วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "การให้ธรรม- สมเด็จพระสังฆราช"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "การให้ธรรม- สมเด็จพระสังฆราช" คติธรรมคำสอนในเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เกี่ยวกับ "การให้ธรรม" ซึ่งเป็นส่วนที่มาจาก Secret นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๑๒๖ วันที่ ๒๖ ก.ย.๒๕๕๖ ตามรูปภาพต่อไปนี้ 


"...ศรัทธาที่ถูกต้อง เกิดจากการศึกษาให้รู้ ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง..."

"...การให้ธรรมที่แท้จริงย่อมหมายถึงการทำตนเองของทุกคนให้มีธรรม..."

เมื่อทุกท่านได้อ่านคติธรรมข้างต้นแล้ว เชื่อว่าต้องมีศรัทธาเกิดขึ้นอย่างแน่นอน หากจะถามว่าตัว "ศรัทธา" เป็นอย่างไรนั้น คงจะต้องศึกษาให้รู้ให้เข้าใจ (ให้ถูกต้อง) ตามที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชได้เมตตาไว้ ซึ่งหากว่าศรัทธาที่ถูกต้องแล้ว คงจะสามารถให้ธรรมที่แท้จริงได้ในที่สุด

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดเมตตาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงให้ดีต่อไป ดังนี้ 

ศรัทธาที่ถูกต้อง  ธรรมครรลองต้องให้รู้
ศึกษาพร้อมเรียนรู้  จิตเฝ้าดูอยู่ประจำ

การให้ธรรมแท้จริง  จิตต้องนิ่งอิงพระธรรม
ต้องให้ทุกเช้าค่ำ  จิตตอกย้ำนำเจริญ

ศรัทธาในธรรมะ  ชั่วลดละจะเพลิดเพลิน
พอดีไม่ขาดเกิน  จิตสรรเสริญเจริญธรรม

การให้ธรรมนำจิต  พร้อมอุทิศคิดจะทำ
ทำตนให้มีธรรม  จิตดื่มด่ำทำแต่ดี

ศรัทธาธรรมถูกต้อง  จิตจดจ้องส่องอย่างดี
ให้ธรรมนำชีวี  ธรรมมากมีดีทุกงาน

การให้ธรรมแก่ตน  ยิ่งทุกคนสนนิพพาน
ธรรมะมหาศาล  นิรันดร์กาลสานสุขเอย

ปภาวีร์ 
๑ ธันวาคม ๒๕๕๘

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ไม่เบียดเบียน - สมเด็จพระสังฆราช"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ไม่เบียดเบียน - สมเด็จพระสังฆราช" คติธรรมคำสอนในเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เกี่ยวกับการไม่เบียดเบียนเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง จึงขอเชิญทุกท่านได้รับฟังจาก YouTube ต่อไปนี้ 


"...การที่คิดจะทำ คำที่คิดจะพูด เรื่องที่คิดว่าจะคิด เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เป็นอกุศล ให้เกิดโทษทุกข์ ก็จงเว้นเสีย..."

เมื่อทุกท่านได้ฟังคติธรรมคำสอนเมตตาจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ข้างต้นแล้ว เชื่อว่าทุกท่านจะไม่เบียดเบียนตัวตนของเราและไม่เบียดเบียนคนรอบๆ ข้างใกล้ตัว  อย่างแน่นอน 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้โปรดเมตตาพิจารณาชี้แนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้ 

คิดจะทำจะพูด  อารมณ์บูดพูดไม่ดี
เบียดเบียนใช่เรื่องดี  อย่าให้มีที่ใจเรา

คิดเพื่อเบียดเบียนตน  อกุศลทนต้องเศร้า
เกิดโทษไม่ทุเลา  หนักหรือเบาเราเสียใจ

เบียดเบียนในผู้อื่น  จิตระรื่นฝืนไปใหญ่
คิดพูดหยุดเร็วไว  ย่อมสุขใจในทันที

เบียดเบียนเกิดโทษทุกข์  ไม่เป็นสุขทุกชีวี
มีมากทุกข์ฤดี  โทษมากมีที่ใจตน

จงเว้นเสียไม่ทำ  จิตมีธรรมนำกมล
ทำได้เกิดกุศล  สุขเหลือล้นจนนิพพาน

เริ่มจากจิตเมตตา  กรุณาพาเบิกบาน
ผลบุญสุขสำราญ   นิรันดร์กาลสานบุญเอย

ปภาวีร์ 
๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิตตอน "หนังสือดีๆ หายใจให้เป็นสุข สมเด็จพระสังฆราช"

ธรรมะเพื่อชีวิตตอน "หนังสือดีๆ หายใจให้เป็นสุข สมเด็จพระสังฆราช"  คติธรรมคำสอนในเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เกี่ยวกับเรื่อง "การหายใจ" เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านหาอ่านได้จากหนังสือ "หายใจให้เป็นสุข" (ตามรูปภาพข้างล่างต่อไปนี้)



"ลมหายใจเข้าออกของทุก ๆ คนนี้ เป็นแหล่งบังเกิดขึ้นแห่งสมาธิและปัญญา ซึ่งพระพุทธเจ้าเองตามที่ปรากฏในพระสูตร ก็ได้ทรงจับปฏิบัติกำหนด...

ผู้ปฏิบัติควรจะถือเอาหลักที่ทรงสั่งสอนไว้ด้วยพระองค์เองในการทำอานาปานัสสติเป็นหลักสำคัญ พิจารณาให้เข้าใจในแนวปฏิบัติที่ได้ตรัสสอนไว้ ส่วนแนวปฏิบัติของพระอาจารย์ทั้งหลาย เลือกปฏิบัติมาประกอบเข้าตามที่เหมาะสมกับอัธยาศัยของตน..."

เชื่อว่าคติธรรมคำสอนข้างต้น (จากหนังสือ "หายใจให้เป็นสุข") จะเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนคนไทยได้ประโยชน์อย่างแน่นอน ซึ่งหนังสือดังกล่าวหากได้มีโอกาสอ่านทั้งเล่มแล้วยิ่งจะดีอย่างยิ่ง

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดเมตตาพิจารณาชี้แนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้

ลมหายใจสำคัญ  ตายลงพลันในทันที
เข้าออกวินาที  นำชีวีมีต่อไป

ลมหายใจของคน  จะต้องสนพ้นไม่ได้
ไม่มีอาจตายไป  ต้องใส่ใจให้ดีดี

ลมหายใจสติ  สมาธิอย่างมากมี
ปัญญาเกิดทันที  ส่งผลดีมีต่อตน

ลมเข้าก็ต้องรู้  ลมออกดูอยู่กมล
เข้าออกกันทุกคน  หนีไม่พ้นจนตัวตาย

ลมหายใจกำหนด  ธรรมปรากฎหมดหญิงชาย
ปล่อยไปน่าเสียดาย  อาจเสียหายสายเกินไป

ต้องรู้ลมเข้าออก  จิตบ่งบอกนอกเข้าใน
ธรรมะเกิดทันใด  สุขฤทัยไปดีเอย

ปภาวีร์ 
๒๙ พฤศิจกายน ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ เตรียมตัวก่อนตาย"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ เตรียมตัวก่อนตาย" คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อจรัญเกี่ยวกับเรื่องเตรียมตัวก่อนตาย เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกท่านอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงขอเชิญชวนทุกท่านได้รับชมรับฟังได้ที่ YouTube ต่อไปนี้



"...ไม่มีใครสอน พระคุณเจ้าเรียนเป็นมหาเปรียญมา หรือจะเป็นดอกเตอร์ก็ตามนะครับ ต้องหาวิชาใส่ตัวให้ได้ เตรียมตัวก่อนตาย ต้องเตรียมตรงนี้ก่อน แม้แก่จะตายจะเดินเข้าวัด บางคนไม่ไป ไม่ไป ขี้เกียจไปวัด แต่ต้องไปจนได้ เวลาดีๆ ไม่ไป เวลาจะไปก็ต้องใช้เปลแห่ มีแตรแห่ ในกรุงเทพเขาไม่แห่กันหรอก กรุงเทพเป็นเมืองเจริญ แห่อยู่บ้านนอก กรุงเทพเป็นเมืองเจริญ บ้านใกล้ชิดติดกันไม่รู้จักกันเลย ไม่รู้จักกันเลย มีมนุษย์สัมพันธ์อย่างยิ่ง แค่วัดในกรุงเทพส้วมก็หายาก องค์นี้ประสบมาแล้วต้องเถียง..."

เชื่อว่าเมื่อทุกท่านได้รับฟังเมตตาจากท่านหลวงพ่อจรัญข้างต้นแล้ว คงจะได้ทำให้ได้สติคิดว่า ตัวเราจะเตรียมอย่างไร ในการที่จะต้องตาย ซึ่งทุกท่านสามารถที่เตรียมตัวก่อนตายได้ ตามที่ตนเองชอบ  เพราะไม่แน่ว่าเราอาจจะตายตอนนี้้ เดี๋ยวนี้ วันนี้ พรุ่งนี้ สัปดาห์ เดือนหน้า ปีหน้า หรือ หลายปีข้างต้น (ท่านใดทราบว่าตัวเองจะตายเมื่อไหร่ ช่วยกรุณาบอกวิธีด้วย จะได้ขอเมตตาจากท่านถึงวิธีการทราบการตายดังกล่าว)

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดเมตตาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ดังนี้ 

ต้องเตรียมตัวก่อนตาย ไม่ต้องอายตายแน่นอน
ตายได้ในทุกตอน  ไม่ผัดผ่อนย้อนกลับได้

หาวิชาใส่ตัว    ต้องเตรียมตัวตายทันใด
ตายไปไม่ว่าใคร  หนีไม่ได้ไปทันที

แก่จะตายเข้าวัด  ไม่ได้จัดเตรียมให้ดี
ผ่านมาเวลามี  วัดไม่มีที่จะไป

ขี้เกียจจะไปวัด  มีแต่นัดผลัดเรื่อยไป
ตายแล้วจะเสียใจ  ไปบอกใครใยจะเชื่อ

ไปวัดเป็นเรื่องดี  นำชีวีธรรมทุกเมื่อ
ไปแล้วใจไม่เบื่อ  หากไม่เชื่อต้องไปดู

ตายแน่ในทุกคน  ธรรมต้องสนทนเรียนรู้
ไม่เชื่อลองตายดู  ตายจะรู้คู่ธรรมเอย

ปภาวีร์ 
๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลงสรรเสริญ นินทา - พุทธทาสภิกขุ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลงสรรเสริญ นินทา - พุทธทาสภิกขุ"  คติธรรมคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุสิ่งต่อไปนี้นั้นย่อมเกิดขึ้นกับทุกคนทุกท่านในทุกวัน  นั่นคือ "การสรรเสริญ นินทา" ดังนั้น ขอเชิญชวนทุกท่านรับฟังคติธรรมดังกล่าวได้จาก YouTube ต่อไปนี้



"...ในโลกนี้...ถูกเขาสรรเสริญก็ตัวลอยฟุ้งเฟ้อไป ถูกเขาก็นินทาด่าว่าก็มาขัดใจโกรธแค้นอยู่เหมือนคนบ้า ได้รับสรรเสริญก็บ้าไปอย่าง ได้รับนินทาก็บ้าไปอย่าง เพราะมันไม่รู้ว่าในโลกมันเป็นเช่นนั้นเอง..."

คติธรรมคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุข้างต้น ช่างเป็นจริงอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับเรื่องของคำสรรเสริญและคำนินทา ซึ่งทุกคนย่อมจะได้รับทั้งสองสิ่ง หรือบางครั้งตัวเราเองนั้นแหละที่ต่างก็กล่าวคำสรรเสริญและคำนินทาไปด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพิจารณาตามคติธรรมคำสอนของท่านพุทธทานภิกขุแล้ว เชื่อว่าทุกท่านจะสามารถเข้าใจและจะสามารถลดคำสรรเสริญคำนินทาลงไปได้ในที่สุดอย่างแน่นอน

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เมตตาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้

ในโลกมีสองคำ  กล่าวประจำนำสู่ใจ
สรรเสริญนินทาไง  ไม่ว่าใครใยต้องกล่าว

สองคำนำสู่จิต  ที่ละนิดคิดไปยาว
กล่าวไปใจเราเศร้า  หนักหรือเบาเขาว่าไง

นินทาด่าเขาโกรธ  ยิ่งเป็นโทษโกรธไปใหญ่
สรรเสริญอาจชอบใจ  อาจบ้าได้ในสักวัน

สรรเสริญและนินทา  ล้วนแต่บ้าพาโศกศัลย์
สองคำไม่สร้างสรรค์  มีทุกวันพลันทุกข์ตาย

นินทาเขาเราทุกข์  หรือสนุกสุขไม่อาย
สรรเสริญทุกเช้าสาย  หน้าไม่อายร้ายเหลือเกิน

สองคำทำอย่างไร  เพื่อจะไม่ใจเพลิดเพลิน
นินทาหรือสรรเสริญ  ไม่เจริญเพลินใจเอย

ปภาวีร์ 
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ แย่งกระดูก"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ แย่งกระดูก" คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่น่าจะทำให้เกิดสติคิดว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ "กระดูก" บางครั้งก็อาจจะเกิดปัญหาได้ ดังนั้น จึงอยากจะขอเชิญชวนทุกท่านได้รับฟังจาก YouTube ต่อไปนี้ 


"... ก็อาศัยที่พระท่านสั่งว่า จงอย่าเผาร่างกายของเธอ ด้วยเหตุก็มีว่า ลูกศิษย์มาก จะทะเลาะกันเรื่องกระดูก เรื่องกระดูกเป็นปัจจัยให้คนทะเลาะกันมาเยอะแยะแล้ว เอาไปแล้วไม่ทำอะไร เอาไปวางทิ้งที่บ้าน ไปวางทิ้งที่วัด ลืมการสนใจ ไม่สนใจอะไร มีหลายอาการ แม้แต่กระดูกหลวงพ่อปานก็เหมือนกัน เวลาเผาแย่งกันเกือบจะฆ่ากันตาย แต่ว่าได้ไปแล้วเปล่า ลืม บางคนก็ลืมต่อไป  แต่เวลาจะเอาก็แย่งกัน ..."

คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำข้างต้น เชื่อว่าหลายๆ ท่านอาจจะประสบพบเจอมาบางแล้วก็ได้ ดังนั้น ต่อไปคงจะเป็นหน้าที่ของเราที่จะได้ลองคิดทบทวนว่าสิ่งที่ท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำได้กล่าวไว้นั้นเป็นอย่างไร 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดเมตตาพิจารณาชี้แนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไปดังนี้

ทุกคนจะต้องตาย  อย่าเสียดายเรื่องกระดูก
ตายแล้วอย่าพันผูก  ผิดหรือถูกทุกข์ในใจ

กระดูกต่างแย่งกัน  ต้องสร้างสรรค์ปันแบ่งไว้
บางคนไม่สนใจ   วางทิ้งไว้ไม่ได้ดี

กระดูกเก็บเพื่อนึก  ให้ระลึกถึงสิ่งดี
นึกแล้วทำความดี  นำชีวีมีสุขใจ

กระดูกทะเลาะกัน  ไม่สร้างสรรค์มันบรรลัย
ได้แล้วต้องเข้าใจ  ว่าทำไมใยแลดู

กระดูกที่เป็นแก้ว  จิตผ่องแผ้วแล้วจะรู้
ธรรมะต้องเรียนรู้   พร้อมเชิดชูคู่สู่ใจ

กระดูกที่เป็นธาตุ  ธรรมย่อมมากหากมีไว้
มีแล้วต้องใส่ใจ  จะสุขใจในทันที

กระดูกของทุกคน  ธรรมมากล้นสนทำดี
ตายไปแก้วชั้นดี  ใช่หรือนี่ดีไหมเอย

ปภาวีร์ 
๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ดอกบัว คู่ ธรรมะ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ดอกบัว คู่ ธรรมะ"  










อุบลฯ เมืองดอกบัว คู่ ธรรมะ
--------------------
เมืองดอกบัวงดงาม เลื่องลือนามถามต้องรู้
อุบลน่าเรียนรู้  น่าเชิดชูดูบัวบาน

ดอกบัวสีชมพู  บานพรั่งพรูดูสำราญ
ดอกบัวคือตำนาน  ต้องสืบสานประสานใจ

ดอกบัวมีประโยชน์  ไม่มีโทษคุณยิ่งใหญ่
ดอกบัวสีสดใส  ต้องใส่ใจในเรื่องคุณ

ดอกบัวคู่ธรรมะ บูชาพระจะได้บุญ
ดอกบัวบูชาคุณ  ธรรมเกื้อหนุนจุนเจือเอย

-----------------------
บัว กับ เมืองดอกบัว (อุบลราชธานี)
เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเมืองแห่งดอกบัว ซึ่งประโยชน์ของบัวมีมากมาย ตัวอย่างเช่น

ดอกบัว 
ประชาชนนิยมนำไปบูชาพระมากกว่าดอกไม้ชนิดอื่น เพราะดอกบัวสามารถคงความงามไว้ได้นาน

เมล็ดบัว 
เป็นแหล่งรวมธาตุอาหารหลายชนิด สามารถนำมากินได้ทั้งสดและแห้ง ยังนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวาน หรือนำไปบดเป็นแป้งกวนทำไส้ขนมก็ได้

เกสรบัว 
มีสรรพคุณทางยาหลายชนิด ปัจจุบันมีการนำเกสรบัวมาทำผลิตภัณฑ์เครื่องบำรุงผิวพรรณอีกด้วย

ดีบัว 
มีสารเนเฟอรีน (neferine) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ สามารถขยายหลอดเลือดและช่วยให้นอนหลับง่าย

ใบบัว 
นำมาห่อข้าว เป็นข้าวห่อใบบัว ส่วนใบอ่อนสามารถนำมากินเป็นผักสดแกล้มน้ำพริก หรือนำมาหั่นฝอย ๆ ชงดื่มแทนน้ำชา ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำได้เป็นอย่างดี

ก้านบัว 
นำมาตากแห้ง สามารถใช้แทนยากันยุงหรือใช้ทำเชื้อเพลิง ใช้ปิ้งย่าง ทำให้มีกลิ่นหอมและสามารถนำไปทำเยื่อกระดาษได้เช่นเดียวกับกระดาษสา

เหง้าบัว 
เป็นลำต้นใต้ดินสำหรับสะสมอาหาร ขนาดใหญ่ อ้วน มีคุณค่าทางอาหารมาก นิยมนำมาเชื่อมแห้งกินเป็นของหวาน หรือนำไปต้มกับน้ำตาลกรวด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ

ไหลบัว 
เป็นยอดอ่อนของบัว สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งสด ทั้งแห้ง จิ้มน้ำพริกหรือผัดก็อร่อย โดยมากจะนำมาแกงส้ม แกงเลียง ผัดเผ็ดต่าง ๆ

ส่วน “บัวสาย” ก้านของบัวสาย สามารถปรุงอาหารแทนผักได้หลายชนิด ทั้งแกงส้มสายบัว แกงสายบัวกับปลาทู และทำขนมสายบัว

    นอกจากนั้น เพื่อเป็นการองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘  และเป็นการส่งเสริมเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี อันนำไปสู่ความสำคัญระดับชาติ ในเบื้องต้นอาจจะมีการพัฒนา “บัวอุบล” ดังนี้ 
บัวอุบลฯ BUA UBON

B = Beauty สวยงาม
U = Upgrade ยกระดับ ทำให้ดีขึ้น 
A = Atop บนยอด สุดยอด สูงสุด

U = Usable มีประโยชน์
B = Bright สีสดใส
O = Optimal เหมาะสมที่สุด ดีที่สุด
N =National ประจำชาติ ระดับชาติ
    
    ดังนั้น BUA UBON ต้องสวยงามถูกทำให้ดีขึ้นสูงสุดโดยพัฒนาให้มีประโยชน์สีสดใสที่ดีที่สุดในระดับชาติ

อุบลฯเมืองดอกบัว รู้กันทั่วเมืองบัวงาม 
บัวอุบลฯ ลือนาม เป็นนิยามของดอกบัว

บัวมีมากหลายพันธุ์ ต้องร่วมกันให้รู้ทั่ว
อนุรักษ์พันธุ์บัว ทุกครอบครัวมารวมกัน

อุบลฯต่างต้องชวน ทุกภาคส่วนต้องแข็งขัน
ช่วยประชาสัมพันธ์ สืบสานพันธุ์บัวงามเอย


“บัว” 
===============
เรื่องของบัว ทั่วไป ไม่รู้ดี
บัวมีดี ราชินี แห่งพืชน้ำ
บัวที่เห็น เป็นอยู่ งามเลิศล้ำ
ควรจดจำ นำรู้ คู่บูชา

บัวอียิปต์ มีดี  สี่พันปี
บัวหลายสี ที่เป็น เห็นล้ำค่า
บัวอุบล ล่องหน คนสืบหา
บัวมีค่า หารู้ คู่อุบลฯ
---------------------
ดอกบัวกับพุทธศาสนา
เมื่อพระสิทธัตถะออกบวช ทรงกระทำความเพียรปฏิบัติธรรมจนบรรลุอนุตรสัมมาโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ทรงพิจารณาถึงธรรมที่ทรงตรัสรู้ว่าเป็นธรรมะอันล้ำลึกยากที่ชนผู้ยินดีในกามคุณจะรู้ตามได้ แต่อาศัยพระมหากรุณาในหมู่สัตว์ ทรงพิจารณาทบทวนดูอัธยาศัยเวไนยสัตว์อีก ก็ทรงทราบว่าผู้มีกิเลสเบาบางอันอาจรู้ตามได้ก็มี จึงเกิดอุปมาเวไนยสัตว์เหมือน “ดอกบัว”ว่า
เวไนยสัตว์ย่อมแบ่งออกเป็นสี่เหล่าตามอัธยาศัย คือ

เหล่า ๑  ผู้มีกิเลสน้อยเบาบาง มีอินทรีย์กล้าจะพึงสอนให้รู้โดยง่าย อาจรู้ธรรมพิเศษได้ฉับพลัน อันเปรียบเหมือนดอกปทุมชาติที่โผล่พ้นจากพื้นน้ำขึ้นมา แล้วคอยสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์อยู่ จักบานในวันนี้

เหล่า ๑ ผู้มีกิเลสค่อนข้างน้อย มีอินทรีย์ปานกลาง ได้รับอบรมจนอุปนิสัยแก่กล้าแล้ว ก็สามารถบรรลุธรรมพิเศษได้ เปรียบเสมือนดอกบัวซึ่งยังตั้งอยู่เสมอพื้นน้ำ จักบานในวันพรุ่งนี้

เหล่า ๑ ผู้ที่มีกิเลสยังไม่เบาบาง ก็ยังควรได้รับคำแนะนำในธรรมปฏิบัติไปก่อนจนกว่าอินทรีย์จะแก่กล้า จึงสอนให้รู้ธรรมะขั้นสูง ก็จะบรรลุธรรมพิเศษ เปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังจมอยู่ในน้ำ คอยเวลาที่จะเลื่อนขึ้นจากน้ำ และบานในวันต่อ ๆ ไป

เหล่า ๑ ผู้ที่มีกิเลสหนาปัญญาหยาบหาอุปนิสัยไม่ได้เลย ไม่สามารถจะบรรลุธรรมพิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่จมอยู่ใต้น้ำ และเป็นภักษาของเต่าปลา
(อ้างอิงที่มา หนังสือ “บัว ราชินีแห่งไม้น้ำ โดยคุณหญิงคณิตา เลขะกุล)

----------------------
               บัวสี่เหล่า  
อันว่าบัว ทั่วไป ให้เหมือนคน
มีปะปน คนไป ในสี่เหล่า
จมใต้น้ำ ตามจิต คิดโง่เขลา
คงต้องเศร้า เหงาใจ ไปอีกนาน

บัวในน้ำ ดำดิ่ง นิ่งไม่ได้
ไม่สุขใจ ได้อยู่ อีกช้านาน
บัวพื้นน้ำ ยามนี้ ดีก่อสาน
ไม่ช้านาน สานก่อ ต่อเรื่องดี

บัวพ้นน้ำ ทำดี มีมากมาย
ย่อมสบาย กายใจ ให้สุขี
บัวสูงส่ง ตรงธรรม นำความดี
ย่อมจะดี มีพ้น ล้นทางธรรม

ปภาวีร์ 
๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ เรื่อง นิพพาน"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ เรื่อง นิพพาน" คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อจรัญเกี่ยวกับเรื่องของนิพพานนั้นนับได้ว่าเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง ดังนั้น หากว่าท่านใดสนใจสามารถที่จะรับชมรับฟังได้จาก YouTube ต่อไปนี้


“...แต่จิตวิญญาณรูปนามขันธ์ห้าเป็นอารมณ์ มันไม่มีตาย มันเกิดดับจนมองไม่เห็น จะไปสู่สถานที่ที่ทำกรรมเขาไว้ทุกประการ ไม่มีโอกาสที่ว่าท่านกลับไปตรงนั้นกลับไปตรงนี้ อย่างที่ว่าไม่ได้ทำกรรมเอาไว้ ตายสูญก็คือ สูญยังไง ตายสูญตัวนี้คือตายแล้วไม่มาเวียนว่ายตายเกิด คือไปนิพพาน หมดกิเลสตัณหาทั้งหลายแล้ว ไม่มามีโลภ ไม่มีโกรธ ไม่มีหลง ก็ไปรออยู่ สูญไป ไม่กลับมาในโลกมนุษย์อีกแล้ว ไม่กลับมาแล้ว ก็ไม่ใช่หมายความว่ามนุษย์ต่างดาวนะ คนละเรื่องกัน เดี๋ยวจะหาว่ามนุษย์ต่างดาวไปนิพพาน นิพพานัง ปรมัง สุขัง ความสุขที่ไม่เจือปนด้วยกิเลสนานาประการ หรือดับไม่ติดเชื้อ ไฟดับไม่มีเชื้อติด เรียกว่านิพพาน ไม่มีกิเลสตัณหา ไม่มาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกต่อไปแล้ว นี่เรียกว่าตายสูญ มีเท่านี้เอง...”

สิ่งที่ท่านหลวงพ่อจรัญได้เมตตาไว้ข้างต้นนี้ เป็นคติธรรมคำสอนที่จะเราทุกคนสามารถที่จะน้อมนำทำตามได้หากว่ามีความตั้งใจจริง นิพพานอาจจะคิดว่าเป็นสิ่งที่สูงและเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น คงจะต้องเป็นเรื่องที่แต่ละท่านจะได้ศึกษาและลองทำตามที่ท่านหลวงพ่อจรัญได้เมตตา  หากไม่เชื่อ ก็คงลองตายดูแล้วคงจะพบความจริงหรือไม่อย่างไรต่อไปในที่สุด

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดพิจารณาเมตตาชี้แนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้  

ไม่เวียนวนมาเกิด  สิ่งประเสริฐเลิศอย่างดี
ตายไปในทันที  นิพพานมีดีแน่นอน

ไม่เชื่อต้องลองตาย  อย่าเสียดายตายไปก่อน
นิพพานได้ทุกตอน  ไม่ต้องย้อนกลับมาใหม่

หมดสิ้นในกิเลส  ช่างวิเศษเดชยิ่งใหญ่
ตัณหาหมดสิ้นไป  สุขฤทัยในที่สุด  

ไม่หลงไม่มีโกรธ  ไม่มีโลภโทษจะหยุด
มีธรรมในทุกจุด   ไม่สะดุดในโลกา

ความสุขไม่เจือปน  ตายจากคนพ้นโศกา
สิ้นกิเลสตัณหา  สุขทุกคราพาเบิกบาน

ชีวิตหากวนเวียน  สลับเปลี่ยนเวียนเนิ่นนาน
ไม่พบในนิพพาน  ทุกข์อีกนานสานต่อไป

ชีวิตนิพพานัง  ปรมังสุขังไว้
ทำกรรมอะไรไว้  ชดใช้ไปให้หมดลง

ละวัฏสงสาร   ธรรมประสานนานยืนยง
นิพพานตามประสงค์  ธรรมดำรงคงมั่นเอย 

ปภาวีร์ 
๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ใจไม่พอ - สมเด็จพระสังฆราช"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ใจไม่พอ - สมเด็จพระสังฆราช"  คติธรรมคำสอนในเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เกี่ยวกับเรื่องของใจไม่พอ  เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านได้รับฟังจาก YouTube ต่อไปนี้ 




"...ตัวของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เองมีพอ อย่างอาหารที่บริโภคแล้วก็อิ่ม คือมีพอ แต่ใจนี่เองที่เป็นตัวไม่พอ ไม่มีอิ่ม ไม่มีเต็ม..."

คติธรรมข้างต้นสั้นๆ แต่ได้ใจความมีความหมายอย่างลึกซึ้งพึงที่พุทธศาสนิกชนคนไทยจะต้องพิจารณาน้อมนำทำให้ได้ แล้วจะ "พอ" ในที่สุด

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้เมตตาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาต่อไปให้ดียิ่งๆ ขึ้น ดังนี้

ตาหูจมูกลิ้นกาย  หญิงหรือชายทุกรายมี
พอกันได้ก็ดี  เป็นเรื่องดีที่ต้องพอ

อาหารกินแล้วอิ่ม  กินจนยิ้มชิมไม่ขอ
ท้องแตกหากไม่พอ  จะต้องรอขอสลาย

ใจคนไม่เคยอิ่ม  อยากจะชิมยิ้มจนตาย
ไม่เต็มน่าเสียดาย  ไม่มีอายชายหรือหญิง

ไม่พอไม่มีเต็ม  ลำบากเข็ญเป็นอย่างยิ่ง
ต้องพอในทุกสิ่ง  สุขแท้จริงยิ่งมากกมาย

พอแล้วทำอย่างไร  ธรรมมากไว้อย่าเดียวดาย
ไม่ธรรมเดี๋ยวก็ตาย  ยังไม่สายง่ายในธรรม

ความพอต้องฝึกฝน  จิตอดทนสนประจำ
พอได้จะสุขล้ำ  จิตตอกย้ำจำพอเอย

ปภาวีร์ 
๒๓ พฤศิจกายน ๒๕๕๘

วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "การใช้อำนาจ พุทธทาสภิกขุ"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "การใช้อำนาจ พุทธทาสภิกขุ" คติธรรมคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุเกี่ยวกับเรื่องของการใช้อำนาจ สามารถที่จะนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกงานในชีวิตประจำวันของทุกคนทุกท่าน จึงขอเชิญชวนรับฟังได้จาก YouTube ต่อไปนี้ 


"...สิ่งที่เรียกว่า อำนาจ น่ะลองใช้ผิด ๆ มันก็ฆ่าผู้ใช้อำนาจนั้นเอง ใช้ให้มันถูกต้อง มันก็มีประโยชน์นั้นตามเรื่องของมัน คนที่มีอำนาจต้องระวังที่จะใช้อำนาจ..."

คติธรรมคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุข้างต้น หากว่าผู้ที่มีตำแหน่งมีอำนาจได้รับฟังกันทุกท่านแล้วเชื่อว่าน่าจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างแน่นอน ดังนั้น คงจะเป็นหน้าที่ของผู้มีตำแหน่งอำนาจจะได้พิจารณาว่าเป็นเช่นดังกล่าวหรือไม่อย่างไร

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ผู้อ่านทุกท่านได้โปรดเมตตากรุณาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้

อำนาจเป็นสิ่งดี  ใช้ให้ดีมีประโยชน์
ใช้ไม่ดีเกิดโทษ  ไร้ประโยชน์โกรธทุกคน

อำนาจใช้ทางผิด  โดยไม่คิดติดกมล
ใช้ผิดจิตไม่สน  ทุกข์เหลือล้นจนตัวตาย

อำนาจใช้ถูกต้อง  จิตไตร่ตรองธรรมมากมาย
ใช้ผิดไม่เคยอาย  น่าเสียดายเกิดเป็นคน

อำนาจมีตำแหน่ง  ย่อมแสดงแรงมากล้น
มีธรรมสู่ใจตน  เพื่อทุกคนสนทำดี

อำนาจมีเมตตา  เพื่อประชาพาสิ่งดี
ธรรมะให้มากมี  ทุกชีวีมีพ้นภัย

อำนาจมหาศาล  พรหมวิหารสานเข้าใจ
ประโยชน์ขึ้นทันใด  ประเทศไทยเจริญเอย

ปภาวีร์ 
๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่ชา โบสถ์เอามาจากพระอินทร์"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงปู่ชา โบสถ์เอามาจากพระอินทร์"  เรื่องเกี่ยวกับโบสถ์ที่ท่านหลวงปู่ชาได้เมตตาเล่าให้ฟังว่าแบบแปลนโบสถ์มาจากไหน สามารถรับฟังได้จาก YouTube ต่อไปนี้ 



"... โบสถ์หลังนี้เอาแปลนมาจากที่ไหน เอามาจากพระอินทร์ บางคน บางโยมก็นึกว่าอาตมาพูดเล่น  เอามาจากพระอินทร์ พระอินทร์เอาให้  ก็โยมไม่รู้จักพระอินทร์ก็แงะหน้าแงะหลัง ก็ไม่รู้จะคิดยังไง ไม่เคยเห็นพระอินทร์นะ อันความจริงพระอินทร์นี่ เราไปนั่งที่ไหนก็ไปที่นั่น จะนอนที่ไหนก็อยู่ที่นั่น จะเดินที่ไหนก็อยู่ที่นั่น พระอินทร์ อินทรีย์ทั้งห้านั่นแหละ ตา หู จมูก กาย ใจ เป็น พระอินทร์..."

เมื่อทุกคนได้รับฟังที่ท่านหลวงปู่ชาได้เมตตาข้างต้นแล้ว คงจะได้รับฟังเพิ่มเติมยิ่งขึ้นว่า "พระอินทร์" กับอินทรีย์ทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก กาย ใจ นั้นอยู่ใกล้ๆๆ กับเรานี้เอง ดังนั้น คงจะต้องให้ความสำคัญกับอินทรีย์ทั้งห้า แล้วเชื่อว่าเราทุกคนจะเห็นพระอินทร์อย่างแน่นอนในที่สุด

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดเมตตากรุณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้ 

เรื่องราวของพระอินทร์  เคยได้ยินชินกันมา
พระอินทร์อยู่บนฟ้า  ท้องนภาพาเข้าใจ

หลวงปู่ชาเมตตา  ท่านเล่าว่าพาฟังไว้
พระอินทร์อยู่ไม่ไกล  เรานั่งไหนไปทันที

อันอินทรีย์ทั้งห้า  สิ่งมีค่าน่ารู้ดี
อยู่ใกล้ในชีวี  เป็นของดีมีคุณค่า

ตาหูจมูกกายใจ  ยิ่งอยู่ใกล้ให้นำพา
พระอินทร์ในทุกครา  ล้วนมีค่าน่าสนใจ

อินทรีย์ของสำคัญ  ธรรมสร้างสรรค์หมั่นทำไว้
พระอินทร์มาทันใด  อยู่ที่ใจในทันกาล

อินทรีย์ทั้งห้าสิ่ง  ดีอย่างยิ่งจริงทุกงาน
มีธรรมให้เบิกบาน  ห้าประสานนิพพานเอย

ปภาวีร์ 
๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงตาม้า บวชในมันง่ายแต่ทำยาก"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงตาม้า บวชในมันง่ายแต่ทำยาก" สำหรับหลวงตาม้า ชื่อนี้หลายคนหลายท่านอาจจะยังไม่ค่อยรู้จัก หรือ บางท่านอาจจะรู้จักเป็นอย่างดี หลวงตาม้าท่านอยู่ที่  "วัดถ้ำเมืองนะ" จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหลายท่านอาจจะเคยไปวัดดังกล่าวมาแล้ว ทั้งนี้ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัดถ้ำเมืองนะได้ที่ www.watthummuangna.com

ซึ่งท่านหลวงตาม้าได้เมตตาเกี่ยวกับเรื่องบวชในมันง่ายแต่ทำยากสามารถรับชมรับฟังได้จาก YouTube ต่อไปนี้ 


"... บวชใน มันง่าย แต่ทำยาก คือเวลาเราไหว้พระสวดมนต์ทุกครั้ง พุทธมนต์ทุกครั้งนี่ เรานึกว่าเราเป็นพระ ทุกครั้งเลยฮะ นึกเมื่อไหร่ เราเป็นพระเมื่อนั้น เรานึกเมื่อไหร่เราก็เป็น ถามว่าถ้าเรานึกบ่อยๆ มันก็เป็นบ่อยๆ ก็เรานึกความดีบ่อยๆ มันก็เป็นบ่อยๆ..."

ในเมื่อเป็นการบวชใน ทุกคนทุกท่านย่อมจะสามารถทำได้เพราะเป็นการทำอยู่ข้างในจิตใจของเรา แต่อาจจะยากอย่างที่ท่านหลวงตาม้าได้กล่าวไว้ข้างต้น อย่างไรก็ตาม หากว่าทุกคนได้ทำบ่อยๆ ตามที่หลวงตาม้าได้เมตตาแล้วเชื่อวา "บวชใน" ได้อย่างแน่นอน ท่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อคงจะต้องพิสูจน์ด้วยตัวของท่านเอง และจะพบว่าจริงหรือไม่อย่างไร

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เมตตาพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงปรับแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้

บวชในเป็นอย่างไร  แล้วทำไมใยต้องทำ
หลวงตาม้าแนะนำ   เราควรทำนำสู่ใจ

เวลาเราไหว้พระ   นึกเป็นพระใช่หรือไม่
ทุกอย่างอยู่ข้างใน  สวดมนต์ไว้ใจชิดธรรม

นึกถึงพระทุกครั้ง  จิตตรงตั้งสั่งประจำ
สวดมนต์ทุกเช้าค่ำ  สวดประจำย้ำจิตตน

นึกเมื่อไหร่ก็เป็น  จิตบำเพ็ญเห็นทุกคน
บวชในใจอดทน   ธรรมกมลจนตัวตาย

ต้องนึกให้บ่อยๆ  เริ่มจากน้อยค่อยมากมาย
ทำได้ทั้งหญิงชาย  เดี๋ยวก็ตายอายทำไม

นึกถึงแต่ความดี  ทุกนาทีดีเข้าไว้
ตั้งจิตคิดบวชใน  สุขฤทัยใจสุขเอย

ปภาวีร์ 
๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ สอนอย่าลืมความตาย"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ สอนอย่าลืมความตาย"  คติธรรมคำสอนของท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำเกี่ยวกับเรื่องของการอย่าลืมความตายนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะอย่างไง เราทุกคนไม่ว่าจะรวยจนคนใดจะต้องตายกันทุกคนอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงขอเชิญชวนทุกท่านได้ฟังจาก YouTube ต่อไปนี้



"... แล้วก็เริ่มต้น อย่าลืมอย่าทิ้งอานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นการควบคุมอารมณ์ให้ทรงตัว แล้วก็อย่าลืมความตาย อย่าลืมเคารพในคุณพระรัตนตรัย อย่าลืมทรงศีลให้บริสุทธิ์ อย่าลืมนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ ว่าเราตายคราวนี้เราจะไปนิพพาน ใครเขาจะหาว่าเราบ้าเราบอก็ช่าง การบ้าเพื่อแสวงหาความดีก็เป็นการสมควร ถ้าบ้าเพื่อแสวงหาความชั่ว ไม่ควรบ้า ถ้าจะบ้าไปนิพพานนี่ พยายามบ้าให้มาก จะได้มีความสุข..."

แน่นอนว่าหากว่าเราบ้าในการแสวงความดีอย่างที่ท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำได้เมตตาไว้ข้างต้น คงจะเป็นการดีอย่างยิ่ง เพราะการแสวงหาดังกล่าว ย่อมจะได้รับความสุขที่ยั่งยืน  ยิ่งหากว่าบ้าในเรื่องดังกล่าวให้มากๆ แล้ว คงจะดีเป็นที่สุด 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ทุกท่านได้โปรดพิจารณาเมตตากรุณาชี้แนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้ 

อย่าลืมในความตาย  หญิงหรือชายตายแน่นอน
เวลาไม่กลับย้อน  ตายทุกตอนได้ทันที

นึกถึงพระนิพพาน  ในทุกงานได้ยิ่งดี
หากเราตายคราวนี้  นิพพานมีดีต่อไป

พยายามบ้าให้มาก  ไม่ได้ยากหากเข้าใจ
บ้าบอมากเข้าไว้  นิพพานได้ใจรู้ดี

ทุกคนย่อมทำได้  อยู่ที่ใจให้ธรรมมี
บ้าบอหาความดี  ได้ทันทีคือนิพพาน

นึกถึงเป็นอารมณ์  จิตชื่นชมนิยมการณ์
ทำได้จิตเบิกบาน  พร้อมนิพพานทุกคืนวัน

ใครว่าก็ช่างเขา  เรื่องของเรานึกทุกวัน
หากว่าตายลงพลัน  นิพพานกันสุขสันต์เอย

ปภาวีร์ 
๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ ธรรมะ แปลว่า อะไร"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "หลวงพ่อจรัญ ธรรมะ แปลว่า อะไร" วันนี้ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เป็นวันดี เป็นวันพระ ดังนั้น ลองมารับชมรับฟังที่ท่านหลวงพ่อจรัญได้เมตตาเกี่ยวกับเรื่องของ "ธรรมะ แปลว่า อะไร" ตาม YouTube ต่อไปนี้ 


*************************
ธรรมะ แปลว่า ธรรมชาติ
ธรรมะ แปลว่า สติสัมปชัญญะ ไม่ลดละ ภาวนา
ธรรมะ แปลว่า ความรู้
ธรรมะ แปลว่า ความคิด
ธรรมะ แปลว่า ความตั้งใจ 
ธรรมะ แปลว่า ประสบประการณ์กับปัญหาชีวิต เป็นข้อคิดของธรรมชาติจึงเรียกว่า "ธรรมะ" ถึงจะถูกต้อง

คนมีธรรมะจะเข้าล็อคนี้เลย จะรู้เหตุการณ์สั้นยาว จะรู้จะเห็นสั้นดีกว่ายาว หรือ จะเห็นยาวดีกว่าสั้น ไม่ใช่เห็นของแค่หัวบันใด จะรู้จักยาว
*************************

เมื่อทุกท่านได้รับชมรับฟังที่ท่านหลวงพ่อจรัญได้เมตตาไว้ตามข้างต้นเกี่ยวกับ "ธรรมะ แปลว่า..." นั้นแล้ว เชื่อว่าเราทุกคนคงจะต้องสามารถเข้าใจความหมายของธรรมะมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คงจะเป็นหน้าที่ของแต่ละท่านที่จะต้องค้นหาต่อไปว่าสิ่งที่ท่านหลวงพ่อจรัญได้เมตตาไว้นั้น เป็นอย่างไรในรายละเอียดต่อไปเพื่อจะได้เข้าถึงธรรมะอย่างแท้จริง

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะต้องขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เมตตาพิจารณาชี้แนะเพื่อการปรับแก้ไขให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป ดังนี้

ธรรมะแปลว่าอะไร  แล้วทำไมใยต้องรู้
ธรรมะเป็นความรู้  เมื่อเรียนรู้ดูแท้จริง

ธรรมะเรื่องไม่ยาก  ธรรมชาติในทุกสิ่ง
ตั้งใจอย่างแท้จริง  จิตให้นิ่งยิ่งจะดี

สติสัมปชัญญะ ไม่ลดละจะต้องดี
ภาวนาให้มากมี  ส่งผลดีที่จิตใจ

ธรรมะคือความคิด  ผูกกับจิตชิดเข้าไว้
ต้องทำอย่างตั้งใจ  ไม่ว่าใครใจอดทน

ประสบการณ์ชีวิต  เป็นข้อคิดจิตสอนตน
ธรรมะมีทุกคน  จิตกมลสนต่อไป

ธรรมะรู้เหตุการณ์  จิตประสานงานเข้าใจ
ยาวสั้นใช่หรือไม่  ยาวต่อไปให้ได้เอย

ปภาวีร์ 
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘