ช่วงนี้รู้สึกว่าคำว่า U-Net กระแสแรงมากๆๆ และก่อนอื่นผู้เขียนต้องขออนุญาตออกตัวก่อนว่า ที่เขียนเรื่องนี้นั้นเนื่องจากเคยปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานศูนย์สอบ O-Net A-Net GAT/PAT ของศูนย์สอบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (รับผิดชอบ ๔ จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และ อำนาจเจริญ) ช่วงหนึ่ง พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๕๓ และที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับสถาบันใดๆ ทั้งนี้
สำหรับ O-Net เป็นสิ่งที่นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ ๖ ทุกคนจะต้องสอบโดยที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย (แต่อาจจะต้องเสียค่าเดินทางไปสอบหากโรงเรียนนั้นห่างไกลจากสนามสอบ) ซึ่งครั้งหนึ่งผมเจอกับเด็กนักเรียนบ้านนอก (ที่บอกว่าบ้านนอก เพราะเป็นเขาเรียนที่โรงเรียนตำบล) ต้องเข้ามาสอบในตัวอำเภอ เขาบอกผมว่าเมื่อเขาจบแล้วเขาจะไปทำนาจะต้องสอบ O-Net ด้วยเหรอ ผู้เขียนได้แต่ยิ้มเพราะไม่สามารถจะตอบอธิบายเพิ่มเติมได้
สำหรับ A-Net และ มาเป็น GAT/PAT นั้น เป็นวิชาที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบ (เอาง่ายๆ ว่าไม่มีเงินก็ไม่ได้สอบ) เป็นวิชาเฉพาะวิชาชีพ เช่น ความถนัดครู ความถนัดวิศวะ เป็นต้น โดยวิชาความถนัดเหล่านี้ จะได้ในการเลือกเข้าคณะที่ต้องการ
สำหรับในปัจจุบันคณะสาขาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเมื่อนักศึกษาจะสำเร็จการศึกษาเพื่อไปประกอบอาชีพในสาขาวิชาชีพของตน เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวะ นิติศาสตร์ เภสัช เป็นต้น และที่สำคัญคือ คณะต่างจะมีสภาชีพเป็นหน่วยงานที่ควบคุมคุณภาพ หากไม่มีก็จะมีสภาคณบดีคอยประชุมกันปรึกษาหารือว่าจะทำอย่างไรให้บัณฑิตของคณะมีคุณภาพเพื่อออกไปรับใช้สังคมประเทศชาติ เช่น สภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สภาคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ เป็นต้น
ที่นี้ กลับมาที่ U-Net หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกว่ากฎหมายกำหนดไว้จะต้องทำการทำการทดสอบทุกระดับ ผู้เขียนคิดว่าเมื่อกฎหมายกำหนดไว้ ก็น่าจะสามารถแก้กฎหมายได้ (เพราะหากว่ากฎหมายดังกล่าวเกิดความเดือดร้อนให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดปัญหา กฎหมายดังกล่าวก็ไม่น่าจะมีประโยชน์ใดๆ) เพราะที่สำคัญ คือ หากจะสอบบรรจุตำแหน่งข้าราชการต่างๆ ก็ต้องสอบ ก.พ. ภาคต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่ง U-Net ที่เห็นบอกว่าจะมีวิชาเกี่ยวกับการวัดคุณธรรมของบัณฑิตปริญญาตรี สำหรับเรื่อง "คุณธรรม" จะต้องปลูกฝั่งกันตั้งแต่เด็กๆ ดังนั้น กระบวนดังกล่าวจะต้องบูรณาการกับ สพฐ. ท้องถิ่น ผู้ปกครอง สำนักพุทธศาสนา และอื่นๆ หรือจะเป็นวิชาอื่นก็เช่นเดียวกันครับ
เอาเป็นว่า U-Net ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมีการทบทวนให้รอบคอบในทุกๆ ด้านทุกมิติโดยยึดหลัก ๒ ป. คือ "ประโยชน์และประหยัด"
และสุดท้ายนี้ หากสามารถทบทวนเกี่ยวกับเรื่องในปัจจุบันที่กำลังสอบกันอยู่ทั่วประเทศในขณะนี้คือ การสอบ GAT/PAT ทำอย่างไรเด็กนักเรียนบ้านนอกที่ไม่มีเงินค่าสมัครเข้าจะได้มีโอกาสได้สอบวิชาความถนัดเหล่านี้ ซึ่งจริงๆ แล้วถือว่าไม่ยุติธรรมเลย "ไม่มีเงินไม่ได้สอบ" ผู้เขียนคิดว่าเป็นแนวคิดที่อาจจะต้องปรับกันนะครับ
สอบไปเพื่อวัดผล ที่ทุกคนควรได้สอบ
บางครั้งอาจไม่ชอบ ต้องขอบอกให้เปลี่ยนแปลง
การสอบยึด ๒ ป. ให้เพียงพอไม่แอบแฝง
ประโยชน์ไม่ปรุงแต่ง พร้อมแสดงทางประหยัด
U-Net ต้องทบทวน โดยเร่งด่วนและเร่งรัด
U-Net ต้องทบทวน โดยเร่งด่วนและเร่งรัด
ทุกอย่างอย่าผูกมัด โดยต้องจัดให้ดีเอย
มณูญพงศ์ ศรีวิรัตน์
อดีตประธานศูนย์สอบ O-Net A-Net GAT/PAT
ศูนย์สอบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๕๓
๒๖ เมษายน ๒๕๕๗
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น