วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลง

หลายๆ ท่านคงจะได้รับทราบว่าปัจจุบันร้านสะดวกซื้อที่มีลักษณะเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และห้างค้าปลีกที่มีหลายขนาดทั้งที่เป็นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งบางแหล่งจะเห็นว่าเป็นแบบที่เรียกว่า แบบเร่งด่วน หรือเรียนอย่างไรก็แล้วแต่ ผู้เขียนขอเรียกร้านหรือห้างดังกล่าวทั้งหมดว่า “ร้านค้าปลีกสมัยใหม่”

เมื่อร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้เกิดขึ้นมากมายทุกสถานที่ ทุกแห่ง ทำให้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยที่มีอยู่ดั้งเดิม ซึ่งร้านเหล่านั้นจะต้องปรับตัวเองค่อนข้างจะมาก ร้านเหล่านี้บางครั้งเราๆ ท่านๆ ก็มักจะเรียกว่า “ร้านโชว์ห่วย” (ใกล้อวสานร้านโชว์ห่วย The end of retailing, ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์,
www.kriengsak.com)

หลายวันก่อนผู้เขียนการมีโอกาสไปราชการที่กรุงเทพ และกลางวันได้เดินเข้าไปร้านแห่งหนึ่งข้างถนน (ตามรูปภาพที่ผู้เขียนได้บันทึกไว้มาพร้อมนี้) ร้านมีเพียงเนื้อที่ประมาณกว้าง 4 เมตร ลึกประมาณ 5 เมตร แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้คิดขณะที่นั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวไปนั้น คือ ร้านดังกล่าวเป็นการประสมประสานระหว่างร้านที่ขายของชำ (เช่น ขายบุหรี่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก และของใช้ส่วนตัว เป็นต้น) และร้านขายก๋วยเตี๋ยว นั่นก็คือ ห้องดังกล่าวขายทั้งของชำ และขายก๋วยเตี๋ยว โดยหน้าร้านครึ่งหนึ่งขายน้ำ และอีกครึ่งหนึ่งวางเตาและโต๊ะขายก๋วยเตี๋ยว ทำให้ผู้เขียนได้คิดว่า แต่ก่อนร้านนี้จะต้องเป็นร้านโชว์ห่วยแน่นอนเลย เนื่องจากฝั่งอีกครึ่งยังเห็นร่องรอยของสินค้า และสินค้าที่มีอยู่ก็จัดเรียงให้เห็นได้ง่ายขึ้นจับหยิบได้ง่ายสะดวกต่อการขายยิ่งกว่าเดิม ส่วนอีกครึ่งที่ขายก๋วยเตี๋ยวเจ้าของก็ทาสีใหม่จัดวางโต๊ะได้เพียง 4 ตัวเท่านั้น และแต่ละโต๊ะมีเก้าอี้ 4 ตัว ดังนั้น สามารถที่รับลูกค้าได้รอบละ 16 คน และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปเนื่องจากการนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวใช้เวลาไม่นาน

ประเด็นที่ผู้เขียนชี้ให้เห็น คือว่า ถ้าหากร้านดังกล่าวไม่มีการปรับตัวเองให้เข้าสภาวการณ์ในปัจจุบันที่เน้นการบูรณาการ การใช้พื้นที่ร่วมกัน การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รับรองได้เลยว่า จะเป็นเหมือนกับที่ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับใกล้อวสานร้านโชว์ห่วย ซึ่งการปรับปรุงดำเนินการดังกล่าวร้ายก๋วยเตี๋ยวก็ได้รับประโยชน์จากการใช้พื้นที่ร่วมกันด้วย เพราะสามารถได้ลูกค้าเพิ่มเติมจากที่เข้าซื้อสินค้า และลูกค้าที่กินก๋วยเตี๋ยวก็สามารถสนใจที่จะซื้อสินค้าด้วยเช่นกัน ดังนั้น หลักของผู้ประกอบการ คือ จะต้องปรับตัวเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงโดยเน้นการบูรณาการในทุกๆ ด้าน

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

ความรักของคำว่า “แม่” คำนี้ สั้น แต่มีความหมาย ยาว และ ยาวมากๆๆๆๆ

ก่อนที่ผู้เขียนจะมีเรื่องสั้นที่เป็นเรื่องจริงของใครคนหนึ่งให้ผู้อ่านได้พิจารณา ขออนุญาตนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ คำว่า “แม่”

ข้อเท็จจริง ข้อที่ 1 แม่ เป็นผู้ที่ต้องอดทน อดทนในที่นี้ คือ อดทนอุ้มท้องเพื่อให้ลูกได้อยู่รอดปลอดภัยและคลอดออกมา ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 9 เดือน ช่วงเวลา 9 เดือนดังกล่าว น้ำหนักของแม่จะเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน การที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นก็เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำรงชีพในการทำงานไม่คล่องตัวเหมือนเคย และที่สำคัญ คือ จะต้องค่อยระมัดระวังลูกน้อยที่อยู่ในท้องมากที่สุด บางคืนอาจไม่ได้นอน ตอนนอนก็ไม่ค่อยเต็มอิ่ม เวลาอิ่มจะอยากจะให้ลูกที่อยู่ในท้องมีความสุขได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์มากที่สุด พูดง่ายๆ คือ อะไรที่เป็นที่สุด ที่ดี แม่จะจัดหาให้ลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์
[http://www.childbirthconnection.org/images/36weekspregnantlarge.gif]



ข้อเท็จจริง ข้อที่ 2 เมื่อครบเวลา 9 เดือน แม่จะต้องเจ็บอย่างสุดแสนสาหัสอีกครั้ง นั้นก็คือ การที่จะคลอดลูกออกมา สิ่งที่แม่ทุกคนต้องการ คือ เห็นลูกของตัวเองมีอาการที่เรียกว่า ครบ 32 ประการ ไม่ว่าจะคลอดออกมาเป็นหญิงหรือชาย ก็เป็นลูกที่รักของแม่ที่เฝ้าคอย คราบน้ำตาของแม่ถึงแม้จะเจ็บปวดทรมานเพียงใด แต่ก็คราบน้ำตาที่เปี่ยมไปด้วยความสุขอย่างล้นเหลือจะคณาได้ ลูกเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของแม่ เพราะแม่ได้รอคอยเขามาตั้ง 9 เดือน อยู่ด้วยกันมาทุกเวลาไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน เวลาหิว เวลาอ่านหนังสือ ดังนั้น ช่วงเวลาคลอดจึงมีทั้งน้ำตาที่มีความสุข มีรอยเปื้อนเลือดที่มีความสุขอย่างหามิได้
[http://img263.imageshack.us/i/12ko5.jpg/#q=แม่อุ้มท้อง]

ข้อเท็จจริง ข้อที่ 3 หลังจากที่คลอดแล้ว แม่ยังต้องทำหน้าที่อีกและเป็นหน้าที่ที่สำคัญมากเช่นกัน คือ การให้ความเจริญเติบโตแก่ลูก ด้วยเลือดด้วยน้ำนมของแม่ แม่บางท่านในช่วงนี้อาจจะเป็นเวลาที่นานหลายเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ประเด็น คือว่า แม่จะต้องคอยให้น้ำนมลูกทุกเวลาที่ลูกหิว ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางคืนกลางดึก เวลากลางวัน ความห่วงใย ความผูกพันจึงเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ลูกมองหน้าแม่ แม่มองหน้าลูก บางครั้งลูกก็กัดแม่ แต่ว่าแม่กัดลูกไม่ได้ แม่มีแต่คำว่า “ให้” น้ำนมทุกหยดหยาดผ่านการกลั่นกรองเป็นอย่างดี ผ่านการรับประทานที่มีคุณค่าที่แม่ได้สรรหากลั่นเป็นน้ำนมให้ลูก เพื่อให้ลูกจะได้เติบใหญ่เร็วๆ แม่ต้องการเห็นการพัฒนาการของลูกให้เร็วมากที่สุด และช่วงนี้เองแม่จะเหนื่อยมากที่สุดเข่นกัน กลางคืนก็ไม่ได้นอน ต้องลุกขึ้นมาดูลูก ว่าเป็นอย่างไร นอนหรือเปล่า หิวหรือเปล่า เป็นต้น[ http://www.littleandmom.com/little&mom/picture/b1243677061.jpg]

ข้อเท็จจริง ข้อที่ 4 เมื่อเติบโตขึ้น แม่ก็ต้องการให้แต่สิ่งดีๆ กับลูกสถานะความเป็นอยู่ของแต่ละครอบครัว บางครอบครัวที่ร่ำรวยลูกๆ ก็อาจจะได้รับแต่สิ่งดีๆ เลิศๆ ครอบครัวใดที่ไม่ค่อยจะมี ลูกๆ ก็ได้รับไม่เต็มที่ แต่สิ่งหนึ่งที่แม่จะคอยให้ลูกเสมอ คือ สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกที่กำลังเจริญเติบโต

ข้อเท็จจริง ข้อที่ 5 – ข้อสุดท้าย คือ แม่ มีแต่ให้ และจะให้กับลูก ต่อไป ไม่ว่าแม่จะมีอายุเท่าไร จะเป็นอย่างไร แม่จะคอยหาแต่สิ่งดีๆ มาให้กับลูก แต่อย่าลืมว่า สิ่งหนึ่งที่ลูกๆ ควรจะให้แม่บ้าง คือ คำว่า “ลูกรักแม่” อยากจะเห็นแม่มีความสุขเมื่อผู้อ่านได้รับทราบข้อเท็จจริงไปบ้างแล้ว ซึ่งอาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เท่าไรนัก เพราะผู้เขียนเองไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นผู้ที่ใช้ความรู้สึกของความเป็นลูกและความรักที่มีต่อแม่ ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจจะให้ท่านผู้อ่านได้อ่านต่อไป และเมื่ออ่านแล้ว ลองพิจารณา ถ้าหากเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการที่ครั้งหนึ่งในชีวิตของเราทุกคนที่เคยเป็นลูกมาแล้วกันแทบทุกคนก็กรุณาบอกต่อเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ จะได้เป็นกุศลร่วมกันอย่างสูง



เรื่องสั้น ผ่านเรื่องจริง ที่ไม่ได้อิงนิยายใด แต่ผ่านการปรุงแต่เปลี่ยนชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องและสถานที่เพื่อความเหมาะสม



“ชื่อเรื่องจะอยู่ตอนท้าย เมื่ออ่านจบแล้วจะได้ทราบว่าชื่อเรื่องว่าอะไร”





เมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว ผู้หญิงคนหนึ่งไม่เคยคิดว่าจะสามารถมีลูกได้ เนื่องจากแต่งงานเมื่ออายุค่อนข้างมาก หญิงคนนั้น มีชื่อว่า “มะลิ” (มะลิ เป็นชื่อของดอกใม้เป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ ก็เนื่องจาก ดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกลและหอมได้นาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับ ความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย) มะลิมีการศึกษาเพียงชั้นประถมชั้นปีที่ 4 มีอาชีพทำทุกอย่าง (ททอ.: ทำทุกอย่าง) ที่จะได้มาซึ่งเงินเพื่อใช้ในครอบครัว โดยอาชีพทำทุกอย่างในปัจจุบันที่เป็นภาษาอังกฤษ อาจจะเรียกว่า Multi Occupations ซึ่งผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ อย่างไร


มะลิ (เป็นชื่อที่ถูกเรียกจากคนทั่วไปขณะที่ยังไม่ได้มีตั้งครรภ์) ในขณะที่ท้องลูกคนแรก มะลิคิดว่าจะต้องทำทุกอย่างเพื่อจะให้ลูกที่ตัวเองคลอดออกมาได้รับแต่สิ่งดีๆ มะลิทำงานทุกอย่างเท่าที่ความสามารถของตัวเองจะมี เช่น ตัดเย็บเสื้อผ้า ขายเสื้อผ้า ขายของทุกอย่างที่ร้านในอำเภอแห่งหนึ่ง เข็ม เชือก แป้ง ถ่านไฟฉาย บุหรี่ เหล้าขาว รองเท้าฟองน้ำ เสื้อผ้านักเรียน ดังนั้น จะเห็นว่ามะลิมีร้านที่มีเกือบทุกอย่าง ซึ่งปัจจุบัน เราอาจจะเรียกร้านดังกล่าว ว่า ร้านสะดวกซื้อ (แต่ในปัจจุบันร้านสะดวกซื้อก็ไม่ได้มีทุกอย่าง จะเน้นสินค้าจำเป็นที่สะดวกต่อผู้ซื้อ) มะลิและสามีทำงานโดยไม่มีวันหยุด ไม่รู้ว่าวันหยุดหมายถึงอะไร วันเสาร์ วันอาทิตย์ เป็นอย่างไร มะลิ ขณะที่ท้องก็ยังคงทำงานทุกอย่างเป็นปกติ แต่อาจจะมีบ้างที่บางครั้งบางตอนต้องการพักผ่อน เพราะยิ่งตอนท้องแก่จะเหนื่อยมากขึ้น ลูกที่อยู่ในท้องก็ต้องการสารอาหารมากขึ้น ต้องการสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตมากขึ้น




เมื่อเวลาผ่านไประยะเวลาประมาณเก้าเดือน มะลิก็คลอดลูกออกมา มะลิดีใจอย่างที่สุด ก็เลยตั้งชื่อลูกคนนี้ ว่า “ต้องการ” โดยในที่สุดมะลิก็กลายเป็น “แม่” และถูกเรียกว่า “แม่มะลิ” แม่มะลิได้เลี้ยงลูก ชื่อว่า “น้องต้องการ” (นตก : น้องต้องการ) ตามสภาพความเป็นอยู่ในการดำรงชีพ การประกอบอาชีพ ตามหน้าที่ตำแหน่งที่เรียกว่า “ททอ.” แม่มะลิมีเวลาให้ลูกตลอดเวลา เพราะแม่มะลิเอาน้องต้องการไปด้วยทุกที่ ทุกสถานที่ไม่ว่าจะขายอะไร สถานที่ไหน เวลาใด แต่สิ่งสำคัญ คือ ช่วงเวลานอนแม่มะลิกับน้องต้องการจะมีเวลาเป็นส่วนตัวเพราะได้นอนอยู่ใกล้กันนอนข้างๆ กัน แม่มะลิดูแลลูกเป็นอย่างดี ลูกต้องการกินอะไร ต้องการอะไรจัดหาให้ตามที่จะจัดหาให้ได้ตามฐานะความเป็นอยู่ ชีวิตของแม่มะลิไม่มีวันหยุด ไม่มีวันเหนื่อยเพราะคอยที่จะเห็นน้องต้องการเติบใหญ่ ต้องการเห็นน้องต้องการได้รับแต่สิ่งดีๆ ได้มีอาชีพการงานที่ดีๆ ไม่ต้องมาเหน็ดเหนื่อยเหมือนกับแม่มะลิ ดังนั้น แม่มะลิได้สอนลูกเสมอว่า จะต้องเรียนสูงๆ สูงๆ ขึ้น เพราะแม่ลำบาก แม่จบแค่ ป. 4 แม่ทำงานไม่มีวันหยุด อยากจะเห็นน้องต้องการทำงานที่สบายๆ มีวันหยุด มีวันพักผ่อน


และแล้ววันเวลาผ่านไปประมาณ 16-17 ปี หลังจากที่แม่มะลิให้กำเนิดน้องต้องการ แม่มะลิเริ่มป่วย สาเหตุอาจจะเกิดจากการทำงานหนักมามาก ทำงานโดยไม่ได้รับการพักผ่อน ทำงานจนไม่ได้มีเวลาไปตรวจสุขภาพ แต่แม่มะลิก็มีจิตใจเข้มแข็งอยากจะเห็นลูกของตัวเองประสบความสำเร็จ แม่มะลิใช้เงินที่ตัวเองหามาได้สะสมมาได้ทั้งชีวิตรักษาตนเองให้ได้นานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถึงแม้ว่าจะมีเงินสักเพียงใดชีวิตของแม่มะลิก็ไม่สามารถที่จะยืดได้ เวลาของแม่มะลิได้ถูกกำหนดไว้แล้ว แต่ความสำเร็จของลูกยังไม่ได้เห็นเลย ดังนั้น แม่มะลิก็เพียงแต่ได้บอกทุกคนว่า ปริญญาของลูกเป็นสิ่งที่แม่อยากจะเห็น ถึงแม้ว่าแม่มะลิจะไม่สามารถได้เห็นความสำเร็จของลูก แต่แม่มะลิก็ได้ใช้ความรู้สึกผ่านลูกและได้รับจากลูก โดยได้บอกและถามลูกว่า “ความสำเร็จไม่ได้มาโดยง่าย ความตั้งใจสามารถทำได้ง่าย ถ้าลูกจะทำและตั้งใจเพื่อแม่จะได้หรือไม่” แม่ขอเพียงแต่ให้ลูกได้รับปากกับแม่ก็พอ แล้วในที่สุดแม่มะลิก็จากไปด้วยความสงบและมีความสุข ที่ได้ฟังคำสัญญาจากลูกว่า “ลูกจะตั้งใจเพื่อแม่”




ดังนั้น ความรักของแม่ที่มีกับลูก เป็นมาตั้งแต่วินาที่แรกที่ได้รู้ว่าตั้งครรภ์ และความรักของแม่นั้นก็ยิ่งนับทวีมากยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้นๆ จนถึงวันสุดท้ายที่แม่ไม่ได้อยู่ในโลกนี้ ความรักก็ยังคงอยู่ตลอดไป นานเท่านาน



ชื่อเรื่อง “ความรักของแม่มะลิที่มีต่อน้องต้องการ”




ผู้เขียน น้องต้องการ
เติบโต เป็น นายต้องการ

ชีวิตบางช่วงบางตอน
ของ อจต. ลูกของ แม่มะลิ ศรีวิรัตน์

วันแม่ : ต้องคิดถึงแม่
=============
อันวันแม่ แท้จริง ยิ่งรักแม่
รักมั่นแท้ แน่นอน ก่อนมานาน
แม่ยิ่งใหญ่ ในใจ มาช้านาน
ใจประสาน สานรัก สลักจิต

ลูกรักแม่ มิแปร เปลี่ยนเป็นอื่น
ทุกวันคืน ชื่นรัก ประจักษ์จิต
มาวันนี้ มีรัก อยากใกล้ชิด
ขอน้อมจิต คิดดี ศรีแม่เอย
===0===

ลูกเคยผิด คิดผิด จิตไม่ดี
แม่คนดี ตีสอน ตอนยังเด็ก
แม่สอนสั่ง ดั่งใจ ไม่เคยเข็ด 
แม่ใจเพชร เด็ดดัง ภูผาหิน

ลูกกราบลง ตรงหน้า หาคุณแม่
สุดแน่แท้ แน่ใจ ไม่สูญสิ้น
พระคุณนี้ ดีแท้ แม่ได้ยิน
ชั่วฟ้าดิน มิสิ้น พระคุณเอย
===0===

ลูกขอโทษ หากโกรธ โทษคุณแม่
ลูกนี้แย่ แท้จริง ยิ่งหม่นหมอง
ลูกทำผิด จิตช้ำ น้ำตานอง 
ลูกไตร่ตรอง ลองดู รู้คุณแม่

ลูกรู้ผิด คิดใหม่ ในพระคุณ
ลูกอบอุ่น บุญพา หาคุณแม่
ลูกขอกราบ บาทองค์ ลงเท้าแม่
ลูกรักแม่ แท้จริง รักแม่เอย
===0===

พระคุณแม่ แท้จริง ยิ่งใหญ่นัก
เป็นประจักษ์ รักแม่ แน่นอนยิ่ง
แม่ยิ่งใหญ่ ในรัก ลูกแท้จริง
เป็นทุกสิ่ง มิ่งขวัญ อันสูงส่ง

พระคุณล้ำ นำค่า หาใดเหมือน
มิแชเชือน เตือนใจ ให้ดำรง
พระคุณแม่ แผ่เผื่อ ตามประสงค์
รักมั่นคง ซื่อตรง รักแม่เอย
===0===
นายต้องการ



วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

การจัดการเรียนการสอน และการปฏิบัติงาน (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร)

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งใหม่ในจังหวัดมุกดาหารที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น การวางแผนด้านต่างๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีตัวแบบ หรือ ต้นแบบ ยกตัวอย่างเช่น อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราช ที่จะก่อสร้าง ณ บริเวณภูผาเจี้ย นั้นจะใช้ต้นแบบจากลูกปีกไม้ของต้นยาง (ต้นยาง ซึ่งทุกท่านคงทราบดีว่า เป็น ราชาแห่งป่า) ซึ่งรายละเอียดจะได้นำเรียนในโอกาสต่อไป แต่สำหรับวันนี้ ผู้เขียนจะได้ขออนุญาตเสนอความคิดตัวแบบเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน การปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร และจะค่อยๆ นำทุกท่านไปสู่เป็นขั้นเป็นตอน ดังนี้
จังหวัดมุกดาหารเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นเมืองเก่าแก่มีประวัติความเป็นมาค่อนข้างยาวนานเช่นกัน ซึ่งผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ เพียงแต่ว่าจะนำคำว่า “มุก” ที่เป็นคำขึ้นต้นของจังหวัดมุกดาหารมาเป็นส่วนนำ สำหรับมุกนั้น หลายๆ ท่านทราบนะครับว่า มุก (Pearl) เป็นอัญมณีที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต (Organic gemstone) ไข่มุกแต่ละเม็ดจะเกิดจากการที่มีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในหอยทั้งฝาเดียวและสองฝา ซึ่งพบได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม เพื่อลดการระคายเคืองจากสิ่งแปลกปลอมนี้ หอยจะปล่อยสารที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) ออกมาเคลือบสิ่งแปลกปลอมนั้นเป็นชั้นๆ จนกระทั่งได้เป็นไข่มุกที่แวววาว ส่วนจะมีลักษณะรูปร่างอย่างไรนั้น ขึ้นกับสิ่งแปลกปลอมที่หลุดเข้าไป ตามธรรมชาติแล้วมักมีลักษณะไม่กลม
โดยปกติแล้ว ไข่มุกจะมีสีขาวเหลือบสีรุ้งเล็กน้อยจนถึงขาวนวล แต่ก็มีสีอื่นๆ อีกอย่างเช่น สีชมพู สีเงิน สีครีม สีเหลือง สีทอง สีเทา สีน้ำตาล และสีดำ โดยสีต่างๆ ของไข่มุกนั้นก็เกิดขึ้นอยู่กับชนิดของหอยมุก และสภาวะแวดล้อมในบริเวณที่หอยมุกอยู่อาศัย ความหมายของมุกสีต่างๆ สีเหลือง หมายถึง ความมั่งคั่ง สีน้ำตาล หมายถึง สติปัญญา สีขาว หมายถึง อิสระ เสรีภาพ และสีเขียว หมายถึง ความสุข (อ้างอิง http://nonny264.multiply.com/journal/item/70/70)
ส่วนตำนานของ “มุก” นั้น เริ่มนับตั้งแต่โบราณมามุกก็ยังได้ชื่อว่าเป็นอัญมณีที่มีผู้ชื่นชอบเป็นอย่างมาก และเป็นเครื่องประดับแห่งชนชั้นสูง เห็นได้จากบทกวีของโฮเมอร์ กวีเอกของกรีกโบราณ (1,200-850 ปี ก่อนคริสตศักราช) ได้บรรยายเรื่องของไข่มุกไว้ว่า เทพธิดายูโนมีเครื่องประดับเป็นต่างหูไข่มุก จึงนับได้ว่าไข่มุกเป็นเครื่องประดับ เป็นอัญมณีที่เก่าแก่และสตรีชาวโรมันต่างก็ชื่นชอบต่างหูมุก ไพลนี นักเขียนขาวโรมันก็ยังได้บรรยายไว้ พระนางคลีโอพัตราได้ละลายไข่มุกล้ำค่าราคาสูงลิบลงในเหล้าองุ่นแล้วดื่ม เพื่อแสดงถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อมาร์ก แอนโทนี นอกจากนี้พระนางยังทรงต่างหูไข่มุกอยู่เสมอ หรือแม้แต่สตรีผู้ยิ่งใหญ่ของโลกดังเช่น พระนางซูสีไทเฮานั้นก็มีหลักฐานบันทึกมากมายว่าทรงโปรดเครื่องประดับไข่มุกเป็นอย่างยิ่ง แต่ในการใช้เครื่องประดับมุกในประเทศไทยนั้น แท้จริงน่าจะเริ่มต้นเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามแบบอย่างเจ้านายสตรีที่นิยมเสื้อผ้าตามแบบฝรั่ง จึงนำเอาไข่มุกมาประยุกต์ให้เข้ากับเสื้อผ้า ไข่มุกจำนวนมากจึงได้เข้ามามีบทบาทเป็นเครื่องประดับยอดนิยม อันเป็นแฟชั่นในยุคนั้นได้อย่างเหมาะเจาะ ไม่ว่าจะเป็นสร้อยไข่มุกยาว ต่างหูไข่มุก แหวนไข่มุก นอกจากนั้น ผู้อ่านสามารถทราบรายละเอียดของไข่มุกได้ที่
www.tint.or.th/nkc/nkc51/nkc5103/nkc5103s.html
จากข้อมูลข้างต้น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร จึงใคร่ขอเสนอ ตัวแบบเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน การปฏิบัติงาน คือ
ตัวแบบมุก หรือ MUK model
คือ ตัวแบบที่ใช้การในจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา และใช้ในการปฏิบัติงานของบุคลากร วิทยาเขตมุกดาหาร ซึ่งหมายถึง ตัวแบบที่ ทรงคุณค่า บริสุทธิ์ และแข็งแกร่ง ดั่งไข่มุก

โดย MUK model จะมี 2 แบบ คือ (1) สำหรับนักศึกษา และ (2) สำหรับบุคลากร ที่เป็นเจ้าหน้าที่ และอาจารย์
(1) MUK Model for Students มุกโมเดล สำหรับนักศึกษา
M = Multi-Skilling การมีทักษะทำงานได้หลากหลาย ที่เกิดจากการเรียนรู้
U = Utility สิ่งที่เป็นประโยชน์
K = Knowledge ความรู้ความเข้าใจ
เป็นตัวแบบ ที่เน้นการเรียนรู้ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อให้มีทักษะสามารถทำงานได้หลากหลาย


(2) MUK Model for staffs มุกโมเดล สำหรับบุคลากรที่เป็นเจ้าหน้าที่ และอาจารย์
M = Management ความสามารถในการจัดการ
U = Unity ความเป็นเอกภาพ รักสามัคคี
K = Keenness ความหลักแหลม ความกระตือรือร้น
เป็นตัวแบบ ที่เน้นการทำงานที่กระตือรือร้น การทำงานที่ใช้ความสามารถในการจัดการ (ทั้งการเรียนการสอนการปฏิบัติงาน การวิจัย การบริการวิชาการ การทำนุวัฒนธรรม) และ การทำงานที่เกิดความเป็นเอกภาพเดียวกันและรักความสามัคคีในองค์กร

การใช้ MUK model ให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เครื่องมือในการดำเนินงาน อย่างน้อย 2 ประการ ดังนี้
1. ภาษา (ภาษาไทย ภาษอังกฤษ และภาษาเพื่อนบ้าน) เพื่อการสื่อสาร
2. เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการสื่อสาร และการจัดการ โดยใช้ระบบ Socail Network (Blogger, Twitter, webs, etc.)


การเป็นผู้ประกอบการ หรือ ผู้ทำมาหากิน อันไหนจะดีกว่ากัน

การเป็นผู้ประกอบการ หรือ ผู้ทำมาหากิน อันไหนจะดีกว่ากัน

การเป็นผู้ประกอบการ หรือ ภาษาอังกฤษที่นิยมกล่าวถึงกัน คือ Entrepreneurship ในโลกปัจจุบันนั้น จะต้องรู้ จะต้องเรียนรู้หลายๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านกลยุทธ์ ทั้ง Red Ocean, Blue Ocean, White Ocean จำเป็นจะต้องทราบการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง หรือนักวิเคราะห์นักวางแผนเรียกว่า Swot Analysis ซึ่งจะนำมาซึ่งการได้ วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัด (Key Performance Index :KPI) นอกจากนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้ ต้องศึกษาเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย เช่น นโยบายของรัฐบาล ความต้องการของผู้บริโภค ระบบ CRM CSR การบริหารความเสี่ยง(Risk Management) การบริหารจัดการความรู้ (Knowledge Management) การใช้ Social Network (Blog, Twitter, Hi5, ect,..) ให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การตลาด การหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย Target Group และสิ่งที่สำคัญเช่นกันคือ จะต้องรู้เรื่องการจัดทำแผนธุรกิจ (Business Plan) การประมาณการรายรับ การประมาณการรายจ่าย เพื่อดูว่าผลประกอบการจะเป็นอย่างไรในอนาคต ซึ่งการจัดทำแผนธุรกิจจะสามารถทำให้ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต นอกจากนั้น เรื่องของเงินทุนในการเป็นผู้ประกอบการก็สำคัญเช่นกัน ถ้าหากเป็นคนรวยมีเงินมีทองอยู่แล้วก็ค่อนข้างจะสบายไม่เดือนร้อนในการจัดหาแหล่งทุน แต่อย่างไรก็ตาม บางครั้งคนเราจำเป็นจะต้องมีเงินทุนสนับสนุนในการดำเนินการทางธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือสถาบันด้านเงินกู้พร้อมที่จะให้ผู้ประกอบการได้เป็นช่องทางทางเลือกในการที่ได้รับเงินลงทุน แต่ธนาคารหรือสถาบันก็จะต้องมองหรือวิเคราะห์เช่นกันว่าธุรกิจหรือสิ่งที่ผู้ประกอบการคิดจะทำนั้น มีโอกาสเป็นไปได้ มีโอกาสในการเจริญเติบโต หรือ ง่ายๆ คือ มีโอกาสที่จะดำเนินการแล้วมีผลกำไรเกิดขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดในการเป็นผู้ประกอบการที่ดีนั้นควรจะน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งในประเทศไทยของเรามีหลายๆ คน หลายๆ ผู้ประกอบการได้น้อมนำหลักปรัชญาดังกล่าวไปใช้จริง เช่น
นายมนูญ เทศนำ อายุ 43 ปี บ้านเลขที่ 13/2 หมู่ที่ 1 ต.แม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ การศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) สาขาธุรกิจการเกษตร คู่สมรส นางพูลสุข เทศนำ สมาชิกในครัวเรือน 5 คน พ่อ 1 คน แม่ 1 คน ลูกชาย 2 คน ลูกสาว 1 คนมีพื้นที่เป็นของตนเอง จำนวน 8 ไร่ การใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่สระน้ำ 0.5 ไร่, พื้นที่ปลูกข้าว 2.0 ไร่, พื้นที่ปลูกไม้ผล 4.0 ไร่, ที่อยู่อาศัยโรงเรือน 1.5 ไร่ การจัดการ น้ำ มีน้ำเติมจากแหล่งอื่น (อ่างเก็บน้ำที่ 7 ศูนย์ฯ ห้วยฮ่องไคร้) ดิน รู้จักการทำปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสดปรับปรุงบำรุงดิน และปุ๋ยชีวภาพ พืช ปลูกข้าว ลำไย มะม่วง กระท้อน ส้มโอ พืชผัก และเพาะเห็ด สัตว์ หมูป่า การลงทุน ร่วมสมทบการขุดสระน้ำ เพาะเห็ด ส่วนพันธุ์พืช ปลา กบ รัฐสนับ สนุนเข้าร่วมโครงการ ปี พ.ศ. 2543 ปัจจุบันดำเนินการต่อเนื่องระยะเวลาร่วมโครงการ 8 ปี สถานะหลังเข้าร่วมโครงการประกอบอาชีพหลักเกษตรกรรม รายได้เฉลี่ย/ครัวเรือน 176,000.- บาท/ปี แบ่งเป็นรายได้จากภาคการเกษตร จำนวน 99,600.- บาท/ปี (ข้าว ไม้ผล พืชผัก หมูป่า กบ ปลา ) รายได้จากภาคอื่นๆ 76,400.- บาท/ปี
(อ้างอิง www.sedb.org/show_Selectdata.php?start=0&style=1&detail=15)

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


คำถามก็คือว่า ผู้ประกอบการจะทำอย่างไรหรือจะเลือกอะไรที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในการเป็นผู้ประกอบการที่ดีตามที่มุ่งหวังไว้ ถ้าเป็นไปได้ ผู้ประกอบการอาจจะลองนำคำสำคัญต่อไปนี้ Red Ocean, Blue Ocean, White Ocean, Swot Analysis, วิสัยทัศน์, กลยุทธ์, ยุทธศาสตร์, KPI, นโยบายของรัฐบาล, ความต้องการของผู้บริโภค, CRM, CSR, Risk Management, Knowledge Management, Social Network, การโฆษณาประชาสัมพันธ์, การตลาด, Target Group, Business Plan, การประมาณการรายรับ, การประมาณการรายจ่าย และ Sufficiency Economy มาเขียนเป็นแผนที่ความคิด (Mind map)

ตัวอย่างการเขียนแผนที่ความคิดเกี่ยวกับกฎหมาย
(อ้างอิง www.igetweb.com/www/legendlaw/index.php?mo=10&art=118066)

สรุปสุดท้ายถึงแม้ว่าผู้เขียนจะไม่มีประสบการณ์ตรงในการเป็นผู้ประกอบการ แต่จากการที่ได้มีประสบการณ์ในการทำงานและปฏิบัติหน้าที่ด้านต่างๆ มีความคิดว่า การจะเป็นผู้ประกอบการที่ดี นั้น ควรคำนึงถึงข้อความต่อไปนี้ คิดแล้วทำ ทำแล้วคิด คิดเพื่อไปปรับปรุง มุ่งทำให้ดีขึ้น แล้วก็คิดทำต่อไป

ตัวอย่าง ผู้ทำมาหากิน บ้านบัววัด ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี (ที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้ภาษาอังกฤษไม่ต้องรู้คำสำคัญข้างต้น ไม่จำเป็นต้องรู้แผนที่ความคิด แต่เขาก็เป็นผู้ประกอบการ ผู้ทำมาหากินได้เป็นอย่างดี)
สามีและภรรยาคู่หนึ่งในหมู่บ้านที่ใกล้กับโรงเรียนบ้านบัววัด ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี อาชีพสามี คือ รับจ้างรับรถรับส่งนักเรียนไปเรียนหนังสือที่ตัวอำเภอ ส่วนภรรยาก็รับซักรีดเสื้อผ้าและช่วยเหลือสามีในการดูแลเด็กนักเรียน โดยในช่วงเวลาเช้าของทุกวันที่เป็นวันราชการ ทั้งสองจะตื่นแต่เช้าสามีก็ออกไปหาของกิน (หาปลา ตามสภาพ บ้านเราเรียกว่า หาของกิน) ภรรยาก็ซักรีดเสื้อผ้า แต่ทุกวันดังกล่าวเขาทั้งสองจะต้องมีความรับผิดชอบสูงสุดในการดูแลสิ่งที่มีค่าที่สุดของคนอื่นๆ นั่นคือ เด็กๆ ที่จะต้องนั่งรถยนต์ (รถปิกอัพ มีที่นั่งที่ปรับให้สามารถรองรับเด็กๆ นักเรียนได้นั่งมากที่สุดและปลอดภัยที่สุด) สามีจะเป็นคนขับ ภรรยาเป็นคนดูแลด้านหลัง เห็นหรือเปล่าครับท่านว่า ทั้งคู่นั้น เป็นอาชีพที่จะต้องมีความรับผิดชอบสูงสุด แต่ค่าตอบแทนไม่แน่ใจว่าได้รับสูงสุดหรือไม่ แต่เราเชื่อว่าทั้งสองมีความสุขในการทำงานทุกวัน เพราะสังเกตว่า ทั้งคู่มีรอยยิ้มในทุกเช้า ตอนเย็นก็มีรอยยิ้ม ทั้งคู่ได้รับใช้สังคม รับใช้ความเจริญก้าวหน้าของเยาวชนในวันหน้า เพราะเด็กๆ ที่นั่งรถไปกับพวกเขาได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น มีพื้นฐานที่ดีขึ้น มีโอกาสทางการศึกษา มีโอกาสได้เป็นผู้ใหญ่ที่มีอนาคตจากการได้รับการศึกษาในอำเภอ อย่างไรก็ดี จากสภาพดังกล่าวจะเห็นว่าสังคมไทยในหลายๆ พื้นที่ จะต้องมีการนำนักเรียนเด็กเล็กๆ เข้าไปเรียนในเขตพื้นที่ของอำเภอและจังหวัด ซึ่งการเดินทางในแต่ละครั้งนั้นมีความเสี่ยงเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุทางถนน หรือ อื่นๆ เขาทั้งคู่เป็นผู้ทำมาหากินโดยใช้เวลาทุกนาที ทุกชั่วโมงให้มีค่าสูงสุดและที่สำคัญสามีภรรยาจะต้องแบกรับอนาคตของชาติ ถึงแม้ว่าจะเป็นจำนวนเด็กนักเรียนเพียงน้อยนิดเท่านั้น ทั้งสองเป็นผู้ทำมาหากินที่สุจริต มีความรับผิดชอบ ใช้เวลาที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและที่สำคัญ คือ มีจิตใจงดงามดูแลเด็กทุกๆ คนเหมือนกับลูกของตนเอง
จะพบว่าในแต่ละวันพวกเขาไม่ว่าจะเป็นสามีภรรยาคู่นี้ และเด็กนักเรียนเล็กๆ ต่างก็มีความเสี่ยงแทบทั้งสิ้น แล้วเราในฐานะประชาชนคนหนึ่งในสังคมไทยเราจะทำอย่างไร ให้ดีขึ้น คำถามที่เกิดขึ้นนั้นมีมากมาย เช่น ความเสี่ยงของสามีภรรยาคู่นี้คืออะไร ความเสี่ยงของเด็กๆ คืออะไร ความเสี่ยงของสังคมคืออะไร ความเสี่ยงของประเทศชาติคืออะไร อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความเสี่ยงทุกๆ ด้าน ย่อมต้องมีสิ่งที่สมควรจะต้องได้รับ แต่ก็มีคำถามกลับว่า สิ่งที่ได้รับคุ้มค่าหรือไม่
ดังนั้น จะเห็นว่าในปัจจุบันสังคมไทยของเราควรจะต้องมองความคุ้มค่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเราทุกคนน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำงาน การปฏิบัติงาน การทำหน้าที่ในด้านต่างๆ ก็อาจจะสามารถลดความเสี่ยง ด้วยเหตุดังกล่าว การเป็น “ผู้ทำมาหากิน” ถ้าทำแล้วมีพออยู่พอกิน มีความสุขทั้งกายและใจตามความพอเพียงของตัวเองที่ตั้งไว้ คิดว่า การเป็นผู้ทำมาหากิน จะเป็นคนที่ทำให้ครอบครัวมีความสุข สังคมมีความสุข เมื่อสังคมมีความสุข ประเทศชาติก็มีความสุข ทุกคนก็มีความสุข ในหลวงพ่อหลวงที่รักยิ่งของชาวไทยทุกคนพระองค์ท่านก็มีความสุข

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2552

คนเกินร้อย หัวใจก็เกินร้อย (เรื่องสั้น เรื่องจริง)

วันนี้ เวลา ตี 4.30 ของวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009 ซึ่งเป็นวันดีที่ทุกอย่างเป็นมงคล จะต้องรีบกลับอุบลราชธานี ดังนั้น หลังจากจ่ายค่าพี่พักเรียบร้อยแล้ว ก็ขึ้นรถแท็กซี่ที่โรงแรมเอเชีย ได้รถหมายเลขทะเบียน ทลT 4167 คนขับเขาบอกให้ระมัดระวังเรื่องคอมพิวเตอร์ Notebook เวลาลงจากแท็กซื่อาจจะลืม เขาก็บอกว่าครั้งต่อไปควรจะใช้กระเป๋าขนาดเล็กๆ แล้วสะพายเอาเพื่อจะได้ไม่ลืม ถ้าลืมแล้วบางครั้งแท็กซี่ก็ไม่ทราบมีผู้โดยสารขึ้นมานั่งต่ออาจจะหยิบเอาไปต่อก็ได้ จะมาโทษแท็กซี่ก็ไม่ได้ เราก็รู้สึกว่า คนขับคนนี้เป็นคนดี เราก็เลยคุยกับเขาเรื่อง "ความเป็นอยู่การประกอบอาชีพในปัจจุบัน" "รายได้จากการขับรถเพียงพอหรือไม่"

เขาก็เล่าให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี เพราะผู้โดยสารต่างประเทศน้อยลง ซึ่งโดยปกติเขาจะประจำที่โรงแรมเอเชีย แต่ก่อนก็ได้เหมาไปต่างจังหวัดพัทยา ตลาดน้ำ หรือที่อื่นๆ บ้าง ซึ่งการไปแบบนั้นสบายเนื่องจากไม่ต้องมาทุกข์ร้อนทุกข์ใจว่าวันนี้จะได้ผู้โดยสารหรือไม่ เหมาไปกลับ หรือเหมาไปอย่างเดียวก็เพียงพอสำหรับค่าเช่ารถและค่าใช้จ่ายประจำวัน แต่ปัจจุบันสภาวะเปลี่ยนไป และในปัจจุบันคนขับแท็กซี่ก็ยังเล่าให้ฟังต่อว่าได้กู้เงินโครงการเงินกู้ (กองทุนหมู่บ้าน สมัยนายกทักษิณ) เขาบอกก็ดีเพราะกู้มา 15000 บาท เพื่อลงทุนกับภรรยา และก็ใช้ดอกเบี้ย และเขาก็ให้ข้อมูลต่อไปว่า โครงการนี้ดี คือ เงินไม่หายไปไหน หมู่บ้านก็ได้ดอกเบี้ย เงินต้นยังคงอยู่ เขาก็บอกว่าสมัยนี้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไปมาก สภาพแวดล้อมไม่ดี การขายยาบ้า ยาเสพติดมากขึ้น ตัวเขาเองสมัยแต่ก่อนก็ติดเหล้าเหมือนกันเขาเล่าให่้ฟังว่า หนีออกจากบ้านตั้งแต่ ป.2 มาทำงานที่กรุงเทพฯ รับจ้างล้างรถแท็กซี่ ได้วันละไม่กี่บาท สมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เก็บออมสินส่งให้ทางบ้านได้เดือนละหลายร้อยบาท หลังจากนั้นโตขึ้นมา ก็ทำงานรับจ้างที่โรงพิมพ์ จนได้ภรรยา อายุเขาตอนนั้นประมาณ 17 ปี ในที่สุดก็ขอให้แม่ที่อยู่ต่างจังหวัดช่วยขายทองให้เพื่อมาค้ำประกันในการขับแท็กซี่ แต่ก็โชคร้ายเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำ เงินก็หาย แต่โชคดีคนไม่เป็นไร เขาก็ต้องสู้ต่อไป ต่อมาเขาขอให้ย่าทวดขายควายให้เพื่อมาค้ำขับรถตุ๊กๆ อีกครั้ง และขับรถแท็กซี่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ชีวิตตอนนี้ แต่ละวันก็วิ่งตั้งแต่บ่ายถึงเย็นก็ได้เงินพอสมควร วิ่งช่วงกลางคืนก็ได้เงินพอสมควร แต่ เขาก็ใช้ชีวิตไม่คุ้มค่า เพราะเคยติดเหล้า เงินหามาได้ก็กินเหล้า ขับรถได้เงินก็กินเหล้า เป็นอยู่นานหลายปี จนในทีสุดคิดได้เพราะภรรยายื่่นคำขาดให้ และเขาก็ผ่านจุดนั้นมาได้ วิธีการของเขา คือ เวลาช่วงบ่ายจะกระวนกระวายอยากกินเหล้ารู้สึกไม่สดชื่น เขาก็ใช้วิธีกินข้าวแทนให้อิ่มๆ หลังจากนั้น เพื่อนๆ ชวนกินเหล้าร่างกายก็สามารถปรับได้ว่าไม่อยากจะกิน และใจเขาก็รู้สึกว่าไม่อยากจะกินเหล้าแล้ว หมดเพราะมันมามากพอแล้ว สุดท้ายเขาเลิกได้ ชีวิตดีขึ้นมา ภรรยาอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้ามีความสุข ลูกๆ มีความสุข ปัจจุบันลูกคนโต อายุ 18 ปี (จบเพียง ม. 3) ทำงานที่หาดใหญ่ส่งเงินให้น้องๆ ได้เรียนหนังสือ เป็นตัวอย่างที่ดีมากเลย มีน้องอีก 2 คน พ่อเลิกเหล้า ขับแท็กซี่ ชีวิตมีความสุข เพราะเลิกเหล้าได้ ตัดใจได้ แต่สิ่งอื่นใดที่เขาได้บอกไว้ว่า ชีวิตคนเราจะต้องไม่ลืมพระคุณของพ่อแม่ เขาเก็บเงินสร้างบ้านให้พ่อแม่ให้ตัวเองไว้ที่ต่างจังหวัดได้เรียบร้อย อย่างที่หวังตั้งใจไว้ มีความสุขกันทุกคน ถึงแม้่ว่าจะเป็นบ้านที่ไม่ใหญ่โตแต่ก็ตามฐานะสภาพของตัวเขาเอง แต่เขาภูมิใจที่เขาทำได้ ทุกครั้งที่เขารู้สึกท้อแท้ เขาจะดูที่เขาที่ฐานะไม่ดีเท่ากับคนที่ด้อยโอกาสกว่าเขา คนด้อยโอกาสเขายังต่อสู้ได้ เขายังหากินได้ เขายังมีครอบครัวที่มีความสุขได้ เขาต้องสู้ และเขาบอกตัวเองเสมอว่า ถึงแม้จะจบเพียง ป.2 แต่หัวใจสู้เต็มร้อย ขณะที่เขาเล่านั้น เขาก็เอามือมาเช็คที่หน้าและดวงตาของเขา ซึ่งทำให้เราที่นั่งฟังอยู่หน้าหลังรู้สึกถึงความในใจ ความภูมิใจ ความมีความสุขของเขา และก็รู้สึกกับเขาว่า เขาคนนี้เป็นคนสู้ชีวิตตัวจริง เป็นตัวอย่างหนึ่ง ของคนอีสานบ้านเรา

ที่นั่งฟังเขามานั้นจากโรงแรมเอเชียมาที่สนามบินสุวรรณภูมิใช้เวลาประมาณ 30 นาที แต่รู้สึกว่าเราได้เรียนรู้อะไรมากมายจากเขาคนนั้น เขาได้ให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์อย่างมากของลูกผู้ชายที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา แล้วมาใช้ชีวิตในกรุง ที่ไม่รู้จะไปรอดหรือไม่ แต่เขาก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างสร้างและผ่านมาด้วยจิตใจที่ต้องสู้และเข็มแข็ง เราขอสดุดีให้เขาคนนั้น คนขับรถ ทลT 4167 ก่อนจะลงจากรถ ถามเขาว่าเป็นคนที่ไหน เขาบอกว่า เป็นคนร้อยเอ็ด ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า นี้่แหละ ตัวจริงเสียงจริงของคนเกินร้อย คนเมืองร้อยเอ็ด เพราะ เราก็คนเมืองเกินร้อยเหมือนกัน

มนูญ ศรีวิรัตน์
บันทึกเรืองราวเรื่องสั้น วันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009 เพื่อถ่่ายทอดให้คนอื่นๆ ได้รับฟัง ได้อ่าน ต่อไป ขอบคุณมากสำหรับวันที่ดีๆ วันนี้

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ทำไมจะต้องจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาที่จังหวัดมุกดาหาร

สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๐ รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และ วัฒนธรรม (๓) “พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม...” จะเห็นว่าตามรัฐธรรมดังกล่าวรัฐจะต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกระดับทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่จังหวัดมุกดาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องมาจากการเปิดใช้โดยสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๒ (จังหวัดมุกดาหาร –แขวงสะหวันนะเขต) ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงในทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านและพื้นที่ชายแดน เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข ๙ ของ สปป. ลาว แขวงสะหวันนะเขต ไปเชื่อมต่อกับเวียดนามตอนกลางที่มีหัวเมืองสำคัญของเวียดนาม คือ เมืองกวางตรี เมืองเว้ (เมืองเก่า) และเมืองดานัง อีกทั้ง จังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดที่ยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับการรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารและพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนั้น รัฐบาลได้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา “ส่งเสริมความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยพัฒนาในภูมิภาค” ดังนั้น จังหวัดมุกดาหารน่าจะสามารถเป็นเมืองการศึกษาเพื่อที่จะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในภูมิภาคได้ เพราะจังหวัดมุกดาหารสามารถเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม จีน โดยผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๒
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีอายุเกือบประมาณ ๒๐ ปี และมีวิสัยทัศน์ “เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ ที่เน้นนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบัณฑิตและประชาชนบนฐานภูมิปัญญาของอีสานใต้และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” โดยวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้กำหนดให้มีการพัฒนาคุณภาพของบัณฑิตและประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนั้นมีพื้นที่ของจังหวัดมุกดาหารรวมอยู่ด้วย เพื่อทำให้วิสัยทัศน์บรรลุเป้าหมายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจึงได้มีการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร โดยได้ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ มีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้
วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร โดยเริ่มแรกเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และวันเสาร์ที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครั้งที่ ๓/๒๕๔๘ ได้รับทราบและเห็นชอบให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร มีการดำเนินงานในรูปแบบของ “ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี” โดยใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และต่อมาวันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ จังหวัดมุกดาหารได้ให้ความอนุเคราะห์สถานที่โดยมอบอาคารหลังเก่าของโรงเรียนมุกดาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีดำเนินการปรับปรุงสำหรับการขยายการเรียนการสอนในหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องสาขาการบัญชี และเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๑/๒๕๕๐ ได้อนุมัติเงินสำรองมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อใช้ปรับปรุงอาคารหลังเก่าโรงเรียนมุกดาลัย จังหวัดมุกดาหาร พร้อมทั้งได้เปิดรับอาจารย์และเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดมุกดาหาร จำนวน ๔ อัตราและได้แต่งตั้ง ดร.กุลภา โภคสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี เพื่อทำหน้าที่บริหารงานและประสานงานการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนภายในจังหวัดมุกดาหาร พร้อมทั้งได้เปิดศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ (โดยมีท่านนายกสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อุปนายกสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประธานหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร ตัวแทนจากหน่วยงานจังหวัดมุกดาหาร และคณบดีคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมในพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและมีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีกับโรงเรียนมุกดาลัย) ต่อมาเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ครั้งที่ ๓/๒๕๕๑ มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร และได้ขอความเห็นชอบในการใช้
พื้นที่ป่าไม้บริเวณภูผาเจี้ย ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร จำนวนพื้นที่ป่าไม้เนื้อที่ประมาณ ๑,๑๓๔ ไร่ เพื่อจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร
หลังจากนั้นเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประชุมร่วมกับ ตัวแทนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ศ.พิเศษ ดร.จอมจิน จันทรสกุล นายกสภามหาวิทยาลัย) และ ตัวแทนจังหวัดมุกดาหาร (ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร) เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร เพื่อจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร และเมื่อวันอังคารที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาและคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา พร้อมด้วยรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและสารสนเทศ (ผศ.ดร.มนูญ ศรีวิรัตน์) รักษาการผู้อำนวยการกองแผนงาน (นายธีระศักดิ์ เชียงแสน) และหัวหน้าศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ดร.กุลภา โภคสวัสดิ์) เดินทางตรวจพื้นที่ป่าไม้บริเวณภูผาเจี้ย ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เพื่อจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร ซึ่งต่อมาเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความเห็นชอบการใช้พื้นที่ป่าไม้ ณ บริเวณภูผาเจี้ย ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร เพื่อจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหาร และเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้อนุมัติข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการบริหารวิทยาเขตมุกดาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
จะเห็นว่าการดำเนินการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบัน นั้น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ดำเนินการด้วยความตั้งใจจริงและเป็นขั้นตอนเพื่อให้จังหวัดมุกดาหารมีสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีที่สามารถทำให้ลูกหลานชาวจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดใกล้เคียงได้มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้นพร้อมทั้งเป็นโอกาสอันดีที่จังหวัดมุกดาหารจะมีทรัพยากรบุคคลที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีโดยรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและสารสนเทศ (ผศ.ดร.มนูญ ศรีวิรัตน์) และรองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร (ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ )ได้ถวายรายงานแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร พร้อมทั้งถวายรายงานการก่อสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ และมีแผนดำเนินการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๓ ต่อไป นอกจากนั้น เมื่อวันพุธที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เรียนเชิญผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ดูงานการจัดการเรียนการสอน ณ วิทยาเขตมุกดาหาร พร้อมทั้งเยี่ยมชมพื้นที่ภูผาเจี้ย ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับจะก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา โดยอาคารดังกล่าวมีเอกลักษณ์บางส่วน ประกอบด้วย เช่น พื้นที่ส่วนกลางขนาด ๑๒๐ x ๑๒๐ เมตร เป็นจำนวน ๙ ไร่ ซึ่งหมายถึง รัชกาลที่ ๙ พื้นที่อาคาร๗ ช่วงอาคาร ซึ่งหมายถึง ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ พื้นที่ตรงกลางอาคารมีพระฉายาลักษณ์ขนาด ๗ x ๑๒ เมตร เท่ากับ ๘๔ ตารางเมตร และพื้นที่ด้านหน้าวิทยาเขตมีพระพุทธรูป ที่ชื่อ “พระพุทธปทุมมุกดานพรัตน์” ที่มีความหมายว่า พระพุทธรูปที่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ปทุม) และชาวมุกดาหาร (มุกดา) ร่วมกันถวายแด่รัชกาลที่ ๙ (นพรัตน์) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาวิทยาเขตมุกดาหารให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพและพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยในอนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ปัจจัยหลายๆ ประการ เช่น พื้นที่กายภาพที่เหมาะสม การให้ความร่วมมือของประชาชนชาวจังหวัดมุกดาหาร การสนับสนุนจากหน่วยงานราชการและภาคเอกชนจังหวัดมุกดาหาร การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล การสนับสนุนงบประมาณจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดมุกดาหาร เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหารที่ผ่านมามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้น้อมนำพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๒ ที่ว่า “...งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ เพราะความเจริญและความเสื่อมของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ จึงต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น...” และพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานแก่คณะผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๐ ที่ว่า “...ผู้ที่ได้รับการศึกษาดี การศึกษาที่สูงขึ้นย่อมจะเป็นผู้ที่มีโอกาสในการที่จะเลือกงานและเลือกวิถีการดำเนินชีวิตได้ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าจะดีขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่หมายความว่าจะมีโอกาสที่จะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ก็ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานทางด้านการศึกษาหลายๆ หน่วยงาน...” ดังนั้น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดตั้งวิทยาเขตมุกดาหารจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของจังหวัดมุกดาหารอันจะทำให้เป็นแหล่งวิชาการเพื่อชาวลูกหลานมุกดาหารและจังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา ซึ่งเป็นอาคารที่จะถูกก่อสร้าง ณ พื้นที่บริเวณภูผาเจี้ย พวกเราทุกคนพร้อมใจพร้อมกายเพื่อน้อมถวายพ่อหลวงของเราที่พระองค์ท่านจะทรงพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชาวมุกดาหารทุกท่านจะร่วมกายใจทำให้อาคารดังกล่าวสมพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน เพราะถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวมุกดาหารการเดินหน้าของวิทยาเขตมุกดาหารคงจะต้องไม่สามารถทำได้และอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินการในอนาคต
สุดท้ายนี้ ขออนุญาตนำเสนอ คำว่า “MUKDAHAN” ซึ่งประกอบด้วย M = Management U = Understand K = Knowledge D = Development A = Advance H = Harmony A = Ambition N = Natural or Network ดังนั้น “MUKDAHAN CAMPUS” วิทยาเขตมุกดาหารมุ่งเน้นการจัดการความเข้าใจความรู้ด้านต่างๆ
เพื่อพัฒนาให้มีความก้าวหน้าทันสมัยที่กลมกลืนกับความปรารถนาของธรรมชาติ