Nuffnang Ads

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2555

โครงการบูรณะเส้นทางธรรมะสู่ความเป็นหนึ่ง

หลักการและเหตุผล

เป็นที่ทราบกันดีว่า หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ชาติภูมิของท่านเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี เกิด ณ วันจันทร์ แรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ปีระกา วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๐๒ ที่บ้านข่าโคม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากท่านเป็นพระวิปัสสนาธุระรุ่นแรก และท่านเป็นอาจารย์ของพระครูวินัยธรมั่น ภูริทฺตโต (หลวงปู่มั่น) ซึ่งหลวงปู่มั่นท่านเป็นอาจารย์สอนธรรมทางวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงมีผู้เคารพนับถือมาก หลวงปู่มีศิษยานุศิษย์ที่เป็นพระเถระ อาทิ

พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)

พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม)

หลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล

พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฎ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรงฺสี)

หลวงปู่ขาว อนาลโย

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ

พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร

พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)

พระครูสุทธิธรรมรังษี (หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท)

หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ

พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)

พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

หลวงปู่จวน กุลเชฏฺโฐ

หลวงปู่สิงห์ทอง ธมฺมวโร

พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

พระวิสุทธิญาณเถระ (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย)

พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)

พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (หลวงปู่วัน อุตฺตโม)

พระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร)

พระมงคลวุฒ (หลวงปู่เครื่อง สุภทฺโท)

พระเทพเจติยาจารย์ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)

หลวงปู่ผินะ ปิยธโร

หลวงปู่สนธิ์ สุมโณ

พระครูญาณวิสิทธิ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)

หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก

พระอริยเวที (พระอาจารย์มหาเขียน ฐิตสีโล)

คุณแม่ชีแก้ว เสียงล้ำ

หลวงพ่อผาง จิตฺตคุตฺโต

หลวงปู่ผาง ปริปุณฺโณ

หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

หลวงปู่บุดดา ถาวโร

หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล

หลวงปู่แว่น ธนปาโล เป็นต้น

กล่าวสำหรับสถานที่เกิดของหลวงปู่เสาร์ ที่บ้านข่าโคม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นับตั้งแต่ วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๐๒ จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๕) เป็นเวลากว่า ๑๕๓ ปี บ้านข่าโคมเป็นสถานที่ที่แห่งจุดเริ่มต้นของหลวงปู่เสาร์ และจุดเริ่มต้น คือ “ความเป็นหนึ่ง” ของการสอนธรรมทางวิปัสสนากรรมฐานหนทางการหลุดพ้นจากความทุกข์




หลวงปู่เสาร์ฉายร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์ ณ วัดป่าบ้านข่าโคม จ.อุบลราชธานี









 สภาพปัจจุบัน ณ วัดป่าบ้านข่าโคม (บันทึก ๑ ตุลาคม ๒๕๕๕)
 สภาพปัจจุบัน ณ วัดป่าบ้านข่าโคม (บันทึก ๑ ตุลาคม ๒๕๕๕)








ดังนั้น การบูรณะพื้นที่วัดป่าบ้านข่าโคม จะทำให้คนอุบลราชธานีและคนไทยได้ร่วมกันตระหนักถึงพระคุณของหลวงปู่เสาร์ที่ได้สร้างสิ่งดีๆ ไว้ให้แผ่นดินนี้ ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นสมควรจัดทำโครงการ “บูรณะเส้นทางธรรมะสู่ความเป็นหนึ่ง” โดยความหมายของโครงการดังกล่าว คือ เป็นการบูรณะทั้งด้านกายภาพ ด้านความรู้ประวัติของหลวงปู่เสาร์ ด้านคำสอนธรรมะของหลวงปู่เสาร์ อันกลับคืนสู่ความเป็นหนึ่งของหลวงปู่เสาร์ในด้านการสอนธรรมทางวิปัสสนากรรมฐาน


วัตถุประสงค์

๑. เพื่อบูรณะด้านกายภาพของเส้นทางเข้าสู่วัดป่าข่าโคม

๒. เพื่อบูรณะพื้นที่วัดป่าข่าโคม

๓. เพื่อจัดทำประวัติของหลวงปู่เสาร์ในรูปแบบสื่อต่างๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ

๔. เพื่อน้อมนำคำสอนของหลวงปู่เสาร์มาเป็นเครื่องเตือนใจในความเป็นคน


กิจกรรมที่จะต้องดำเนินการ

๑. จัดสร้างปรับปรุงถนนเข้าสู่วัดป่าข่าโคม

๒. จัดปรับปรุงพื้นที่วัดป่าข่าโคม

๓. จัดซ่อมแซมอนุรักษ์ศาลาเก่าแก่ในวัดป่าข่าโคม

๔. จัดสร้างรูปเหมือนหลวงปู่เสาร์เพื่อให้ชาวพุทธได้กราบไหว้บูชาระลึกถึงพระคุณ

๕. จัดสร้างศาลาธรรมเพื่อให้ชาวพุทธได้เป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

หมายเหตุ โครงการดังกล่าวข้างต้น จะสอดคล้องกับการพัฒนาอุบลราชธานี ที่ยึดหลักการการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน  โดยที่ประเทศไทยรับผิดชอบ “การท่องเที่ยว” และ “ศูนย์กลางการบิน” ดังนั้น อุบลฯ อาจจะกำหนดวิสัยทัศน์ว่า “เที่ยวก่อนใครในสยาม” และในอนาคต อุบลฯ จะเป็น “มหานครแห่งการท่องเที่ยวของลุ่มน้ำโขง” โดยเที่ยวแบบ ๓ ธ คือ ธรรมชาติ ธรรมะ และ ธรรมดา

ธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ

- เส้นทางการเดินทาง

- ระบบข้อมูลสารสนเทศ (ประวัติความเป็นมาของแหล่งธรรมชาติ) ต่างๆ เป็นภาษาอาเซียน ภาษาอังกฤษ

ธรรมะ แหล่งวิปัสสนา ศึกษาธรรมะ

-เส้นทางการเดินทาง

- ระบบข้อมูลสารสนเทศ (ประวัติความเป็นมาของแหล่งธรรมะต่างๆ เป็นภาษาอาเซียน ภาษาอังกฤษ

ธรรมดา แหล่งที่พักรับรองที่เน้นธรรมดาตามรูปแบบ Home Stay



อ้างอิง


๒. แก้ว อรุณฉาย, "หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์ของปรมาจารย์อรหันต์พระป่า" สำนักพิมพ์อักษรธรรม ISBN 978-616-233-156-5
๓. ดำรงธรรรมม, "หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ อุบลราชธานี" บริษัทไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006) จำกัด ISBN 978-616-514-028-7



อจต.

ผู้ร่างโครงการ


รูปภาพประกอบเพิ่มเติม











ดูข้อมูลเพิ่มเติมใน Facebook ได้ที่ กลุ่ม 
บูรณะเส้นทางธรรมะสู่ความเป็นหนึ่ง  



หรือ Youtube



วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

อาลัยท่าน รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี


                   ผมได้เห็นชื่อท่าน รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี ขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยอุบลราชธานี  สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งตอนนั้นผมเป็นนักเรียนทุนโครงการพัฒนาอาจารย์ของวิทยาลัยอุบลราชธานี สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เคยเห็นหน้าตาท่านว่าเป็นคนอย่างไร แต่ในใจคิดว่าก็คงจะใจดีเพราะถ้าไม่อย่างนั้น วิทยาลัยอุบลราชธานีคงจะไม่พิจารณารับผมเป็นนักเรียนทุน เมื่อผมสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ก็เลือกวันที่จะมาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยเลือกวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๕ (ทั้งนี้ เนื่องจากเมืองอุบลราชธานีได้ถูกสถาปนาเป็น  “เมืองอุบลราชธานีศรีวนาไล ประเทศราช” เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๓๓๕) เพื่อจะได้ให้ตัวเองจำอะไรที่ง่ายๆ
            เมื่อกลับมารับใช้ทุนที่อุบลราชธานีเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๕ วิทยาลัยอุบลราชธานี สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีท่าน รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ซึ่งคิดว่าเป็นมหาวิทยาลัยเดียวในประเทศไทยที่อาจารย์ได้เห็นได้พบกับท่านอธิการบดีทุกๆ วัน  เพราะอาคารอเนกประสงค์ (คณะบริหารศาสตร์ในปัจจุบัน) เป็นทั้งอาคารสำนักงานอธิการบดี คณะวิทยาศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ โครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ ห้องเรียน และโรงอาหาร และอื่นๆ   ผมเองก็คงคนหนึ่งที่โชคดีที่ได้พบกับท่านรศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี อธิการบดี เกือบทุกวัน (ยกเว้นที่ท่านไปราชการ และหรือผมไม่ไปราชการ) ท่านเป็นคนพิเศษที่เจอกันเมื่อไรจะพบกับรอยยิ้มของท่านเสมอ และที่สำคัญคือ ที่หน้าอกของท่านจะมีบัตรประจำตัวของท่านเป็นสีเหลืองตัวหนังสือเป็นสีดำ (เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มี Printer สี) ระบุว่าท่านชื่ออะไร  ก็เลยเป็นตัวอย่างทำให้ผมจะต้องมีบัตรประจำตัวและติดหน้าอกเหมือนกันกับท่าน นั่นเป็นตัวอย่างของผู้นำที่ดีที่ “เมื่อเป็นผู้นำ จะต้องทำให้ดู” และผู้ตามที่ดีจะต้อง “ดูผู้นำ แล้วทำตามในสิ่งที่ดี”
            ผมทำงานอยู่มหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๕ คิดว่าทำงานใช้ทุน ๔ ปี แล้วคงจะพอ เพราะมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีไม่มีอะไรเลยในขณะนั้น  แต่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ ท่าน รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี อธิการบดี ได้อนุมัติให้ไปศึกษาดูงาน (พร้อมกับอาจารย์วุฒิณัฐ พรรักษมณี) ที่ The University of Akron, USA เป็นเวลาประมาณ ๑  เดือน และช่วงนี้แหละครับที่เป็นตอนสำคัญที่ผมและท่าน รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี อธิการบดี ได้มีความใกล้ชิดกันอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สั้นๆ แต่ท่านก็ได้เป็นส่วนสำคัญในชีวิตของผมที่จะต้องมีการตัดสินใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติเพื่ออนาคต ขณะที่ศึกษาดูงานที่  The University of Akron, USA ท่านรศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี อธิการบดี ได้แวะไปเยี่ยมและไปพักด้วยเป็นเวลา ๒-๓ วัน ผมโชคดีที่มีโอกาสได้ซักเสื้อผ้าให้ท่าน (ถึงแม้ว่าจะใช้เครื่องซักผ้า) ท่านบอกผมว่าให้อยู่ที่อเมริกาต่ออีกจะหาทุนเรียนต่อให้ โดยการเป็นอาจารย์จะต้องศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ผมเองคิดในใจว่า “ไม่เอาอีกแล้วการเรียนหนังสือ” แต่ท่าน รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี อธิการบดี ก็ได้ให้ข้อคิดที่สำคัญที่ว่า “ความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไม่ได้อยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนจะต้องช่วยเหลือกันในทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ และอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อไปพัฒนาให้กับนักศึกษา มหาวิทยาลัยและประเทศชาติ”
            และเมื่อกลับมาจากการศึกษาดู ที่ University of Akron, USA ท่าน รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี อธิการบดี ผมได้รับความกรุณาจากท่านอีกอย่างเพิ่มเติม คือ  ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการโครงการจัดตั้งสำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย” โดยโครงการดังกล่าวมีท่าน รศ.ดร.เครือวัลย์ โสภาสรรค์ เป็นประธานฯ  และท่าน รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี อธิการบดี ก็บอกว่าให้พยายามเรียนต่อ ส่วนเรื่องทุนนั้นมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะได้สนับสนุนต่อไป และในเวลาต่อมาผมก็ได้รับอนุญาตให้ไปสอบทุนโครงการพัฒนาอาจารย์ของทบวงมหาวิทยาลัยอีกครั้ง จนวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๙ ก็ได้รับอนุมัติจาก รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี อธิการบดี ไปศึกษาระดับปริญญาเอก นับได้ว่า ท่าน รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี อธิการบดี เป็นผู้บังคับบัญชาเป็นผู้นำที่ใส่ใจในรายละเอียดของลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างดีเยี่ยม ถึงแม้ว่าผมจะเป็นส่วนหนึ่งที่เล็กๆ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก็ตาม แต่สิ่งที่ผมได้รับจากท่าน รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี อธิการบดี คือ “ความรักที่ยิ่งใหญ่” ที่ท่านมีให้  ความรักที่ว่า คือ “ความรักที่ท่านมีต่ออาจารย์ทุกๆ คนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีด้วยความเท่าเทียมกัน”  และท่านสอนให้เราคิดได้ว่า “ความเจริญก้าวหน้า จะต้องไขว่คว้าด้วยการศึกษา”
            ถึงแม้ว่า ผมจะได้ใช้ชีวิตการทำงานอยู่กับท่าน รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี อธิการบดี เพียงเล็กน้อย คือ พ.ศ.๒๕๓๕-๒๕๓๙ เป็นเวลาที่สั้นๆ ในฐานะที่ท่านเป็นอธิการบดี ผมเป็นเพียงอาจารย์ตัวเล็กๆ แต่ผมก็ดีใจภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้รับความกรุณาจากท่านในเรื่องการส่งเสริมความรู้ส่งเสริมให้มีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น นับได้ว่าท่านเป็นบุคคลที่มีคุณูปการต่อผมอย่างมากล้น จนไม่รู้ว่าจะบรรยายและทดแทนบุญคุณของท่านได้อย่างไร ได้แต่เพียงบอกตัวเองว่า “เราจะต้องพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้มีความเจริญก้าวหน้าที่สุดเท่าที่ความรู้ความสามารถของเราที่มีอยู่ เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของท่าน รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี อธิการบดี ที่ได้เคยทำไว้พัฒนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ไว้”  ความดีของท่าน รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี อธิการบดี  ผมรับรองได้ว่าทุกท่านทราบกันดีอย่างทั่วกัน ท่านได้สร้างความเจริญให้กับประเทศชาติ สร้างรอยยิ้มให้กับผู้ปกครอง นักศึกษา บัณฑิต ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ความดีนี้จะตราตรึงตราบนานเท่านานให้ลูกหลานกล่าวขานตลอดไป
            "รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี    ยอดคนดีของ ม.อุบลฯ"

            ม.อุบลฯ ต่างนับถือ           ต่างเลื่องลือความดีงาม
            มาพร้อมกล่าวขานนาม     อธิการ “สมจิตต์ ยอดเศรณี”                       
                                                                        มณูญพงศ์ ศรีวิรัตน์ (อจต.)
                                                                        ๑๘ กันยายน ๒๕๕๕ 

                                                   รศ.ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี  ได้เดินทางไปเยี่ยมที่ 
                                                   The University of Akron,  USA พ.ศ.๒๕๓๗ 


วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความสำคัญของสิ่งที่เป็น ๑ หรือ ๒ หรือ ๓



ชื่อเรื่องก็เป็นเรื่องสำคัญแล้วครับ เพราะเป็นความสำคัญของสิ่งที่เป็น ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ท่านผู้อ่านที่เคารพอาจแปลกใจว่าสำคัญอย่างไร

เลข ๑ เป็นเลขที่แสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียว รวมเป็นหนึ่งเดียว ความกลมเกลียว และที่สำคัญคือ เป็นความกลมเกลียวหนึ่งเดียวของจักรวาล (เหมือนกับนางสาวจักรวาล) แล้วย่อยลงมาเป็นหนึ่งเดียวของโลก หนึ่งเดียวของทวีป (เหมือนกับทีมชาติฟุตบอลสเปนที่เป็นหนึ่งเดียวของยุโรป)  หนึ่งเดียวของประเทศ (เหมือนกันทีมชาติวอลเลย์บอลหญิงของไทยเรา) หนึ่งเดียวของจังหวัด (เหมือนกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีเพียงคนเดียว) หนึ่งเดียวของอำเภอ (เหมือนกับนายอำเภอ) หนึ่งเดียวในตำบล (เหมือนกับกำนัน) หนึ่งเดียวในหมู่บ้าน (เหมือนกับผู้ใหญ่บ้าน) หนึ่งเดียวในบ้าน (อันนี้ผู้เขียนเริ่มไม่แน่ใจว่าหนึ่งเดียวในบ้านจะเป็นใครแต่ที่แน่ๆ) หนึ่งเดียวในตนเอง (ก็คือใจของเราจะต้องแน่วแน่เป็นหนึ่งเดียว)  

เลข ๒ เป็นเลขที่แสดงถึงการเป็นคู่กันสร้างมาให้เป็นคู่
ผู้ชาย   ผู้หญิง
สว่าง   มืด
บวก    ลบ
ขาว     ดำ
รวย     จน
สูง      ต่ำ
ฉลาด   โง่
ดี        ชั่ว
และอื่นๆ อีกมากมายเหลือเกินที่เกี่ยวข้องกับเลข ๒ แต่ที่สำคัญคือ มักจะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน และแสดงถึงการเผชิญหน้ากัน ซึ่งในความเป็นจริงเราไม่อาจจะหลีกหนีสิ่งที่เป็นเลข ๒ นี้ได้อย่างแน่นอน เพียงแต่เราจะทำอย่างไรเท่านั้นเอง

เลข ๓ หลายท่านอาจจะเห็นพร้องกับผู้เขียนว่าในโลกใบนี้นั้นหลายสิ่งหลายประการล้วนประกอบ ๓ สิ่ง เช่น
อดีต              ปัจจุบัน          อนาคต (เป็นเรื่องเกี่ยวกับเวลา)
ของแข็ง         ของเหลว        ก๊าช    (เป็นเรื่องของสถานะมวลสาร)
ชาติ              ศาสนา          มหากษัตริย์    (เป็นเรื่องของสถาบันที่เราคนไทยจะต้องเทิดทูน)
นรก              โลก              สวรรค์ (เป็นเรื่องของภพต่างๆ)
พระพุทธ        พระธรรม       พระสงฆ์ (เวลาเราสวดมนต์ยังจะต้องท่อง นโมฯ ๓ รอบเลย)
พระพรหม      พระวิษณุ       พระศิวะ        (เป็นเรื่องความเชื่อในมหาเทพ)
ความมีเหตุผล  ความมีพอประมาณ    ความมีภูมิคุ้มกัน (หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)
ธรรมชาติ       ธรรมะ           ธรรมดา (ผู้เขียนเสนอเองเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของเมืองอุบลฯ ที่ควรจะเห็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติ แหล่งศึกษาธรรมะ เพราะเมืองอุบลฯ เป็นเมืองนักปราชญ์ และธรรมดา คือ เที่ยวแบบธรรมดาตามหมู่บ้านต่างๆ อาจจะเป็น Home Stay)
ร่างกาย         ความคิด (สมอง) จิตใจ (อันนี้ผู้เขียนก็คิดเองว่า ตัวเรานั้น จะมีความสุขได้จะต้องประกอบด้วยร่างกายที่สมบูรณ์ มีความคิดดี (สมองที่ดี) และพร้อมด้วยจิตใจที่ดีงาม)
ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร      ฝ่ายตุลาการ



เลข ๓ ดังกล่าวข้างต้นที่ประกอบด้วย ๓ สิ่งนั้น โดยส่วนมากจะต้องมีความสมดุลกันและกันเปรียบเสมือน ๓ เหลี่ยมด้านเท่า ดังรูปต่อไปนี้ 



มุมในสามเหลี่ยมดังกล่าวจะเท่ากันคือ ๖๐ องศา (รวมกันเป็น ๑๘๐ องศา) แต่ละด้านของสามเหลี่ยมจะต้องมีความยาวที่เท่ากันด้วย นี่แหละคือความสมดุลของ ๓ สิ่ง และเมื่อสามสิ่งต่างๆ อยู่ด้วยกันร่วมกันอย่างสมดุลเท่าเทียมกันจะเกิดปรากฏชัดเจนแห่งจักรวาลที่เป็นเลขหนึ่งเดียวของจักรวาล  อย่างไรก็ดี หากหนึ่งในสามสิ่งดังกล่าวเกิดความไม่เท่าเทียมกันรับรองได้ว่าสามเหลี่ยมด้านเท่าดังกล่าวข้างต้นจะไม่สมดุล 




ดังนั้น จะเห็นว่าเลข ๑ มีค่าอย่างมาก เป็นหนึ่งเดียวความกลมเกลียวสามัคคี และถ้าจะให้ดีจะต้องเป็นเลข ๓ (ที่เท่ากัน สมดุลกัน) ที่พร้อมจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว แล้วเมื่อนั้น จะเป็นเลขที่ดีเป็นเลขแห่งจิตใจที่ดีงามของจักรวาลนี้






วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

๒ ห : หาร หาญ


ชื่อเรื่องมาแปลกๆ เกี่ยวกับ ๒ ห. ๒ ห : หาร หาญ ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เอาเป็นว่า เพื่อให้หายสงสัยก็คงจะต้องอ่านต่อไปเพื่อจะได้ความกระจ่าง

“หาร” คำนี้ส่วนมากเราน่าจะทราบกันดีว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เพราะคำนี้เกี่ยวข้องกับหลักของคณิตศาสตร์อย่างแน่นอน และที่สำคัญในสังคมไทยเราหากคนทุกคนส่วนกันหารความสุขความทุกข์กันและกัน นั่นหมายความว่า หาร คือ การแบ่งปัน การช่วยเหลือกัน การเฉลี่ยกัน ท่านใดมีความสุขก็แบ่งความสุขให้เพื่อนๆ ที่อยู่รอบข้าง ท่านใดมีความทุกข์ก็แบ่งความทุกข์ให้เพื่อนๆ ที่สนิท ท่านใดมีเงินทองมากมายก่ายกองจนไม่รู้ว่าจะใช้ทำอะไรถึงจะหมดไปในชาตินี้ ก็ลองแบ่งปันช่วยเหลือบริจาคไปสู่ผู้ที่ยากไร้ด้อยโอกาส  “หาร” ดังกล่าวก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

สำหรับคำว่า “หาญ” ผู้อ่านก็คงจะทราบกันดีและอาจจะทราบดีกว่าผู้เขียน เนื่องจาก “หาญ” คำนี้มาจากคำว่า “กล้าหาญ” หรือ “หาญกล้า” ท่านคิดว่าสองคำนี้มีความหมายต่างกันหรือไม่อย่างไรครับ  เอาเป็นว่า “หาญ” มาจากคำว่า “กล้าหาญ” ก็แล้วกันครับ หาญ เป็นเรื่องที่ดีเพราะผู้ใดที่กล้าหาญกระทำในสิ่งที่ดีสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ต่อส่วนร่วม เสียสละตัวเองเพื่อให้ส่วนร่วมได้รับแต่สิ่งดีๆ งามๆ  เหมือนกันละครที่กำลัง OnAir ในปัจจุบันเรื่อง “ขุนศึก” เป็นเรื่องของความ “หาญ” กล้าหาญเสียสละแม้กระทั่งตัวเองเพื่อประเทศชาติ จะเห็นว่า “หาญ” ดังกล่าว มักจะคู่กับคำว่า “หาร” ที่มาจาก “ทหาร” แล้วที่นี่ ผู้อ่านเห็นหรือยังครับว่า ๒ ห. : หาร หาญ ที่ผู้เขียนนำเสนอนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกันสัมพันธ์กัน

แต่จริงแล้ววันนี้ ผู้เขียนขออนุญาตแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม หรือ “หาร” ในสิ่งที่ผู้เขียนได้ประสบพบเจอ ดังต่อไปนี้

วันพุธที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ ผู้เขียนได้มีโอกาสนั่งรถแท็กซี่ไปสถานที่แห่งหนึ่ง (อันนี้จะขอบอกภายหลัง และที่สำคัญ คือ เกี่ยวข้องกับ “หาร” เช่นกัน)  ขณะที่นั่งอยู่บนรถนั้น คนขับกับผู้เขียนก็ได้เริ่ม “หาร” กัน ความหมาย คือ แบ่งปันกัน แลกเปลี่ยนคำพูด ข้อคิดเห็นซึ่งกันและกัน  ซึ่งคนขับคนนี้เขาเล่าว่า แต่ก่อนเขาทำงานเกี่ยวกับการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ของผู้คนในมหานครที่เรียกว่า “กรุงเทพ” (อันนี้ก็เช่นกัน ผู้เขียนจะขอบอกภายหลังว่าคนขับแท็กซี่ทำงานอะไร) เขาเคยสูบบุหรี่วันละ ๒ ซอง และดื่มเหล้าเบียร์เกือบทุกวัน ตอนสมัยวัยรุ่นร่างกายก็ไม่เป็นไรเมื่อดื่มก่อนกลางคืนก็ตื่นไปทำงานได้ แต่พออายุเริ่มมากขึ้นลักษณะการดื่มการสูบยังเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ สภาพร่างกายเริ่มที่จะไปทำงานไม่ได้ ต้องลาพักผ่อน เงินทองหมดไปกับสิ่งดังกล่าวค่อนข้างจะมากมาย จนในที่สุดจะต้องออกจากงานประจำดังกล่าวข้างต้น และเมื่อสองปีที่ผ่านมา (พ.ศ.๒๕๕๓) ได้มีโอกาสเข้าอบรมเกี่ยวกับโทษของการสูบบุหรี่ดื่มสุรา เขาได้เห็นรูปภาพของผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากบุหรี่และสุรา เขาได้ความ “หาญ” กล้า หรือจะเรียกว่า “กล้าหาญ” ในการหยุดสูบบุหรี่ทันที และหยุดดื่มแบบที่เคยเป็นมา เขาบอกว่าต้องใช้ “ใจ” อย่างเดียวในการหยุด ซึ่งภรรยาของเขาก็เคยบอกว่าให้เลิกให้หยุด แต่เมื่อได้เห็นรูปภาพได้ฟังวิทยากรผู้มีความรู้เกี่ยวกับโทษของการสูบการดื่มแล้ว ทำให้เกิด “หาญ” “ใจกล้าหาญ” ขึ้นมาโดยไม่ต้องมีใครมาบอกมาสั่ง

สำหรับคนขับแท็กซี่ท่านนี้ ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ มาเกือบ ๒๔ ปี (น่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐ หรือ ๒๕๓๑) ปัจจุบันมีลูกชายกำลังเรียน ม.๓ อาชีพของเขาแต่ก่อนนั้น เขาเล่าให้ฟังว่าเขารู้พื้นที่ของกรุงเทพฯ เกือบทั้งหมด เนื่องจากเขาเป็นช่างสำรวจของงานที่เกี่ยวกับระบบโทรศัพท์ ซึ่งจะต้องทำงานประสานกับช่างไฟฟ้า ช่างประปา ในการวางแผนสำรวจการขยายการบริการด้านการสื่อสาร  


เมื่อเขาต้องออกจากที่ทำงานเดิมด้วยสาเหตุส่วนตัวที่เกิดจากการสูบและการดื่ม เขาไม่ได้ท้อแท้ เมื่อเขา “หาญ” กล้าที่จะเลิกในสิ่งที่ไม่ดี เขาสามารถเริ่มในสิ่งที่ดีได้ โดยการประกอบอาชีพสุจริตคือขับแท็กซี่เก็บออมเงินทอง จนในที่สุดมีรถแท็กซี่เป็นของตัวเองและให้คนอื่นได้เช่าอีก ๓ คัน บางช่วงบางวันเขาก็ออกขับเอง หากไม่ขับก็มีผู้เช่าต่อ มีรายได้ที่เลี้ยงครอบครัวอย่างมีความสุข เพราะภรรยาผู้น่ารักผู้ที่ให้กำลังใจเขาอยู่เคียงข้างเขา ก็ยังคงทำงานในหน่วยงานที่ให้บริการด้านโทรศัพท์พื้นฐาน และประการสำคัญ คือ เงินทองที่ทั้งคู่เก็บออมได้นั้น พวกเขาไปลงทุนปลูกพืชเศรษฐกิจ คือ “ยางพารา”
และประการสำคัญ คนขับแท็กซี่ข้างต้น ถึงแม้ว่าเราจะได้อยู่ร่วมกันเพียงไม่กี่นาทีบนรถ เราได้ “หาร” ร่วมกันในความรู้สึกที่ดีๆ ทำให้ผู้เขียนได้เห็นความ “หาญ” กล้าในการเลิกในสิ่งที่ไม่ดีและกลับมาเริ่มต้นในสิ่งที่ดีๆ เขาผู้ที่เป็นเกี่ยวข้องกับ “หาร” อีกประหนึ่ง คือ “เขาเป็นคนมุกดาหาร” อำเภอหนองสูง จึงทำให้ผู้เขียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเขียนเรื่องราวดังกล่าว เพื่อ “หาร” ให้กับผู้อ่านให้เกิดความ “หาญ” กล้ากระทำในสิ่งที่ดีๆ ต่อตนเองและผู้อื่น  

ก่อนลงรถ ผู้เขียนได้เขียนชื่อที่อยู่ เบอร์โทร และหน้าที่รับผิดชอบที่ “มุกดาหาร” คือ “รักษาราชการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตมุกดาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี” ท่านผู้อ่านรู้สึกหรือเปล่าครับว่า คนขับแท็กซี่คนดังกล่าว เขาน้ำตาไหลออกมา และเขาบอกว่า “เวลาผมกลับบ้านไปดูต้นยางผม ที่หนองสูง ผมจะแวะไปหาอาจารย์นะครับ” 
ครับ ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เกี่ยวกับ “หาร” เพราะ วันพุธที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕ ผู้เขียนเดินทางไปประชุมร่วมคณะคณะกรรมการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (ในฐานะและประธานกรรมการสถานศึกษา ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร)

สรุป เอาเป็นว่า เมื่อไรก็ตามที่เรา “หาร” กัน แบ่งปันความสุขร่วมกัน เราจะเกิด “หาญ” กล้าในสิ่งต่างๆ ที่เป็นเรื่องดีๆ ครับ



วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2555

๓ ท.


หลายท่านคงจะเคยได้ยินบทเพลง “....เมื่อยามที่ท้อแท้ ขอเพียงแค่คนหนึ่ง....”  (ฟังได้เลยครับ)
วันนี้ผู้เขียนก็เลยอยากจะเขียนเกี่ยวกับ ๓ท (ท.ทหาร อดทน)
ท. ที่ ๑ คือ “ท้อแท้” หมายถึง อ่อนเปลี้ยเพลียใจ อาการที่จิตเกิดความห่อเหี่ยว หมดหวัง เศร้าซึม    ไม่อยากจะทำอะไรต่ออีกเลยในชีวิตนี้ลมหายใจต่อไปนี้
ดังนั้น หากเมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกท้อแท้แล้วละก็จะต้องรีบทำให้อาการดังกล่าวหายไปโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้  แน่นอนครับหากไม่เกิดกับตัวเราเราก็อาจจะไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร การที่จะทำให้อาการ “ท้อแท้” หายไปหรือสูญสิ้นไปนั้น บางท่านที่มีประสบการณ์ก็สามารถที่จะผ่านก้าวพ้นไปได้อย่างรวดเร็ว บางท่านที่ไม่เคยมีประสบการณ์ก็อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร
อย่างไรก็ดี เวลาดังกล่าวนั้น จะขึ้นอยู่กับการมีสติ (การฝึกฝนการมีสติ) สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการดังกล่าวคือ “ท้าทาย” คือ ความกล้าหาญ กล้าเผชิญ การตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้น
ท.ที่ ๒ คือ “ท้าทาย” เมื่อเราท้อแท้เมื่อไรก็ตามแต่หากเรามีสติคิดด้วยจิตที่มีความท้าทาย กล้าหาญที่จะเผชิญในสิ่งที่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาข้างหน้า กล้าตั้งเป้าหมายที่จะต้องไปและไปให้ถึง “ท้าทาย”จะทำให้ตัวเราเกิดพลังจากจิตของเราที่จะไปสั่งให้ร่างกายของเราต่อไป ด้วยเหตุนี้ ตัวเราเองคงจะต้องฝึกฝน “ท้าทาย” ให้บ่อยๆ ในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิติของเรา “ท้าทาย” ก็คงจะเหมือนกับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ต่อเนื่องมาจาก “ท้อแท้” ซึ่งช่วงเวลาระหว่าง “ท้อแท้” และ “ท้าทาย” อย่าพยายามให้เกิดช่วงเวลาช่องของเวลาที่ยาว เราจะต้องให้มีความต่อเนื่องให้ได้  นั่นหมายความว่า เมื่อท้อแท้จะต้องสั่งจิตหรือใช้จิตสั่งให้เกิดท้าทายขึ้นมาในบัดนั้น
ท.ที่ ๓ อันเป็น ท.สุดท้าย ผู้เขียนคิดว่าหากเราได้เกิดความท้าทายแล้วตามข้างต้น ท.ตัวนี้จะต้องเป็น “ทำทันที” โดย “ทำทันที” ความหมายก็คือ เมื่อกล้าหาญเผชิญในเรื่องนั้นมีเป้าหมายที่ดี ตัวเราเองจะต้องลงมือปฏิบัติหรือลงมือทำให้ทันที่เวลานั้นเลยโดยไม่ต้องรอเวลายืดออกไปอีก การทำในทันที่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก เพราะพลังที่เกิดจากท้าทายที่เราได้กำหนดได้ผ่านมานั้น จะส่งผลให้มีพลังต่อการทำหรือลงมือปฏิบัติอย่างมหาศาล  เพราะเวลากับพลังอาจจะแปรผกผันกัน นั่นหมายความว่า เมื่อเราทิ้งเวลาไว้นานพลังก็อาจจะลดน้อยลงตามลำดับ
ดังนั้น กล่าวสรุปได้ว่า ๓ ท. คือ ท้อแท้ ท้าทาย ทำทันที เป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องให้ความสำคัญ ฝึกฝนทบทวนว่าตัวเราสามารถจะเข้าใจ เข้าถึง และปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนครับ เรื่องดังกล่าวหากว่าเราไม่ประสบพบกับตัวเองก็อาจจะไม่ทราบไม่เข้าใจ แต่ว่าหากเมื่อใดที่เราประสบพบเจอกับ “ท้อแท้” แล้ว เกิดความ “ท้าทาย” แล้วก็ “ทำทันที” สิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคที่ทำให้เราท้อแท้ย่อมจะหมดไปหายมลายสูญสิ้นไปในพลัน
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่าท่านผู้อ่านทุกท่านเมื่อเกิด “ท้อแท้” แล้ว อย่าได้หยุดที่ตรงนั้น ขอให้มีสติมีพลังก่อให้เกิดความ “ท้าทาย” และ ลงมือ “ทำทันที” เมื่อเป็นได้อย่างนั้นแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าชีวิตนี้เราจะสามารถผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดกับตัวของเรา ขอให้กำลังใจทุกท่านครับ ๓ ท.   (โปรดติดตาม ท. ตัวที่ ๔ ต่อไป นะครับ)

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วันแห่งความรัก


หากไม่เขียนเรื่อง “วันแห่งความรัก” เนื่องในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ก็รู้สึกว่าจะขาดอะไรไปสักอย่างในชีวิตนี้

แน่นอนครับ “ความรัก” เป็นสิ่งที่ทุกคนทุกท่านต้องการไม่ว่าจะจากใคร กลุ่มบุคคลใดก็แล้วแต่
ความรัก เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขที่มาจิตใจของเรา ทำให้รู้สึกว่ามีอิ่ม รู้สึกว่าโลกใบนี้สดใสเหลือเกิน รู้สึกว่าตัวเรามันกระชุ่มกระชวย  รู้สึกว่าชีวิตของเรามันช่างดีเหลือเกิน
ความรัก เป็นสิ่งที่เราทุกคนรู้จักมักคุ้นกันมาเป็นอย่างนี้ เรารู้จักความรักมาตั้งแต่เกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาของเรา แม่ของเรารักทะนุถนอมเราทุกขณะเวลาวินาที เติบใหญ่คลอดออกมาเราก็ได้ความรักจากพ่อ จากญาติ ไปโรงเรียนได้ความรักจากคุณครู เพื่อนๆ  โตขึ้นสู่วัยรุ่นเราก็ได้ความรักจากเพื่อนต่างวัย เพื่อนต่างเพศ เพื่อนต่างสถาบัน เพื่อนต่างๆ นานา  ความรักดังกล่าว ก็จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “จีบ” กันและกัน หรือ ภาษาโบราณอาจจะเรียกว่า “เกี้ยวพาราสี” (สำหรับ พาราสี ผู้เขียนก็ไม่ทราบไม่รู้เหมือนกัน ว่าหมายถึงอะไร หากเป็นเมืองที่ประเทศอินเดียก็จะเป็นเมืองพาราณสี)

กล่าวสำหรับ “จีบ” ผู้เขียนได้ยินวัยรุ่นเขาคุยกันว่า
“จีบคนไม่มีแฟนมีศัตรูเป็นแสน จีบคนมีแฟนมีศัตรูเพียงคนเดียว”
เป็นประโยคที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ท่านผู้อ่านก็ไปคิดเองต่อก็แล้วกันครับ

กลับมาที่จีบอีกครั้ง เมื่อจีบกันรักกันตกลงแต่งงานกัน ก็เกิดความรักในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก เป็นวงจรอย่างนี้ เมื่อเป็นพ่อแม่ก็ย่อมรักลูกมากเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อลูกเติบโตเจริญก้าวหน้าในการเรียนอาชีพมีครอบครัว พ่อแม่ก็ย่อมมีความสุขตามไปด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความรักที่เราทุกคนที่จะต้องมีอยู่เสมอ นั่นก็คือ “ความรักที่มีต่อตัวเอง ต่อตัวเรา” ถามว่าความรักดังกล่าวนี้เป็นอย่างไร ผู้เขียนคิดว่าทุกท่านคงทราบกันดี

วันแห่งความรัก หากเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการรักตัวเองมากยิ่งขึ้น ก็คงจะดีนะครับ

หากว่าเรารักตัวเองเสียก่อน แล้วขยายต่อในการให้ความรักกับผู้ที่ใกล้ชิดที่สุดที่เป็นสายเลือดของเรา กล่าวคือ ต้องรักคุณพ่อคุณแม่ให้มาก เมื่อมีสายเลือดที่เป็นลูกก็ต้องรักลูกให้มาก ถัดจากสายเลือดก็เลือกที่รักผู้ที่ใกล้ชิดเราที่สุดตามลำดับ อาจจะเป็นคนรัก (หรือที่เรียกว่า แฟน) ตามไปด้วยเพื่อนๆ (ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆ ที่เรียน เพื่อนๆ ที่ทำงาน เพื่อนๆ ที่เราสนิท) ตามด้วยสมาชิกในองค์กรของเรา ชุมชนของเรา สังคมของเรา หมู่บ้านของเรา ตำบลของเรา อำเภอของเรา จังหวัดของเรา และประเทศของเรา เหนือสิ่งอื่นใดในวันแห่งความรักนั้น ผู้เขียนเชื่อว่า เราคนไทยจะรักและเทิดทูนในหลวงและพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ขอให้ทุกพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

สิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งคู่กันกับความรัก คือ "การให้" หลายท่านคงทราบและรู้ดีว่า "ความรัก คือ การให้" และเป็นการให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ หากเมื่อใดแล้วที่เราเห็นความรักเป็นการที่จะต้องได้แล้วละก็ รับรองได้ว่าสิ่งนั้นคงไม่อาจจะถูกเรียกได้ว่า "ความรัก" อย่างแน่นอน

หลายครั้งในชีวิตของคนเรา เรามีความต้องการ มีความอยาก (ได้) ซึ่งเมื่อนั้นแล้วก็มักจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ทุกข์" ตามมาเป็นของคู่กันเสมอ ตรงกันข้าม หากว่าเรามีความรู้สึกว่า "ต้องการจะให้ (โดยไม่มีความต้องการกลับ ไม่มีความอยากได้กลับคืน)" เราจะมีความสุข และความสุขนั้น อาจจะเรียกว่า "ความรักที่ยิ่งใหญ่" มีบางท่านที่มีฐานะต้องการให้ (บริจาค) เงินทองสำหรับเด็กกำพร้าเพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับเขาเหล่านั้นได้มีโอกาสที่ดีในชีวิต นี่แหละที่เป็นความรักที่น่าชื่นชม เป็นความรักที่บริสุทธิ์ไม่หวังผลตอบแทนใด และที่สำคัญความรักดังกล่าวเป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน หากท่านใดที่ดูละครเรื่องบางรักซอย 9 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นอีกตอนหนึ่งที่ประทับใจที่แสดงให้เห็นว่า คุณชัดเจนได้มีความรักที่ไม่หวังผลตอบแทนใดโดยการบริจาคเงินช่วยเหลือให้กับบุตรบุญธรรม (เด็กกำพร้า) ตั้งแต่เด็กๆ จนเติบโตมีการศึกษาสามารถสอบชิงทุนไปศึกษายังต่างประเทศ ซึ่งเด็กคนนั้นชื่อว่า "ออมสิน"

และในละครวันดังกล่าวยังได้แสดงให้เห็นถึงความรักที่ยิ่งใหญ่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ คือ "ลูก" ที่ลืมตามาดูโลก เนื่องจากคุณแป้งได้ท้องแล้ว 3 เดือน และอีกไม่ช้า ความรักดังกล่าวก็จะค่อยๆ มากและมากยิ่งๆ ขึ้นตามลำดับ

สำหรับวันแห่งความรัก หากเรารู้จักประยุกต์เรื่องของความรักกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ (มีเหตุผล มีความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน) ก็น่าจะเป็นไปได้ ตามที่ว่า

รัก แบบมีเหตุผล กล่าวคือ รักเพราะเหตุผลใด ทำไมถึงจะต้องรัก

รัก แบบมีความพอประมาณ กล่าวคือ รักด้วยความพอดีพอเหมาะ ไม่มากไป ไม่น้อยไป

รัก แบบมีภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ รักเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน สร้างความรู้สึกที่ดีๆ ต่อกันและกัน

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนขออวยพรให้ทุกท่านที่มีความรัก มีความสุข โดยเฉพาะมีความสุขกับการให้ เพื่อให้เกิดความรักที่บริสุทธิ์ จัดไปให้เต็ม เติมเต็มสำหรับสิ่งที่ดีๆ ต่อกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นความรักในครอบครัว ที่ทำงาน และประเทศชาติ ขอให้ "รักประเทศไทย เดินหน้าร่วมมือร่วมใจพัฒนาประเทศไทยของเราให้เจริญรุ่งเรือง"
Happy Valentine's Day
Max


สุดท้ายผู้เขียนอยากจะขอกล่าวเนื่องในวันแห่งความรักว่า "I Will Always Love You" เพื่อเป็นการไว้อาลัยต่อ WHITNEY HOUSTON