Nuffnang Ads

วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553

Applying to use Social Network for learning and teaching case of Ubon Rajathanee University

การประยุกต์ใช้เครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน กรณีศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

บทคัดย่อ

การประยุกต์ใช้เครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนเป็นหนทางเลือกหนึ่งที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสามารถใช้เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้สอน ผู้เรียน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้สอนและผู้เรียนในการสื่อสารภายใต้ระบบอินเทอร์เน็ตที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ ในการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายและระบบโปรแกรม อีกทั้งเป็นการประหยัดในแง่ของการลดใช้กระดาษซึ่งเป็นการลดปัญหาโลกร้อนไปด้วย นอกจากนั้น ผู้สอน ผู้เรียน ผู้บริหาร สามารถตรวจสอบวิธีการสอน วิธีการเรียน วิธีการให้ความรู้ วิธีการหาความรู้ วิธีพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกันผ่านระบบเครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์อันจะเกิดการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างยั่งยืน โดยการประยุกต์ดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ฉบับที่ 2) และประการสำคัญคือสอดคล้องกับการดำเนินงานตามแนวพระราชดำรัสในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน

ABSTRACT

Applying to use social network for instruction education is the way chosen at Ubon Rajathanee university can use to develop for learning and teaching accompany with instructors and learners. It can be advantage for both of the instructors and the learner in the communication beneath an internet system by not buying both computer servers and program systems. Moreover, it can be the saving in the sense of the reduction uses paper and the global worming. Besides, the instructors, the learners and executive staffs can academically check the way of teaching, the way of studying, the way of giving the knowledge, the way of seeking the knowledge, and the development way of learning with the social network system that it will develop the education permanently. This application is operated and corresponded to the vision of Ubon Rajathanee university and the second master plan of ICT. Similarly, it is operated and corresponded to the royal comment of Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn about using the internet for developing the learning and teaching.

Keywords: Social Network / Learning and Teaching / Sharing of Knowledge

บทนำ (Introduction)

สืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยของเราในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อการได้รับงบประมาณสนับสนุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานราชการและมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ [1] อีกทั้ง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 [2] กำหนดให้หน่วยงานจัดหาระบบจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวที่เกี่ยวกับการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะเป็นจะต้องใช้งบประมาณในการจัดหาเช่นกัน นอกจากนั้น แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับที่ 2 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษามีแผนการพัฒนาการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ [3] และการประเมินประกันคุณภาพการศึกษาผลการประเมินได้เสนอแนะให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพสูงขึ้น [4] อีกทั้ง เพื่อเป็นการสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ว่า เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ ที่เน้นนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบัณฑิตและประชาชนบนฐานภูมิปัญญาอีสานใต้และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ด้วยสาเหตุข้างต้นจะเห็นว่ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีต้องดำเนินงานการพัฒนาการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณทั้งเงินแผ่นดินและเงินรายได้

ดังนั้น เพื่อให้วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นจริงในประเด็นการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้การสอนโดยเน้นความพอเพียง ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า สร้างสติและปัญญาแก่สังคม บนพื้นฐานความพอเพียง ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอการประยุกต์ใช้เครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน กรณีศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เนื่องจากเครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์ (Social Network เช่น blog, twitter, facebook, homepage เป็นต้น) เป็นระบบที่ผู้ใช้งานทั่วไปไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายและงบประมาณในการพัฒนาระบบ โดยทั้งอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาสามารถใช้งานระบบได้ง่ายและสะดวก นอกจากนั้น การประยุกต์ดังกล่าวจะเป็นการดำเนินงานตามแนวพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายในหัวข้อ แนวโน้มการจัดการเรียนการสอนเพื่อการเรียนรู้ในทศวรรษหน้า ในการสัมมนาวิชาการ เรื่อง เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ในทศวรรษหน้า ณ โรงแรม บีพี สมิหลา จังหวัดสงขลา วันที่ 23 กันยายน 2542 ดังความตอนหนึ่งว่า [5] “...ความรู้ทาง internet ได้ด้วย ครูจึงน่าจะไปตรวจดูก่อนว่า เรื่องที่จะกำหนดในแผนให้พูดในชั้นเรียนนั้นจะมี websites อะไรบ้างที่จะส่งเสริมการสนทนาในชั่วโมงนั้นต้องตั้งข้อสังเกตได้ว่า websites นั้นเป็นอย่างไร เพราะในเรื่องเดียวกันจะมีหลาย websites จะมีข้อเด่นข้อด้อยต่างกันออกไป...

ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology)

เนื่องจากการทดลองวิจัยนี้เป็นการประยุกต์ใช้ระบบการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud Computing system) ซึ่ง Wikipedia [6] ให้ความหมายของ Cloud Computing ว่าเป็นการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการประมวลผล โดยทรัพยากรเหล่านี้จะมีผู้ให้บริการเป็นบุคคล หรือองค์กรที่สาม (Third party) เป็นเจ้าของและจัดการโดยจะรวมทรัพยากรไว้ที่ศูนย์ข้อมูล ผู้ที่จะใช้งานหรือบริการ Cloud Computing ไม่จำเป็นที่ต้องทราบความสามารถของทรัพยากรตามความต้องการใช้งานและไม่ต้องสนใจว่าทรัพยากรที่มีอยู่นั้นมีศักยภาพมากน้อยเพียงใด รวมถึงผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความรู้หรือมีความเชี่ยวชาญ เกี่ยวกับเทคโนโลยีของทรัพยากรที่ถูกจัดสรรไว้ ซึ่งส่วนประกอบของระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1 ระบบการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ [7]

จากระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆข้างต้นนั้น มีส่วนที่เรียกว่า Social Network ซึ่งผู้เขียนขอให้ความหมายของ Social Network ว่าเป็นเครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์เพื่อไม่ให้สับสนกับเครือข่ายสังคมทั่วๆ ไป ที่หมายถึงความสัมพันธ์กับในการใช้ชีวิตทางสังคมโดยปกติ แต่เป็นเครือข่ายที่เน้นการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ เพื่อเกิดการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมผู้ใช้งานเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างยั่งยืน โดยเครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์จะประกอบ เช่น google, gmail, yahoo, twitter, hi5, blog, facebook, homepage เป็นต้น ซึ่งวิธีการประยุกต์ใช้เครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน ผู้สอนและผู้เรียนจะต้องดำเนินการ ดังนี้ (1) สมัครใช้ e-mail (Gmail.com) เพื่อเอาไว้ใช้ในการรับการยืนยันในกรณีสมัครใช้งานระบบเครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์ในระบบต่างๆ (2) สมัครใช้ twitter.com เป็นระบบหนึ่งที่สามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลในช่องข้อมูลที่ไม่เกิน 140 อักษร เป็นระบบที่สามารถติดตามผู้ที่สนใจข้อความของผู้ใช้งาน (3) สมัครใช้ blog (Blogger.com) เป็นระบบที่ผู้ใช้งานสามารถเขียนบทความความรู้ข้อคิดเห็น ซึ่งผู้ติดตามสามารถแสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมอันเป็นการต่อยอดความรู้ในเรื่องนั้นๆ (4) สมัครใช้ homepage (webs.com) เป็นระบบที่ผู้ใช้งานสามารถจัดทำโฮมเพจได้ด้วยตนเองอย่างง่ายพร้อมบันทึกข้อมูลประเภทต่างๆ ไว้สื่อสารกับผู้ติดตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ (5) เครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์ อื่นๆ เช่น facebook.com, hi5.com เป็นต้น เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนข้างต้นเสร็จสิ้น ผู้สอนสามารถกำหนดคำถามไว้ใน twitter เพื่อให้ผู้เรียนเข้าไปติดตาม โดยผู้สอนกำหนดให้ผู้เรียนเขียนคำตอบไว้ใน Blog หรือ Homepage และผู้สอนสามารถเขียนบทความไว้ใน Blog เพื่อให้ผู้เรียนเข้าไปอ่านและแสดงความคิดเห็นหรือคำตอบไว้ใน Blog ของผู้สอน หรือ Blog ของผู้เรียนได้ ทั้งนี้ ผู้สอนสามารถติดตามคำตอบหรือข้อคิดเห็นของผู้เรียนผ่านระบบเครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ดังปรากฏในภาพที่ 2


ภาพที่ 2 การประยุกต์ใช้เครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน

ระเบียบวิธีการประยุกต์ใช้เครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนผู้เขียนได้ทดสอบใช้กับการเรียนการสอนในวิชา 1106441 New Venture and Entrepreneurship for Information Technology มีนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวน 54 ราย ผู้สอนกำหนดให้ผู้เรียนทุกคนมีการใช้เครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์ ผู้สอนกำหนดคำถามไว้ใน twitter.com/ubu2009 แล้วในผู้เรียนเข้าไปติดตามอ่านคำถาม และผู้เรียนเขียนคำตอบไว้ใน blogger.com ซึ่งผู้สอนก็ต้องมีบทความเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวข้องไว้ที่ msrivirat.blogspot.com โดยจะกล่าวรายละเอียดในผลและการอภิปรายผลต่อไป

ผลและการอภิปรายผล (Results and Discussion)

ตัวอย่าง การใช้ twitter ในการกำหนดคำถามเพื่อให้นักศึกษาเข้าไปอ่านเพื่อตอบคำถามไว้ใน blog ของนักศึกษา และผู้สอนสามารถติดตามคำตอบของผู้เรียนได้


http://twitter.com/ubu2009
ตัวอย่าง ผู้สอนเขียนบทความหรือคำถามไว้ใน blog ที่มีการเชื่อมต่อจาก twitter.com/ubu2009 แล้วให้ผู้เรียนอ่านพร้อมเสนอความคิดเห็น เขียนคำตอบหรือข้อคิดเห็นใน blog ของผู้เรียนได้


จะเห็นว่าผลการประยุกต์ใช้เครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์เพื่อการสอนดังกล่าวข้างต้น ผู้สอนสามารถกำหนดคำถามพร้อมทั้งมีรายละเอียดบทความเนื้อหาความรู้ที่ต้องการผู้เรียนได้ติดตาม โดยผู้สอนสามารถตรวจสอบว่าผู้เรียนคนใดเข้ามาในระบบเวลาใดก่อนหลัง ซึ่งสามารถใช้ประเมินผลความสนใจของผู้เรียน อีกทั้ง ผู้สอนสามารถได้รับทราบข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบทความและเนื้อหาความรู้ต่างๆ ที่อยู่ในระบบเพื่อใช้ในการปรับปรุงการสอน โดยผู้เรียนสามารถติดตามคำตอบข้อคิดเห็นของเพื่อนๆ ในห้องเรียน ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้อันจะนำไปสู่การพัฒนาความคิดประยุกต์ในวิชาดังกล่าว

บทสรุปและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม (Conclusion and Implications)

การประยุกต์ใช้เครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนลำดับแรกสุดผู้ใช้งานไม่ว่าจะเป็นผู้สอนและผู้เรียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสมัครเพื่อขอใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (yahoo, gmail, hotmail, หรือ อื่นๆ ) เนื่องจากจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จะมีประโยชน์สำหรับใช้ในการยืนยันการเข้าสู่ระบบเครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์ (blog, twitter, facebook, homepage เป็นต้น) อีกทั้ง จดหมายอิเล็กทรอนิกส์มีประโยชน์สำหรับนักศึกษาและผู้สอนใช้ติดต่อสื่อสารส่วนบุคคลในกรณีที่นักศึกษาต้องการขอคำปรึกษาในการเรียนการสอนโดยตรง เมื่อสมัครเป็นผู้ใช้งานของระบบเครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์แล้วผู้สอนสามารถสื่อสารแบบเปิดเผยกับผู้เรียนและผู้ใช้งานทั่วไปรวมถึงผู้ปกครอง ทำให้ผู้ใช้งานทุกคนในระบบสามารถสื่อสารเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ เกิดการตรวจสอบ และประการสำคัญอีกอย่าง คือผู้ปกครองสามารถได้รับทราบว่าผู้สอนมีกระบวนการอย่างไรในการให้ความรู้แก่นักศึกษา ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการดำเนินการที่เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) อันเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการลดการใช้กระดาษซึ่งสอดรับกับการแก้ปัญหาโลกร้อนอีกหนทางหนึ่ง

โดยสรุป การประยุกต์ใช้เครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนทำให้เกิดประโยชน์ ดังนี้ (1) มหาวิทยาลัยประหยัดงบประมาณสำหรับการจัดหาคอมพิวเตอร์แม่ข่ายในการจัดเก็บข้อมูลและระบบการจัดเก็บข้อมูลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 การจัดหาโปรแกรมเพื่อการเรียนการสอน และการจัดหาเจ้าหน้าที่ในการดูแลระบบ (2) ผู้สอนสามารถให้ข้อมูล ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา ติดตามการส่งงานของผู้เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลาผ่านระบบอินเทอร์เน็ต อีกทั้ง ผู้เรียนสามารถที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย (3) มหาวิทยาลัยบรรลุวิสัยทัศน์ในประเด็นการมีสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน และยังสอดคล้องกับแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ (4) มหาวิทยาลัยได้น้อมนำตามแนวพระราชดำรัสในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในประเด็นการใช้ Internet, websites ต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอน อย่างไรก็ดี การประยุกต์ดังกล่าวถึงแม้ว่าจะมีข้อดีมีประโยชน์แต่ผู้เขียนคิดว่ายังมีปัญหาและอุปสรรคในการใช้งาน คือ (1) ผู้สอนที่ยังไม่มีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอาจจะมีความรู้สึกว่าเป็นระบบที่ไม่ดี (2) รายวิชาบางรายวิชาอาจจะไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างเต็มที่เนื่องจากบริบทของเนื้อหารายวิชานั้นๆ ซึ่งผู้สอนอาจจะใช้วิธีการประยุกต์แนวทางอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมกว่า (3) ผู้ใช้งานทั้งผู้สอนและผู้เรียนอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือในการใช้งาน คือ เครื่องคอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้เงินงบประมาณในการจัดหา

ดังนั้น เพื่อให้การประยุกต์ดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งผู้สอนและผู้เรียนควรจะต้องเพิ่มทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเกี่ยวกับการใช้เครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

กิตกรรมประกาศ (Acknowledgement)

ขอขอบคุณนักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิชา 1106441 New Venture and Entrepreneurship for Information Technology ที่ได้ให้ความร่วมมือการใช้เครือข่ายสังคมคอมพิวเตอร์ในการเรียนการสอน และขอขอบคุณอดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณวไล อธิวาสน์พงศ์) ที่อนุมัติให้ผู้เขียนเข้ารับการอบรมโครงการ พัฒนาหลักสูตรการเสริมทักษะความเป็นผู้ประกอบการสำหรับบุคลากรสายวิทยาศาสตร์ รุ่นที่ 3 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม – 13 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ศึกษาและดูงานที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อให้ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้จริงในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

เอกสารอ้างอิง (References)

[1] งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553. (http://www.bb.go.th).

[2] พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550.

(http://www.mict.go.th/ewt_news.php?nid=333&filename=index ).

[3] แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2. (http://www.mict.go.th/ewt_news.php?

nid=74).

[4] http://www.sdhabhon.com/QA/QA-AsscessmentReport_by_onesqa-March2008.pdf

[5] รัตนพินิจ นิทิศการศึกษา. รวมปาฐกภาด้านการศึกษาใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. มูลนิธิ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ. บริษัท อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด. กรุงเทพ.

[6] http://en.wikipedia.org/wiki/Cloud_computing.

[7] http://it.toolbox.com/blogs/madgreek/the-future-is-in-the-clouds-25369.


3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ26 กรกฎาคม 2553 เวลา 08:32

    ขอเป็นกำลังให้งานวิจัยของคุณ Mannoon Srivirat ประสบความสำเร็จนะคะ
    ขอบคุณมาก สำหรับข้อมูล

    เป็นประโยชน์มากเลย เพราะกำลังทำวิจัยเรื่อง cloud computing for education อยู่พอดีเลย
    ตอนนี้พึ่งเริ่มนะคะ จริงๆ แล้วอยากได้ข้อมูลของพี่มนูญ ศรีวิรัตน์ ทั้งหมดเพื่อมาใช้อ้างอิงวิจัย
    ถ้าไม่เป็นการรบกวนมากนัก ช่วยส่งไฟล์มาที่r_sa_ning@hotmail.com เพื่อเป็นวิทยาทานนะค่ะ ขอบคุณคะ

    ตอบลบ
  2. สนใจงานวิจัยชิ้นนี้ค่ะ สนใจที่จะนำSocial Network มาปรับใช้กับการเรียนการสอนจริงๆ อยากจะศึกษารายละเอียดวิธีการจากงานวิจัยชิ้นนี้ค่ะ อาจารย์พอจะเผยแพร่ข้อมูลได้ไหมคะ อยากได้เอกสารฉบับเต็มน่ะค่ะ จะเป็นประโยชน์มากๆเลยค่ะ ถ้าไม่รบกวนช่วยส่งข้อมูลมาที่ kittygreen099@gmail.com จะเป็นพระคุณมากๆเลยค่ะ จากคุณครูคนนึง

    ตอบลบ
  3. ไม่ทราบว่ามีตีพิมพ์ลงที่ไหนรึเปล่าค่ะ อยากได้ไปเป็นข้อมูลประกอบการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาค่ะ จะได้อ้างแหล่งที่มาถูก หากอาจารย์มีข้อมูลอื่นๆ แนะนำเพิ่มเติม รบกวนส่งทางอีเมลหน่อยนะคะ roongkan@gmail.com ขอบพระคุณมากค่ะ

    ตอบลบ