วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

ไม่เข้าท่า

ชื่อเรื่อง “ไม่เข้าท่า” ผู้เขียนได้ยินผู้คนเขาพูดกัน เลยมานั่งคิดว่า “ไม่เข้าท่า” คืออะไรกัน มีที่มาอย่างไร


ก่อนอื่น คำว่า “ท่า” มีหลากหลายความหมายมาก หากเกี่ยวกับการเดินทาง เช่น ท่าน้ำ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน เป็นต้น หรือ หากเกี่ยวกับท่วงทีของร่างกาย เช่น ท่าดีทีเหลว ท่าทาง ท่าเดียว ท่าที ท่านั้นท่านี้ เป็นต้น


ที่กล่าวมานั้นเกี่ยวกับคำว่า “ท่า” แต่หากตามชื่อเรื่องที่กำหนดไว้ว่า “ไม่เข้าท่า” จะเป็นอย่างไรละครับ


“ไม่เข้าท่า” ทำให้ผู้เขียนนึกถึงการเดินทางเรือที่ใช้แม่น้ำลำคลองในการสัญจร อย่างเช่นแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแถวๆ พระราชวัง (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ก็มีท่าน้ำ เช่น ท่าพรานนก ท่าสี่พระยา ท่าช้าง เป็นต้น ซึ่งผู้โดยสารจะต้องรอที่ท่าเรือ หากเรือไม่เข้าท่าผู้โดยสารก็ไม่สามารถที่จะขึ้นเรือเพื่อเดินทางต่อไปได้ ซึ่งการ “ไม่เข้าท่า” อาจจะมีหลายสาเหตุ เป็นต้นว่า ท่าเรือไม่มีความเรียบร้อย ดังนั้น การไม่เข้าท่าดังกล่าวย่อมจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนของผู้โดยสารตามมาในที่สุด กล่าวง่ายๆ คือ “ไปต่อไม่ได้” สำหรับเรือที่ไม่เข้าท่าแล้ว มีแต่จะเกิดความเสียหายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นของเชื้อเพลิงที่ลอยลำในแม่น้ำ หรืออื่นๆ ดังนั้น “ไม่เข้าท่า” ไม่ดีทั้งกับเจ้าของเรือและผู้โดยสารอย่างแน่นอน


อย่างไรก็ดี สำหรับคำว่า “ไม่เข้าท่า” ในปัจจุบันนั้นมักจะถูกนำมาใช้กับเรื่องอะไรที่ทำลงไปแล้ว “ไม่ถูกไม่ควร ไม่เหมาะสม ไม่ถูกกาลเทศะ” หรือ ทำไปแล้วไม่ดีเลย ไม่ชอบ จะเห็นว่า “ไม่เข้าท่า” โดยส่วนมากมักจะถูกใช้ในทางลบเป็นส่วนมาก ด้วยเหตุนี้ หากมีใครมาว่าเรา “ไม่เข้าท่า” แสดงว่าเราจะต้องทำอะไรลงไปที่ไม่ถูกไม่ควรอย่างแน่นอน


ดังนั้น เพื่อเป็นการสื่อสารเกี่ยวกับ “ไม่เข้าท่า” ดีมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอเป็นบทกลอน ดังนี้




ทำเรื่องไม่เข้าท่า แล้วจะมาบอกว่าดี


ทุกเรื่องมีศักดิ์ศรี ล้วนต้องมีความเป็นมา


หลายคนไม่เคยทำ มัวแต่ย้ำไม่เข้าท่า


ทุกเรื่องพัฒนา ต้องเข้าท่าถึงจะดี


บางอย่างไม่เคยทำ เรื่องระยำทำทุกที


ทำอ้างสร้างความดี แล้วจะมีใครสนใจ


ทุกอย่างล้วนต้องทำ เพื่อจะนำสู่หลักชัย


ทุกอย่างอยู่ที่ใจ รวมจิตใจเข้าท่าเอย




มณูญพงศ์ ศรีวิรัตน์


๑๓ มีนาคม ๒๕๕๖






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น