วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

ยอม

หลายครั้งในชีวิต เรามักจะเคยได้ยินคำว่า “ยอม” เป็นคำสั้นๆ ที่เมื่อยอมแล้ว ฝ่ายที่ยอมจะต้องยอมทุกอย่าง หยุดทุกอย่างที่ได้กระทำอยู่ กล่าวง่ายๆ คือ เป็นผู้ยุติ นั่นเอง

ท่านผู้อ่านลองถามตัวเองซิครับว่า ในชีวิตนี้ท่านเคย “ยอม” หรือไม่อย่างไร หรือ เคยทำให้คนอื่นยอมเราหรือไม่  ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆ ท่านจะต้องเป็นทั้งผู้ที่ยอมและผู้ที่ทำให้ผู้อื่นเขายอมอย่างแน่นอน  แต่คำถามต่อไป คือ ระหว่างที่เป็นผู้ที่ยอมกับผู้ที่ทำคนอื่นให้ยอม อันไหนมีจำนวนมากกว่ากันละครับ
 
“ยอม” ทำให้เหตุการณ์บางอย่างที่กำลังรุนแรงดำเนินอยู่ในขณะนั้นยุติลงไปได้ ตัวอย่างเช่น การแข่งขันชกมวยปรากฏว่าฝ่ายหนึ่งชกอีกฝ่ายหนึ่งอยู่อย่างเดียว จำเป็นอย่างยิ่งที่พี่เลี้ยงจะต้องโยนผ้าขาวเพื่อ “ยอม” แพ้ เพราะหากว่าปล่อยให้ชกต่อไป อาจจะอันตรายนำมาซึ่งชีวิตของนักมวยก็เป็นได้  หรือ เหตุการณ์จลาจลในบ้านเมืองที่มีกำลังกองกำลังติดอาวุธที่กำลังอาวุธมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง (ที่ไม่มีอาวุธ) ฝ่ายหลังนี้จำเป็นจะต้อง “ยอม” เพื่อไม่ให้ก่อเกิดความสูญเสียของชีวิตผู้คนตามมาเป็นจำนวนมาก
 
ท่านผู้อ่านคงจะพอมองภาพของการ “ยอม” ได้พอสมควร  ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายคำว่า “ยอม” ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอคำกลอนเกี่ยวกับ “ยอม” เป็นดังนี้

ย = ยุติ
อ = อดทน
ม = ไม่เอาอีกแล้ว
 
ปัญหาต้องยุติ    ต้องไม่ตินินทาต่อ
ทำไปไม่ย่อท้อ    ทำให้พอและอดทน
ต้องไม่เอาอีกแล้ว   เพื่อเป็นแนวให้กับตน
ก้มหน้าพร้อมสู้ทน    และถ่อมตนเพื่อ "ยอม" เอย

มณูญพงศ์ ศรีวิรัตน์
๙ มีนาคม ๒๕๕๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น