วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การรู้ตัวเอง กับ การเห็นแก่ตัว กลายเป็น การรู้เห็นตัวเอง

การรู้ตัวเอง กับ การเห็นแก่ตัว ทั้งสองประโยคประกอบด้วย คำ เช่นกัน ถ้าหากเป็นเด็กๆ ที่ยังไม่ได้ทราบความหมายของทั้งสองประโยคดังกล่าว อาจจะมีความรู้สึกว่า คล้ายๆ กัน เพราะ การรู้ตัวเอง เด็กๆ ก็อาจจะหมายถึง รู้เห็นตัวเองว่าเป็นอย่างไร และ  การเห็นแก่ตัว เด็กๆ ก็อาจจะคิดว่า หมายถึง การเห็นตัวเอง เช่นกัน 

แต่สำหรับความเป็นจริงแล้วนั้น การรู้ตัวเอง และ การเห็นแก่ตัว มีความหมายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเนื่องจาก การรู้ตัวเอง คือ การสร้างความเข้าใจเรียนรู้จิตใจของตัวเราเองว่าเราเป็นคนอย่างไร ต้องการอะไร เป้าหมายในชีวิตเป็นอย่างไร และการเรียนรู้และสร้างเข้าใจตัวเรานั้น กระทำได้โดยอาศัยการมีสติ มีสมาธิ เพื่อทบทวนเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเรา เรื่องใดที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม เราก็อาจจะปรับปรุงให้ดีขึ้น  

แต่สำหรับ การเห็นแก่ตัว นั้น มีความหมายในทางที่อาจจะไม่ดีนัก เพราะเป็นเรื่องของตัวเรามีความคิดที่คับแคบ ไม่เอื้อเฟื้อคนอื่นๆ เอาแต่ประโยชน์ใส่ตนเอง ไม่ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน ไม่เข้าคบหาสมาคมกับเพื่อนๆ ในองค์กร เป็นต้น


ที่นี้ ผู้อ่านเห็นแล้วหรือยังว่า ท่านจะเลือกอะไรระหว่าง การรู้ตัวเอง และ การเห็นแก่ตัว หรือถ้าหากเลือกไม่ได้ ก็ลองนำทั้งสองประโยคมาเปลี่ยนใหม่เป็นดังนี้จะดีหรือเปล่าครับ คือเป็น การรู้เห็นตัวเอง ซึ่งอาจจะหมายถึง การที่เราได้เรียนรู้ตัวของเราเองพร้อมทั้งได้เห็นตัวเองว่าเป็นอย่างไร  

การเรียนรู้ตัวเอง เป็นสิ่งแรกที่เราควรจะต้องทำ ถ้าหากเรามีโอกาส เพราะทำให้เรารู้ตัวตนของตัวเราว่า เราต้องการอะไร ต้องการทำอะไร ต้องการมีเป้าหมายอะไร ต้องการให้อนาคตเป็นอย่างไร  ผู้เขียนมีตัวอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับการรู้เห็นตัวเอง ดังนี้

น้องแอน เป็นนักเรียนของโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนที่ดีมากๆ ตอนมัธยมศึกษาตอนต้นคุณพ่อคุณแม่ก็อยากจะให้เรียนสูงสุดในมหาวิทยาลัยคณะที่ดีๆ จบมาแล้วมีหน้าที่การงานที่ผู้คนนับหน้าถือตา มีเงินเดือนจำนวนมากๆ พอเรียนมาถึงมัธยมตอนปลาย ม.๔ ม. ๕​ น้องแอนเริ่มคิดและถามตัวเองว่าอยากจะเรียนอะไรกันแน่ คุณพ่อคุณแม่ก็อยากจะให้เรียนหมอ น้องแอนเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเรียนดีหรือไม่ ในช่วงระยะ ม.๔ ม.๕  น้องแอนจะต้องคอยถามคนนั้นคนนี้ว่าเรียนหมอดีหรือไม่ แต่ผู้อ่านเชื่อหรือไม่ว่า น้องแอนไม่สามารถที่จะให้คำตอบกับตัวเองได้  น้องแอนต้องรู้เห็นตัวเองให้มากยิ่งขึ้น ถามใจตัวเองให้มากยิ่งขึ้น จนจบ ม.๕​ น้องแอนก็เลยลองไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ลองฝึกงานดูงาน ณ โรงพยาบาลแห่งนั้นประมาณ ๑ เดือน (น้องแอนได้เรียนรู้ ได้ถามใจตัวเองว่าชอบเรียนหมอหรือไม่ รู้เห็นตัวเอง คือ รู้เห็นจิตใจของตัวเอง ว่าเป็นอย่างไร)  ในที่สุด น้องแอน ก็สามารถตอบตัวเองได้ในตอนเรียน ม.๖ ว่า จะไม่เรียนแล้วหมอ น้องแอนตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต เลือกเรียนในส่วนที่ การรู้เห็นตัวเอง รู้เห็นจิตของตัวเอง และแล้วในที่สุด น้องแอนก็ตัดสินใจเลือกเรียนวิศวะคอมพิวเตอร์  และเขาก็ชอบ จนสามารถเรียนสำเร็จเกียรตินิยมอันดับหนึ่งของสถาบันที่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ  หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีแล้ว น้องแอนก็ยังต้องการที่จะ รู้เห็นตัวเอง เพิ่มเติม ว่า การทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่จิตเราต้องการอย่างแท้จริงหรือยัง  การรู้เห็นตัวเองของน้องแอนก็ยังคงดำเนินต่อไป และปัจจุบัน น้องแอนทำงานไปด้วยและเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษา คือ ป.โท ด้าน Finance หลักสูตรนานาชาติ   ตัวอย่างของน้องแอน เป็นส่ิงหนึ่งของ การรู้เห็นตัวเอง ว่าบางสิ่งบางอย่างสามารถเปลี่ยนไปได้ตามที่จิตของเราต้องการได้ถามจิตของตัวเองอย่างแท้จริง 

ตัวอย่างข้างต้น ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นส่ิงหนึ่งของการรู้เห็นตัวเองในหนทางที่ถูกที่ควร ซึ่งดีกว่าการเห็นแก่ตัวอย่างแน่นอน  เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรามีเวลา ให้เวลากับจิตของตัวเราเองโดยการไม่เห็นแก่ตัว แต่เป็นการรู้ตัวเอง รู้เห็นตัวเอง น่าจะทำให้เราสามารถเดินทางต่อไปในชีวิตของเราในทางที่ถูกต้อง แล้วเราก็สามารถมีความสุขในส่ิงที่เรารู้เห็นตัวเอง


มนูญ​ ศรีวิรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น