วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สัน กับ เด็ก

พอย่างก้าวเข้าเดือนกรกฎาคมแล้วผู้เขียนมีความรู้สึกว่าแปลกๆ แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร หรืออาจจะเป็นเพราะเราได้ทำงานมาแล้วครึ่งปี หรืออาจจะเป็นเพราะเป็นเดือนที่จะเข้าพรรษาก็เป็นได้ แต่ก็ช่างมันเถอะครับ

อย่างไรก็ดี ตามที่ได้ตั้งหัวข้อหรือชื่อเรื่องไว้ว่า “สัน กับ เด็ก” เป็นชื่อเรื่องที่ผู้เขียนคิดได้เมื่อสักครู่นี้เอง เพราะมีนักศึกษาได้บอกว่าอาจารย์ลองเขียนเกี่ยวกับเรื่อง ด.เด็ก ผู้เขียนก็เลยใส่คำว่า “สัน” เข้าไปด้วยเพื่อจะได้ให้มีความหมายเพิ่มเติมขึ้นมา เพราะ “สัน” มีความหมายว่า “ตน” หรือ “ตนเอง” หรือ “ตัวเอง” เพื่อจะพยายามให้เข้ากับ ด. เด็ก ให้ได้ เหตุผลก็เนื่องจาก เด็กโดยส่วนมากมักจะเห็นประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ตั้งแต่แรกเกิด (หากเราจำความได้) หากอยากจะได้อะไร พ่อแม่ตามใจ ตามใจ (เนื้อหาเหมือนกับเพลงของวงคาราบาวเลยครับ) สำหรับเรื่องของ “สัน” ที่เป็น ตัวตน ตัวเอง หรือ เรียกง่ายๆ ว่า ตัวกู ของกู นั้น (ผู้เขียนเคยได้เขียนไว้ที่เรื่อง I my mine and me (มันเรื่องของฉัน ของเรา ของผม หรือของกู) ) นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากหากว่าเราทุกคนรู้ตัวของเราเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะจะทำให้เราเข้าใจว่าตัวของเราเป็นอย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เมื่อ “สัน” ตัวของเรารู้ตัวของเราดีแล้ว ต่อไปเราอาจจะต้องมองหาสิ่งที่จะมาต่อจาก “สัน” ซึ่งอย่างที่ผู้เขียนได้เกริ่นนำไปแล้วว่า “สัน กับ เด็ก” จะเป็นอย่างไร

ด.เด็ก คำแรกที่จะต้องต่อจาก “สัน” คือ ด.เด็ก ที่เป็น “โดษ” จึงเป็น “สันโดษ” หมายถึง การที่ตัวตนเองมีความพอใจ พอดี พอเพียง กับสิ่งที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการที่ได้อยู่ตัวคนเดียวตามลำพังโดยที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับใครในโลกใบนี้ ด้วยเหตุนี้ หลายๆ อย่างในชีวิตของเราทุกอาชีพเราสามารถที่จะ “สันโดษ” ได้ โดยที่พอใจ พอเพียงกับฐานะอาชีพของตนเอง พอใจพอเพียงในสิ่งที่ตนมีอยู่ ซึ่งมีตัวอย่างอยู่มากมายที่หลายๆ ท่านได้ใช้ชีวิตอย่าง “สันโดษ” ตามฐานะหน้าที่ของตนเอง (และที่สำคัญอย่างเข้าใจผิดว่า สันโดษ คือ การที่อยู่คนเดียวตามลำพัง นะครับ)

ค.เด็ก คำที่สองที่จะต้องต่อจาก “สัน” คือ ด.เด็ก ที่เป็น “ดาน” จึงเป็น “สันดาน” หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่าคำๆ นี้ไม่สุภาพ ซึ่งจริงแล้วผู้เขียนก็เคยคิดอย่างนั้นเหมือนกัน แต่เมื่อได้ทราบและรู้ว่า “สันดาน” หมายถึง พื้นฐานเดิมของจิตอุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด (โดยส่วนมากมักใช้ในทางไม่สู้จะดี และใช้เป็นคำด่า เช่น สันดานชั่ว เลวในสันดาน เป็นต้น) ด้วยเหตุนี้ เราทุกคนต่างก็มีสันดานคือเป็นเรื่องของจิตตัวเรามาตั้งแต่กำหนดว่าเป็นอย่างไร สันดานเป็นสิ่งที่เราทำให้เรารู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไร เกิดการพัฒนาจิตของเราพัฒนานิสัยของเรา เพราะตัวนิสัยก็ย่อมจะต้องเกิดจากจิต หากจิตของเราเป็นจิตที่ดี สิ่งที่ตามมาก็ดี คือ นิสัยดี และก็จะกลายเป็นสันดานดีในที่สุด

ซึ่งจะเห็นว่าหากผู้ปกครองคุณพ่อคุณแม่ได้ให้ลูกๆ ของท่านได้เข้าใจเรื่องของ “สัน” กับ “เด็ก” ตั้งแต่วัยเยาว์แล้วละก็จะทำให้เด็กลูกๆ ของท่านกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพก้าวหน้าในการเรียนการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าเป็นอย่างมากในสังคม

ดังนั้น หากเราทุกคนทำสันโดษให้เป็นสันดานของเราก็คงจะดีนะครับ เพราะเราจะได้กลายเป็นคนที่มี ๒ สัน หรือ สัน ๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น