Nuffnang Ads

วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นระดับสากล (นานาชาติ)

การพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นระดับสากล (นานาชาติ) เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลในการที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการศึกษาภูมิภาคนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง สปป.ลาว และกัมพูชา อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเวียดนาม (ผ่านวิทยาเขตมุกดาหารของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) ผ่านสู่จีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ในแถบทะเลที่เชื่อมต่อกับสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอในบริบทของจังหวัดอุบลราชธานีที่เป็นเมืองนักปราชญ์ตามคำขวัญของจังหวัดอุบลราชธานีที่ว่า "เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์" ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฎรใผ่ธรรม นั้น จังหวัดอุบลราชธานีมีเกจิอาจารย์พระที่ชาวไทยเคารพบูชาที่ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศให้ความเคารพนับถือ คือ หลวงปู่ชา (วัดหนองป่าพง)


จะเห็นว่าคนต่างชาติที่ต้องการเรียนรู้ธรรมะ ต้องการเรียนรู้ศาสนาพุทธต่างจะต้องเรียนรู้ภาษาไทยให้เข้าใจเนื่องจากหลวงปู่ชาท่านให้คำสอนเป็นภาษาไทย คนต่างชาติที่สนใจเล่าเรียน สนใจปฏิบัติธรรมจะต้องมาที่ประเทศไทย ต้องมาที่อุบลราชธานี ต้องมาเรียน "ภาษาไทย" และในที่สุดจนถึงทุกวันนี้ เราชาวอุบลราชธานีและชาวไทย รวมทั้งชาวต่างประเทศ จะได้เห็นว่าวัดสาขาของวัดหนองป่าพงในต่างแดนอย่างมากมายเป็นนับสิบนับร้อยสาขา ทุกท่านเห็นหรือยังครับว่า การเป็นนานาชาติ การเป็นสากล ได้เกิดขึ้น โดยการที่ชาวต่างชาติหากจะต้องการเรียนรู้สิ่งดีๆ ของประเทศไทย ตัวอย่าง คือ การเรียนรู้การปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ชา พวกเขาเหล่านั้น จะต้องมาเรียนที่เมืองไทย จะต้องรู้ภาษาไทยเสียก่อน ซึ่งผู้เขียนคิดว่า นี้แหละคือ ความเป็นนานาชาติ ความเป็นสากลของการเรียนรู้ตามแบบฉบับของคนไทย ที่เรามีอะไรดีแล้วฝรั่งต่างชาติเห็นว่าดี เห็นว่าจะต้องมาศึกษา เห็นว่าจะต้องมาเรียนรู้ ชาวต่างชาติจะต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของไทยทั้งด้านภาษาไทยและความเป็นอยู่
ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้เขียนจึงมีความคิดว่า การพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นระดับสากล (นานาชาติ) เราชาวมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ควรจะต้องมีอะไรที่ดีที่สุด ที่พร้อมจะให้ชาวต่างชาติมาเรียนรู้ มาศึกษา แล้วนำกลับไปใช้ประโยชน์ที่บ้านเมืองของเขา ซึ่งจะเหมือนที่มีวัดสาขาของวัดหนองป่าพงในต่างแดนอย่างมากมาย และอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องของความเป็นสากลหรือนานาชาติ คือ การที่เรามีวัฒนธรรมที่ดีๆ (ด้านการเป็นอยู่ ด้านการดำรงชีพตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) แล้วชาวต่างชาติได้เข้ามาหาเรา เขามาประเทศไทยของเราเพื่อการดังกล่าว
ความเป็นสากลหรือนานาชาติ น่าจะเป็นไปในลักษณะที่ เราชาวมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีอะไรดีแล้วเขาเหล่านั้น (ชาวต่างประเทศ) มาเรียนกับเรา หรือมาศึกษาพัฒนาร่วมกันเพื่อประโยชน์ต่อประชาคมโลก ซึ่งเมืองไทยของเรามีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีๆ มากมาย เพียงแต่ยังอาจจะไม่ถูกเจียระไนให้เป็นเพชรเม็ดงามเท่านั้น ผู้เขียนจึงได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะมีความเป็นสากล ตามแนวของหลวงปู่ชาและวัดหนองป่าพง
มนูญ ศรีวิรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น