(ร่าง) โครงการ
อาคารเฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณวิทยพัฒน์
หลักการและเหตุผล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาทความตอนหนึ่ง ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเปิดงานพระจอมเกล้าลาดกระบังนิทรรศน์ ๒๖ ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๖ “...การพยายามศึกษาวิทยาการและเทคโนโลยีอันก้าวหน้าทุกสาขาจากทั่วโลก แล้วเลือกสรรส่วนที่สำคัญเป็นประโยชน์ นำมาปรับปรุงใช้ให้พอดีพอเหมาะกับสภาพและฐานะของประเทศเรา เพื่อช่วยให้ประเทศของเราสามารถนำเทคโนโลยีอันทันสมัยมาใช้พัฒนางานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่สิ้นเปลือง...”
ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ประทานวโรกาสให้คณะผู้จัดทำรายการ “บอกเก้าเล่าสิบ” สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ณ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2554 โดยมีพระราชดำรัสรับสั่งว่า…“ฉันได้รับแนวทางการศึกษาจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ท่านทรงพระราชทานคำปรึกษาแนะแนวทางการศึกษาซึ่งตอนเด็กๆ ก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัย สมเด็จพระบรมฯ ท่านทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศ ดังนั้นเหลือแค่สมเด็จพระเทพฯและฉันอยู่ในประเทศไทย สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงอยากให้ลูกๆเลือกเรียนทั้งสองทางคือสายวิทยาศาสตร์และสายศิลปศาสตร์ซึ่งสมเด็จพระเทพฯท่านได้เสด็จมาถึง ณ จุดทางเลือกก่อนและท่านก็ทรงเลือกศึกษาต่อสายศิลปศาสตร์ มาถึงฉันก็เลยต้องได้ศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์ไป...”
คณะรัฐมนตรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ อนุมัติให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อกระจายโอกาสสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มีภารกิจหน้าที่ในการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑–๖ ในลักษณะของโรงเรียนประจำ ทั้งนี้เพื่อกระจายโอกาสสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
นโยบายของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ ๖. นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม ๖.๑ เร่งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ โดยพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้ประชาชนได้ใช้ในชีวิตประจำวันให้ทัดเทียมกับพัฒนาการในระดับนานาชาติ จัดให้มีแหล่งความรู้สาธารณะเพิ่มขึ้นทั้งในรูปองค์กร เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สิ่งพิมพ์ และผ่านทางเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนยกมาตรฐานการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับ ๖.๒ เร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และครูวิทยาศาสตร์ให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและนำพาประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้แบบสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่พัฒนาสายงานการวิจัยเพื่อให้นักวิจัยมีระบบความก้าวหน้าในวิชาชีพ รวมทั้งพัฒนาแหล่งงานด้านการวิจัยเพื่อรองรับบุคลากรการวิจัยทั้งในภาครัฐและเอกชน
อีกทั้ง คณะรัฐมนตรีเมื่อการประชุมวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๕ ได้เห็นชอบ (ร่าง) นโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕๕ – ๒๕๖๔) ตามที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เสนอ และให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และดำเนินการตามนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕๕ – ๒๕๖๔) สาระสำคัญของ (ร่าง) จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการพัฒนาประเทศไทยให้มีระบบเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างมีคุณภาพและมีเสถียรภาพ ตลอดจนมีการกระจายประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมสู่สังคม ชุมชน ท้องถิ่น โดยได้อัญเชิญ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาควบคู่ไปกับอนาคตของประเทศที่ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาประเทศไทย” ภายใต้วิสัยทัศน์ “นวัตกรรมเขียว เพื่อสังคมดีมีคุณภาพและเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ” ซึ่งสอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่ต้องการเห็นประเทศไทยสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน มีเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ยุทธศาสตร์ของนโยบายและแผน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ ประกอบด้วย ๕ ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การพัฒนาความเข้มแข็งของสังคม ชุมชน และท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การเพิ่มขีดความสามารถ ความยืดหยุ่นและนวัตกรรมในภาคการเกษตร ผลิตและบริการด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นอกจากนั้น ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘ และจังหวัดมุกดาหารเป็นประตูสู่อาเซียน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดเตรียมองค์ความรู้ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดมุกดาหารที่ว่า “เมืองการศึกษา การค้า การท่องเที่ยว วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง เชื่อมโยงอาเซียน” ตามแผนแผนปฏิบัติราชการจังหวัดมุกดาหาร พศ. ๒๕๕๖-๒๕๖๐ (อ้างอิง www.mukdahan.go.th/sta_prov.htm) ซึ่งการศึกษาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศไทยเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน
ดังนั้น เพื่อเป็นการน้อมนำพระราชดำรัสเกี่ยวกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยในระดับมัธยมศึกษา อีกทั้งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๖๔) และยุทธศาสตร์การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยมุกดาหารจึงขอความเห็นชอบในการดำเนินโครงการก่อสร้าง “อาคารเฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณวิทยพัฒน์” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี จะทรงพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ใน พ.ศ.๒๕๖๐
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ในวโรกาสจะทรงพระเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ใน พ.ศ.๒๕๖๐
๒. เพื่อเป็นการน้อมนำพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์
๓. เพื่อเป็นแหล่งการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
๔. เพื่อเป็นแหล่งความรู้ด้านวิทยาศาสตร์รองรับการประชาคมอาเซียน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
๑. ทำให้ประชาชนได้สำนักในพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติในวโรกาส ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ในวโรกาสจะทรงพระเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ใน พ.ศ.๒๕๖๐
๒.ทำให้เกิดการเสริมสร้างให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์
๓.ทำให้เกิดแหล่งการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
๔. ทำให้มีแหล่งความรู้ด้านวิทยาศาสตร์รองรับการประชาคมอาเซียน
ความหมาย “อาคารเฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณวิทยพัฒน์”
คือ อาคารที่จัดสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ในวโรกาสจะทรงพระเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ใน พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นอาคารที่ใช้สำหรับการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านวิทยาศาสตร์
ลักษณะของอาคาร
เน้น การประหยัดพลังงานและใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
เน้น การให้มีการปลูกพันธ์ไม้ภายในอาคารโดยพันธ์ไม้ต่างๆ สามารถใช้ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
มณูญพงศ์ ศรีวิรัตน์
ประธานสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร
ผู้ร่างโครงการ
องค์ฟ้าหญิง มิ่งขวัญ จุฬาภรณ์
ถวายพระพร นอบน้อม พร้อมเชิดชู
ทรงเชี่ยวชาญ ศาสตร์วิทย์ จิตเป็นครู
ทรงรอบรู้ วิจัย ใครจะยิ่ง
อาคารนี้ เฉลิม เสริมพระเกียรติ
รายละเอียด เสริมส่ง องค์ฟ้าหญิง
ปีห้ารอบ พรรษา ค่ามากยิ่ง
ทรงเป็นมิ่ง ชาวไทย ใจภักดี
หลักคิดสร้าง ร่างเริ่ม เติมเรื่องวิทย์
พร้อมเป็นมิตร ทุกสิ่ง ยิ่งจะดี
สร้างประหยัด จัดทาง วางแปลนดี
วิทย์ที่ดี ดีเลิศ เกิดความรู้
สร้างถวาย พระองค์ ทรงปรีชา
พวกเรามา อาสา อย่าเพียงดู
รวมทุกส่วน ชวนกัน ทำให้ดู
เพื่อเชิดชู พระองค์ ทรงพระเจริญ
มณูญพงศ์ ศรีวิรัตน์
ประธานสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร
แต่งถวาย ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖
ถวายพระพร นอบน้อม พร้อมเชิดชู
ทรงเชี่ยวชาญ ศาสตร์วิทย์ จิตเป็นครู
ทรงรอบรู้ วิจัย ใครจะยิ่ง
อาคารนี้ เฉลิม เสริมพระเกียรติ
รายละเอียด เสริมส่ง องค์ฟ้าหญิง
ปีห้ารอบ พรรษา ค่ามากยิ่ง
ทรงเป็นมิ่ง ชาวไทย ใจภักดี
หลักคิดสร้าง ร่างเริ่ม เติมเรื่องวิทย์
พร้อมเป็นมิตร ทุกสิ่ง ยิ่งจะดี
สร้างประหยัด จัดทาง วางแปลนดี
วิทย์ที่ดี ดีเลิศ เกิดความรู้
สร้างถวาย พระองค์ ทรงปรีชา
พวกเรามา อาสา อย่าเพียงดู
รวมทุกส่วน ชวนกัน ทำให้ดู
เพื่อเชิดชู พระองค์ ทรงพระเจริญ
มณูญพงศ์ ศรีวิรัตน์
ประธานสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร
แต่งถวาย ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น