วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "สมเด็จพระสังฆราช : ความว่าง"

ธรรมะเพื่อชีวิต ตอน "สมเด็จพระสังฆราช : ความว่าง" สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้มีพระกรุณาเมตตามอบคติธรรมคำสอน ดังนี้ 

“ ความสำคัญนั้นอยู่ที่จิตใจ เมื่อจิตใจไม่กำหนดไม่ใส่ใจถึงสิ่งอันใด สิ่งอันนั้นก็ว่างไปเหมือนไม่มี”

ซึ่งสามารถรับฟังได้จาก YouTube ต่อไปนี้ 
https://www.youtube.com/watch?v=ZZRd-NQUbtM&feature=youtu.be



"กล่าวคือไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นบ้าน ไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นป่า ไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นมนุษย์ ไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นบ้าน ไม่ใส่ใจกำหนดว่าเป็นมนุษย์คือผู้คน

แต่ว่ามนสิการใส่ใจกำหนดเสียว่าเป็นป่าปราศจากบ้าน ปราศจากมนุษย์ผู้คน เมื่อกล่าวโดยอุปมาข้างต้น บุพพารามนั้นว่างจากบ้าน ว่างจากมนุษย์คือผู้คนดังกล่าว แต่ว่าไม่ว่างอยู่สิ่งหนึ่งก็คือภิกษุสงฆ์ เพราะภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่ในบุพพารามนั้น

แม้ความที่ไม่ใส่ใจว่าเป็นบ้านว่าเป็นมนุษย์ผู้คน แต่ว่าใส่ใจว่าเป็นป่าดังกล่าวนั้น ก็เป็นสุญญตาคือความว่าง เป็นความที่หยั่งจิตลงสู่สุญญตาคือความว่าง แต่ว่าก็ยังไม่ว่างอยู่อีกสิ่งหนึ่งเช่นเดียวกัน ก็คือว่ายังมีแผ่นดินที่ประกอบไปด้วยที่ลุ่มที่ดอน ต้นไม้ภูเขา ห้วยหนอง เป็นต้น อันรวมเรียกว่าเป็นป่านั้นนั่นเอง

นี้เป็นข้อแรกของการปฏิบัติหัดทำจิตที่ทรงสั่งสอน และเป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมะทางสมาธิพึงถือเป็นหลักปฏิบัติได้ กล่าวคือแม้จะอยู่ในบ้าน อยู่ในหมู่มนุษย์ที่เป็นชาวบ้านด้วยกันก็สามารถทำสมาธิได้ กล่าวคือไม่ใส่ใจกำหนดหมายว่าเป็นบ้าน ไม่ใส่กำหนดหมายว่าเป็นหมู่คน แต่ว่าใส่ใจกำหนดหมายว่าเป็นป่า เหมือนอย่างไม่มีบ้าน เหมือนอย่างไม่มีผู้คน ป่านั้นก็เป็นสถานที่ประกอบด้วยต้นไม้ภูเขาห้วยหนองคลองบึงที่ลุ่มที่ดอน ตลอดจนถึงสัตว์ป่าทั้งหลาย ไม่มีบ้านไม่มีผู้คน ใส่ใจกำหนดลงว่าเป็นป่าดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติหยั่งจิตลงไปสู่สุญญตาคือความว่างขั้นแรก และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็สามารถทำจิตให้สงบได้เหมือนอยู่ในป่า ก็เป็นสุญญตาคือความว่าง เพราะว่างจากความกำหนดหมายว่าเป็นบ้าน ว่าเป็นหมู่คนนั้นเอง เป็นสุญญตาในข้อนี้

ฉะนั้น จึงแสดงว่าความสำคัญนั้นอยู่ที่จิตใจ เมื่อจิตใจไม่กำหนดไม่ใส่ใจถึงสิ่งอันใด สิ่งอันนั้นก็ว่างไปเหมือนไม่มี แม้จะมีก็เหมือนไม่มี แม้ว่าจะเข้าไปอยู่ในป่าจริงๆ ไม่มีบ้านไม่มีผู้คน ถ้าจิตใจยังคำนึงถึงบ้านคำนึงถึงผู้คน บ้านและผู้คนก็มาตั้งอยู่ในจิตใจ แม้กายจะอยู่ในป่าก็ตาม ก็เป็นอันว่าจิตใจก็คงไม่สงบอยู่นั่นเอง กลับตรงกันข้ามกายอยู่ในบ้านอยู่กับผู้คนทั้งหลาย แต่ว่าจิตใจไม่ใส่ใจถึง กำหนดว่าเป็นป่า ป่าก็ตั้งขึ้นในจิตใจ จิตใจก็มีความสงบได้"
(ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-001.htm)

    คติธรรมคำสอนข้างต้นทรงคุณค่าอย่างยิ่งเกี่ยวกับ "ความว่าง" หากว่าพุทธศาสนิกชนได้ตั้งใจฟังอย่างมีสติหลายๆ รอบ เชื่อว่าจะสามารถพบกับความว่างได้ในที่สุด 

ก่อนที่จากกันในครั้งนี้ ผู้เขียนขออนุญาตฝากกาพย์ยานี ๑๑ ไว้เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้กรุณาพิจารณาให้การชี้แนะในการปรับปรุง ดังนี้

อยู่ไหนก็ว่างได้ อยู่ที่ใจให้สงบ
จิตว่างวางให้ครบ ย่อมจะพบสงบเย็น

อยู่ป่าวุ่นวายได้ เพราะว่าใจไม่บำเพ็ญ
อยู่บ้านไม่ลำเข็ญ อาจพบเห็นเกิดความว่าง

ความว่างสุญญตา ต้องค้นหาในหลายทาง
ค้นหาจากตัวอย่าง หาหนทางใจว่างดี

อยู่ป่าหรืออยู่บ้าน จิตประสานว่างทันที
จิตคิดว่างให้ดี เกิดผลดีมีกุศล

ว่างแล้วย่อมจะนิ่ง ว่างให้จริงอย่างอดทน
จิตว่างเป็นมงคล สุขกมลว่างที่ใจ

ฝึกฝนได้ทุกที่ สติดีก็ว่างได้
ความว่างสุขฤทัย บุญยิ่งใหญ่ในใจเอย


ปภาวีร์ 
๑๘ มีนาคม ๒๕๕๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น