Nuffnang Ads

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ในหลวง กับ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ในหลวง กับ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย"  
เกี่ยวกับ  (Click อ่านได้เลย)  หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ที่มาของภาพ http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8774

พระราชปุจฉากับหลวงพ่อพุธ ฐานิโย  

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ : ขอท่านได้อธิบายเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมดั่งที่ท่านอาจารย์เสาร์สอนมา

หลวงพ่อพุธ : โดยหลักการที่ท่านอาจารย์เสาร์ได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหามานั้น ยึดหลักการบริกรรมภาวนาพุทโธ และอานาปานสติ เป็นหลักปฏิบัติ การบริกรรมภาวนาให้จิตอยู่ ณ จุดเดียวคือพุทโธ ซึ่งพุทโธแปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกริยาของจิตเมื่อจิตมาจดจ้องอยู่ที่คำว่าพุทโธให้พิจารณาตามองค์ฌาน ๕

การนึกถึงพุทโธเรียกว่า วิตก จิตอยู่กับพุทโธไม่พรากจากไปเรียกว่า วิจาร หลังจากนี้ปิติและความสุขก็เกิดขึ้น เมื่อปิติและความสุขเกิดขึ้นแล้ว จิตของผู้ภาวนาย่อมดำเนินไปสู่ความสงบ นิ่งสว่าง ไม่มีกิริยาอาการแสดงความรู้ ในขั้นนี้เรียกว่า จิตอยู่ในสมถะ

ถ้าจะเรียกโดยจิตก็เรียกว่าอัปปนาจิต ถ้าจะเรียกโดยสมาธิก็เรียกว่าอัปปนาสมาธิ ถ้าจะเรียกโดยฌานก็เรียกอัปปนาฌาน บางท่านนำไปเทียบกับฌานขั้นที่ ๔ จิตในขั้นนี้เรียกว่าอัปปนาจิต อัปปนาสมาธิ อัปปนาฌาน จิตย่อมไม่มีความรู้อะไรเกิดขึ้น นอกจากมีสภาวะรู้อยู่อย่างเดียวเท่านั้น

เมื่อนักปฏิบัติผู้ที่ยังไม่ได้ระดับจิต เมื่อจิตติดอยู่ในความสงบนิ่งเช่นนี้ จิตย่อมไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา เมื่อเป็นเช่นนั้นอาจารย์เสาร์ผู้เป็นอาจารย์สอนกรรมฐานในสายนี้จึงได้เดินอุบายสอนให้ลูกศิษย์พิจารณากายคตาสติเรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยการพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น โดยน้อมนึกไปในลักษณะความเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดเป็นของโสโครกจริงๆ โดยปราศจากสัญญาเจตนาใดๆทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้พิจารณาเห็นอสุภกรรมฐาน 

(ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8774)

หมายเหตุ "อาจารย์เสาร์ หมายถึง หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล
(เกี่ยวกับ หลวงปู่เสาร์ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ปฏิบัติธรรมบูชาคุณ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล")

จากข้อมูลข้างต้นเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งที่พุทธศาสนิกชนคนไทยทุกคนควรจะต้องสนใจน้อมนำทำตามพระราชปุจฉา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ "จิดจดจ้อง"  

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑​ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้เมตตาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อปรับปรุงพัฒนาต่อไปดังนี้ 


เรื่องของจิตจดจ้อง  เป็นครรลองต้องฝึกฝน
ฝึกได้สุขกมล  เพื่อหลุดพ้นจากคนไป

ภาวนาพุทโธ  ไม่โยกโย้ในจิตใจ
ฝึกตนสนธรรมไว้  ฝึกที่ใจในทุกครา

ทำได้ใจสงบ  ธรรมได้พบประสบหา
พระราชปุจฉา  สิ่งมีค่าพาเข้าใจ

ฝึกไปใจจะรู้   สิ่งเป็นอยูู่รู้อย่างไร
พุทโธอยู่ในใจ  ต่อเนื่องไปให้ชำนาญ

ทุกสิ่งอิงสติ  สมาธิจิตประสาน
ภาวนาเพื่อนิพพาน  เมื่อสิ้นกาลสานไปดี

จิตคิดสงบนิ่ง  เห็นความจริงอิงชีวี
ภาวนาสิ่งดี  ธรรมให้ดีมีสุขเอย

ปภาวีร์ 
๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น