วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

ปฏิ

เมื่อ ๕ ปีที่แล้ววันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นวันที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "ปฏิวัติ" "ปฏิรูป" ทำให้รัฐธรรมนูญในขณะนั้น คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.๒๕๔๐ ได้สิ้นสุดลงไป แต่นั้นเป็นเรื่องของการเมือง

อย่างไรก็ดี ในเมื่อ ๕ ปีที่แล้วที่ผ่านมาเกี่ยวกับคำว่า "ปฏิ" ผู้เขียนก็อยากจะเขียนเกี่ยวกับการ "ปฏิ" เพื่อเป็นรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สำคัญดังกล่าว

จะเห็นว่า "ปฏิ" น่าจะมีความหมายเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้เกิดใหม่ สิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ดีว่า เราจะได้เห็นสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นหากมีการ "ปฏิ" ขึ้นมา นั่นเป็นเพียงความคิดของผู้เขียนเท่านั้น (แต่ความเป็นจริง “ปฏิ” เป็นภาษีบาลีที่ใช้นำหน้าคำอื่น มีความหมายว่า เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Reaction”) แต่คงจะไม่เป็นไรหรอกหากความคิดของผู้เขียนไม่ตรงกันกับที่กำหนดไว้ เพราะที่จริง การ “ทวน” หรือ “กลับ” ก็หมายถึงสิ่งใหม่ การทำใหม่ได้เช่นกัน

สำหรับ คำภาษาไทยที่เกี่ยวกับ "ปฏิ" มีหลายๆ คำมากมาย เช่น ปฏิกิริยา ปฏิสนธิ ปฏิบัติ ปฏิวัติ ปฏิรูป ปฏิมากรรม (ประติมากรรม) ปฏิสังขรณ์ ปฏิกรณ์ ปฏิกูล ปฏิชีวนะ ปฏิทิน ปฏิปักษ์ ปฏิเสธ ปฏิสันถาร ปฏิคม ปฏิญาณ เป็นต้น

ปฏิกิริยา เป็นเหตุการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่สารเคมีวิทยาศาสตร์เกิดผสมกันตั้งแต่สองสารขึ้นไป (หากมีสารเพียงชนิดเดียวคงจะไม่สามารถเกิดปฏิกิริยาได้) ทำให้เกิดสารที่มีอาจจะมีคุณสมบัติทางเคมีชีววิทยาใหม่ หรือ การที่มนุษย์ได้รับข้อมูลในด้านใดๆ แล้วเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา (หมายความว่า เกิดความคิด เกิดสติ เกิดปัญญา แสดงออกมาหรือตอบโต้)

ปฏิสนธิ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากสองสิ่งผสมกันเช่นกันแล้วเกิดสิ่งมีชีวิตสิ่งใหม่เกิดขึ้นมา

ปฏิมากรรม เป็นสิ่งที่ธรรมชาติหรือมนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาให้มีความงดงามมากกว่าเดิมจากที่เป็นอยู่

ปฏิรูป เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการทำให้สิ่งที่เป็นอยู่นั้นดีขึ้นมีรูปที่ดีขึ้นมีสภาพที่ดีขึ้น

ปฏิวัติ เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการเปลี่ยนแปลงจากของเดิมให้เป็นของใหม่โดยต้องใช้พลังกำลังจำนวนให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นโดยทันที

ปฏิบัติ เป็นสิ่งที่มนุษย์ลงมือกระทำอย่างจริงจังให้เกิดผลตามที่ตั้งใจตั้งความมุ่งหวังไว้

ที่เกริ่นนำมาตามข้างต้นนี้ ใช่ว่าผู้เขียนจะถูกต้องเสมอไป เพียงแต่เขียนตามความรู้สึกและความรู้ที่มีอยู่เท่านั้นนะครับ แต่ที่ต้องการจะเพิ่มเติม คือ สำหรับ "ปฏิรูป" และ "ปฏิวัติ" นั้น ย่อมมีข้อแตกต่างกันอย่างแน่นอน (เพราะแม้แต่การเขียนก็ยังไม่เหมือนกันเลย) เรามักจะเห็นว่าโดยส่วนมากในวงการต่างๆ นั้น ต่างก็ใช้สองคำเมื่อต้องการสื่อถึงการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ

สำหรับด้านอุตสาหกรรม เรามักจะได้ยินว่าเป็นการ "ปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิต"

ด้านการศึกษา เรามักจะได้ยินว่าเป็นการ "ปฏิรูปการศึกษาเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน"

ดังนั้น ด้วยเหตุนี้ หากต้องการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วรุนแรงน่าจะใช้คำว่า "ปฏิวัติ" ในทางตรงกันข้าม หากต้องการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นไปไม่รุนแรงต้องการความมีส่วนร่วมสร้างความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง น่าจะใช้คำว่า "ปฏิรูป" แต่อย่างไรก็ดี ทั้งสองคำจะต้องพึ่งคำว่า "ปฏิบัติ" เพราะหากไม่ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยความเข้าใจ เข้าถึง และทั้งการ "ปฏิวัติ" หรือ "ปฏิรูป" ก็จะเกิดปฏิกิริยาตามมา ซึ่งปฏิกิริยาที่ว่าจะมีสองด้านเสมอ คือ ด้านที่ดี และ ด้านที่ไม่ดี สนับสนุน หรือ ไม่สนับสนุน เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย เป็นต้น แต่เมื่อไรก็ตาม ที่ทั้ง "ปฏิวัติ" หรือ "ปฏิรูป" มีเหตุผล มีข้อเท็จจริงที่สามารถเห็นเป็นที่ประจักษ์ได้โดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ แล้ว เมื่อ "ปฏิบัติ" แล้ว "ปฏิกิริยา" ที่เกิดขึ้นย่อมจะเป็นไปในทิศทางที่ดีมีผู้สนับสนุนเห็นด้วย และเมื่อนั้น การปฏิวัติหรือการปฏิรูปก็จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วมมากที่สุด โดยที่ไม่มีผู้ใดเสียเปรียบได้เปรียบ เกิดความยุติธรรมในสังคม

ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่า ๕ ปีที่ผ่านไปจากการ "ปฏิ..." (จะเรียกว่า ปฏิวัติ หรือ ปฏิรูป ก็ตามแต่) จะเกิดการปฏิบัติที่ทำให้มีปฏิกิริยาในทางที่ดีขึ้น ทำให้คนไทยลบลืมความผิดหวังสิ้นหวังหมดหวังลงไปได้นะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ความกดดัน

เมื่อปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้เขียนเกี่ยวกับเรื่อง "กด กลด แล้วก็ กฎ " (อ่านได้ที่นี้) แต่สำหรับวันนี้มีอยากจะเขียนเกี่ยวกับ "ความกดดัน" เพราะมีความรู้สึกว่าถูกกดดันเหลือเกิน ที่ถูกกดดันเพราะมีพลังจากภายนอกที่มีกำลังมากมายกว่าพลังที่เรามีอยู่ เราก็เลยมีความรู้สึกว่า "ถูกกดดัน"

นอกจากนั้น เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (วันเสาร์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๔) ได้อ่านบทความบทความหนึ่งในมติชนสุดสัปดาห์ มีผู้กล่าวว่า "หากวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิตเรา เราจะทำอะไรทำอย่างไร เราจะต้องทำสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดในชีวิต" คำพูดดังกล่าวที่ทำให้ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า "ความกดดัน" นั้น มันไม่มีค่าเอาเสียเลย ไม่มีพลังเอาเสียเลย ไม่มีแรงกำลังเอาเสียเลย ความกดดันใดๆ ก็ตามแต่ หากเข้ามาหาตัวเราเมื่อไร เราก็มักจะเกิดความทุกข์ร้อนทั้งกายทั้งใจ และมักจะนำไปสู่การที่ทำให้ตัวเราร้อนลุ่มทั้งภายในและภายนอก

อย่างไรก็ดี หากว่าเราลองคิดใหม่ว่า "หากวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิตเรา แล้วเราจะต้องมั่วไปทุกข์ร้อนกับความกดดันนั้นทำไมกัน" "เรามาคิดลองทำในสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขที่สุดในชีวิต ทำอะไรที่เราอยากจะทำที่สุดเกิดความสุขในการทำที่สุดไม่ดีกว่าหรือ"

ก่อนที่กล่าวถึงความกดดัน ผู้เขียนขออนุญาตกล่าวถึงสิ่งที่มีอยู่ร่างกายมนุษย์ของเราซึ่งมีธาตุทั้ง ๔ ในร่างกาย คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อไรก็ตามที่ตัวเรามีธาตุดินที่ไร้ประโยชน์จำนวนมากเกินไป ซึ่งธาตุดินอันนี้เกิดจากการที่เรารับประทานอาหารที่เกินความต้องการของร่างกาย (เช่น แป้ง ไขมัน) ธาตุดินดังกล่าวก็จะไปสะสมในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายของเรา เมื่อเป็นอย่างนั้น อาจจะทำให้น้ำในร่างกายของเราเสียความสมดุล (ธาตุน้ำ เลือด น้ำที่หล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ เสียสมดุล) และส่งผลต่อระบบลมที่อยู่ในร่างกายของเรา ลมที่ว่าคือ ระบบการหายใจ (ธาตุลม) และหากระบบสมดุลของน้ำในร่างกาย ระบบลมในร่างกายเสียสมดุลไปแล้ว แน่นอนย่อมจะมีผลต่อธาตุไฟในร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ เกิดความโกรธ เกิดความทุกข์ และในที่สุด เกิดสภาวะที่เรียกว่า "ความกดดัน" ในจิตใจ

จะเห็นว่า "ความกดดัน" อาจจะเกิดจากความเสียสมดุลของธาตทั้ง ๔ ในร่างกายของตัวเรา อย่างไรก็ตาม "ความกดดัน" อาจจะสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นอีกที่ตัวเรารับรู้ได้จากทวารทั้ง ๖ คือ หู ตา ลิ้น จมูก กาย (ผิวหนัง) และใจ ตัวอย่างเช่น ในที่ทำงานเรามักจะได้ยินเสียงดุด่าจากผู้บังคับบัญชาเป็นประจำ (และที่สำคัญ คือ เสียงดังเอามากๆ) หรือ ในสถานที่บางแห่งมีกลิ่นเหม็นของปฏิกูลต่างๆ มาก เป็นต้น

"ความกดดัน" ทำให้ความทุกข์จะทุกข์น้อยทุกข์มากก็แล้วแต่แรงดันที่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากว่าเราปล่อยว่างไม่สนใจความกดดันดังกล่าวที่เกิดขึ้น จะทำให้เราไม่เกิดความทุกข์ ตรงกันข้ามตัวเราอาจจะเกิดความสุขด้วยซ้ำ หากใครมากดดันเราเขาคนนั้นยิ่งจะเหมือนถูกกดดันมากกว่าตัวเราหลายร้อยเท่า เพราะในจิตใจของเขามีแต่จะคิดว่าทำอย่างไรจะให้เราเป็นผู้แพ้ ให้เราเป็นผู้ที่ได้รับความสูญเสีย ให้เราเป็นผู้ที่เป็นทุกข์

ดังนั้น ความกดดัน ใครจะกด ใครจะดัน ก็ชั่งหัวมัน (ท่านใดอยากจะทราบเกี่ยวกับเรื่อง "ชั่งหัวมัน" เชิญ Click ที่นี่)
ไม่ต้องไปสนใจ ปล่อยวาง และปล่อยว่าง ด้วย ก็น่าจะดี ผู้เขียนเองก็มีแต่เขียนมั่วแต่พูด ก็ทำไม่ได้เหมือนกัน แต่เราก็จะต้องเรียนรู้จะต้องฝึกปฏิบัติให้ได้นะครับ ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่เราได้มาโดยง่ายๆ แม้กระทั่งเกิดเป็นคน ก็ใช่ว่าจะเกิดกันง่ายๆ จะต้องทำบุญกุศลกี่ชาติที่ผ่านมาก็ไม่รู้ ทำชั่วทำกรรมชั่วเมื่อไรรับรองได้ว่าอาจจะไม่ได้เกิดเป็นคนอีกหรอกครับท่าน (อย่ากดดันกันเลย)

ครับ สุดท้ายนี้ หากเมื่อไรถูกกดดัน ก็อย่าไปกดดันคนอื่นเขาต่อนะครับ เพราะเดี๋ยวความกดดันมันจะกลับมาดันเราในทุกๆ ด้าน ทุกๆ เรื่อง ทุกๆ เวลา แล้วเมื่อนั้นท่านจะไม่มีแรงดันในร่างกาย

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

ฉันรักเมืองไทย

เมื่อวานวันอาทิตย์มีเวลาว่างได้นั่งดูรายการ "ฉันรักเมืองไทย" ช่อง ๙ ซึ่งพิธีกรคุณแอนดี้ ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับคนต่างชาติที่มาอยู่เมืองไทยและเกิดรักและหลงเสน่ห์เมืองไทย

เป็นรายการที่ขอบอกว่า "ดีมากๆ" เพราะอย่างน้อยที่สุดบางสถานที่เราคนไทยยังไม่รู้เลยว่าเป็นอย่างไร ทำไม่คนต่างชาติเขาถึงได้รักและอยากจะอยู่เมืองไทยใช้ชีวิตในเมืองไทย

แทบไม่น่าเชื่อว่าคนต่างชาติเหล่านี้เขามีความรู้สึกดีๆ กับประเทศไทยของเรารวมถึงคนไทยด้วย และหากสังเกตดีๆ เวลาที่พวกเขาเหล่านั้นได้ให้สัมภาษณ์แววตาของพวกเราจะบ่งบอกถึงความสุขอย่างที่บริสุทธิ์และแท้จริง

คนไทย (บางคน บางกลุ่ม) ไม่รักเมืองไทยของเราเลย มีแต่ทำลายนำแต่สิ่งที่ไม่ดีมาสู่ประเทศไทยของเรา ไม่ว่าจะเป็นพวกที่ทำลายป่า ทำลายธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของตนเอง อีกทั้งพวกที่บ่อนทำลายโดยการขายยาเสพติด และทำเรื่องที่ไม่ดีสำหรับแผ่นดินไทยของเรา คนพวกนี้ เราไม่รู้ว่าจะเรียกว่า "คนไทยหรือไม่" ทำไมพวกเขาไม่ลองดูรายการ "ฉันรักเมืองไทย" ซะบ้าง เผื่อบางครั้งจะได้มีสติปัญญาความคิดในการที่รักษาห่วงแหนธรรมชาติต่างๆ ไม่ทำในสิ่งที่เกิดความเสียหายให้กับประเทศชาติ

รายการ "ฉันรักเมืองไทย" ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า คนต่างชาติเขายังรักเมืองไทย แล้วทำไมเราคนไทยจะรักเมืองไทยไม่ได้และควรจะรักเมืองไทยของเรามากกว่าคนต่างชาติด้วยซ้ำ

ทุกวันนี้ที่เราเห็นข่าวของภัยธรรมชาติน้ำท่วมในพื้นที่ภาคต่างๆ ของไทยเรา จะเห็นว่าสาเหตุที่เกิดน้ำท่วมหรือเกิดภัยพิบัตินั้น ล้วนเกิดจากที่เราคนไทยไม่ได้ช่วยกันรักษาธรรมชาติรักษาป่า ซึ่งรักษาป่ายังไม่พอเราต้องสร้างหรือปลูกป่าให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพื่อจะได้เป็นแหล่งธรรมชาติที่เป็นบ่อเกิดหรือแหล่งเกิดสิ่งมีชีวิตต่างๆ ตามวงจรธรรมชาติ อันจะทำให้ลูกหลานคนไทยได้เรียนรู้ได้ศึกษาและเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติคือ “ป่าไม้” เราคนไทยจงร่วมมือร่วมใจปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ และ ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มหาราชินี ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ ปลูกให้ได้ ๘๔ ล้านต้น และ ๘๐ ล้านต้น ตามลำดับนะครับ

ขอกลับมาที่รายการ "ฉันรักเมืองไทย" อีกครั้งหนึ่ง ผู้เขียนยอมรับว่าผู้ผลิตรายการได้ให้ความสำคัญของเมืองไทยของเราว่า เหตุใดคนต่างชาติเขาถึงรักเมืองไทยและอยากจะอยู่เมืองไทย ซึ่งอาจจะตรงกันข้ามกับคนไทยบางคนบางกลุ่มที่ไม่อยากจะอยู่เมืองไทย ดูถูกเมืองไทยว่าไม่มีอะไรดี ดังนั้น ถึงเวลาแล้วละครับว่า เราคนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันรักเมืองไทยของเรา ซึ่งจะต้องรักเมืองไทยด้วยจิตใจ เหมือนคนต่างขาติ (ในรายการฉันรักเมืองไทย) ที่เขาเหล่านั้นยังบอกไม่ถูกว่าทำไมถึงรักเมืองไทย แต่สิ่งหนึ่งผู้เขียนคิดว่าคนต่างชาติเขาประทับใจรักเมืองไทย ก็อาจจะเพราะว่า ประเทศไทยของเราเป็น "สยามเมืองยิ้ม" ที่คนไทยมีแต่รอยยิ้มให้ซึ่งกันและกัน ถ้าหากเราคนไทยไม่ว่าจะเป็นเพศ อาชีพ การศึกษา หรือแตกต่างกันอย่างไรก็ตามแต่ หากเราคนไทยยิ้มให้กัน รักกัน สามัคคีกัน ให้อภัยซึ่งกันและกัน รู้แพ้รู้ชนะ ผู้เขียนเชื่อว่า เราคนไทยทุกคนจะรักเมืองไทยมากยิ่งขึ้น

ครับ สุดท้ายผู้เขียนก็คงจะไม่ขออะไรมากมาย หากท่านพอมีเวลาว่างในวันอาทิตย์หากท่านไม่มีธุระประการใด เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น ลองเปิดโทรทัศน์ไปที่ช่อง อสมท.(ช่อง ๙) ดูรายการ "ฉันรักเมืองไทย" แล้วท่านจะรักเมืองไทยมากยิ่งขึ้น เหมือนกันผู้เขียนที่มีความรู้สึกที่ว่า "ฉันรักเมืองไทย"