรียนและการคิด ซึ่งเขาก็อาจจะเรียกว่าเกิด ปัญญา ในที่สุด ดังนั้น บุคคลใดที่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ และกระทำอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ ก็มักจะถูกเรียกว่า ปัญญาชน (คนที่มีความรู้หรือความฉลาดอันเกิดจากการเรียนศึกษามามาก)

กล่าวสรุป เกี่ยวกับเรื่อง มัน คือ ปัญหา ผู้เขียนคิดว่า ถ้าหากไม่อยากจะให้เกิดปัญหาขึ้น ท่านผู้อ่านก็อาจจะต้องลองละเว้นการไม่ใน ๕ อย่างข้างต้น และหากปัญหาขึ้นแล้ว ก็ลอง หา ทั้ง ๕ อย่างข้างต้นมาแก้ไข เหนือสิ่งอื่นใดถ้าเราทุกคนลองฝึกฝนให้ตัวเราเองมีสติ มีสมาธิ แล้วเราจะเกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญญา ปัญหาในเรื่องต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นมา มัน คือ ปัญหา ก็จะกลายเป็น มัน คือ ปัญญา ในที่สุด (ซึ่งจริงๆ แล้ว ผู้เขียนก็ยังไม่สามารถทำได้เช่นกัน แต่จะพยายามแก้ปัญหาต่างๆ)

มนูญ ศรีวิรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น