Nuffnang Ads

วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

พ่อกับ "นกเขา"


เท่าที่ผมระลึกได้จำได้ตั้งแต่เด็กจำความได้ พ่อเป็นผู้ที่เลี้ยงนกเขาเวลาว่างใน
ตอนบ่าย (หลังจากที่ค้าขายตั้งแต่เช้าตรู่) พ่อมักจะไป “ต่อนกเขา” โดยใช้ “เพนียดนกเขา” ซึ่งทำให้ได้นกเขาป่าที่ต่อได้มาเลี้ยงในกรง (เน้นนะครับ เลี้ยงในกรง) ทำให้ตั้งแต่เด็กตอนเช้าๆๆๆ จะได้ยินเสียงนกเขาขัน และที่บ้านก็มีนกเขาหลายๆ ตัวในแต่ละกรง

ตอนเด็กๆ นั้น ผมไปต่อนกเขากับพ่อไม่กี่ครั้ง เวลาไปกับพ่อ พ่อก็จะปีนขึ้นต้นไปนำเพนียดไปวางไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมเพื่อให้นกเขาป่ามาที่เพนียด (ซึ่งในเพนียดจะมีนกเขาต่อเพื่อเป็นตัวล่อ) ผมก็รอ นั่งและนอนรอซึ่งส่วนมากก็จะหลับไปอย่างไม่รู้ตัว เพราะบรรยากาศดี เย็น สงบ เงียบ  ตื่นมาอีกครั้ง อ้าวพ่อได้นกเขาแล้ว

ก็เป็นมาอย่างนี้หลายสิบปี จนผมเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็เคยบอกผมว่า “พ่อปล่อยนกเขาที่ต่อมาได้เถอะ” พ่อก็สัญญา และก็ปล่อย นกเขาบางตัวที่อยู่ในกรงนานๆ นกเขาที่ได้กินอาหารที่พ่อหามาให้ เวลาปล่อยไปนกเขาไม่ยอมไป ต้องนำไปปล่อยที่ป่า อย่างไรก็ดี ก็ยังมีนกเขาหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง  และเช่นเดียวกันเมื่อผมเรียนปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ่อก็ยังเลี้ยงนกเขาหลงเหลือประมาณ ๔-๕ ตัว  และเมื่อจบกลับมาจากต่างประเทศประเทศ พ.ศ.๒๕๔๔ พ่อก็ยังเลี้ยงนกเขาอยู่ประมาณ ๒-๓ ตัว  ซึ่งผมได้ขอร้องบอกให้พ่อเลิกเลี้ยงและปล่อยนกเขาไปเถอะ ซึ่งก็ใช้เวลานานพอสมควร จนในที่สุดพ่อก็ยอม

ที่สำคัญที่ผมจะเล่า “พ่อกับนกเขา” ต่อไปนี้ เป็นความรู้สึกส่วนตัว ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ผมอาจจะคิดไปเองก็ได้ โดยเป็นประเด็นเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของพ่อ (ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการจับนกเขามาเลี้ยงในกรงก็ได้ โปรดใช้วิจารณญาณพิจารณานะครับ) 

พ.ศ.๒๕๔๕ พ่อป่วยต้องผ่าตัดไส้เลื่อนที่โรงพยาบาลยโสธร ประมาณเดือนพฤษภาคม

พ.ศ. ๒๕๔๙ พ่อป่วยต้องเจาะศีรษะกะโหลกเพื่อดูดลิ่มเลือดออกจากสมองที่โรงพยาบาลราชเวชอุบลราชธานี อาการเนื่องจากเริ่มจากจำอะไรไม่คอยได้ รับประทานอาหารไม่อร่อย  โดยผมนำพ่อมาอยู่ด้วยที่อุบลฯ ได้สั่งเกตอาการและในที่สุดผมตัดสินใจไปนำพ่อไปหาคุณหมอประวิทย์ โภคสวัสด์ ที่โรงพยาบาลราชเวชอุบลราชธานี เมื่อคุณหมอตรวจอาการแล้ว คุณหมอถามผมก่อนข้างนอกตรวจว่า “คุณพ่อชอบอะไรเป็นพิเศษ ดูอะไรเป็นพิเศษ ผมตอบไปว่าพ่อชอบดูข่าวการเมือง ดูมวย ครับ” แล้วคุณหมอประวิทย์ก็กลับไปถามพ่ออีกครั้งหนึ่งว่า “คุณตา นายกรัฐมนตรีชื่อว่าอะไร? ปรากฏว่าพ่อตอบไม่ได้ คุณหมอเลยสั่งให้ Scan สมอง ปรากฏว่ามีลิ่มเลือดกดเส้นประสาทในสมองส่วนหนึ่งไม่มากเท่าไร  บ่ายวันนั้นก็ได้เจาะกะโหลกเพื่อดูดและนำลิ่มเลือดออกมา เชื่อหรือไม่ครับว่า เมื่ออคุณหมอดำเนินการเสร็จสิ้น คุณหมอประวิทย์มาถามพ่ออีกครั้งว่า “คุณตา นายกรัฐมนตรีชื่อว่าอะไร? พ่อตอบว่า “ทักษิณ ชินวัตร”   อาการที่พ่อมีลิ่มเลือดในสมองนี้ทำให้ผมสงสัย ก็เลยสอบถามคุณหมอว่าเกิดขึ้นได้เพราะอะไร คุณหมอตอบว่า “เมื่อคนเราอายุมากสูงขึ้น เนื้อสมองอาจจะหดตัวเล็กน้อย (หากไม่ใช้สมองเป็นประจำ) ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเนื้อสมองกับส่วนของกะโหลก หากได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะก็อาจจะเป็นไปได้ที่ทำให้เนื้อสมองกระแทกกับกะโหลกเกิดลิ่มเลือดออกมาไปกดเส้นประสาทบางส่วน” กรณีของพ่อผมปรากฏว่าลิ่มเลือดก้อนเลือดไปกดเส้นประสาทการรับรู้รสอาหารและความจำบางส่วนครับ ที่นี่ ทุกอย่างต้องมีสาเหตุอย่างแน่นอน เพราะผมเชื่อว่าอยู่ดีๆ ลิ่มเลือดดังกล่าวจะเกิดขึ้นมาเองไม่ได้  ในที่สุดผมก็ทำการสอบสวนสืบสวนกับเจ้าตัว คือ “พ่อของผม” จึงได้ความว่าก่อนหน้านี้ “พ่อผมปีนต้นมะม่วงไม่สูงมากแล้วล้มลงมาศีรษะไปกระแทกกับกำแพงบ้าน แต่พ่อคิดว่าไม่เป็นอะไรมากเลยไม่บอกใคร” นี่แหละครับเป็นต้นเหตุและสาเหตุของการที่จะต้องเจาะศีรษะตามที่ผมได้กล่าวข้างต้น 

การรักษาในครั้งนี้เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็หมดไปหลายหมื่น เพื่อนๆ บอกว่าทำไมไม่พาพ่อเข้าโรงพยาบาลรัฐบาล ผมบอกไปว่าเหตุการณ์เกิดตอนเช้าวันเสาร์แล้วจะให้รอวันจันทร์แล้วพาพ่อไปตรวจที่โรงพยาบาลรัฐบาลตอนเช้าวันจันทร์ ผมไม่เอาอย่างนั้นหรอก เพราะนี่คือ “พ่อของผม ผมจะไม่รอ”  เหตุการณ์เช้าวันเสาร์ดังกล่าวนั้น ผมพาพ่อไปรับประทานอาหารเช้าที่ร้านสามชัยอุบลราชธานี ก่อนขึ้นรถผมสังเกตเห็นแล้วว่าพ่อไม่สวมใส่รองเท้า และถามไปว่าพ่อสวมรองเท้าหรือยัง พ่อตอบว่าสวมแล้ว จนผมต้องนำรองเท้าสวมให้ท่าน เมื่อถึงร้านสามชัยจะลงจากรถท่านตาลอยๆ แววตาลอยๆ ไม่สนใจผม  ผมตัดสินใจในทันทีเปลี่ยนจากรับประทานอาหารเช้ารีบขับรถไปโรงพยาบาลราชเวชทันทีครับ

พ.ศ.๒๕๕๔  พ่อเริ่มป่วยอีกครั้ง หลานๆ ญาติๆ โทรศัพท์บอกผมว่าให้นำพ่อไปตรวจร่างกายด้วย เนื่องจากสังเกตเห็นว่าพ่อไม่ค่อยจะกินข้าวและมีไข้ด้วยในบ้างครั้ง  ผมก็นำไปมาตรวจกับท่านคุณหมอประวิทย์ โภคสวัสด์ ที่อุบลราชธานีเช่นเคย เพราะพ่อบอกว่าหากจะพาไปตรวจจะต้องตรวจกับคุณหมอประวิทย์ เท่านั้น  ในที่สุดด้วยความสามารถของคุณหมอท่านได้สั่ง X-ray ที่ปอดก็พบจุดขาวเล็กๆ จำนวนหนึ่ง คุณหมอก็ไม่แน่ใจท่านเลยเขียนรายงานเพื่อนำตัวไปตรวจปวดที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งจะต้องส่องกล้องผ่านหลอดอาหารไปยังปอด ซึ่งก่อนตรวจนั้นคุณหมอที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ได้พูดคุยกับผมก่อนว่า ผลการตรวจอาจจะมี ๓ อย่าง คือ ๑. มะเร็งปอด ๒. วัณโรค และ ๓. ปกติ  ผมก็ทำใจแล้วละครับว่าจะเป็นอะไรก็เป็นไปตามกรรม ในที่สุดผลการตรวจปรากฏว่า “พ่อเป็นวัณโรค”  คุณหมอก็ให้กลับมาและสามารถกลับมารับยาที่โรงพยาบาลสุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด  เนื่องจากวัณโรคสามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาต่อเนื่องกันอย่างน้อย ๖ เดือน ในที่สุดพ่อก็หายเป็นปกติ จนถึงปัจจุบัน

ที่กล่าวมาข้างต้นเกี่ยวกับการป่วยของพ่อ แล้วมันเกี่ยวกับ “พ่อกับนกเขา : อย่างไร?” ผมว่าเป็นผลกรรมของพ่อผมที่ได้กักขังนกเขาให้อยู่ในกรง ซึ่งตามธรรมชาตินกเขาก็ควรอยู่ป่า เพื่อหาอาหารโบยบินหาคู่เลี้ยงลูกนกเขาตามวิสัยของนกเขา  อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๕ พ่อผมเริ่มทำบุญถวายพระประธานให้กับวัดต่างๆ ในทุกๆ ปี ที่ผ่านมาก็ถวายไปแล้ว ๙ วัด  และหลังจากรักษาวัณโรคหายแล้ว พ่อได้อ่านหนังสือของหลวงพ่อจรัญ (ที่ผมนำไปให้อ่าน) ปรากฏว่า พ่อผมไม่กลัวความตายเลยครับ ทำให้ผมดีใจเป็นอย่างมาก และผมก็เขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งตั้งใจว่าจะแจกในงานศพของพ่อ ก็นำให้พ่ออ่านก่อน พ่อชอบมากเลยครับ และบอกผมว่า “ดีแล้วได้อ่านก่อน ตายไปก็ไม่ได้อ่าน” เท่านั้นแหละครับที่ยิ่งทำให้ผมดีใจที่พ่อผมเข้าใจชีวิต

ดังนั้น “พ่อกับนกเขา” ผมคิดว่าผลกรรมผลบุญที่เกิดขึ้นนั้นจะทำให้พ่อได้หมดเวรหมดกรรมกับนกเขาที่ได้เบียดเบียนเหล่านกเขาเหล่านั้นมาหลายปี เมื่อเราไม่เบียดเบียนใคร ก็ย่อมไม่มีผลกรรมเกิดขึ้นตามมา มุ่งแต่ทำกรรมดี ทำบุญกุศล ย่อมจะจากโลกใบนี้ไปอย่างมีความสุขครับ

ขอจบเรื่อง “พ่อกับนกเขา” เพียงเท่านี้ก่อน ครับ

หากเราเบียดเบียนเขา  เราต้องเศร้าในสักวัน
ผลกรรมตามจะทัน  ไม่กี่วันย่อมตามมา
หากเรากักขังเขา มีแต่เรารับกรรมมา
รับรองกรรมนำพา ต้องโรยราในผลกรรม
หากเราปล่อยเขาไป ย่อมสุขใจการกระทำ
ผลบุญย่อมน้อมนำ เป็นพระธรรมในใจเอย







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น