วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เห็นใจ

เห็นใจ ความเห็นใจ เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เราคนไทยทุกคนนั้นมีอยู่ประจำตัวและประจำใจ เพราะเนื่องจากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทันทีที่เราเห็นคนเดือดร้อน คนพ่ายแพ้ หรือ คนผิดหวังที่เป็นทุกข์ ความเห็นใจเป็นความรู้สึกที่ดี เพราะัจะทำให้ผู้ที่พ่ายแพ้ ผู้ที่เดือดร้อน ผู้ที่ผิดหวัง รู้สึกว่าเขาเหล่านั้น ยังมีเพื่อนที่เข้าใจ มีเพื่อนที่คอยจะให้กำลังใจในการต่อสู้ต่อไป ซึ่ง "เห็นใจ" น่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาของเรา เพราะน่าจะเป็นประเด็นของความเมตตา (ผู้เขียนก็ไม่ใช่ผู้ที่เชี่ยวชาญทางพุทธศาสนามากมาย)

เห็นใจ หากเรามีความรู้สึกดังกล่าวที่จริงใจ บริสุทธิ์ใจ แล้วจะทำให้ทั้งผู้เห็นใจและผู้ถูกเห็นใจต่างมีความสุขกันทั้งคู่ แต่โดยความเป็นจริงบางครั้ง เราพูดแต่วาจา พูดแต่ปาก ว่า "เห็นใจเขานะ" "เห็นใจคนโน้นคนนี้" ความเห็นใจจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย บางท่านก็อาจจะแย้ง เนื่องจาก ใจ อยู่ข้างในร่างกาย แล้วเราจะไปเห็นได้อย่างไรกัน แค่เห็นรูปกายข้างนอกบางครั้งยังไม่รู้เลยว่า คนๆ นั้นเป็นอย่างไร แล้วยิ่งจะมาให้เห็นใจคนง่ายๆ นั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ยาก บางคนบอกว่าเห็นใจเขาจริงๆ แต่จริงๆ แล้วภายใจจริงใจอาจจะไม่ใช่ก็ได้ ซึ่ง เห็นใจ และ ความเห็นใจ ควรจะต้องออกมาจากใจจริงๆ

มาลองดูตัวอย่าง สมมติว่า ในที่ทำงานแห่งหนึ่ง มีเพื่อนร่วมงานอยู่ด้วยกัน 10 คน มีหนึ่งคน (สมมติว่า ชื่อ น.ส. สวยขยัน) ที่มีความขยันมากๆ มาทำงานแต่เช้่า เวลาทำงานก็ทำงานด้วยความตั้งใจ และกลับก็ช้ากว่าใครๆ ในที่ทำงาน อยู่มาวันหนึ่งปรากฏว่า น.ส.สวยขยัน ถูกเจ้านายต่อว่าเรื่องการทำงานไม่เรียบร้อยต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน ท่านคิดว่าจะเกิดความเห็นใจในหมู่เพื่อนร่วมงานของ น.ส.สวยขยันหรือไม่ เพื่อนร่วมงานอีก 9 คนจะเห็นใจ น.ส.สวยขยันหรือไม่ แน่นอนครับ ถ้าหากเพื่อนร่วมงานมีความสนิทสนมกันมีความรักสามัคคีกันภายในหน่วยงานนั้น ความเห็นใจ จะเกิดขึ้นโดยทันที่ อย่างไรก็ดี ถ้าหากหน่วยงานนั้นต่างคนต่างทำงานแข่งขันกันไม่มีความสามัคคี ไม่มีความรักกันในองค์กร รับรองได้เห็นว่า เราจะไม่เห็น ความเห็นใจเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

หากสถานที่ใด องค์กรใด หน่วยงานใด หรือ ครวบครัวใด ที่มีความรัก ความสามัคคี ความอบอุ่น ความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี ย่อมจะเิกิดความเห็นใจ ในเวลาที่คนใดคนหนึ่งในองค์กร ในหน่วยงาน ได้รับความเดือดร้อน ได้รับความเสียหาย ความเห็นใจดังกล่าวเกิดขึ้นและอาจจะตามมาด้วยการกระทำอย่างๆ หลาย ที่จะทำให้ผู้ที่เดือดร้อนนั้นได้คลายทุกข์คลายโศรก คลายความเสียหายเดือดร้อน ซึ่งในทางตรงกันข้าม หากองค์กรใด หน่วยงานใด สถานที่ใด ครอบครัวใดที่มีแต่ความชิงดีชิงเด่นกัน มีแต่ความเอารัดเอาเปรียบกัน มีแต่ความเป็นมาตรฐานไม่เท่ากัน (อาจจะเรียกว่า ไม่มีมาตรฐาน หรือ สองสามมาตรฐานก็ตามแต่) ความเห็นใจจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน มีแต่จะเกิดความสมน้ำหน้า

ในปัจจุบัน ถ้าหากสังคมไทยของเราเห็นคนในสังคมได้รับความเดือดร้อนไม่ว่าเรื่องใดๆ เราต่างคนต่างเห็นใจผู้ที่เดือดร้อนผู้ที่ต่ำต้อยกว่าเราด้วยใจที่บริสุทธิ์ สังคมไทยของเราจะมีแต่ความสุข ในที่ทำงานก็เช่นกันหากเพื่อนร่วมงานได้รับความเดือดร้อน เราเพื่อนร่วมงานหากเห็นใจกันด้วยความจริงใจด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทุกอย่างที่เป็นเรื่องความเดือดร้อนก็จะหายไปโดยเร็ว

ดังนั้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เรามาเริ่มเห็นใจคุณพ่อคุณแม่ เห็นใจพี่ๆ น้องๆ ของเราในครอบครัว เห็นใจเพื่อนร่วมงาน เห็นใจลูกน้อง เห็นใจเจ้านาย เห็นใจเพื่อนมนุษย์ในโลกนี้ ซึ่งเมื่อเราทำได้อย่างนั้น คือ เห็นใจทุกคน เราก็จะสื่อสารกันผ่านจิตใจบริสุทธิ์ที่ดีงาม แล้วความสุขก็เกิดกับทุกคน

มนูญ ศรีวิรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น