วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ภิกขุ หรือภิกษุ ก็มาใช้ในธรรมะปฏิบัติ - ญาณทรรศน์ สมเด็จพระสังฆราชฯ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ภิกขุ หรือภิกษุ ก็มาใช้ในธรรมะปฏิบัติ - ญาณทรรศน์ สมเด็จพระสังฆราชฯ" คติธรรมคำสอนในเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เกี่ยวกับเรื่อง "ต่างก็มาใช้ธรรมะปฏิบัติ" ซึ่งสามารถรับฟังได้จาก YouTube ต่อไปนี้ 
https://www.youtube.com/watch?v=57ZgZy55gWA&nohtml5=False
ดั่งคำว่าภิกขุ หรือภิกษุ ก็มาใช้ในธรรมะปฏิบัติ ที่มีความหมายว่า บุคคลผู้เห็นภัยในวัฏฏะ บุคคลผู้เห็นโทษ แม้เล็กน้อยว่าเป็นภัย บุคคลผู้ทำลายกิเลส ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต คือผู้บวช หรือคฤหัสถ์ ไม่ว่าจะเป็นสตรีบุรุษ เมื่อใดเป็นผู้เห็นภัยในวัฏฏะ เห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย และปฏิบัติทำลายกิเลส ก็ชื่อว่าเป็นภิกขุได้

คติธรรมคำสอนของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ฯ ข้างต้นเกี่ยวกับการเห็นภัยในวัฏฏะ ซึ่งหากว่าเห็นแล้ว ได้คิด ได้ใช้ปัญญา ย่อมจะสามารถที่ทำลายกิเลสได้ในที่สุด ดังนั้น คงจะเป็นหน้าที่ของทั้ง บรรพชิต และ คฤหัสถ์ ที่จะต้องพิจารณาน้อมจิตพิจารณาให้ดีว่าจะยังอยู่ในวัฏฏะต่อไปหรือไม่อย่างไร 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้
ธรรมะปฏิบัติ  ธรรมแจ่มชัดวัดที่ใจ
ทุกคนต่างเห็นภัย  เห็นหรือไม่ที่ใจตน

วัฏฏะยังวนเวียน  จิตไม่เปลี่ยนต่างเวียนวน
ทุกข์ซ้ำย้ำกมล  นี่หนอคนพ้นไม่มี

ผู้ทำลายกิเลส  ย่อมวิเศษเดชย่อมดี
บุรุษหรือสตรี   ธรรมให้มีดีแน่นอน

ผู้บวชหรือคฤหัสถ์  ต้องเจนจัดธรรมมาก่อน
ปฏิบัติทุกตอน  ย่อมได้พรก่อนตายไป

หากเป็นในภิกขุ   หรือภิกษุธรรมยิ่งใหญ่
กิเลสสิ้นทันใด  หมดมอดไหม้ในทันที

ปฏิบัติให้มาก ธรรมไม่ยากหากรู้ดี
วัฏฏะสิ้นกันที  สุขฤดีนิรันดร์เอย

ปภาวีร์ 
๒๗ กันยายน ๒๕๕๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น