วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

ล้มเหลว

เราทุกคนคงจะประสบพบกับคำว่า "ล้มเหลว" ท่านใดที่ไม่เคยพบหรือประสบก็อาจจะมีความสุขและโชคดี แต่หากท่านใดที่เคยประสบก็ย่อมเกิดความทุกข์และโชคร้าย

"ล้ม" เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคำว่า "ตั้ง" และจะต้องตั้งตรงด้วย เพราะหากไม่ตั้งตรงสักวันก็อาจจะล้มลงมาได้ ซึ่งการตั้งที่ไม่ตรงเขาก็อาจจะเรียกว่า "เอน" ดั่งเช่นหอเอนเมืองปิซ่า (อิตาลี) ซึ่งเอนมาหลายร้อยปี และก็ยังเอนไม่ล้มลงมาสักที สำหรับการล้มนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราไม่แข็งแรงหรือมีรากฐานที่ไม่แข็งแรง เวลาที่มีอะไรก็กระทบกระแทก ก็ย่อมจะเอนไม่ว่าเป็นด้านซ้ายหรือด้านขวาก็ตามแต่ และหากได้รับแรงมากๆ การเอนดังกล่าวก็อาจจะทำให้สิ่งนั้นล้มได้ จะเห็นว่าหากเราทำอะไรก็ตามแต่ที่มีรากฐานไม่แข็งแรงไม่มีอะไรมาพะยุงค้ำไว้ก็มีโอกาสล้มได้ เหมือนกันกับเวลาที่เรานำต้นไม้ขนาดใหญ่ไปปลูกที่ใหม่ (สถานที่ใหม่) หากไม่มีไม้ค้ำยันไว้ทั้ง ๔ ด้านให้มีความแข็งแรงเพื่อให้ต้นไม้ดังกล่าวมีความแข็งแรงเจริญเติบโต เมื่อเวลาล่วงเลยไปสักพัก ต้นไม้ดังกล่าวสามารถปรับตัวได้มีความแข็งแรง ก็สามารถที่จะตั้งตรงเจริญเติบโตต่อไป หรือตัวอย่างเช่น การที่ครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนลูกศิษย์ตั้งแต่ยังเด็กเล็กค่อยค้ำยันให้ความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพมีความเจริญในหน้าที่การงานมั่นคงแข็งแรงเป็นกำลังของชาติต่อไป

สำหรับ "เหลว" เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงวัตถุที่ไม่มีการเกาะรวมตัวกันและมักจะเกิดการไหลจากตำแหน่งที่สูงไปสู่แหล่งที่ต่ำ เหลวเป็นสิ่งที่ไม่อยู่กับที่ถ้าหากมีการเปลี่ยนต่ำแหน่งสูงต่ำมาเกี่ยวข้อง หรือ หากมีพลังงานมาเกี่ยวข้องก็อาจจะทำให้สิ่งของวัตถุที่แข็งนั้นเปลี่ยนสภาพในทางที่ตรงกันข้าม คือ ไม่แข็ง หรือ เหลวในที่สุด ตัวอย่างเช่น ขวดพลาสติกหากได้รับพลังงานความร้อนก็จะกลายเป็นของเหลวที่เปลี่ยนสภาพไปในที่สุด เหลวเป็นอาการที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยจะไหลไปตามอย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ คือ ไหลจากสูงไปต่ำ ด้วยเหตุนี้ เหลว ในความคิดของผู้เขียน คือ การที่เราไม่สามารถยึดอะไรไว้ได้อย่างมั่นคง
ดังนั้น "ล้มเหลว" เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเข้าใจว่าผู้อ่านที่เคารพทุกท่านได้ทราบและรู้กันดีอย่างลึกซึ้ง แต่ที่นำมาเสนอในวันนี้ ก็เพื่อให้เราทุกคนได้ตระหนักว่า "ล้มเหลว" ถึงแม้มันเกิดขึ้นจากการที่เราไม่แข็งแรงและไม่สามารถยึดเหนี่ยวสิ่งที่เราทำอยู่ไว้ได้อย่างมั่นคง แต่ถ้าหากเราเปลี่ยนใหม่ในทางตรงกันข้าม คือ "ลุกแข็ง" นั่นคือ หากเมื่อไรที่เรา "ล้ม" เราก็ลุกขึ้นมาใหม่ ด้วยจิตใจที่ "แข็ง" ซึ่ง "แข็ง" ในที่นี้ คือ แข็งแรงในความตั้งใจในจิตใจของเรา หลายสิ่งหลายอย่างที่ผ่านมาของเราทุกคนถึงแม้ว่ามันจะล้มเหลวก็ตามแต่ หากเราลองพักสักครู่แล้ว ใช้จิตใจที่เข้มแข็งของเราทำให้สิ่งที่ล้มนั้นลุกขึ้นมาอีกครั้ง ความล้มเหลวดังกล่าวเราจะสามารถก้าวพ้นผ่านไปได้ และจะทำให้เราสามารถจะไม่ล้มเหลวอีก
จริงๆ แล้วในประเทศไทยของเรา มีผู้คนที่ล้มเหลวมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้เฝ้าสังเกตเห็น คือ คนล้มเหลวเหล่านั้น ไม่ยอมแพ้ พวกเขาลุกขึ้นมาใหม่ด้วยจิตใจที่แข็งแรงและแน่วแน่มุ่งมั่นเพื่อจะลุกขึ้นมาอีกครั้งและเป็นการลุกที่แข็งอย่างมั่นคงตลอดไป
วันนี้ ถึงแม้ว่าเราจะล้มเหลวก็ไม่เป็นไรนะครับ ลองลุก และลุกขึ้นมาด้วยความแข็งแรงในจิตใจ ผู้เขียนคิดว่าเราทุกคนจะสามารถเจริญเติบโตมีความก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน หรือการทำการใดๆ ผู้เขียนหวังว่า หากคนไทยท่านใดที่เคยล้มเหลว แล้วลองเล่าประสบการณ์ที่ผ่านความล้มเหลวให้เพื่อนๆ คนไทยเราได้รับทราบและนำประสบการณ์ของท่านไปประยุกต์ใช้ ผู้เขียนคิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลและเป็นบุญกุศลต่อผู้ที่จะนำไปใช้
ล้ม แล้ว ลุก
เหลว แล้ว แข็ง (แข็งที่จิตใจของเรา)
ลองดูตัวอย่างของการลุกแล้วแข็ง (แรงที่จิตใจ) ดูได้เลยครับ
เราสามารถชนะความล้มเหลวได้ ด้วยการสร้างความแข็งแรงของจิตใจของเรา สู้ต่อไป ยอดมนุษย์คนไทย
มนูญ ศรีวิรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น