เมื่อ ๕ ปีที่แล้ววันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นวันที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "ปฏิวัติ" "ปฏิรูป" ทำให้รัฐธรรมนูญในขณะนั้น คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.๒๕๔๐ ได้สิ้นสุดลงไป แต่นั้นเป็นเรื่องของการเมือง
อย่างไรก็ดี ในเมื่อ ๕ ปีที่แล้วที่ผ่านมาเกี่ยวกับคำว่า "ปฏิ" ผู้เขียนก็อยากจะเขียนเกี่ยวกับการ "ปฏิ" เพื่อเป็นรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สำคัญดังกล่าว
จะเห็นว่า "ปฏิ" น่าจะมีความหมายเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้เกิดใหม่ สิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ดีว่า เราจะได้เห็นสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นหากมีการ "ปฏิ" ขึ้นมา นั่นเป็นเพียงความคิดของผู้เขียนเท่านั้น (แต่ความเป็นจริง “ปฏิ” เป็นภาษีบาลีที่ใช้นำหน้าคำอื่น มีความหมายว่า เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Reaction”) แต่คงจะไม่เป็นไรหรอกหากความคิดของผู้เขียนไม่ตรงกันกับที่กำหนดไว้ เพราะที่จริง การ “ทวน” หรือ “กลับ” ก็หมายถึงสิ่งใหม่ การทำใหม่ได้เช่นกัน
สำหรับ คำภาษาไทยที่เกี่ยวกับ "ปฏิ" มีหลายๆ คำมากมาย เช่น ปฏิกิริยา ปฏิสนธิ ปฏิบัติ ปฏิวัติ ปฏิรูป ปฏิมากรรม (ประติมากรรม) ปฏิสังขรณ์ ปฏิกรณ์ ปฏิกูล ปฏิชีวนะ ปฏิทิน ปฏิปักษ์ ปฏิเสธ ปฏิสันถาร ปฏิคม ปฏิญาณ เป็นต้น
ปฏิกิริยา เป็นเหตุการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่สารเคมีวิทยาศาสตร์เกิดผสมกันตั้งแต่สองสารขึ้นไป (หากมีสารเพียงชนิดเดียวคงจะไม่สามารถเกิดปฏิกิริยาได้) ทำให้เกิดสารที่มีอาจจะมีคุณสมบัติทางเคมีชีววิทยาใหม่ หรือ การที่มนุษย์ได้รับข้อมูลในด้านใดๆ แล้วเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา (หมายความว่า เกิดความคิด เกิดสติ เกิดปัญญา แสดงออกมาหรือตอบโต้)
ปฏิสนธิ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากสองสิ่งผสมกันเช่นกันแล้วเกิดสิ่งมีชีวิตสิ่งใหม่เกิดขึ้นมา
ปฏิมากรรม เป็นสิ่งที่ธรรมชาติหรือมนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาให้มีความงดงามมากกว่าเดิมจากที่เป็นอยู่
ปฏิรูป เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการทำให้สิ่งที่เป็นอยู่นั้นดีขึ้นมีรูปที่ดีขึ้นมีสภาพที่ดีขึ้น
ปฏิวัติ เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการเปลี่ยนแปลงจากของเดิมให้เป็นของใหม่โดยต้องใช้พลังกำลังจำนวนให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นโดยทันที
ปฏิบัติ เป็นสิ่งที่มนุษย์ลงมือกระทำอย่างจริงจังให้เกิดผลตามที่ตั้งใจตั้งความมุ่งหวังไว้
ที่เกริ่นนำมาตามข้างต้นนี้ ใช่ว่าผู้เขียนจะถูกต้องเสมอไป เพียงแต่เขียนตามความรู้สึกและความรู้ที่มีอยู่เท่านั้นนะครับ แต่ที่ต้องการจะเพิ่มเติม คือ สำหรับ "ปฏิรูป" และ "ปฏิวัติ" นั้น ย่อมมีข้อแตกต่างกันอย่างแน่นอน (เพราะแม้แต่การเขียนก็ยังไม่เหมือนกันเลย) เรามักจะเห็นว่าโดยส่วนมากในวงการต่างๆ นั้น ต่างก็ใช้สองคำเมื่อต้องการสื่อถึงการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ
สำหรับด้านอุตสาหกรรม เรามักจะได้ยินว่าเป็นการ "ปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิต"
ด้านการศึกษา เรามักจะได้ยินว่าเป็นการ "ปฏิรูปการศึกษาเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน"
ดังนั้น ด้วยเหตุนี้ หากต้องการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วรุนแรงน่าจะใช้คำว่า "ปฏิวัติ" ในทางตรงกันข้าม หากต้องการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นไปไม่รุนแรงต้องการความมีส่วนร่วมสร้างความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง น่าจะใช้คำว่า "ปฏิรูป" แต่อย่างไรก็ดี ทั้งสองคำจะต้องพึ่งคำว่า "ปฏิบัติ" เพราะหากไม่ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยความเข้าใจ เข้าถึง และทั้งการ "ปฏิวัติ" หรือ "ปฏิรูป" ก็จะเกิดปฏิกิริยาตามมา ซึ่งปฏิกิริยาที่ว่าจะมีสองด้านเสมอ คือ ด้านที่ดี และ ด้านที่ไม่ดี สนับสนุน หรือ ไม่สนับสนุน เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย เป็นต้น แต่เมื่อไรก็ตาม ที่ทั้ง "ปฏิวัติ" หรือ "ปฏิรูป" มีเหตุผล มีข้อเท็จจริงที่สามารถเห็นเป็นที่ประจักษ์ได้โดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ แล้ว เมื่อ "ปฏิบัติ" แล้ว "ปฏิกิริยา" ที่เกิดขึ้นย่อมจะเป็นไปในทิศทางที่ดีมีผู้สนับสนุนเห็นด้วย และเมื่อนั้น การปฏิวัติหรือการปฏิรูปก็จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วมมากที่สุด โดยที่ไม่มีผู้ใดเสียเปรียบได้เปรียบ เกิดความยุติธรรมในสังคม
ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่า ๕ ปีที่ผ่านไปจากการ "ปฏิ..." (จะเรียกว่า ปฏิวัติ หรือ ปฏิรูป ก็ตามแต่) จะเกิดการปฏิบัติที่ทำให้มีปฏิกิริยาในทางที่ดีขึ้น ทำให้คนไทยลบลืมความผิดหวังสิ้นหวังหมดหวังลงไปได้นะครับ