วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

online

ชื่อเรื่องของวันนี้อาจจะแปลกไปสักนิดหนึ่ง เพราะเป็นภาษาอังกฤษและเป็นคำที่ผู้เขียนทุกท่านน่าจะทราบกันดีว่าหมายถึงอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มักกล่าวถึง “online”

อย่างไรก็ดี online ดังกล่าวนั้น อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับในการเขียนเรื่องวันนี้สักเท่าไรนัก เพราะผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านหนังสือของท่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี “บนเส้นทางชีวิต” :เรื่องราวชีวิตการงาน การต่อสู้ ความใฝ่ฝันของคนบ้านนอกคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคนหลายคน

ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีมากๆ อยากจะให้ท่านใดที่มีเวลาว่างได้อ่าน ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอบางส่วนที่ได้จากหนังสือของท่านคุณหมอประเวศ ดังนี้

หน้า ๓๗ “ในการศึกษาของมนุษย์ ควรได้เรียนรู้หรือสัมผัสกับเรื่องราวหรือตัวบุคคลที่เป็นปูชนียบุคคลให้มาก”

หน้า ๘๑ “อาจารย์เสม พริ้งพวงแก้ว พูดเสมอว่า ชีวิตที่สุขสบายไม่ทำให้เกิดปัญญาสร้างสรรค์”

หน้า ๑๒๕ “บัณฑิตของเรา จบการศึกษา ได้รับปริญญาเพราะจบการศึกษา และหลังจากนั้นก็จบเลย คือ ไม่ศึกษาต่อไปอีก เรามีข้าราชการที่ จบการศึกษา เต็มประเทศไปหมด เลยทำอะไรไม่ค่อยเป็น ทำให้บ้านเมืองเสียหายมาก

มหาวิทยาลัยจะต้องผลิตบัณฑิตที่ “ไม่จบการศึกษา”

หน้า ๑๖๘ “การศึกษาควรจะสร้างค่านิยมหรือวัฒนธรรมแห่งการพึ่งตนเองในเรื่องศักดิ์ศรีและความสุข”

หน้า ๑๘๒ “แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ในการศึกษาของไทยนั้น เรายัดเยียดเนื้อหากันเป็นดุ้นๆ และเกือบจะไม่สอนแนวคิดกันเลย ทำให้คนไทยคิดไม่ค่อยเป็น”

หน้า ๑๘๓ “นิสัยเปลี่ยนได้ช้า และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนเร็ว”

“เป็นหน้าที่ของการศึกษาที่จะต้องพัฒนาคนให้มีความสามารถที่ทันต่อการแก้ปัญหา การศึกษาหมายถึงการที่จะแก้นิสัยด้วย ไม่ใช่ท่องหนังสือไปเรื่อยๆ ซึ่งแก้พฤติกรรมหรือนิสัยไม่ได้”

หน้า ๓๔๗ “ก็ลองนึกดูเถอะครับ คนจบมัธยมศึกษาแต่สามารถตรวจวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาเอกได้ การขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ปริญญา เป็นเพียงเครื่องสมมติ ถ้าไม่ระวัง คนที่มีปริญญาโก้ๆ อาจมี ความว่างเปล่าทางวิชาการ เป็นอย่างยิ่งก็ได้”

หน้า ๒๒๒ “ในการทำแผนอุดมศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยน่าจะต้องมีปัญญาที่จะสามารถตีความเรื่องวัฒนธรรมกับการพัฒนาให้ลึกซึ้งและครอบคลุม เพราะวัฒนธรรมกับการพัฒนาคือโจทย์ที่ยิ่งใหญ่และท้าทายเราทุกคน”

หน้า ๔๑๙ “วัฒนธรรม หมายถึงระบบความเชื่อ คุณค่า พฤติกรรม และผลของพฤติกรรมของกลุ่มชนที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน หรือคือวิถีชีวิตทั้งหมดที่สืบทอดกันมา”

หน้า ๖๑๓ “ความเป็นชุมชน หมายถึง การที่คนกลุ่มหนึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น นับถืออะไรร่วมกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีการติดต่อสื่อสารกัน มีการเรียนรู้และกระทำร่วมกัน และมีองค์การจัดการ”

ด้วยเหตุนี้ “บนเส้นทางชีวิต” หนังสือของท่านคุณหมอประเวศข้างต้นนั้น ทำให้ผู้เขียนอยากจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับ “Online” ซึ่งเบื้องต้นคิดได้เพียงแต่ว่า บนเส้น น่าจะตรงกับภาษาอังกฤษที่ว่า Online (on = บน line = เส้น) แต่ท่านใดที่เรียนด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร ไม่ควรจะไปแปลอย่างนั้นเป็นเด็ดขาด ว่า Online แปลว่า บนเส้น (Online System ไม่ใช่ ระบบบนเส้น)

ในโลกใบนี้ ความหมายของเส้น จะต้องมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด และจะต้องไม่ใช้จุดเดียวกัน และมีระยะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น เส้นทาง เราก็มักจะต้องเริ่มด้วยจุดเริ่มต้นของเส้นทางอยู่ที่ไหน จุดหมายปลายทางอยู่ที่ไหน เส้นก๋วยเตี๋ยว ก็มีทั้งเส้นที่ยาวและสั้น เส้นผมทั้งเส้นยาวและสั้นเช่นกัน

เส้นต่างๆ ที่กล่าวมานั้น หากเรากระทำใดๆ ลงบนเส้นจะทำให้เกิดความชัดเจนเป็นที่น่าสนใจมากขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก ตัวอย่างเช่นการทำสีบนเส้นผม การทำเส้นบะหมี่ให้สีเขียว (ก็เรียกว่า หมี่หยก)

บนเส้นอีกอย่างหนึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับกีฬา เช่น เทนนิส ตะกร้อ วอลเลย์บอล ฟุตบอล อยากอยู่บนเส้นที่กำหนดไว้เมื่อไรละก็จะเป็นเรื่องทันที่ ไม่ว่าเป็นฝ่ายที่ได้คะแนนและเสียคะแนน ดังนั้น บนเส้น เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่บางฝ่ายก็ไม่ต้องการบางฝ่ายก็ต้องการ

อีกเรื่องหนึ่งคือ ที่เราคนไทยมักจะต้องรู้จักและพูดถึงอย่างแน่นอน คือ “การมีเส้น” “เส้นใหญ่” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับมีผู้อำนาจมีอิทธิพลมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น สามารถที่จะผลักดันบันดาลเรื่องต่างๆ จากยากให้กลายเป็นง่ายได้ ด้วยเหตุนี้ ใครที่อยู่ “บนการมีเส้น” “บนเส้นใหญ่” แล้วจะรู้สึกว่าตัวเองนั้นยิ่งใหญ่ มีแต่คนที่กลัวเกรง อย่างนี้เป็นต้น

ซึ่งผู้เขียนก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไม่เรื่องดังกล่าวข้างต้นใช้คำว่า “เส้นใหญ่” หรือ “ใช้เส้น” “มีเส้น” อันนี้ยอมรับจริงๆ ว่าไม่เข้าใจไม่รู้ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ในความคิดของผู้เขียน (อันนี้ขอเดานะครับ) ว่า ที่เราใช้ “เส้นใหญ่” “มีเส้น” ก็อาจจะเป็นเพราะในร่างกายของมนุษย์เรานั้นมีเส้นเลือด เส้นประสาท เส้นเอ็น หรือ เส้นอื่นๆ อีกมากมาย เส้นเลือดที่ใหญ่ก็ย่อมสำคัญต่อการดำรงชีวิต เส้นประสาทที่ใหญ่ก็สำคัญต่อการดำรงชีวิตเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงคิดว่า เรื่อง “เส้น” ย่อมสำคัญอย่างเป็นแน่แท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเวลาเราปวดเมื่อยแล้วให้หมอนวดแผนไทยได้ “วางหรือกดนิ้วไว้บนเส้นเอ็นที่เกิดจากการทำงานหนักแล้วจะก็ จะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกและเกิดความสมดุลในร่างกายของเรา ทำให้เรามีสุขภาพที่ดี”

ดังนั้น บนเส้นดังกล่าว หากว่าทำให้เหมาะให้ถูกต้องย่อมจะเกิดประโยชน์ เช่นเดียวกันกับ “เส้นทางของชีวิต” หากเราได้กำหนดว่าเราจะเดินทางไปทางไหนทิศทางไหน แล้วเราก็กำหนดว่าจะต้องอยู่ “บนเส้น” ทางของเราด้วยความตั้งใจแน่วแน่แล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า “บนเส้น” สามารถที่จะเชื่อมโยงสร้างความสมดุลให้กับชีวิตทั้งตัวเราและผู้ที่อยู่รอบข้าง

เช่นเดียวกันกับที่เราทำงานให้องค์กรหน่วยงานต่างๆ หากองค์กรหน่วยงานได้กำหนดทิศทางการพัฒนาไว้แล้ว (ซึ่งก็คือ วิสัยทัศน์) เราในฐานะที่เป็นบุคลากรพนักงานในองค์กรได้กำหนดการทำงานของเราให้สอดคล้องเป็นไป “บนเส้น” ที่องค์กรหน่วยงานกำหนดไว้แล้ว เราย่อมจะไปถึงจุดหมายปลายทางด้วยความสำเร็จอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ เรื่องราวของ “online” หรือ “บนเส้น” (ที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ICT) เราสามารถที่จะกำหนดให้อยู่บนเส้นของ ๓ธ คือ

ธรรมะ

ธรรมชาติ

และธรรมดา

หากเราทุกคนสามารถที่จะทำได้ เราจะไม่มีคำว่า “เส้นใหญ่” “มีเส้น” เราจะมีเพียงแต่ “บนเส้น”

ขอขอบพระคุณหนังสือของท่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี “บนเส้นทางชีวิต” ที่ได้ให้แง่คิดอันสำคัญที่จะเดินทาง “บนเส้น” ของชีวิตตัวเราเองอย่างมีคุณค่า และขอบคุณนักศึกษาปริญญาโท IT คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่มีแรงผลักดันในเขียนเรื่อง online

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น