วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สงบ

สงบ เป็น คำที่ประกอบ ด้วย 3 ตัวอักษร 1. ส เสือ 2. ง งู และ 3. บ ใบไม้ วันนี้ผู้เขียนคิดว่า 3 ตัวอักษรดังกล่าวนั้นมาประกอบกันแล้วมีความหมายเป็นอย่างมากสำหรับเหตุการณ์บ้านเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมานั้นย่อมจะต้องมีต้นเหตุ หรือ มีเหตุ แต่ที่เราเห็นกันอยู่ในขณะนี้ ปัจจุบันนี้ เป็นผลที่เกิดจากเหตุทั้งสิ้น ตามหลักของศาสนาที่เราทราบกันดี คือ เหตุก่อให้เกิดทุกข์ ถ้าหากเราต้องการจะดับทุกข์ จะต้องไปดับที่ต้นเหตุ หรือ แก้ไขที่ต้นเหตุ ถึงจะสามารถดับทุกข์ได้อย่างยั่งยืนมั่นคงถาวร
ผู้เขียนขอกลับมาที่ 3 ตัวอักษร ส ง บ รวมกันเป็นความหมายที่ดีมากๆ เพราะจาก ไตรสิกขา แยกออกเป็น ไตร + สิกขา = ไตรสิกขา คำว่า ไตร หรือตรี (ภาษาอังกฤษ = Three) เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า 3 ตรงกับภาษากรีกว่า Tri ตรงกับภาษาลาตินว่า Tres ตรงกับภาษามคธหรือบาลีว่า ติ หรือ เต ซึ่งก็แปลว่า 3 เช่นกันคำว่า สิกขา เป็นภาษามคธหรือภาษาบาลี แปลว่า “ข้อที่พึงหรือข้อที่ต้องศึกษาและปฏิบัติ” ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า ศิกฺษา ภาษาไทยนำมาใช้เป็นศึกษาไตรสิกขามาในพระไตรปิฎก 2 เล่ม คือ เล่มที่ 11 และที่ 20 (เป็นพระสุตตันตปิฎก ทั้ง 2 เล่ม)ไตรสิกขาเรียกง่าย ๆ เรียกได้ว่า สีล สมาธิ และปัญญา นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาบางท่านประยุกต์ว่า (2 ส.,1 ป.)
ศีล ได้แก่ สะอาด (clean)สมาธิ ได้แก่ สงบ (calm)ปัญญา ได้แก่ สว่าง (clear)
(ที่มา : http://www.wfb-hq.org/specth8.htm) สงบ คือการเจริญสมาธิ เจริญจิตภาวนา (เจริญสมถะวิปัสสนา) ทำจิตให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว (เอกัคคตาจิต)
แต่สำหรับวันนี้ ผู้เขียนขออนุญาต นำเสนอ ส ง บ อาจจะประยุกต์หรือประกอบ ด้วยดังนี้
ส = สติ สมาธิ อาจจะเป็นการทำอะไรก็แล้วแต่ จะต้องมี สติ เพื่อก่อให้เกิด สมาธิ
ง = เงียบ การทำอะไรเราอาจจะต้องกระทำอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ เงียบ ภายในจิตใจ
บ = บริสุทธิ์ การทำอะไรก็ตามแต่ ควรจะทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิื์
ดังนั้น ผู้เขียนคิดว่าถ้าหากคนไทยเราทุกคนมีความ “สงบ” ภายใต้คำกล่าวข้างต้น เชื่อได้เลยว่าสังคมของเราไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับใด สังคมที่ไหน จะมีแต่ความสุข ก็ขอภาวนาให้เราทุกคน สงบ
มนูญ ศรีวิรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น