วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ร.๔ : พุทธศาสนา กับ วิทยาศาสตร์"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "ร.๔ : พุทธศาสนา กับ วิทยาศาสตร์"  ซึ่งวันที่ ๑๘ สิงหาคม ของทุกปีเชื่อว่าคนไทยทราบกันดีว่า คือ "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ"  ซึ่งเป็นวันที่ ร.๔ ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำในวันที่ ๑๘  สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑  (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)  และพระองค์ คือ "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผู้เขียนจะขออนุญาตนำเสนอในวันนี้ คือ หนังสือ "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าสยาม" ที่นาย เอ.บี.กริสโวลด์ เป็นผู้แต่ง และ ม.จ.สุภัทรดิส ดิศกุล แปล  เป็นหนังสือที่น่าหาอ่านอย่างยิ่ง ISBN 974-399-383-5 (ตามรูปภาพต่อไปนี้) 


และสิ่งที่ผู้เขียนจะนำเสนอต่อไปนี้ คือ เนื้อหาบางส่วนจากหนังสือข้างต้นที่ว่าด้วย ร.๔ : พุทธศาสนา กับ วิทยาศาสตร์  (ซึ่งเป็นทราบกันดีว่า ร.๔ ทรงผนวชเป็นระยะเวลากว่า ๒๗ พรรษา) ดังนี้ 

หน้า ๓๔ -๓๕ 
"... ทางด้านพระศาสนา ความเลื่อมใสและความขยันหมั่นเพียร ก็ทำให้พระองค์ทรงศึกษาต่อไป แต่พระองค์ได้ทรงใช้สามัญสำนึก และมีพระทัยที่ค้นหาเหตุผลอย่างแท้จริงอยู่เสมอ วัดสมอรายที่พระองค์ประทับอยู่ มีชื่อในปัจจุบันว่า วัดราชาธิวาส วัดนี้ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา... วัดสมอรายก็ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางของเมืองหลวง คืออยู่ในป่าอันเงียบสงบ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ  (ร.๔ ในขณะนั้น) มาประทับอยู่กับคณะสงฆ์อรัญวาสีตามราชประเพณี พระภิกษุที่บวชเพียงไม่กี่เดือน ย่อมไม่สามารถศึกษาได้มาจากพระสงฆ์คามวาสีผู้ชำนาญในการสอนภาษาบาลีและเชี่ยวชาญพระไตรปิฎก แต่พระสงฆ์อรัญวาสีซึ่งชำนาญในทางบำเพ็ญสมาธิ ถ้ามีศิษย์ที่ฉลาดก็อาจสามารถเรียนได้อย่างรวดเร็ว และนำเอาวิธีการนี้ไปใช้เพื่อความสำเร็จในกิจการด้านอื่นๆ ได้
      การบำเพ็ญสมาธินี้ เป็นระบบการควบคุมลมหายใจเข้าออกตลอดจนวิธีการอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การควบคุมจิตใจ ทำตนให้ว่างสูญเปล่าและเข้าฌาณ วิธีนี้ทำให้พระพุทธองค์ทรงสามารถตรัสรู้พระโพธิญาณและทรงวางฐานแห่งพุทธศาสนา..."

หน้า ๖๖ - ๖๗
"... สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎและสาวกของพระองค์ ทรงทำให้จริยธรรมเฟื่องฟูขึ้นใหม โดยการอธิบายหลักอันยุ่งยากซับซ้อนแก่ประชาชนส่วนใหญ่ด้วยถ้อยคำที่เขาเหล่านั้นอาจเข้าใจได้โดยง่าย สั่งสอนว่าพระพุทธศาสนานี้เป็นมรดกแก่ประชาชนทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะแก่พระสงฆ์เท่านั้น พิธีสงฆ์แต่ก่อนก็มีแต่เพียงสวดมนต์ภาษาบาลี ซึ่งคฤหัสถ์เพียงบาคนเท่านั้นที่อาจเข้าใจได้ คณะสงฆ์ธรรมยุตได้เพิ่มการสวดมนต์ภาษาไทยลงไปและมีผู้นิยมฟังเป็นจำนวนมาก พระสงฆ์คณะนี้ได้ย้ำแล้วย้ำอีกถึงศีลห้าคือ ไม่พูดเท็จ ไม่ลักขโมย ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดื่มเครื่องดองของเมา และผิดลูกผิดเมีย ได้แนะนำทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ให้แลเห็นถึงความสำคัญของการควบคุมตนเองความเมตตากรุณา และความอดทนในชีวิตประจำวัน..."

หน้า ๗๑ 
"... เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ จะสวรรคต พระองค์ทรงมีพระราชปรารถนาแสดงความไม่พอพระทัยที่คณะสงฆ์ธรรมยุตครองจีวรตามแบบมอญ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏก็ทรงยอมตาม และสาวกของพระองค์ก็หันไปครองผ้าตามแบบพระสงฆ์ไทย การยอมครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการแสดงความกรุณาต่อผู้ที่กำลังจะตายเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความเมตตากรุณานั้น สำคัญยิ่งกว่ากฏเล็กน้อย..." 

หน้า ๑๖๓- ๑๖๔
"... ด้วยความพยายามที่จะเลียนแบบพระพุทธองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะสวรรคตในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระองค์เอง คือ วันเพ็ญเดือน ๑๑ ได้แก่วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๔๗ พระองค์เริ่มประชวรในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๑ และก็ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทรงพระชนม์อยู่จนถึงวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ อย่างไรก็ดีด้วยกำลังแห่งพระหทัย ซึ่งพระองค์ได้เคยทรงศึกษามาแล้วในเรื่องระเบียบวินัยที่อาจบังคับให้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอยู่ใต้อำนาจแห่งจิตได้ สามารถทำให้พระองค์ทรงกระทำการนี้สำเร็จ เพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ จนถึงวาระสุดท้าย ขณะประชวรพระองค์ยังได้รับสั่งเป็นภาษาอังกฤษและทรงท่องบนคาถาบาลีเกี่ยวกับความตายที่พระองค์ได้เคยทรงพระราชนิพนธ์ไว้แต่ก่อน  พระองค์ได้พระราชทานคำปรึกษาแก่คณะเสนาบดีเป็นครั้งสุดท้ายให้เลือกผู้ที่จะขึ้นครองราชสมบัติต่อสืบไปว่า ขอให้ท่านผู้นั้นสามารถรวมความสามัคคีไว้ได้และกระทำการปฏิรูปบ้านเมืองให้ดีขึ้นดังที่พระองค์ได้เคยทรงกระทำมา แล้วพระองค์รับสั่งบอกสาส์นอำลาเป็นภาษาบาลีแด่พระภิกษุที่เคยอยู่ร่วมสำนักมากับพระองค์ ณ วัดราชประดิษฐ์ พระองค์ทรงขอร้องต่อสหายที่สนิท  "ไม่ให้โศกเศร้าหรือแปลกประหลาดใจ ทั้งนี้เพราะสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายที่อุบัติขึ้นมาในโลกย่อมต้องตาย ไม่อาจหลีกเลี่ยงไปได้" "

หน้า ๔
"... การเปลี่ยนแปลงของพระองค์ในทางด้านศาสนายิ่งมีความลึกซึ้งมากขึ้นไปอีก พระองค์ได้ทรงตัดความเชื่อถือในโชคลางต่างๆ ซึ่งเข้ามาผูกพันอยู่กับพุทธศาสนาเป็นเวลาหลายร้อยปี ทรงสั่งสอนพุทธศาสนาอย่างบริสุทธิ์ ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงตระหนักดีว่า ในไม่ช้าประชาชนผู้ได้รับการศึกษาดีขึ้นก็จะเลือกเชื่อถือสิ่งเหลวไหลต่างๆ เหล่านี้ และสิ่งนี้ก็อาจทำให้ประชาชนเหล่านั้น เลิกเลื่อมใสในพุทธศาสนาตามไปด้วย พระองค์จึงได้ทรงชี้แจงให้เห็นว่า คำสั่งสอนในพุทธศาสนานั้น ถ้าเข้าใจให้ถูกต้องแล้วก็จะไม่มีอะไรที่ขัดข้องต่อสามัญสำนึก หรือ ขัดกับวิทยาศาสตร์เลย พุทธศาสนาเป็นแต่เพียงระบบทางจรรยา ซึ่งเหมาะกับความต้องการในปัจจุบันอย่างยิ่ง..." 

จะเห็นว่าจากข้อมูลในหนังสือ "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าสยาม"  ข้างต้นนั้น ได้แสดงให้เห็นว่า ร.๔ ทรงมีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงเปี่ยมไปด้วย พรหมวิหาร ทรงลึกซื้งเข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎไตรลักษณ์ "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" ที่ไม่มีใครหลีกหนีความตายได้ในที่สุด 

และเป็นธรรมเนียมที่ผู้เขียนจะขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้โปรดพิจารณาชี้แนะแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาต่อไปดังนี้ 

รัชกาลที่สี่  ทรงความดีมีทุกด้าน
ธรรมะจิตประสาน  มหาศาลในพระธรรม

พระองค์ทรงศึกษา  เรื่องก้าวหน้าวิทย์สูงล้ำ
ธรรมะทรงจดจำ  พร้อมทรงทำเพื่อประชา

พระองค์ทรงบำเพ็ญ  จิตมองเห็นธรรมล้ำค่า
พระพุทธศาสนา  ทรงเมตตาและอดทน

ยี่สิบเจ็ดพรรษา  ธรรมคุณค่าเป็นล้นพ้น
ธรรมะสู่กมล  สอนทุกคนสนความดี

เรื่องวิทยาศาสตร์  ทรงสามารถรู้มากมี
ประเทศไทยมีวันนี้  น้อมฤดีเพื่อพระองค์

ธรรมะวิทย์เกี่ยวกัน  ต่างสัมพันธ์อย่างมั่นคง
เรื่องธรรมจิตต้องปลง  พร้องวางตรงลงทันที

พระองค์ทรงชี้แจง  อย่างแจ่มแจ้งเรื่องชีวี
ธรรมะเป็นสิ่งดี  น้อมชีวีให้เข้าใจ

เรื่องของกฎไตรลักษณ์  ต้องรู้จักมากเข้าไว้
ทุกคนล้วนต้องไป  ไม่วันใดใยต้องมา

พระองค์ปรีชาญาณ  ในทุกด้านที่ผ่านมา
ยิ่งใหญ่พระราชา  พวกเรามาวันทาเอย

ปภาวีร์ 
๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น