หลายวันก่อนนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีท่านหนึ่งได้แนะนำและอยากจะให้เขียนเกี่ยวกับเรื่องของหัวโขน ผู้เขียนได้รับปากท่านไป แล้วและคิดว่าจะต้องสวมหัวโขนในการเขียนเรื่องดังกล่าวให้ได้
โขน เป็นการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงอันเก่าแก่ของเมืองไทยมาเป็นเวลาช้านาน อย่างที่เราๆ ท่านๆ ทราบกันดี (รายละเอียดไม่ขออนุญาตกล่าวถึงนะครับ) แต่โดยข้อเท็จจริงผู้เขียนก็ไม่เคยได้มีโอกาสได้สัมผัสและดูการแสดงของโขนสักกะที ซึ่งโดยส่วนมากแล้วเรามักจะทราบกันดีว่าโขนที่แสดงนั้น เป็นเรื่อง “รามเกียรติ์”
แต่ประเด็นสำคัญคือ “โขน” มักจะเกี่ยวกับ “หัวโขน” เพราะบทบาทการแสดงต่างๆ นั้น ตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และตัวลิง จะต้องแต่งกายให้เป็นไปตามบทบาทที่กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวยักษ์ ตัวลิง จะต้องสวมหัวโขนเพื่อทำให้ทราบว่าหน้าตาลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งผู้แสดงเมื่อสวมหัวเข้าไปแล้วก็จะต้องเล่นไปตามหน้าตาหรือหัวที่กำหนดไว้ เช่น ตัวยักษ์ (ซึ่งก็มีหลายประเภท) ก็ย่อมจะแสดงให้สมจริงสมจังในอิทธิฤทธิ์ที่มีผู้กำหนดผู้เขียนบทได้วางไว้ ตัวลิงก็เช่นกัน (ก็มีหลายประเภท) ก็ย่อมจะต้องแสดงให้สมบทบาทที่ได้กำหนดตัวลิงบางตัวก็มีพลังอำนาจอิทธิฤทธิ์มากเช่นกัน
เมื่อหมดเวลาการแสดงหรือเรื่องราวของเรื่องนั้นได้จบลง หัวโขนของผู้แสดงในบทต่างๆ ทั้งตัวยักษ์ตัวลิงก็จำเป็นจะต้องถอดออกจากหัวของผู้แสดง เพราะหากไม่ถอดออกก็อาจจะชีวิตหาไม่ เนื่องจากไม่สามารถที่จะรับประทานสิ่งใดๆ ได้ และอาจจะได้รับอากาศไม่เพียงพอก็เป็นได้
จะเห็นว่าในเรื่องของโขนข้างต้นนั้น ตัวพระ ตัวนาง (นางเอก) มักจะไม่สวมใส่หัวโขน (อันนี้ผู้เขียนก็ไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด) แต่ผู้เขียนจะให้ข้อสังเกตว่า หัวโขนมักจะถูกสวมใส่เฉพาะในบทบาทของตัวยักษ์ตัวลิงเท่านั้น ดังนั้น อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าเมื่อสวมหัวแล้วจะต้องเล่นให้สมจริงตามบทที่กำหนด หากเปรียบเทียบกับมนุษย์เรานั้นจะเห็นว่าการที่เราทำหน้าที่ต่างๆ ล้วนต่างถูกกำหนดให้สวมในบทบาทต่างๆ เช่น เป็นพ่อแม่ก็จะต้องทำหน้าที่ที่ถูกวางกำหนดไว้ตามตำแหน่งหน้าที่ของพ่อแม่ ลูกก็จะต้องทำหน้าที่ของที่กำหนดเรียกว่าลูกให้ดีที่สุด เป็นต้น จะเห็นว่าสิ่งที่กำหนดตั้งแต่เราแรกเกิดมาบนโลกนี้ เราจะต้องทำหน้าที่ตามที่สังคมได้กำหนดไว้แล้วอย่างเช่น พ่อ แม่ ลูก และกล่าวสำหรับที่เราได้ถูกสมมติเพิ่มเติมต่อจากนั้นอีก คือ บทบาทของการเป็นนักเรียน นักศึกษา เราก็จะต้องทำหน้าที่ในหัวโขนดังกล่าวให้สมบูรณ์ครบถ้วน
และเมื่อเราสำเร็จการศึกษาเราก็ถูกสมมติให้ทำหน้าที่ในตำแหน่งการงานต่างๆ ตามที่ได้เล่าเรียนมา แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะต้องย้ำเน้นเกี่ยวกับหัวโขนโดยตรง คือ หากเมื่อไรก็ตามที่เราได้มอบบทบาทหน้าที่ในระยะเวลาที่เขากำหนด เราก็จะต้องทำให้สมบทบาทในหน้าที่ในเวลาที่เขากำหนดให้แสดง ตัวอย่างเช่น เราอาจจะถูกกำหนดให้รับหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญๆ หรือยิ่งใหญ่ แน่นอนครับเราจะต้องทำหน้าที่สวนหัวโขนดังกล่าวให้ดีและเหมาะสมกับหัวโขนนั้นๆ แต่ประการสำคัญที่จะกล่าวคือ หลายๆ ท่านอาจจะลืมไปว่านั้นเป็นเรื่องสมมติที่เขากำหนดให้เราสวมหัวโขน สักวันเขาจะต้องถอดออก สักเวลาเราก็ย่อมจะถอดออก เราไม่สามารถสวมหัวโขนดังกล่าวไว้ได้ตลอดเวลา และจะยิ่งเลวร้ายเป็นอย่างมากหากเราได้สวมหัวโขนในบทบาทหน้าที่ที่มีพลังอำนาจ ปรากฏว่าเราใช้อำนาจพลังไม่ถูกไม่ควรไม่สมบทบาทตามที่กำหนดไว้แล้ว ก็จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล
โลกของการแสดงโขนย่อมจะมีวันเวลาจบสิ้น หัวโขนย่อมจะถูกถอดออก ตัวผู้แสดงก็ย่อมกลับคืนสู่ชีวิตปกติสุขที่เป็นอยู่ ตำแหน่งหน้าที่ที่กำหนดหากเป็นเสมือนกับหัวโขนที่เขากำหนดให้แสดง หากเราลุ่มหลงใส่แต่หัวโขนแสดงอำนาจพลังตามที่หัวโขนกำหนดไว้ไม่ยอมถอดออก (แม้แต่เวลาอยู่หลังฉากการแสดงก็ไม่ยอมถอด) และไม่ยอมถอดแม้ว่าการแสดงจะจบสิ้นสมบรูณ์ลงไป เราอาจจะเป็นทุกข์ที่จะต้องบทสวมหัวโขนในบทของตัวยักษ์หรือตัวลิงอยู่ตลอดเวลา (หัวโขนมักจะกำหนดให้สวมกับเฉพาะบทบาทของตัวยักษ์กับตัวลิงเท่านั้น ตัวพระ ตัวนาง มักจะไม่ต้องสวมหัวโขน)
ดังนั้น ที่ผู้เขียนได้ลองเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง “โขน” หรือ “หัวโขน” ตามข้างต้นไปแล้วนั้น ผู้เขียนคิดอยู่เหมือนกันว่าตกลงผู้เขียนสวมหัวโขนในบทบาทอะไรกันอยู่ในขณะนี้ เป็น “ตัวพระ” “ตัวนาง” (ตัวนางคงเป็นไปไม่ได้) “ตัวยักษ์ “ หรือ “ตัวลิง” กันแน่ แต่ที่แน่ๆ ผู้เขียนสวมบทบาท เป็นตัวของตัวเอง จะเป็นดีแน่แท้ ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนขอให้ทุกท่านพยายามเป็นตัวของตัวเอง โดยการค้นหาตัวเองให้พบ แล้วท่านจะได้พบกับ “ตัวพระ” อย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น