วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทานก่อนกิน ถือศีลก่อนไป ทำใจก่อนนอน

เมื่อเช้าวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมทำบุญที่สำนักสงฆ์ป่าช้าบ้านวังแคน ต.โพธิ์ไทร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี หลวงพ่อได้กล่าวประโยคที่น่าสนใจเป็นอย่างมากที่ว่า "ทานก่อนกิน ถือศีลก่อนไป ทำใจก่อนนอน" ซึ่งผู้เขียนขอออกตัวเสียก่อนว่าไม่ได้เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านศาสนามากมาย แต่ขอขยายความเกี่ยวกับประโยคดังกล่าวตามที่เข้าใจตามที่รู้ตามความรู้เท่าที่มี ดังนี้

ทานก่อนกิน น่าจะหมายถึง ก่อนที่เราจะกินอาหารในมื้อใดๆ ไม่ว่าจะเป็นมื้อเช้า มื้อเที่ยง มื้อเย็น เราก็ควรจะต้องให้ทานกับพระสงฆ์ นึกถึงพระสงฆ์ ให้ตั้งจิตอธิษฐานขอโทษขออโหสิกรรมกับเจ้ากรรมนายเวรที่เราได้ล่วงเกินได้กระทำผิดต่อพวกเขาเหล่านั้นเสียก่อน การทานด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์พร้อมจะให้ในสิ่งที่เราตั้งใจจะทำให้เกิดประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ทานสำหรับผู้ที่เราเคยล่วงเกินหรือทำความเดือดร้อนให้กับเขา

ถือศีลก่อนไป น่าจะหมายถึง ก่อนที่เราจะไป (ซึ่งไปในที่นี้น่าจะสื่อถึง การไปสู่การกระทำหรือปฏิบัติในเรื่องใด หรือการไปสู่ภพใหม่ชาติหน้า) ให้เราทุกคนได้ปฏิบัติในศีลไม่ว่าจะเป็นการไม่เบียดเบียนสัตว์หรือเพื่อนร่วมโลก การไม่กล่าวให้ร้ายกับตัวเราหรือเพื่อนๆ ทั้งร่วมงานหรือองค์กรครอบครัวของเรา การไม่ประพฤติในเรื่องกามอารมณ์ การละเว้นจากสิ่งของมึนเมาที่ทำให้ขาดสติ การถือศีลเป็นเรื่องที่เราชาวพุทธทุกคนควรจะต้องฝึกปฏิบัติและกระทำให้ได้ เพื่อจะทำให้ก่อประโยชน์กับทั้งตัวเราและคนรอบข้าง

ทำใจก่อนนอน น่าจะหมายถึง การที่ในแต่ละวันเราสงบจิตของเรา เตรียมจิตของเราให้รู้ว่าอะไรที่เรากระทำลงใปในแต่ละวันก่อนเข้านอนนั้น ว่ามีเรื่องอะไรที่เราได้กระทำไม่ดีกระทำผิด เราก็ควรจะคิดทบทวนเพื่อหาหนทางแก้ไขให้กระทำหรือปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้นๆ ไปในวันพรุ่งนี้ในวันต่อไป หรือในชาติภพต่อไป (ซึ่งบางครั้งค่ำคืนนั้น อาจจะเป็นคืนสุดท้ายสำหรับตัวเรา) ดังนั้น การทำใจก่อนนอนจะทำให้เราได้มีสติ มีสมาธิ มีปัญญษ ก่อให้เกิดประโยชน์ในการเตรียมตัวสำหรับวันใหม่ ภพชาติใหม่

ดังนั้น หากคนเราทุกคนทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดก็ตามแต่ได้ฝึกปฏิบัติ การทาน การถือ การทำ ซึ่งก็คือ ทานก่อนกิน ถือศีลก่อนไป ทำใจก่อนนอน แล้วจะทำให้เราทุกคนมีความสุขแบบยั่งยืนไม่มีทุกข์ และประการสำคัญ คือ ทำให้เราได้เกิดรู้แจ้งเห็นจริงตามที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง เกิดแล้วดับ ดับแล้วเกิด แต่ถ้าอยากจะให้เกิดและไม่ดับ และดับแล้วไม่เกิด ต้องมุ่งสู่ทางสายกลางตามหลักของพระพุทธเจ้า นั่นเอง
มนูญ ศรีวิรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น